Custom Search
 Philip Kotler (1997 : 549) ได้แบ่งรูปแบบของการจัดการช่องทางการตลาดแบบระบบการตลาดตามแนวตั้ง ออกเป็น 3 รูปแบบ ดังนี้ 
          1. ระบบการตลาดตามแนวตั้งแบบรวมตัวกันทางการบริหาร (administered marketing channel system or administered VMS) 
          2. ระบบการตลาดตามแนวตั้งแบบรวมตัวกันโดยสัญญา (contractual marketing channel system or contractual VMS) 
          3. ระบบการตลาดตามแนวตั้งแบบรวมตัวกันเป็นบริษัทเดียว (corporate marketing channel system or corporate VMS) 

          1. ระบบการตลาดตามแนวตั้งแบบรวมตัวกันทางการบริหาร (administered marketingchannel system or administered VMS) เป็นระบบที่มีการประสานงานกันในขั้นตอนของการผลิตและการจัดจำหน่ายรวมทั้งการตลาด โดยมีสมาชิกช่องทางการตลาดรายใดรายหนึ่งเป็นผู้กำหนดโปรแกรมการดำเนินงานทั้งหมด สถาบันการตลาดที่จัดอยู่ในระบบยังคงดำเนินงานไปตามเป้าหมายของแต่ละองค์กร และไม่ได้มีการจัดโครงสร้างองค์กรในลักษณะรวมกิจการกันแต่อย่างใด เพียงแต่โปรแกรมงานการตลาดที่ทำขึ้นมาจะถูกปฏิบัติในลักษณะร่วมมือกัน อย่างไม่เป็นทางการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน ส่วนมากแล้วผู้ผลิตรายใหญ่ที่ตราสินค้าเป็นที่รู้จักกันด ีและมีอิทธิพลเหนือกว่าสมาชิกระดับอื่น ๆ มักจะนิยมใช้ระบบการตลาดแบบนี้ เนื่องจากเป็นธุรกิจขนาดใหญ่จึงมีอำนาจการต่อรองสูง สามารถที่จะขอความร่วมมือจากคนกลาง (พ่อค้าปลีก) ในการจัดแสดงสินค้า การจัดชั้นวาง การโฆษณาและการส่งเสริมการตลาดอื่น ๆ ได้ เช่น บริษัท ลีเวอร์ บราเธอร์ จำกัด บริษัทพร็อคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล จำกัด เป็นต้น

          ระบบการตลาดตามแนวตั้งแบบรวมตัวกันทางการบริหาร ผู้ผลิตและพ่อค้าปลีก มักจะตกลงร่วมกันที่จะใช้ ข้อตกลงการจัดการสินค้าตามโปรแกรม (programmed merchandising agreements) ซึ่งเป็นแผนงานร่วมกันระหว่างผู้ผลิตและพ่อค้าปลีก ที่ได้มีการตกลงร่วมกันกำหนดแผนงานขึ้นเป็นกรณีเฉพาะ เพื่อดำเนินการจัดการสินค้า (merchandising) ให้เป็นไปตามข้อตกลง กิจกรรมการจัดการสินค้าที่ระบุไว้ล่วงหน้านี้แต่ละร้านค้าที่อยู่ร่วมในข้อตกลงเดียวกัน จะต้องดำเนินงานไปตามข้อตกลงที่กำหนดไว้เหมือนกันทั้งหมด 

          การจัดจำหน่ายในระบบการตลาดตามแนวตั้งแบบรวมตัวกันทางการบริหาร ซึ่งผู้ผลิตและพ่อค้าปลีกได้ใช้ระบบการจัดการสินค้าตามโปรแกรมดังกล่าว ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพรวมของช่องทางจำหน่ายที่ใช้ระบบโปรแกรม และเป็นผลดีแก่ผู้ร่วมปฏิบัติงานทั้งสองฝ่าย ทั้งในด้านการวางแผนงานการจัดการสินค้า การพัฒนาศักยภาพการจัดจำหน่าย การประสานงานและควบคุมงาน

สำหรับผู้ผลิต จะได้รับผลดีดังนี้
          1. สามารถพัฒนาไปสู่ยอดขายสูงสุดและศักยภาพกำไรที่คาดไว้ โดยไม่ต้องเปรียบเทียบผลงานเป็นรายวันแต่เพียงอย่างเดียว
          2. ดำเนินการส่งเสริมการตลาดและสร้างยอดขายได้อย่างต่อเนื่อง โดยอาศัยกิจกรรมการวางตารางการผลิตและการจัดจำหน่ายที่ทำให้เกิดความประหยัดยิ่งขึ้น
          3. ปรับปรุงความสามารถในการคาดคะเนยอดขาย เพื่อวางแผนการผลิตและการจัดจำหน่าย
          4. ได้รับความสำเร็จในการวางแผนงาน การประสานการดำเนินงาน และการควบคุมการตลาด ร่วมกันเพื่อเข้าถึงลูกค้าเป้าหมายในตลาด
          5. กำหนดระดับความต้องการสินค้าคงคลังของร้านค้าปลีกได้แม่นยำ ซึ่งทำให้เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการและควบคุมสินค้าคงคลัง 

สำหรับพ่อค้าปลีกจะได้รับผลดี ดังนี้
          1. มีการจัดการสินค้าในปริมาณและเวลาที่เหมาะสม
          2. พอใจที่จะตัดสินใจโดยพิจารณาจากผู้ผลิตหรือแหล่งทรัพยากร
          3. สามารถวางแผนสินค้าให้มีความหลากหลายและควบคุมได้ดี
          4. ระบุถึงข้อกำหนดในการรักษาระดับสินค้าคงคลังไว้ได้ชัดเจน
          5. มีการจัดการสินค้าโดยใช้นโยบายราคา เป็นพื้นฐานสำคัญ 
          6. บริหารงานการจัดการสินค้า โดยเกิดความประหยัดและมีประสิทธิภาพ

vertical marketing systems

 เนื่องจากช่องทางการตลาดแบบสามัญทำให้คนกลางภายในช่องทางแต่ละรายมีอิสระในการดำเนินงานของตน และมีเป้าหมายแสวงหากำไรของตนเองเป็นหลัก ผลจากการแสวงหากำไรทั้งของพ่อค้าส่ง และพ่อค้าปลีกในช่องทางการตลาดนั้น ๆ ทำให้ค่าใช้จ่ายรวมในการจัดจำหน่ายที่เกิดขึ้นตลอดช่องทางนั้นเพิ่มสูงขึ้น ขาดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสมาชิกในช่องทาง ขาดการมอบหมายหน้าที่ที่เหมาะสม ขาดความสามารถในการทำกำไรให้สูงขึ้น ทำให้เกิดการสูญเสียของส่วนรวม ด้วยเหตุนี้จึงเกิดการพัฒนาเป็นระบบการตลาดตามแนวตั้ง ซึ่งเป็นรูปแบบการจัดการช่องทางการตลาดแนวทางใหม่ ใช้หลักการจัดการที่ทันสมัยและมีผลดีกว่าช่องทางการตลาดแบบสามัญ

          โดยที่การออกแบบระบบช่องทางการตลาดแนวใหม่นี้มุ่งจะให้เกิดผลด้านการจัดการในระดับสูงขึ้นกว่าช่องทางแบบสามัญ และให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบันที่มีวิวัฒนาการความก้าวหน้าในด้านต่าง ๆ มาก ช่องทางการตลาดแนวทางใหม่นี้จึงคำนึงถึงความพยายามที่จะใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ การสร้างความประหยัดในการจัดกิจกรรมการส่งเสริมการตลาด และความต่อเนื่องของงานการจัดจำหน่ายนับตั้งแต่จุดเริ่มต้นไปจนถึงจุดสิ้นสุดของช่องทางการจัดจำหน่าย หรือเริ่มตั้งแต่ผู้ผลิตผ่านคนกลางไปจนถึงผู้บริโภคคนสุดท้าย ช่องทางการตลาดโดยใช้ระบบการตลาดตามแนวตั้งจะมีระบบเครือข่ายงานจากส่วนกลางเป็นที่รวมของการจัดการงานจัดจำหน่าย มีการปฏิบัติงานด้านต่าง ๆ ที่สัมพันธ์กันได้อย่างต่อเนื่องตลอดช่องทางการตลาดนั้น ๆ และสามารถจัดรูปแบบการจัดการตามแนวทางสมัยใหม่ได้ดี เช่น ทำให้เกิดการบริหารโดยมืออาชีพและมีโครงสร้างการทำงานจากโปรแกรมส่วนกลาง ทำให้เกิดการประหยัดจากการดำเนินงานจากธุรกิจขนาดใหญ่ (economies of scales) สามารถควบคุมการตลาดและการดำเนินงานในช่องทาง สามารถลดข้อขัดแย้งระหว่างสมาชิกภายในช่องทาง สร้างความร่วมมือระหว่างคนกลางในและนอกช่องทาง เป็นต้น

organizational patterns in marketing channels

รูปแบบการจัดองค์กรในช่องทางการตลาด จะเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจในช่องทางการตลาดหลาย ๆ ด้าน เช่น ประเภทของช่องทาง ความซับซ้อนของช่องทาง จำนวนคนกลางที่เกี่ยวข้อง ความหลากหลายของคนกลาง อำนาจการควบคุมและการติดตามผลการปฏิบัติงานการประสานงานในช่องทางเป็นต้นการจัดรูปแบบขององค์กรในช่องทางการตลาดมักจะมีรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับระดับของการตัดสินใจในแต่ละด้านดังกล่วของแต่ละกิจการ
 
รูปแบบการจัดองค์กรในช่องทางการตลาด
          รูปแบบการจัดองค์กรในช่องทางการตลาด เมื่อพิจารณาตามแนวคิดของ NBarry Berman (1996 : 521) และแนวความคิดของ Philip Kotler (1997 : 549) แล้ว สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 รูปแบบ คือ
          1. ช่องทางการตลาดแบบสามัญ (conventional marketing channels)
          2. ช่องทางการตลาดแบบระบการตลาดตามแนวตั้ง (vertical marketing systems)
          3. ช่องทางการตลาดแบบระบบการตลาดตามแนวนอน (horizontal marketing systems)
          4. ช่องทงการตลาดแบบระบบการตลาดหลายช่องทาง (multichannel marketing systems)
 
ช่องทางการตลาดแบบสามัญ (conventional marketing channels) 
          ช่องทางการตลาดแบบสามัญ ประกอบด้วยคนกลางอิสระแต่ละรายปฏิบัติงาน การตลาดในรูปแบบการดำเนินงานเฉพาะของตนเอง แยกการบริหารงานเป็นอิสระจากกันเด็ดขาด ช่องทางการตลาดแบบนี้ประกอบด้วย ผู้ผลิต คนกลางที่เป็นพ่อค้าส่ง พ่อค้าปลีก และผู้บริโภค 

          ช่องทางการตลาดแบบสามัญ เป็นรูปแบบการขยายตัวของช่องทางการตลาด ที่เกิดจากการรวมกลุ่มดำเนินงานในหมู่คนกลางอิสระ ที่แต่ละกิจการมีอิสระในการดำเนินงานของตนอย่างเด่นชัด คนกลางอิสระเหล่านี้มุ่งแสวงหาผลกำไรจากการปฏิบัติภารกิจของตนเอง โดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับคนกลางรายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในช่องทางการตลาดเดียวกัน มีกรรมสิทธิ์ในสินค้า สามารถตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งที่จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่การดำเนินงานของตน โดยไม่ต้องคำนึงถึงเป้าหมายร่วมกันแต่อย่างใด ช่องทางการตลาดแบบสามัญไม่ได้มีการกำหนดโครงสร้างการแบ่งงานกันไว้อย่างเป็นทางการ รวมทั้งกิจการที่ปฏิบัติงานร่วมกันจะไม่มีความผูกพันกับระบบการตลาดรวมทั้งระบบแต่อย่างใด

          ด้วยเหตุนี้ การประสานงานระหว่างสมาชิกในช่องทางการตลาด มักจะเป็นไปในรูปของการต่อรองการเจรจาแลกเปลี่ยน มากกว่าการวางแผนร่วมกัน ทั้งนี้เกิดจากการขาดความผูกพัน ศรัทธาเชื่อถือต่อกันมักจะเป็นไปในลักษณะของการทำงานร่วมกับแบบหลวม ๆ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าช่องทางการตลาดแบบสามัญนี้จะไม่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพให้กับระบบการตลาด แต่จะสามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงความต้องการที่เกิดขึ้นในตลาดได้อย่างรวดเร็ว และมีผลดีสำหรับตลาดสินค้า และบริการที่ไม่ได้มาตรฐาน เช่น ตลาดรถยนต์ใช้แล้ว เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องใช้ในบ้าน อาหาร วัสดุสิ้นเปลืองในสำนักงาน ประกันชีวิตเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น

จริยธรรมทางธุรกิจ

 องค์การธุรกิจในยุคใหม่ต้องบริหารงานโดยคำนึงถึงจริยธรรม รับผิดชอบต่อผู้บริโภคด้วยการผลิตสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ รับผิดชอบต่อพนักงานด้วยการปฏิบัติต่อพนักงานอย่างเป็นธรรม และรับผิดชอบในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้นยังต้องดำเนินกิจการด้วยความโปร่งใสพร้อมจะให้สาธารณชนตรวจสอบเสมอ   จริยธรรมเข้าไปเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานทุกด้านขององค์การ การทำงานภายใต้ระบบทุนนิยมและกระแสเศรษฐกิจใหม่ถ้าไม่คำนึงถึงเรื่อง จริยธรรมจะสร้างผลกระทบในทางลบได้อย่างรุนแรงและกว้างขวางมากกว่ายุคใด ๆ
ความหมายของจริยธรรม
           ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 คำว่า ธรรม หมายถึงความดี ส่วนคำว่า จริย หมายถึง ความประพฤติ กิริยาที่ควรประพฤติ ดังนั้นความหมายของ จริยธรรม คือ ธรรมที่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติ  มีนักปราชญ์ของวงการศึกษาไทยหลายท่านได้ให้ความหมายของคำว่าจริยธรรม (วริยา ชินวรรณโณ 2541) ไว้ดังนี้
          อลิสโตเติล กล่าวว่า พฤติกรรมที่เหมาะสม คือควรปฏิบัติตามกฎการเดินสายกลาง golden mean of moderation คือการไม่ทำอะไร สุดโต่ง เช่น ร่ำรวยเกินไป ยากจนเกินไป
          พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) อธิบายว่า จริยธรรม ตามหลักพุทธศาสนา คือ มรรค หรือมัชฌิมาปฏิปทา  พรหมจารีหรือผู้ประพฤติธรรม หรือ ผู้มีจริยธรรม ตามหลักพุทธศาสนา คือ ผู้ดำเนินชีวิตตามมรรค หรือปฏิบัติตาม มัชฌิมาปฏิปทา (หลักการครองชีวิตที่ถูกต้องสมบูรณ์ของมนุษย์ที่จะนำไปสู่จุดหมาย คือ ความดับทุกข์)
           กระมล ทองธรรมชาติ อธิบายว่า จริยธรรม หมายถึง ธรรม หรือหลักความประพฤติที่ควรแก่การยึดถือและปฏิบัติตาม ก่อ สวัสดิพาณิชย์ อธิบายว่า จริยธรรม คือ ประมวลความประพฤติและความนึกคิดในสิ่งที่ดีงามเหมาะสม ความคิดในเชิงจริยธรรมมีกำเนิดขึ้นมาตั้งแต่ในสมัยโบราณ นักปราชญ์ในยุคโบราณหลายต่อหลายท่านต่างกล่าวถึงและพยายามสั่งสอนให้ผู้คน ประพฤติปฏิบัติกันในแนวทางที่ถูกต้องชอบธรรม กระทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับตนเองและสังคม จนถึงปัจจุบันแนวความคิดในเรื่องจริยธรรมได้พัฒนามาเป็นลำดับ มีผู้กล่าวถึง 'จริยธรรม' ในความหมายที่แตกต่าง ๆ กันหลายลักษณะ เช่น
        ดวงเดือน พันธุมนาวิน กล่าวว่า จริยธรรม เป็นคำที่มีความหมายกว้างขวาง หมายถึงลักษณะทางสังคมหลายลักษณะของมนุษย์ ลักษณะและพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรมจะมีคุณสมบัติประเภทใดประเภท หนึ่ง ใน 2 ประเภท คือ
          1. เป็นลักษณะที่สังคมต้องการให้มีอยู่ในสมาชิกของสังคมนั้น เป็นพฤติกรรมที่สังคมนิยมชมชอบให้การสนับสนุน และผู้กระทำส่วนมากเกิดความพอใจว่า กระทำนั้นเป็นสิ่งถูกต้องเหมาะสม
          2. เป็นลักษณะที่สังคมไม่ต้องการให้มีอยู่ในสมาชิกของสังคม เป็นการกระทำที่สังคมลงโทษ และผู้กระทำพฤติกรรมนั้นรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องและไม่สมความ ลักษณะของมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรมแบ่งออกได้เป็น ความรู้เชิงจริยธรรม ทัศนคติเชิงจริยธรรม เหตุผลเชิงจริยธรรมและพฤติกรรมเชิงจริยธรรม (ดวงเดือน พันธุมนาวิน 2520)
           สุมน อมรวิวัฒน์ กล่าวว่าจริยธรรม คือ แบบแผนของความประพฤติที่ยึดหลักของศีลธรรม ลักษณะที่แตกต่างระหว่าง 'ศีลธรรม' และ 'จริยธรรม' ก็คือศีลธรรมเป็นหลักการของคุณงามความดีที่มนุษย์ยึดถือปฏิบัติ อิงหลักศาสนาและมีหลักเป็นสากล ส่วนจริยธรรมนั้นแม้จะมีความหมายบางส่วนคล้ายคลึงกับคำว่าศีลธรรม แต่มักเป็นคำที่ใช้ในสาขาวิชาพฤติกรรมศาสตร์ เน้นลักษณะของความประพฤติที่สังคมนิยมชมชอบว่าถูกต้องเหมาะสม (สุมน อมรวิวัฒน์ 2530)
          สำหรับนักคิดในประเทศตะวันตก ก็ได้ให้คำอธิบายเกี่ยวกับจริยธรรมและพฤติกรรมทางจริยธรรมไว้ (ชัยพร วิชชาวุธ 2530) ดังนี้
          พีอาเจต์ (Piaget 1960) กล่าวว่า จริยธรรม คือ องค์ประกอบของกฎเกณฑ์ที่บุคคลยอมรับว่าถูกต้องดีงามควรประพฤติปฏิบัติตน เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากสังคม
          บราวน์ (Brown 1965) ได้อธิบายว่า จริยธรรมหมายถึงระบบของกฎเกณฑ์ใช้ในการวิเคราะห์ความประพฤติที่ผิดหรือถูก ของบุคคล จริยธรรมมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนามาจากประสบการณ์ของบุคคล โดยจริยธรรมประกอบด้วยองค์ประกอบ 3 ด้าน คือ ความรู้ (knowledge) ความประพฤติ (conduct) และ ความรู้สึก (felling)
          โดลเบอร์ (Kohlberg 1969) ให้การอธิบายว่า จริยธรรมเป็นความรู้สึกผิดชอบชั่วดีเป็นกฎเกณฑ์และมาตรฐานพฤติกรรมในสังคม ซึ่งบุคคลจะพัฒนาขึ้นจนมีจริยธรรมของตนเอง โดยอาศัยกฎเกณฑ์จากสังคมเป็นสิ่งตัดสินว่าการกระทำนั้นถูกหรือผิด
          ฮอฟแมน (Hoffman 1979) ได้จำแนกองค์ประกอบของจริยธรรมไว้ในลักษณะที่คล้ายคลึงกับที่บราวน์ได้กระทำ กล่าวคือ เขาเชื่อว่า จริยธรรมเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นภายใน (internalization) ขององค์ประกอบจริยธรรม 3 ประการ ที่เป็นอิสระจากกัน คือความคิดทางจริยธรรม (moral thought) ความรู้สึกทางจริยธรรม (moral felling) และพฤติกรรมจริยธรรม (moral behavior)
          โดยการประมวลจากความหมายทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ขอสรุปนิยาม ความหมายของ 'จริยธรรม' ไว้คือ จริยธรรม หมายถึง หลักความประพฤติ แนวทาง แบบแผน หรือหลักการที่ว่าด้วยความดีงามซึ่งมีพื้นฐานมาจากหลักการของศาสนา หรือสิ่งที่คนในสังคมยอมรับว่าเป็นความดีความถูกต้อง เป็นต้นว่า หลักของศีล สมาธิ หลักของการยึดประโยชน์ส่วนรวม หรือหลักของการพัฒนาประเทศ ฯลฯ เพื่อความสามารถในการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข การปลูกฝังจริยธรรม จึงเปรียบเสมือนการพัฒนาคุณภาพจิตที่มีอิทธิพลต่อความประพฤติของมนุษย์ในสังคม
แรงกดดันต่อการตัดสินใจกับคุณค่าทางจริยธรรม
          ผู้บริหารองค์กรในยุคปัจจุบันมักมีแรงกดดันทางสังคมอยู่อย่างน้อย 6 ประการ ที่หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาให้เราตัดสินใจ ซึ่งพร้อมที่จะทำให้ผู้บริหารขององค์การนั้นกลายเป็น พระเอก หรือผู้ร้าย ในสายตาสาธารณชนได้ทันที สิ่งท้าทายเหล่านี้จะประกอบด้วย
          1. ประเด็นว่าด้วยนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม สาธารณชนต้องการให้ธุรกิจแก้ไขปัญหาให้มีสมดุลระหว่างการผลิตทางด้าน อุตสาหกรรม ความต้องการใช้พลังงาน และความจำกัดของธรรมชาติ เช่น
               1.1 การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่อันตรายลงมาที่ระดับต่ำสอดคล้องกับต้นทุนทางเศรษฐกิจเทคโนโลยี
               1.2 การสงวนพลังงานที่มีอยู่และพัฒนาแหล่งพลังงานใหม่ที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อมต่ำ เพื่อรักษาการผลิตทางด้านอุตสาหกรรมในระดับสูงไว้
          2. ปัจจัยที่เป็นผลในการทำงาน สาธารณชนต้องการให้ธุรกิจปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และอิสรภาพส่วนบุคคล ของลูกจ้าง ขณะเดียวกันก็เพิ่มพูนความชำนาญในการทำงานที่มีผลผลิตเพิ่มเพื่อให้บรรลุตาม ต้องการของสังคม ในข้อนี้ธุรกิจจำเป็นจะต้องดำเนินการ เช่น
               2.1 การเพิ่มคุณภาพของชีวิตการทำงาน ลดอัตราอุบัติเหตุที่เกิดจากการทำงาน และสนับสนุนให้ทุกกลุ่มมีโอกาสในการจ้างงานเท่าเทียมกัน
               2.2 การจัดตั้งสหภาพแรงงานที่ถูกกฎหมายทางด้านการจัดการต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการต่อรอง ให้มีความยุ่งเหยิงน้อยลง
               2.3 เมื่อจะต้องย้ายโรงงาน เพราะเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจ จะต้องช่วยเหลือลูกจ้างและชุมชนซึ่งไม่ได้ย้ายตาม
               2.4 ส่งเสริมให้ลูกจ้างมีส่วนร่วมในการวางแผนงานออกแบบการทำงาน ไม่ล่วงล้ำความเป็นส่วนตัวของลูกจ้าง ปฏิบัติต่อลูกจ้างในฐานะคน ๆ หนึ่ง จัดหาสวัสดิการที่เหมาะสม และบำเหน็จบำนาญ
          3. ปรับปรุงการเพิ่มผลผลิต สังคมต้องการให้ธุรกิจเพิ่มประสิทธิภาพในการเปลี่ยน economic and social inputs เป็น economic and social outputs ซึ่งผลกระทบของมันจะช่วยให้การปรับปรุงการเพิ่มผลผลิตทั้งของธุรกิจและสังคม โดยส่วนรวมเพื่อให้บรรลุผลดังกล่าวภาคธุรกิจถูกคาดหวังให้ดำเนินการเช่น
               3.1 ปกครองลูกจ้างด้วยวิธีสร้างสรรค์ และมีบทบาทให้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจในการทำงานเพื่อจุดประสงค์การเพิ่มผลผลิต
               3.2 ร่วมมือกับสหภาพแรงงานและหน่วยงานรัฐบาลเพื่อลดต้นทุน 
               3.3 ปรับปรุงกฎระเบียบให้ยืดหยุ่น    
               3.4 ปฏิรูปนโยบายเพื่อสนับสนุนการคิดค้นทางเทคโนโลยี 
               3.5 มีการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ด้วยความระมัดระวังไม่ให้เกิดผลกระทบทางด้านลบต่อประชาชนชุมชน
          4. แรงกดดัน ความต้องการ และความจำเป็นของโลก ประชาชาติของโลกต้องการให้ธุรกิจคำนึงถึง และตอบสนองต่อปัญหาด้านการพัฒนาของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่ยากจน ซึ่งมีประชากรมากและยากจนเป็นส่วนใหญ่เพื่อให้บรรลุผลดังกล่าว จำเป็นต้องดำเนินการ เช่น
               4.1 ผลิตสินค้าและบริการที่จำเป็น ขายสินค้าในราคายุติธรรมในตลาดปิด และตลาดเสรีนานาชาติ 
               4.2 ซื้อวัตถุดิบ สินค้าและบริการ จากประเทศด้อยพัฒนา และในสัดส่วนที่สมเหตุสมผล 
               4.3 เพิ่มลงทุนในประเทศด้อยพัฒนา เพื่อช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศนั้น ๆ การดำเนินงานข้ามชาติจะแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นทางด้านเศรษฐกิจและความแปร เปลี่ยนของวัฒนธรรม ประเพณีและคุณค่าของผู้อื่น
               4.4 พิจารณาถึงผลกระทบจากการเข้ามาดำเนินงานของต่างชาติ ในด้านการตลาด งาน และชุมชน ความสมดุลระหว่างผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจกับต้นทุนที่เกิดจากการเคลื่อนย้าย
          5. ความสมดุลระหว่างจริยธรรมและเศรษฐกิจ สังคมต้องการให้ภาคธุรกิจบรรลุผลทั้งด้านเศรษฐกิจ และการมีมาตรฐานด้านจริยธรรมสูงทั้งสองด้านพร้อม ๆ กัน เรื่องนี้กว้างมาก ต้องใช้ความพยายามมาก เพื่อให้บรรลุหัวข้อนี้จำเป็นจะต้องประสมประสานจริยธรรมและเศรษฐกิจเข้าด้วย กัน โดยการ
               5.1 ริเริ่มในการนำจริยธรรมมาใช้ในธุรกิจ เพื่อว่าบริษัทอาจจะวางรากฐานบางส่วนบนกฎของกำไรต้นทุนสิทธิมนุษยชน และความเที่ยงธรรมของสังคมใช้อำนาจทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมในการส่งเสริมเป้าหมายของสังคม
               5.2 คุณค่าและธรรมเนียมไม่ใช่แสวงหาเฉพาะผลกำไรของธุรกิจเพียงอย่างเดียว
               5.3 ปกป้องผลประโยชน์และสิทธิของหุ้นส่วนในฐานะเจ้าของและผู้ให้ทุน
               5.4 เคารพสิทธิของลูกจ้าง ลูกค้า คู่แข่ง และชุมชน โดยป้องกันเขาเหล่านี้จากอันตราย ซึ่งอาจเป็นผลจากการดำเนินงานของบริษัท
               5.5 รับเอาบทบาทที่รับผิดชอบต่อการรักษาและพัฒนาเมืองไว้ในฐานะที่เป็นศูนย์กลาง ของความศิวิไลซ์ ในขณะเดียวกันก็พยายามลดผลกระทบที่ยุ่งเหยิงจากการตัดสินใจเคลื่อนย้ายทาง ด้านเศรษฐกิจ
               5.6 ช่วยเหลือองค์กรที่ไม่หวังผลกำไร ซึ่งเป็นวิถีทางหนึ่ง ที่ทำให้ชีวิตชุมชนสมบูรณ์พูนสุข
               5.7 หลักความประพฤติ แสดงความเคารพต่อสิทธิของอนุชนรุ่นหลัง โดยการประหยัดการใช้ทรัพยากรทางด้านอุตสาหกรรม
               5.8 ออกแบบให้ขบวนการผลิตลดอิทธิพลของระบบนิเวศวิทยาด้านลบลง
               5.9 พิจารณาผลกระทบทางด้านลบของเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่มีผลต่อวัฒนธรรม จริยธรรม ธรรมเนียม โดยลดผลกระทบเหล่านี้ลงเท่าที่เป็นไปได้
          6. กำหนดหุ้นส่วนทางสังคม สังคมต้องการให้ภาคธุรกิจมีความสัมพันธ์กับกลุ่มต่าง ๆ มากขึ้น รวมทั้งรัฐบาลและสหภาพแรงงาน โดยมีจุดประสงค์เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาสังคมที่สำคัญ ๆ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์นี้จำเป็นจะต้องดำเนินการ
               6.1 ใช้วิธีการทำงานแบบกระจายจากจุดกลาง ซึ่งจะทำให้เกี่ยวข้องกับทุกกลุ่ม
               6.2 ใช้วิธีร่วมกันแก้ปัญหาขัดแย้งที่เกิดขึ้นทั่วไปทั้งในรัฐบาล  ธุรกิจ และแรงงาน
               6.3 ส่งเสริมให้มีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยการร่วมงานกันระหว่างรัฐบาลและกลุ่มชุมชนต่าง ๆ แทนที่จะดำเนินงานเพียงหน่วยเดียว
            จริยธรรมถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการเพิ่มผลผลิต ผู้ผลิตหรือผู้ให้บริการที่มีจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ ย่อมได้รับความเชื่อถือและไว้วางใจจากลูกค้า ผู้ขาย ผู้ถือหุ้น คู่แข่งขัน พนักงาน ข้าราชการและประชาชนทั่วไป ทำให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างยั่งยืน ทำให้ทุกฝ่ายได้รับผลประโยชน์ร่วมกันนำความสุขความเจริญมายังหน่วยงาน สังคมและประเทศชาติโดยส่วนรวม
ตัวอย่างการดำเนินงานทางธุรกิจอย่างมีจริยธรรมที่สำคัญ 10 ประการ เช่น
          1. ไม่เบียดเบียนลูกค้า ได้แก่ ไม่ปลอมปนสินค้าหรือไม่ส่งสินค้าที่มาตรฐานต่ำกว่าที่ได้ตกลงกันไว้ ไม่กักตุนสินค้าเพื่อขึ้นราคา ไม่ค้ากำไรเกินควร เป็นต้น
          2. ไม่เบียดเบียนผู้จัดส่งวัตถุดิบ เช่น ซัพพลายเออร์ (supplier) เวนเดอร์ (vender) เป็นต้น การไม่เบียดเบียน ได้แก่ การไม่กดราคาซื้อให้ต่ำลงมากเกินไป การไม่ยืดระยะเวลาชำระหนี้ออกไปมากเกินควร การปิดบังข้อมูลบางอย่าง การไม่ตำหนิวัตถุดิบหรือการไม่สร้างหลักฐานเท็จเพื่อเรียกร้องให้ผู้จัดส่ง วัตถุดิบชดใช้ค่าเสียหาย เป็นต้น
          3. ไม่เบียดเบียนพนักงาน ได้แก่ การจ่ายค่าแรงให้อย่างเป็นธรรม ถูกต้องตามกฎหมาย ตรงต่อเวลา การใช้แรงงานอย่างไม่กดขี่ ทารุณ การจัดสวัสดิการและสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เหมาะสม การจัดหาอุปกรณ์ในการทำงานให้ตามสมควรไม่ต้องให้พนักงานไปซื้อหามาเองโดยไม่ จำเป็น การไม่เก็บเงินค่าประกันต่าง ๆ จากพนักงานโดยไม่จำเป็น การจ่ายค่าล่วงเวลาให้เมื่อมีการทำงานล่วงเวลาอย่างถูกต้อง เป็นต้น
          4. ไม่เบียดเบียนผู้ถือหุ้น ได้แก่การไม่สร้างหลักฐานเท็จหรือไม่สร้างข้อมูลให้ผู้ถือหุ้นหลงผิดในการ ซื้อหุ้นเพิ่มทุน การจ่ายเงินปันผลให้ตามสมควร การไม่ปิดบังข้อมูลที่แท้จริง การไม่เอาส่วนเกินมูลค่าหุ้นไปฝากธนาคารไว้กินดอกเบี้ยเฉย ๆ โดยไม่นำไปลงทุนตามที่ได้สัญญาไว้ การไม่นำเงินลงทุนไปใช้ผิดประเภท การตั้งใจบริหารบริษัทให้เต็มความสามารถ การไม่ปั่นหุ้นให้มีราคาสูง เป็นต้น
          5. ไม่เบียดเบียนผู้ร่วมงาน ได้แก่ การไม่ปิดบังข้อมูลที่ผู้ร่วมงานหรือบริษัทร่วมทุนควรจะได้รับรู้ การบริหารงานอย่างซื่อสัตย์ตรงไปตรงมา การไม่ทุจริตคอรัปชั่น การไม่เอาเปรียบกินแรงผู้ร่วมงาน เป็นต้น
          6. ไม่เบียดเบียนผู้ให้กู้ยืม ได้แก่ การไม่นำเงินที่กู้ยืมไปใช้ผิดข้อตกลง การไม่ยืดระยะเวลาชำระหนี้โดยไม่มีเหตุอันควร การไม่สร้างหลักฐานเท็จเพื่อหลอกลวงผู้ให้กู้ยืม เป็นต้น
          7. ไม่เบียดเบียนคู่แข่ง ได้แก่ การไม่ปล่อยข่าวลือหรือไม่สร้างหลักฐานที่เป็นเท็จทำให้คู่แข่งเสียหาย การไม่ปลอมสินค้าคู่แข่ง การไม่ติดสินบนเพื่อแย่งลูกค้าจากคู่แข่ง การปฏิบัติตามข้อตกลงหรือพันธะผูกพันอย่างเคร่งครัด การไม่นอกลู่นอกทางหรือปฏิบัตินอกกติกา เป็นต้น
          8. ไม่เบียดเบียนราชการ ได้แก่ การไม่ติดสินบนข้าราชการเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมาย การจ่ายภาษีถูกต้องตรงความเป็นจริง ไม่มีการทำบัญชี 2-3 ชุด ไม่หลีกเลี่ยงภาษีโดยวิธีการอาศัยช่องว่างของกฎหมาย การไม่สร้างหลักฐานเท็จเพื่อหลอกลวงทางการ เป็นต้น
          9. ไม่เบียดเบียนสังคม ได้แก่ การไม่โฆษณาหลอกลวงหรือไม่โฆษณาเกินจริงหรือไม่โฆษณาให้หลงผิด การไม่ฉวยโอกาสขายของแพง การไม่ผลิตสินค้าหรือบริการที่ต่ำกว่ามาตรฐานที่ได้กำหนดไว้ เป็นต้น
        10. การไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การไม่ก่อให้เกิดมลภาวะ ไม่ทำให้น้ำเสีย ไม่ทำให้อากาศเป็นพิษ การจัดให้มีระบบการจัดการกับของเสียหรือสิ่งที่ก่อให้เกิดมลพิษ เช่น จัดให้มีการจัดการกับกากอุตสาหกรรมที่เป็นพิษอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นต้น
ข้อควรพิจารณาเกี่ยวกับจริยธรรมทางธุรกิจ  
          เมื่อเกิดความเสียหายในธุรกิจสิ่งที่สังคมแสวงหาคือความรับผิดชอบต่อสังคม และจริยธรรมในการประกอบธุรกิจ เรื่องจริยธรรมเป็นเรื่องของรูปแบบของการตีความว่า พฤติกรรมใดผิดและพฤติกรรมใดถูกสิ่งใดควรทำหรือไม่ควรทำ จริยธรรมเกี่ยวข้องกับมนุษย์ในทุกสถาบัน มักมีการพูดถึงว่าเราควรมีจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ พฤติกรรมดังกล่าวอาทิ การป้องกันไม่ให้ข่าวสารรั่วไหลออกเพื่อผลประโยชน์ในการซื้อขายหลักทรัพย์ แก่เพื่อนฝูงที่ใกล้ชิดหรือการไม่ใช้โฆษณาหลอกลวงแก่ผู้บริโภค หรือการไม่รวมกลุ่มธุรกิจเพียงเพื่อต้องการจะขึ้นราคาสินค้าเท่านั้น สิ่งเหล่านี้ควรจะเลิกไปเสีย เพราะเป็นพฤติกรรมที่ผิดจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ 

Customer Service

การบริการลูกค้าอย่างไร้ทิศทางจากการขาดการวางแผนที่ดี ย่อมทำให้กิจการถดถอยลงไปเรื่อย ๆ และยากที่จะรักษาลูกค้าเอาไว้ได้ในยุคที่ลูกค้ามีทางเลือกมากมาย
ประการแรกมองว่าลูกค้าคือหุ้นส่วนระยะยาว
        - ศึกษาความต้องการของลูกค้าอย่างลึกซึ้ง
        - กิจการควรเลือกว่าจะเป็นอะไรสำหรับลูกค้ากลุ่มไหน          
        - การแบ่งกลุ่มลูกค้าให้ชัดเจน
        - สร้างช่องทางที่ลูกค้าจะเข้าถึงกิจการได้ง่ายดาย
        - หมั่นแสวงหาข้อมูลจากลูกค้า
ประการที่สอง แสวงหาความคิดดีดีในการปรับปรุงการบริการลูกค้าจากพนักงาน
        พนักงานจะรู้ดีว่าปัญหาสำคัญในการบริการคืออะไรและปัญหาเกิด ณ จุดไหนพร้อมกับเสนอแนะวิธีการแก้ไขจากประสบการณ์ที่เผชิญกับปัญหาเหล่านั้น ผู้บริหารควรผูกเรื่องรางวัลและผลตอบแทนเข้ากับความคิดดี ๆ จากพนักงานด้วย เพราะจะสร้างความภาคภูมิใจนำมาซึ่งความคิดและความร่วมมือ
ประการที่สามกำหนดกลยุทธ์ในการบริการลูกค้า
         ต้องพยายามสร้างจุดขายในงานบริการที่โดดเด่น แตกต่าง และสามารถสร้างความได้เปรียบเชิงแข่งขัน บริการลูกค้าที่สามารถสร้างประสบการณ์ที่แตกต่างอย่างมีคุณค่า ผู้บริการจะต้องกำหนดวิสัยทัศน์ในงานบริการที่ชัดเจนให้พนักงานเห็นทิศทางการบริการลูกค้าผู้บริหารจะต้องยึดมั่นและลงมือปฏิบัติในกลยุทธ์อย่างเคร่งครัด
ประการที่สี่ คัดเลือกและฝึกอบรมพนักงานด่านหน้าอย่างเข้มข้น
         ความเป็นเลิศของงานบริการลูกค้ามาจากการพิถีพิถันในกระบวนการคัดเลือกพนักงานที่ให้บริการและการฝึกอบรมที่เข้มข้นโดยเฉพาะทักษะในการปฎิสัมพันธ์กับลูกค้าและการแก้ปัญหาต่าง ๆ ในงานบริการ
ประการที่ห้ากำหนดเป้าหมายคุณภาพบริการลูกค้าผลตอบแทนที่เหมาะสม
         เป้าหมายคุณภาพบริการของประธานบริษัทต้องถูกถ่ายทอดลงมาสู่ผู้บริหารระดับรอง ๆ ที่จะกำหนดเป้าหมายให้รับและเสนอซึ่งกันและกันกระบวนการนี้ต้องเกิดทั่วทั้งองค์กร ทุกคนรู้ว่าเป้าหมายคุณภาพของตนคืออะไร ควรจะทำขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษรมีการลงนามระหว่างผู้บริหารกับพนักงานเพื่อสร้างความผูกพันธ์ที่จะปฏิบัติตามสัญญาระบุให้ชัดเจนว่าเป้าหมายที่ต้องบรรลุคืออะไร ภายในช่วงเวลาเท่าไหร่ผลที่ตอบแทนที่ได้คืออะไรเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาของสัญญาแล้วต้องมีการประเมินผลและทบทวนทั้งความสำเร็จและความผิดพลาดเพื่อจะร่วมกันร่างสัญญาคุณภาพบริการกันใหม่ต่อไป
ประการที่หก ศึกษาสภาพแวดล้อมและคู่แข่งขัน
        ศึกษาให้รู้ว่าคู่แข่งไปถึงไหนแล้วลูกค้าคิดอย่างไรต้องการอะไรมีใครในอุตสาหกรรมที่เป็นแบบอย่างในการบริการได้หมั่นสังเกตุการทำงานของพนักงานลองทำตัวเป็นลูกค้าตัวปลอมติดต่อไปที่บริษัทของคู่แข่งและของตัวเองอาจจะสอบถามข้อมูลหรือร้องเรียนแล้วเปรียบเทียบว่าการบริการแตกต่างกันอย่างไรสิ่งใดที่ต้องปรับปรุง
ประการที่เจ็ด อดทนและต้องไม่รู้สึกพอใจกับคุณภาพการบริการ
         ทุกครั้งที่ติดต่อกับลูกค้ามีโอกาสที่จะสร้างความพอใจที่เพ่มขึ้นให้ลูกค้าได้อีกเสมอความรู้สึกนี้ต้องเกิดกับพนักงานทุกคนเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วทุกวันนี้ทำให้การบริการลูกค้าเปลี่ยนโฉมไปจากอดีตมีการนำเอาเทคนิคใหม่มาเรียนรู้ลูกค้าและอำนวยความสะดวก หากเจ้าของกิจการพอใจอยู่กับบริการคุณภาพของตัวเองโดยไม่สนใจกับการเปลี่ยนแปลงก็จะถูกคู่แข่งวิ่งแซงหน้าไปอย่างแน่นอน
         การบริการลูกค้าที่เป็นเลิศทั้งเจ็ดประการที่กล่าวมาเป็นสิ่งที่หลาย ๆ กิจการทำอยู่แต่จะต้องได้รับการเอาใจใส่อยางต่อเนื่องสิ่งสำคัญที่ผู้บริหารและพนักงานในงานบริการลูกค้าต้องคำนึงเสมอคือคุณภาพในการบริการลูกค้าอย่างตั้งใจจริงความพยายามอย่างมุ่งมั่น เป้าหมายและกลยุทธ์ที่เชี่ยวชาญและมีการมุ่งปฏิบัติอย่างจริงจัง หากสามารถนำไปปฎิบัติได้ทั้งหมดธุรกิจก็จะประสบความสำเร็จมีความได้เปรียบในการแข่งขัน มีความเป็นเลิศในงานบริการและความภักดีของลูกค้าต่อองค์กรนั้นๆ