Custom Search
วันอังคารที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2554

ทฤษฎีการพัฒนาตนเอง

การพัฒนาตามทฤษฎีของพุทธศาสนา ตามทฤษฎีของพุทธศาสนา การพัฒนาตรงกับคำว่า “ภาวนา” ซึ่งหมายถึง การทำให้เจริญงอกงาม ถึงอย่างไรก็ตาม คำว่า “การพัฒนา” ในที่นี้เป็นคำที่กำหนดให้มีคุณค่า และตามหลักการของพุทธศาสนา การพัฒนาจะต้องดำเนินไปพร้อม ๆ กัน 4 ทาง คือ (จำนงค์ อดิวัฒนสิทธิ์, 2545, หน้า 163-164)

1. การพัฒนาทางด้านกายภาพ (physical development) เป็นกระบวนการสร้างความเจริญงอกงามทางร่างกาย การฝึกอบรมร่างกายให้รู้จักติดต่อกับสิ่งภายนอกด้วยดีและปฏิบัติต่อสิ่งภายนอกเหล่านั้นในทางที่เป็นคุณ มิให้เกิดโทษ ให้กุศลธรรมเจริญงอกงามและกำจัดให้อกุศลธรรมเสื่อมสูญไป สิ่งภายนอกที่มีบทบาทต่อชีวิตมนุษย์ก็ คือ อารมณ์ภายนอกทั้ง 5 ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส จุดมุ่งหมายของการพัฒนาในข้อนี้ก็คือ การทำให้บุคคลรู้จักวิธีการเกี่ยวข้องกับอารมณ์ภายนอกทั้ง 5 อย่างนี้ อย่างถูกต้องเหมาะสม และเป็นคุณประโยชน์ต่อการพัฒนาชีวิตให้เจริญก้าวหน้าสูงขึ้น
2. การพัฒนาทางด้านศีลธรรม (moral development) เป็นกระบวนการฝึก อบรมบุคคลให้มีศีล ให้ตั้งอยู่ในระเบียบวินัย ไม่เบียดเบียน หรือก่อความเดือดร้อนเสียหายแก่บุคคลอื่น สามารถอยู่ร่วมกับบุคคลอื่นได้เป็นอย่างดี มีความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลต่อบุคคลอื่น
3. การพัฒนาทางด้านจิตใจ หรือทางด้านอารมณ์ (spiritual or emotionaldevelopment) เป็นความพยายามที่จะฝึกอบรมจิตใจให้เข้มแข็งให้มีความมั่นคง และมีความเจริญงอกงามด้วยคุณธรรมทั้งหลาย เช่น มีเมตตากรุณา มีความขยันหมั่นเพียร มีความอดทน มีสมาธิ มีความสดชื่นเบิกบาน มีความสงบสุข แจ่มใส เป็นต้น การพัฒนาทางด้านจิตใจที่บางทีเรียกว่า การพัฒนาอารมณ์
4. การพัฒนาทางด้านสติปัญญา (intellectual development) เป็นกระบวนการในการฝึกอบรมให้รู้และเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง ผู้ที่มีความรู้เท่าทันเห็นแจ้งโลกและชีวิตตามสภาพของมัน สามารถทำจิตใจให้เป็นอิสระ และบริสุทธิ์หลุดพ้นจากกิเลสเศร้าหมอง และทำตนให้ปลอดพ้นจากความทุกข์ ทำตนให้มีความสุข สามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสามารถทำตนให้อยู่เหนือปัญหา เหนือความขัดแย้ง และพัฒนาส่วนรวมให้มีความสงบ มีความเสมอภาค และมีความเป็นประชาธิปไตยอย่างมีคุณภาพ

หลักการพัฒนาตนเอง คนที่จะพัฒนาตนเองจะเริ่มต้นด้วยการสำรวจและพิจารณาตนเองว่ามีข้อดีและข้อบกพร่องอะไรบ้าง การสำรวจจะใช้วิธีการส่องกระจก (คนที่เรามีความสัมพันธ์ด้วยช่วยบอก) เมื่อทราบแล้วก็จะมาวิเคราะห์ตนเองและตั้งเป้าหมายว่ามีสิ่งใดที่ดีและมีอยู่ในตัวเราแล้ว เราก็ควรรักษาไว้ สิ่งใดที่ไม่ดีและมีอยู่ในตัวเรา เราก็ควรจะหาทางทำให้ลดน้อยลงหรือควรขจัดให้หมดไป และมีสิ่งใดที่ดีและยังไม่มีในตัวเรา เราก็ควรจะนำมาเพิ่มให้กับตัวเราให้มากขึ้น เมื่อวิเคราะห์และตั้งเป้าหมายแล้ว ต่อไปก็คิดหาวิธีการ และวางแผนดำเนินการ โดยเลือกวิธีการที่เหมาะสมกับตัวเราเอง เมื่อวางแผนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ต้องนำแผนดำเนินการดังกล่าวมาดำเนินการ (ลงมือปฏิบัติจริง) ถ้าเราสามารถทำได้ตามแผนที่วางไว้ ก็ถือว่าแผนการที่วางไว้เหมาะสมกับเรา แต่ถ้าทำไม่ได้ตามแผนก็ถือว่าแผนการนั้นไม่เหมาะสมกับเรา ต้องปรับปรุงให้เหมาะสมจนเราสามารถปฏิบัติได้ เมื่อดำเนินการตามแผนแล้ว จะต้องมีการประเมินผลการดำเนินการว่า
บรรลุเป้าหมายเพียงใด มีปัญหาและอุปสรรคอะไรบ้างหรือไม่ระหว่างดำเนินการ ถ้ามีจะได้หาทางปรับปรุง เพื่อให้การดำเนินการในครั้งต่อไปมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งสามารถเขียนเป็นวงจรในการพัฒนาตนเองได้ตามแผนภาพ (ปราณี รามสูตร และจำรัสด้วงสุวรรณ, 2545, หน้า 123-125)


บรรณานุกรม

จำนงค์ อดิวัฒนสิทธิ์. (2545). สังคมวิทยาตามแนวพุทธศาสตร์. กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, สำนักอธิการบดี.

ปราณี รามสูตร และจำรัส ด้วงสุวรรณ. (2545). พฤติกรรมมนุษย์กับการพัฒนาตน (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์ธนะการพิมพ์.
ความหมายของสมรรถนะของนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

Oxford Shorter Dictionary (as cited in Cooper et al., 2001) ให้ความหมายสมรรถนะว่า หมายถึง การมีความสามารถหรือความรู้เพียงพอที่จะทำงานได้
McClelland (1998, p. 331) ให้ความหมายสมรรถนะว่า คือ ความรู้ (knowledge) ทักษะ (skills) และคุณลักษณะ (attributes) ที่จำเป็นในการปฏิบัติงานใดงานหนึ่ง (job roles) ให้ประสบความสำเร็จ โดยมีความโดดเด่นกว่าคนอื่น ๆ ในเชิงพฤติกรรม เช่น สามารถปฏิบัติงานได้มากกว่าเพื่อนร่วมงาน ในสถานการณ์ที่หลากหลายกว่าและได้ผลงานที่ดีกว่า
Brockbank, Ulrich, and Beatty (1999, p. 111) ให้ความหมายสมรรถนะไว้ว่า หมายถึง ความรู้ ความสามารถของบุคคลที่สัมพันธ์กับผลการปฏิบัติงานที่ดี และมีความเป็นมืออาชีพ
Dubois (as cited in Cooper et al., 2001) ให้ความหมายสมรรถนะในการทำงานไว้ว่า เป็นคุณลักษณะของบุคคล ซึ่งประกอบด้วย แรงจูงใจ (motive) อุปนิสัย (trait) ทักษะ (skill) ภาพลักษณ์ของตนเอง (self-image) บทบาททางสังคม (social role) หรือองค์ความรู้ (body of knowledge) ที่ส่งผลให้บุคคลนั้นมีการปฏิบัติงานที่เป็นเลิศ
สำนักงาน ก.พ. (2548, หน้า 5-6) ให้ความหมายของสมรรถนะไว้ว่า หมายถึง คุณลักษณะเชิงพฤติกรรมที่เป็นผลมาจากความรู้ ทักษะ/ความสามารถและคุณลักษณะอื่น ๆ ที่ทำให้บุคคลสามารถสร้างผลงานได้โดดเด่นกว่าเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ ในองค์กร


บรรณานุกรม

คนึงนิจ อนุโรจน์. นาวาอากาศโท หญิง. (2551). ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อสมรรถนะของนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ กองทัพอากาศ. กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

สำนักงาน ก.พ. (2548). การปรับใช้สมรรถนะในการบริหารทรัพยากรมนุษย์. ค้นเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2550, จาก http://www.cscnewact.com/Uploads/0/41_pub_08 competency.pdf

Cooper, S., Lawrence, E., Kierstead, J., Lynch, B., & Luce, S. (2001). Competencies: A brief overview of development and application to public and private sectors. Retrieved April 6, 2008, from http://www .psagencyagencefp.gc.ca/research/personnel/comp overviewe.asp

Brockbank, W., Ulrich, D., & Beatty, R. W. (1999). HR Professional development: Creating the future creators at the University of Michigan Business School. Human Resource Management, 38, 111-118.

McClelland, D. C. (1998). Identifying competencies with behavioralevent interviews 1998. American Psychological Society, 5(9), 331-339.

แนวคิดสมรรถนะ (competency)

ผู้ริเริ่มแนวคิดเกี่ยวกับสมรรถนะ คือ McClelland (อ้างถึงใน เดชา เดชะวัฒนไพศาล, 2543, หน้า 11) นักจิตวิทยาของมหาวิทยาลัย Harvard โดย McClelland เสนอแนวคิดการบริหารทรัพยากรมนุษย์อย่างมืออาชีพ โดยนำแนวคิดเกี่ยวกับสมรรถนะมาใช้ในองค์กร ซึ่งจะช่วยผลักดันให้องค์กรบรรลุเป้าหมายและพันธกิจที่ตั้งไว้ McClelland กล่าวว่า การทดสอบเพียงเชาว์ปัญญาและความรู้ ไม่สามารถทำให้เราทราบได้ว่าบุคคลผู้นั้นจะสามารถทำงานได้ผลงานสูงกว่าหรือประสบความสำเร็จได้มากผู้อื่น แต่เป็นสมรรถนะในแต่ละบุคคล ที่บ่งชี้ถึงผลงานที่เด่นกว่า สูงกว่า (high performers)
ต่อมามีการนำแนวคิดดังกล่าว ไปประยุกต์ใช้ในการบริหารบุคคลของหน่วยงานราชการของสหรัฐอเมริกา โดยกำหนดพื้นฐานทักษะความรู้และความสามารถหรือพฤติกรรมที่ต้องมีในตำแหน่งงานหนึ่ง ๆ ว่า จะต้องมีในเรื่องใดและอยู่ในระดับใด จึงจะทำให้บุคคลนั้นสามารถปฏิบัติงานได้ตรงตามวัตถุประสงค์ขององค์กร (Ozcelik & Ferman, 2006, p. 72) จากการนำแนวคิดดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ในหลาย ๆ องค์กรพบว่าสมรรถนะของบุคลากรภายในองค์กรเป็นกุญแจสำคัญในการเพิ่มศักยภาพขององค์กร (Ozcelik & Ferman, 2006, pp. 73) ทำให้หลายหน่วยงานนำแนวคิดนี้มาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ทั้งในส่วนขององค์กรภาครัฐและเอกชน
สำนักงาน ก.พ. (2548, หน้า 4-5) ได้สรุปแนวคิดเรื่องสมรรถนะบุคลากรด้วยโมเดลภูเขาน้ำแข็ง (iceberg model) ดังนี้ คือ
ความแตกต่างระหว่างบุคคลเปรียบเทียบได้กับภูเขาน้ำแข็ง โดยส่วนที่เห็นและพัฒนาได้ง่ายคือส่วนที่ลอยอยู่เหนือน้ำ ได้แก่ ความรู้และทักษะต่าง ๆ ที่บุคคลมีอยู่ แต่ส่วนใหญ่ที่มองเห็นได้ยากจะอยู่ใต้ผิวน้ำ ได้แก่ แรงจูงใจ อุปนิสัย ภาพลักษณ์ภายในและบทบาทที่แสดงออกต่อสังคม โดยส่วนที่อยู่ใต้น้ำนี้จะมีผลต่อพฤติกรรมในการทำงานของบุคคลอย่างมากและเป็นส่วนที่พัฒนาได้ยาก การที่บุคคลจะมีพฤติกรรมในการทำงานอย่างไรขึ้นอยู่กับคุณลักษณะที่บุคคลมีอยู่ คือ ความรู้ ทักษะ/ความสามารถซึ่งเป็นส่วนที่อยู่เหนือน้ำและคุณลักษณะอื่น ๆ ซึ่งเป็นส่วนที่อยู่ใต้น้ำของบุคคลนั้น ๆ
การที่องค์กรต่าง ๆ ในปัจจุบันให้ความสำคัญต่อสมรรถนะของบุคลากรในกระบวน การบริหารทรัพยากรมนุษย์ เนื่องจากสภาพแวดล้อมทางการบริหารและธุรกิจเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ในขณะเดียวกันองค์กรในหลาย ๆ ประเทศกำลังให้ความสนใจต่อการสร้างคลังของผู้มีทักษะสมรรถนะสูง (pool of skill talent) และพัฒนาไปสู่การเป็นองค์กรระดับสากลหรือองค์กรข้ามชาติมากขึ้น จากสภาพแวดล้อมดังกล่าว ผู้ปฏิบัติงานด้านพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ต้องเร่งดำเนินการพัฒนาผู้นำองค์กร สรรหาและรักษาไว้ซึ่งบุคลากรที่มีคุณภาพ ในขณะเดียวกันต้องเร่งดำเนินการเพิ่มผลิตผลทางด้านทรัพยากรมนุษย์ (workforce productivity) จัดระบบการบริหารค่าตอบแทนให้สอดคล้อง กับยุทธศาสตร์ขององค์กรและพัฒนาบุคลากรทุกคนให้สามารถปฏิบัติงานเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายขององค์กร อันเป็นการย้ำความสำคัญว่าสมรรถนะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การบริหารทรัพยากรมนุษย์มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยทำให้บุคลากรที่ปฏิบัติงานมีส่วนขับเคลื่อนให้องค์กรประสบความสำเร็จได้ดียิ่งขึ้นนั่นเอง (สำนักวิจัยและพัฒนาระบบงานบุคคลสำนักงาน ก.พ., 2548, หน้า 3,5)


บรรณานุกรม

คนึงนิจ อนุโรจน์. นาวาอากาศโท หญิง. (2551). ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อสมรรถนะของนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ กองทัพอากาศ. กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

สำนักวิจัยและพัฒนาระบบงานบุคคลสำนักงาน ก.พ. (2548). สมรรถนะและมาตรฐานวิชาชีพ การบริหารทรัพยากรบุคคล. กรุงเทพมหานคร: พี. เอ. ลิฟวิ่ง.

เดชา เดชะวัฒนไพศาล. (2543, ตุลาคม-ธันวาคม). Competency base human resource management. วารสารฅน, 21(4), 11-12.

สำนักงาน ก.พ. (2548). การปรับใช้สมรรถนะในการบริหารทรัพยากรมนุษย์. ค้นเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2550, จาก http://www.cscnewact.com/Uploads/0/41_pub_08competency.pdf

Ozcelik, G., & Ferman, M. (2006). Competency approach to human resource management: Outcomes and contributions in a Turkish cultural context. Human Resource Development Review, 5(72), 72-91.

เงินกองทุน (Capital)

เงินกองทุน (Capital) หมายถึง ส่วนของเจ้าของ ได้แก่ หุ้นสามัญ หุ้นบุริมสิทธิ์ และกำไรสะสม รวมถึงเงินสำรองตามกฎหมาย เงินกองทุนที่มีไว้เพื่อรองรับความเสียหายจากการดำเนินงานของสถาบันการเงิน เช่น การกันสำรองเมื่อเกิดหนี้เสีย ธนาคารแห่งประเทศไทยได้กำหนดให้สถาบันการเงินต้องมีไว้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 8.5 ของสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง

เงินกองทุนชั้นที่ 1 (Tier 1 Capital) หมายถึง ส่วนของทุนที่เป็นหุ้นจดทะเบียนและเรียกชำระค่าหุ้นแล้ว โดยรวมกำไรและขาดทุนสะสมจากการดำเนินงานในแต่ละงวดบัญชีไว้ด้วย เงินกองทุนชั้นที่ 1 นี้จะเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้จากผลการประกอบการของสถาบันการเงิน หรือเพิ่มขึ้นเนื่องจากนำหุ้นใหม่ออกขาย

เงินกองทุนชั้นที่ 2 (Tier 2 Capital) หมายถึง ทุนส่วนที่เพิ่มขึ้นชั่วคราว และอาจแปลงสภาพเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ได้ในบางกรณี เช่น หุ้นกู้แปลงสภาพหรือหุ้นกู้ด้อยสิทธิ์ระยะยาว เป็นต้น นอกจากนี้ ยังรวมถึงสำรองที่เกิดจากการตีราคาสินทรัพย์ถาวรด้วย

อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (Capital Adequacy Ratio--CAR) เป็นอัตราส่วนที่ใช้วัดความเพียงพอของเงินกองทุนของสถาบันการเงิน เพื่อแสดงถึงความมั่นคงและสามารถรองรับความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากการประกอบธุรกิจ ปัจจุบันรัฐบาลกำหนดอัตราส่วนดังกล่าวตามมาตรฐาน BIS ซึ่งเป็นมาตรฐานที่สากลยอมรับ โดยทั่วไปอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่สูงแสดงถึงการที่สถาบันการเงินนั้นมีความมั่นคงและสามารถรองรับผลขาดทุนที่จะเกิดจากการประกอบกิจการและสามารถปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าได้อีกมาก

การกันสำรอง (Provisioning) เป็นวิธีการที่กำหนดให้สถาบันการเงินต้องกันเงินส่วนทุนไว้จำนวนหนึ่ง เพื่อรองรับความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการให้สินเชื่อหรือลงทุน ซึ่งจะมีจำนวนมากน้อยเท่าใดขึ้นอยู่กับจำนวนความเสียหายที่คาดคะเนได้จากหนี้เสียที่เกิดขึ้นจากสินเชื่อที่สถาบันการเงินได้ให้ไปแล้ว จำนวนเงินที่กันสำรองไว้ดังกล่าวถือเป็นค่าใช้จ่ายที่จะมีผลกระทบต่อกำไรขาดทุนของสถาบันการเงิน หากมีจำนวนมากจนทำให้สถาบันการเงินนั้นประสบภาวะขาดทุน ก็จะมีผลกระทบทำให้เงินกองทุนลดลงในที่สุด ดังนั้นเพื่อให้สถาบันการเงินดำเนินธุรกิจต่อไปได้ จำเป็นต้องมีการเพิ่มทุนใหม่

บรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงินหรือ บบส. (Asset Management Corporation--AMC) เป็นสถาบันการเงินของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อบริหารและฟื้นฟูสินทรัพย์ที่รับโอนมาจากสถาบันการเงินที่มีปัญหา ให้มีคุณภาพดีขึ้นจนสามารถขายให้ผู้สนใจได้ ขณะนี้รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนให้ภาคเอกชนจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่มีปัญหาของแต่ละสถาบันการเงินขึ้นเองเพื่อให้แยกหนี้เสียออกจากสถาบันการเงินนั้นไปบริหารต่างหากได้

Purchase and Assumption (P & A) เป็นวิธีการที่สถาบันการเงินแห่งหนึ่งเข้ารับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์และหนี้สิน ได้แก่ ลูกหนี้ เจ้าหนี้ และผู้ฝากเงินจากสถาบันการเงินแห่งหนึ่งแห่งใด หรือหลายแห่ง การรับซื้อหรือรับโอนนี้จะรับทั้งหมดหรือรับเพียงบางส่วนก็ได้ตามแต่จะตกลงกัน และจะไม่มีผลกระทบต่อลูกหนี้ เจ้าหนี้ และผู้ฝากเงินที่ถูกซื้อหรือถูกโอนไป วิธีการนี้จึงมีผลกระทบต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสร้างภาระให้แก่รัฐบาลน้อยกว่าวิธีการปิดกิจการแล้วชำระบัญชี รวมทั้งเป็นวิธีการที่ดำเนินการได้สะดวกและเร็วกว่าการควบกิจการด้วย

กองทุนรวมตราสารหนี้

1.กองทุนรวมตราสารหนี้ (General Fixed Income Fund) เป็นกองทุนรวมที่มีนโยบายนำเงินไปลงทุนในตราสารหนี้และเงินฝาก เช่น พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ ตั๋วเงินคลัง บัตรเงินฝาก ตั๋วสัญญาใช้เงิน ตั๋วแลกเงิน หุ้นกู้เอกชน เป็นต้น โดยจะไม่ลงทุนในหุ้นหรือใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น รวมถึงตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน เช่น หุ้นกู้แปลงสภาพ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยกองทุนรวมประเภทนี้จะเหมาะกับนักลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงได้น้อย เพราะธรรมชาติของตราสารหนี้ที่กองทุนรวมลงทุนนั้นมักให้ผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ยที่มีความสม่ำเสมอ นอกจากนี้แม้ว่าราคาของตราสารหนี้เองอาจจะมีความผันผวนขึ้นลงได้ตามสภาวะตลาด แต่ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยที่กองทุนรวมได้รับจากการลงทุนในตราสารหนี้เหล่านี้ก็ยังผันผวนไม่มากเท่ากับตราสารทุน

2.กองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Fund) เป็นกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในเงินฝากและตราสารหนี้ที่มีคุณภาพ ซึ่งมีกำหนดชำระเงินต้นเมื่อทวงถาม หรือจะครบกำหนดชำระคืน หรือมีอายุคงเหลือไม่เกิน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ลงทุนในทรัพย์สินหรือเข้าทำสัญญาเหล่านั้น กองทุนรวมตลาดเงินมีลักษณะการลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น มีความเสี่ยงต่ำ ความมั่นคงของเงินสูง และสภาพคล่องสูง เมื่อขายคืนสามารถรับเงินได้ภายใน 1 วัน เหมาะสำหรับเงินที่รอใช้จ่าย หรือรอลงทุนแทนการพักเงินในบัญชีออมทรัพย์หรือกระแสรายวัน ซึ่งถือว่าเป็นกองทุนที่มีความปลอดภัยสูง และยังให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก จึงเหมาะสำหรับการลงทุนระยะสั้นของผู้ลงทุนที่ไม่ต้องการความเสี่ยง

3.กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund-Fixed Income) เป็นกองทุนรวมที่นำเงินไปลงทุนในตราสารหนี้ทั่วไป และเงินฝาก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการออมระยะยาวและสม่ำเสมอ สำหรับผู้ที่เตรียมเงินไว้ใช้จ่ายในวัยเกษียณ และเป็นการสร้างหลักประกันอันมั่นคงให้แก่ตนเองและครอบครัว โดยผู้ลงทุนจะได้รับสิทธิพิเศษในการนำเงินลงทุนไปลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงสุดถึง 15% และเมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกบข. แล้วไม่เกิน 5 แสนบาทต่อปี และต้องลงทุนอย่างต่ำ 5,000 บาท หรือ 3% ของรายได้รวมทั้งปี ซึ่งผู้ลงทุนสามารถเลือกลงทุนตามความเหมาะสมของตนเองได้

4.กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ โดยมีนโยบายการลงทุนในตราสารหนี้ หรือกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ (Foreign Investment Fund-Fixed Income) วัตถุประสงค์ของกองทุนจะระดมเงินที่ได้จากการจำหน่ายหน่วยลงทุนในประเทศไปลงทุนในต่างประเทศ โดยลงทุนในตราสารหนี้ที่ผู้ออกเป็นผู้ที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ ซึ่งเป็นได้ทั้งตราสารหนี้ภาครัฐและตราสารหนี้ภาคเอกชน กองทุนประเภทนี้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับนักลงทุนในการกระจายการลงทุนไปยังต่างประเทศ เพื่อแสวงหาตราสารหนี้ใหม่ ๆ สำหรับลงทุนและเพื่อผลตอบแทนที่ดีกว่า อย่างไรก็ตามการลงทุนในต่างประเทศยังคงมีความเสี่ยงในเรื่องของความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งผู้จัดการกองทุนส่วนใหญ่จะป้องกันความเสี่ยงโดยการทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (forward) เพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าวไว้ ดังนั้นกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศจึงเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับกลุ่มผู้มีเงินออมเป็นอย่างมาก เช่น กองทุนพันธบัตรเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นกองทุนนำเงินไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลที่ออกโดยหน่วยงานภาครัฐของประเทศเกาหลีใต้ เป็นต้น

5.กองทุนรวมคุ้มครองเงินต้นที่มีนโยบายการลงทุนในตราสารหนี้ (Capital Protected Fund-Fixed Income) เป็นกองทุนรวมที่บริษัทจัดการมีการวางแผนการลงทุน เพื่อให้คุ้มครองเงินลงทุนของผู้ถือหน่วยลงทุน โดยจะนำเงินส่วนใหญ่ไปลงทุนในตราสารหนี้ทั่วไปและเงินฝากซึ่งมีความเสี่ยงต่ำ แต่จะมีการนำเงินส่วนน้อยอีกส่วนหนึ่งไปลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น เพื่อให้ผู้ลงทุนมีโอกาสได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนเมื่อเฉลี่ยกับเงินลงทุนส่วนใหญ่แล้วมากกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก ดังนั้นกองทุนรวมคุ้มครองเงินต้นจึงมักจะมีข้อกำหนดในเรื่องระยะเวลาในการถือครองหน่วยลงทุนกับผู้ลงทุน หากผู้ลงทุนประสงค์ที่จะได้รับการคุ้มครองเงินต้นตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในโครงการ ซึ่งบริษัทจัดการจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานก.ล.ต. กำหนดไว้ในการจัดการกองทุนรวมคุ้มครองเงินต้น และต้องได้รับอนุมัติจากสำนักงานก.ล.ต. ให้จัดตั้งและจัดการกองทุนรวมประเภทนี้

6.กองทุนรวมดัชนีตราสารหนี้ (Index Fund-Fixed Income) มีนโยบายการลงทุนเพื่อสร้างผลตอบตามการเคลื่อนไหวของดัชนีราคาตราสารหนี้ ตัวอย่างดัชนีตราสารหนี้ เช่น ThaiBMA Government Bond Index สำหรับประเทศไทยนั้นกองทุนรวมดัชนีตราสารหนี้มิได้มีให้เลือกลงทุน เนื่องจากการมีสภาพคล่องในการซื้อขายต่ำของตราสารหนี้ที่ใช้ในการคำนวณดัชนี ดังนั้นกองทุนรวมดัชนีที่มีให้นักลงทุนเลือกลงทุน จึงเป็นกองทุนรวมดัชนีตราสารทุนซึ่งมีการอ้างอิงการลงทุนตามดัชนี SET 50 หรือ SET 100 เป็นต้น

7.กองทุนรวมอีทีเอฟที่มีนโยบายการลงทุนในตราสารหนี้ (Exchange Traded Fund-Fixed Income) มีการลงทุนในตราสารหนี้ตามสัดส่วนมูลค่าของตราสารหนี้แต่ละประเภทที่มีอยู่ในตลาด เพื่อสร้างผลตอบตามการเคลื่อนไหวของดัชนีราคาตราสารหนี้ แต่กองทุนรวมประเภทนี้มีลักษณะเด่นที่ต่างจากกองทุนรวมประเภทอื่น คือ กองทุนรวมประเภทนี้ถูกนำไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ทำให้กองทุนรวมประเภทนี้มีสภาพคล่องในการซื้อขายหน่วยลงทุนมากกว่ากองทุนรวมอื่น

8.กองทุนรวมสำหรับผู้ลงทุนต่างประเทศที่มีนโยบายการลงทุนในตราสารหนี้ (Country Fund-Fixed Income) เป็นกองทุนรวมที่มีลักษณะพิเศษ คือ กองทุนจะเสนอขายหน่วยลงทุนทั้งหมดแก่บุคคลที่มีภูมิลำเนานอกประเทศ เพื่อระดมเงินมาลงทุนในตราสารหนี้ในประเทศไทย
เนื่องจากจำนวนรุ่นของตราสารหนี้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่ออกเสนอขายในตลาดมีเป็นจำนวนมาก ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องมีการกำหนดสัญลักษณ์ของตราสารหนี้ให้มีมาตรฐานเดียวกัน เพื่อสื่อความหมายให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้เข้าใจตรงกัน โดยท่านอาจสังเกตตัวอย่างได้จากตารางในหน้าที่ผ่านมา ซึ่งจะพบสัญลักษณ์ของตราสารหนี้ปรากฏอยู่ควบคู่กับราคา และอัตราผลตอบแทน

ThaiBMA ได้กำหนดมาตรฐานสัญลักษณ์ตราสารหนี้และประกาศใช้เมื่อปี 2543 ตั้งแต่ยังมีสถานะเป็นศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้ไทย (ThaiBDC) หลังจากเปลี่ยนสถานะเป็นสมาคม ThaiBMA ได้ปรับปรุงมาตรฐานการกำหนดสัญลักษณ์ตราสารหนี้ เพื่อให้รองรับตราสารหนี้ระยะสั้นที่สำนักงาน ก.ล.ต.กำหนดให้ต้องขึ้นทะเบียนกับ ThaiBMA โดยประกาศใช้ในปี 2549 และเพื่อรองรับปริมาณการออกตราสารหนี้ที่เพิ่มมากขึ้น ThaiBMA ได้ปรับปรุงสัญลักษณ์ตราสารหนี้อีกครั้ง ซึ่งจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 1มกราคม 2551 โดยสาระสำคัญที่เปลี่ยนแปลงไปจากมาตรฐานที่ประกาศใช้ในปี 2549 นั้นประกอบด้วย

- การขยายชื่อย่อของบริษัทหรือองค์กรที่ออกตราสารหนี้จากที่กำหนดให้มีได้ไม่เกิน 4 ตำแหน่งเป็นไม่เกิน 6 ตำแหน่ง และในกรณีที่ผู้ออกเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ฯ ก็ให้ใช้ชื่อย่อเดียวกันกับที่ใช้อ้างอิงในหุ้นสามัญ

- หลักเกณฑ์การกำหนดสัญลักษณ์ที่ปรับปรุงใหม่จะใช้เหมือนกันทั้งตราสารหนี้ภาครัฐและเอกชนได้แก่ หลักเกณฑ์สำหรับตราสารหนี้ระยะยาว ระยะสั้น และตราสารหนี้ประเภทไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัท (perpetual bond) การเปลี่ยนแปลงข้างต้น ส่งผลให้สัญลักษณ์ตราสารหนี้มีความยาวสูงสุดเพิ่มขึ้นเป็น12 ตัวอักษร จากเดิมที่ไม่เกิน 8 ตัวอักษร

ตัวอย่าง
• สัญลักษณ์ SCBT09N02A หมายถึง หุ้นกู้ระยะสั้นของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย)จำกัด (มหาชน) ครบกำหนดไถ่ถอนวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552
• สัญลักษณ์ LB231A หมายถึง พันธบัตรรัฐบาลที่ครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนมกราคม ปี ค.ศ. 2023 โดยเป็นพันธบัตรรัฐบาลที่ออกเป็นรุ่นที่แรกที่มีวันครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนและปี ดังกล่าวข้างต้น
• สัญลักษณ์ TB07606A หมายถึง ตั๋วเงินคลังที่ครบกำหนดไถ่ถอนในวันที่ 6 มิถุนายน ปี ค.ศ. 2007 โดยเป็นตั๋วเงินคลังที่ออกเป็นรุ่นแรกที่มีวันครบกำหนดไถ่ถอนในวัน เดือนและปี ดังกล่าวข้างต้น