Custom Search
วันอาทิตย์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

แนวคิดเกี่ยวกับทัศนคติและความยินยอมในการเสียภาษี

เจริญ ธฤติมานนท์ (2534, หน้า 56) กล่าวว่า ความยินยอมในการเสียภาษีอากรของผู้เสียภาษีอากร คือ การที่ผู้เสียภาษีอากรมีความสำนึกในหน้าที่และความรับผิดชอบที่จะต้องเสียภาษีอากรที่ตนมีหน้าที่ต้องเสียภาษีให้แก่รัฐบาลอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยภายในระยะเวลาที่กฎหมายภาษีอากรกำหนดไว้และผู้เสียภาษีอากรได้ปฏิบัติการเสียภาษีอากรให้ครบถ้วนในระยะเวลาที่กำหนดนั้นด้วยรวมทั้งการที่ผู้เสียภาษีอากรจะต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรด้วยความเต็มใจ
การที่จะสร้างความยินยอมในการเสียภาษีนั้น เป็นสิ่งที่ไม่สามารถกระทำได้ในระยะเวลาอันสั้น จะต้องใช้เวลายาวนาน โดยต้องสร้างให้เกิดขึ้น และสะสมติดต่อกันมาจนฝังในจิตใจ ไม่สามารถสร้างขึ้นมาโดยผู้หนึ่งผู้ใดหรือกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด แต่จำต้องร่วมมือร่วมใจกันสร้างขึ้นโดยทุกฝ่ายทั้งฝ่ายจัดเก็บภาษีและฝ่ายประชาชนผู้เสียภาษีอากรด้วย
สำหรับด้านฝ่ายจัดเก็บภาษีอากรซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการปฏิบัติโดยตรงจะต้องพยายามสร้างความสมัครใจในการเสียภาษีอากรของผู้เสียภาษีอากรโดยจัดองค์การและการบริหารภาษีอากรให้เป็นธรรมและมีประสิทธิภาพอย่างสูงสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันความตื่นตัวของประชาชนและสิทธิมนุษยชนทำให้ประชาชนมีความต้องการเข้ามามีส่วนร่วมและรับรู้ในการใช้ดุลยพินิจในการดำเนินการต่าง ๆ ของทางราชการประกอบกับระบบสื่อสารข้อมูลเสรีได้เปิดโอกาสในสื่อมวลชนสามารถสะท้อนการทำงานของข้าราชการได้มากขึ้น ดังนั้น ระบบราชการจึงต้องปรับเปลี่ยนให้มีความโปร่งใส และสามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน (บุญรอด โบว์เสรีวงศ์, 2540, หน้า 96) ด้วยมาตรการในการส่งเสริมการเสียภาษีอากร คือ ปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงาน โดยปรับเปลี่ยนทัศนคติของเจ้าหน้าที่ให้เป็นผู้มีจิตสำนึกในการให้บริการที่ดีแก่ผู้เสียภาษีอากร เปลี่ยนความคิดจาก “ผู้รับ” มาเป็น “ผู้ให้” เพื่อให้ผู้เสียภาษีเกิดความรู้สึกที่ดี และพึงพอใจว่า การเสียภาษีแต่ละครั้งได้รับความสะดวกความเป็นธรรมและเกิดทัศนคติที่แก่ผู้เสียภาษี เปลี่ยนกระบวนการทำงานใหม่ เพื่อให้มีขั้นตอนการทำงานที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น ตัดทอนขั้นตอนการทำงานที่ซ้ำซ้อน มีการกำหนดระยะเวลาการทำงานในแต่ละขั้นตอนที่ชัดเจน มีการนำระบบการจัดการคุณภาพโดยรวม มาใช้ในกระบวนการทำงาน มีการทำงานเป็นทีม โดยเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ทุกระดับมีส่วนร่วม และแสดงความเห็นในการทำงานมากขึ้น สร้างบริการใหม่ ๆ เพื่อความพอใจของผู้เสียภาษี จัดให้มีบริการขั้น พื้นฐานตั้งแต่สถานที่จอดรถ ที่พักเพื่อนั่งคอย น้ำดื่ม ตลอดจนปรับปรุงสถานที่ เพื่อ ให้ง่ายต่อการติดต่อและความสะดวกรวดเร็ว พัฒนาอุปกรณ์ตลอดจนระบบคอมพิวเตอร์มาช่วยเสริมให้งานบริการต่าง ๆ มีความถูกต้อง สะดวก และรวดเร็ว สำรวจ และติดตามความต้องการ และพึงพอใจของผู้เสียภาษีตลอดเวลาหา Feedback ให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องการเสียภาษี ยกย่องผู้ให้ความร่วมมือ ตอบข้อหารือเกี่ยวกับปัญหาให้รวดเร็ว ถูกต้อง พิจารณาอุทธรณ์ให้เป็นธรรมและรวดเร็ว และมีมาตรการป้องกัน และปราบปรามการหลบหนีภาษีอากร ในการสร้างความยินยอมในการเสียภาษี ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชน หรือสถาบันอื่น ๆ ของชาติ หน่วยจัดเก็บต้องปรับปรุง และเพิ่มประสิทธิภาพ การบริหารงานจัดเก็บภาษี ปรับปรุงคุณภาพด้านความรู้ ความสามารถของเจ้าหน้าที่ และต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการจัดสรรทรัพยากรด้านต่าง ๆ
คณะกรรมการ OECD (2001) ได้ศึกษา ลักษณะทัศนคติของผู้เสียภาษี และหน่วยจัดเก็บต่อความยินยอมในการเสียภาษี ดังแสดงในภาพ 7 ในด้านหน่วยจัดเก็บภาษีหากมีระบบภาษีอากรที่ดี มีการบริหารการจัดเก็บที่เป็นธรรม และมีการปกป้องฐานภาษี กลยุทธ์ของหน่วยจัดเก็บมุ่งในการเพิ่มความยินยอมในการเสียภาษี เช่น มีการออกกฎระเบียบ มีการประชาสัมพันธ์ ผู้เสียภาษีจะยินยอมเสียภาษี แต่หากผู้เสียภาษีอยากที่จะปฏิบัติตามกฎระบบภาษีอากร ไม่อยากเสี่ยงต่อการตรวจสอบภาษี ก็จะมีการวางแผนภาษี โดยใช้ช่องโหว่ของกฎหมาย (avoidance) หากผู้เสียภาษีไม่อยากปฏิบัติตามกฎหมาย และอยากหลีกเลี่ยงทำการหลบหนีภาษี ถือเป็นการเจตนาที่จะหนีภาษี (evasion) (จุฑาทอง จารุมิลินท, 2547)

บรรณานุกรม

อรอนงค์ ประสังสิต(2550). การบริหารการจัดเก็บภาษีอากร: ศึกษากรณีกลุ่มภารกิจด้านรายได้ กระทรวงการคลัง. ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (รัฐประศาสนศาสตร์), มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

จุฑาทอง จารุมิลินท. (2547). เข้าใจนโยบายภาษี. สรรพากรสาส์น, 51(1), 83-90.

เจริญ ธฤติมานนท์. (2534, กันยายน). ความสมัครใจในการเสียภาษีอากร. สรรพากรสาส์น, 2(3), 52-59.

บุญรอด โบว์เสรีวงศ์. (กันยายน 2540). การปรับปรุงเพื่อความเป็นผู้นำในด้านบริการที่ดี. สรรพากรสาส์น, 96-99.

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น