Custom Search
วันอาทิตย์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

นโยบายภาษีอากรเพื่อการพัฒนาประเทศ

นโยบายภาษีอากรเป็นส่วนของนโยบายการคลังที่มีส่วนช่วยในการปฏิบัติหน้าที่ทางเศรษฐกิจของรัฐบาลให้บรรลุเป้าหมายในการพัฒนาประเทศ นอกจากการจัดเก็บภาษีอากรเพื่อให้รัฐมีรายได้เพียงพอกับการพัฒนาประเทศแล้ว ภาษีอากรยังใช้เป็นเครื่องมือที่สำคัญของรัฐบาลในการบริหาร และพัฒนาประเทศเพื่อให้เป็นไปตามแนวทางการบริหารและพัฒนาประเทศโดยการจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด (กรมสรรพากร, 2550ค) รัฐบาลอาจใช้นโยบายการจัดเก็บภาษีในการบริหารกิจการที่ใช้ทรัพยากรในการผลิตสินค้าหรือสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยให้จัดเก็บภาษีในอัตราที่สูง เพื่อลดการบริโภคของประชาชน และในทางตรงข้ามก็อาจลดอัตราภาษีหรือยกเว้นภาษีแก่กิจการที่จำเป็นในการครองชีพสำหรับการกระจายรายได้และทรัพย์สินให้เป็นธรรมรัฐบาลใช้นโยบายจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราภาษีแบบก้าวหน้า เพื่อให้คนมีรายได้มาก ร่ำรวยเสียภาษีมากกว่าคนจน และอาจจัดเก็บภาษีมรดกเพื่อลดความได้เปรียบของบุคคลหรือทายาทที่ได้รับมรดก และเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจให้กับสังคม ในด้านการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ รัฐบาลอาจเพิ่มประเภทหรืออัตราภาษีทางอ้อมสำหรับสินค้าหรือบริการ ทำให้ระดับราคาสินค้าหรือบริการเพิ่มขึ้น เพื่อประชาชนจะได้ลดการบริโภคลง เมื่อประชาชนลดการบริโภคลง ราคาสินค้าหรือบริการก็จะลดลง ภาวะเงินเฟ้อก็ผ่อนคลายได้ ในด้านการรักษาดุลการชำระเงินรัฐบาลอาจใช้นโยบายยกเว้นหรือลดอัตราภาษีสินค้าที่ส่งออก ในขณะเดียวกันก็จัดเก็บภาษีจากการนำเข้าสินค้าในอัตราที่สูงเพื่อลดปริมาณการนำเข้า และประการสุดท้ายที่ใช้นโยบายภาษีในการพัฒนาประเทศ คือ การเสริมสร้างความเจริญเติบโตของระบบเศรษฐกิจการจัดเก็บภาษีอากรสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศที่กำลัง เจริญเติบโตให้เป็นไปในทิศทางที่เหมาะสม โดยการกำหนดมาตรการที่สำคัญเพื่อการเสริมสร้างความเจริญเติบโต ได้แก่ มาตรการส่งเสริมการลงทุนที่มีความสำคัญต่อการขยายต่อเศรษฐกิจ มาตรการส่งเสริมการออม มาตรการส่งเสริมการส่งออก มาตรการเพิ่มการใช้จ่ายของประชาชนในภาวะที่เศรษฐกิจตกต่ำ เป็นต้น

ลักษณะที่ดีของภาษีอากร

ภาษีอากรเป็นสิ่งที่รัฐบังคับจัดเก็บจากประชาชนและถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ ดังนั้น เพื่อให้รัฐสามารถจัดเก็บรายได้เพียงพอ มีประสิทธิภาพและเพื่อเป็นการสร้างความรู้สึกที่ดีในการจัดเก็บภาษีอากรต่อผู้เสียภาษี จึงควรมีระบบภาษีอากรที่ดีซึ่งมีลักษณะดังต่อไปนี้ (กรมสรรพากร, 2550ค) คือ (1) มีความเป็นธรรม การจัดเก็บภาษีอากรที่ดีต้องสร้างความยุติธรรมเท่าเทียมให้กับผู้เสียภาษี โดยภาษีที่ดีต้องจัดเก็บจากความสามารถในการเสียภาษีของผู้มีเงินได้ ฐานะ สภาพความเป็นอยู่ หรือการได้รับผลประโยชน์หรือการบริการจากรัฐ นอกจากนี้ในการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ในการจัดเก็บภาษีอากรก็จำเป็นต้องให้ความเท่าเทียมกับผู้เสียภาษีทุกคน มิฉะนั้นแล้วก็อาจจะก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมและการหลีกเลี่ยงการเสียภาษี (2) มีความสะดวก เพื่อร้างความสมัครใจในการเสียภาษีและเพื่อมิให้การจัดเก็บภาษีเป็นภาระสร้างความยุ่งยากให้แก่ผู้เสียภาษี ในการจัดเก็บภาษีอากร รัฐจึงควรจัดให้มีการอำนวยความสะดวกแก่ผู้เสียภาษีในด้านต่าง ๆ เช่น การให้บริการในความรู้ ข้อกฎหมาย ระเบียบแนวปฏิบัติ การให้คำปรึกษา แนะนำการกรอกแบบแสดงรายการ กำหนดเวลาและสถานที่ในการยื่นแบบแสดงรายการภาษี เป็นต้น (3) ความแน่นอน การจัดเก็บภาษีต้อง มีความชัดเจนและแน่นอนโดยเฉพาะในด้านข้อกฎหมาย ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้เสียภาษีปฏิบัติและเสียภาษีถูกต้อง อันจะเป็นการขจัดปัญหาต่าง ๆ และเป็นการสร้างความมั่นใจในการลงทุนให้แก่ผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น (4) ความประหยัด การจัดเก็บภาษีที่ดีต้องไม่เป็นการเพิ่มภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายให้กับผู้เสียภาษี นอกจากเงินภาษีที่ผู้เสียภาษีต้องชำระแล้ว นอกจากนี้ในส่วนของภาครัฐการจัดเก็บภาษีก็ควรต้องมีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บต่ำ ทั้งนี้ เพื่อให้รัฐมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีเพียงพอ และนำไปใช้จ่ายเพื่อการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ มากขึ้น (5) ความเป็นกลางทางเศรษฐกิจการจัดเก็บภาษีอากรที่ดีจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อกลไกตลาดหรือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการผลิตหรือการบริโภคของผู้เสียภาษี ทั้งนี้ เนื่องจากจะทำให้ธุรกิจมีการใช้ทรัพยากรอย่างไม่มีประสิทธิภาพ อันจะก่อให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจ (6) ระบบภาษีที่ดีต้องสามารถอำนวยรายได้ รัฐบาลจำเป็นต้องนำรายได้ จากภาษีอากรไปเพื่อการใช้จ่ายและพัฒนาประเทศ ดังนั้น การจัดเก็บภาษีอากรที่ไม่สามารถให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้น จึงไม่สมควรนำมาใช้บังคับจัดเก็บ ทั้งนี้ เนื่องจากจะเป็นภาระแก่ผู้เสียภาษีแล้วรัฐยังไม่สามารถนำรายได้จากการจัดเก็บไปใช้ได้อย่างเพียงพออีกด้วย (7) มีความยืดหยุ่น ภาษีที่จัดเก็บต้องมีความยืดหยุ่นและสอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปได้ โดยหากภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ การจัดเก็บภาษีควรไม่เป็นการเพิ่มภาระให้กับประชาชนผู้เสียภาษี ซึ่งมีรายได้น้อยในขณะนั้น และหากภาวะเศรษฐกิจเจริญรุ่งเรือง ระบบภาษีที่ดีควรจัดเก็บรายได้ให้กับรัฐเพิ่มขึ้นในขณะที่ประชาชนมีรายได้สูงขึ้นในขณะนั้น และ ( 8 ) สามารถบังคับใช้ได้ กฎหมายภาษีอากรที่ใช้ในการจัดเก็บต้องสามารถนำไปปฏิบัติได้แม้ว่า เป็นภาษีที่ดีในทางทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัติหากการจัดเก็บกระทำได้ยากก็อาจก่อให้เกิดภาระ รวมทั้งต้นทุนในการบริหารการจัดเก็บภาษีอากร

โครงสร้างของภาษีสรรพากร

การจะจัดเก็บภาษีได้ผลเพียงใดนั้น ส่วนหนึ่งที่มีผลกระทบคือ โครงสร้างของภาษี ในประเทศไทยมีการพิจารณาดังนี้ (กรมสรรพากร, 2550ข, หน้า 46-47)

1.ประเภทของภาษีอากร ประเภทของภาษีอากรที่กรมสรรพากรจัดเก็บสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ทางตรงและภาษีทางอ้อม ภาษีทางตรง (direct tax) หมายถึง ภาษีที่ผู้มีหน้าที่เสียต้องรับภาระในภาษีที่ตนมีหน้าที่เสีย โดยไม่สามารถผลักภาระไปให้บุคคลอื่นได้ ประเภทของภาษีทางตรงที่กรมสรรพากรจัดเก็บ ได้แก่ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ส่วนภาษีทางอ้อม (indirect tax) หมายถึง ภาษีที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีสามารถผลักภาระไปให้บุคคลอื่นได้ การผลักภาระภาษีอาจผลักไปข้างหน้าโดยเพิ่มในราคาสินค้าหรือบริการ หรือผลักไปข้างหลังการลดราคาสินค้าหรือวัตถุดิบที่ผู้ผลิตขายให้กับผู้เสียภาษี ประเภทของภาษีทางอ้อมที่กรมสรรพากรจัดเก็บ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะ เป็นต้น
2.ฐานภาษี ได้แก่ สิ่งที่นำมาเป็นฐานในการคำนวณภาษี ภาษีที่กรมสรรพากรจัดเก็บในปัจจุบันคำนวณบนฐานภาษีซึ่งได้แก่ ฐานรายได้ เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คำนวณจากฐานเงินได้สุทธิ ภาษีเงินได้นิติบุคคล คำนวณจากฐานกำไรสุทธิ เป็นต้น สำหรับภาษีมูลค่าเพิ่มคำนวณจากภาษีขายลบด้วยภาษีซื้อ และภาษีธุรกิจเฉพาะคำนวณจากยอดรายรับก่อนหักรายจ่าย ซึ่งเป็นภาษีที่จัดเก็บจากฐานการบริโภค เป็นต้น
3.อัตราภาษี ที่กรมสรรพากรใช้ในการจัดเก็บเป็นอัตราตามมูลค่า (advalorem tax) ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น อัตราก้าวหน้า เป็นการจัดเก็บภาษีที่เมื่อฐานภาษีสูงขึ้น อัตราภาษีจะเพิ่มขึ้น ได้แก่ การจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เป็นต้น และอัตราคงที่ เป็นการจัดเก็บภาษีที่เมื่อฐานภาษีสูงขึ้น อัตราภาษีจะคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง ได้แก่ การจัดเก็บภาษีเงินได้สำหรับนิติบุคคลทั่วไป ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะ เป็นต้น
4.วิธีการเสียภาษี การจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากร สามารถแบ่งวิธีการจัดเก็บภาษีออกเป็นการจัดเก็บภาษีโดยผู้เสียภาษีประเมินตนเอง เป็นวิธีการเสียภาษีที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเป็นผู้คำนวณภาษีจากฐานภาษี โดยการกรอกแบบแสดงรายการ และชำระภาษีพร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการภาษีตามที่กฎหมายกำหนดและการจัดเก็บภาษีโดยเจ้าพนักงานประเมิน เป็นวิธีการที่ผู้เสียภาษีไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษี หรือผู้มีหน้าที่เสียภาษีได้ยื่นแบบฯ ไว้แล้ว และเจ้าพนักงานได้ตรวจสอบพบว่า ผู้เสียภาษีได้ยื่นภาษีไว้ผิดพลาดคลาดเคลื่อนหรือไม่ถูกต้อง เจ้าพนักงานจะคำนวณและประเมินเรียกเก็บภาษีจากผู้เสียภาษีให้ถูกต้องต่อไป และการจัดเก็บภาษีโดยการเสียภาษีล่วงหน้าหรือภาษีหัก ณ ที่จ่าย การเสียภาษีล่วงหน้าหรือภาษีหัก ณ ที่จ่ายเป็นวิธีการจัดเก็บภาษีในขณะที่ผู้เสียภาษีมีเงินได้ โดยผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่คำนวณภาษีจากเงินได้ที่จ่ายและนำส่งภาษี ภาษีถูกหัก ณ ที่จ่าย ให้ถือเป็นเครดิตในการคำนวณภาษีของผู้มีเงินได้เมื่อยื่นแบบแสดงการภาษี
5.การอุทธรณ์การเสียภาษี ในกรณีที่ผู้เสียภาษีได้รับหนังสือแจ้งการประเมินภาษีจากเจ้าพนักงานเพื่อการเรียกเก็บภาษีที่ผู้เสียภาษีเก็บไว้ไม่ครบถ้วนถูกต้อง ซึ่งผู้เสียภาษีไม่เห็นด้วยและต้องการให้เจ้าพนักงานทบทวนการประเมินดังกล่าว ผู้เสียภาษีสามารถอุทธรณ์การประเมินได้ โดยให้ยื่นคำขออุทธรณ์การประเมินต่อ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งการประเมิน คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จะพิจารณาและแจ้งผลการพิจาณาให้กับผู้เสียภาษีทราบ และหากผู้เสียภาษีด้วยกับผลการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็สามารถนำเรื่องขึ้นสู่ชั้นศาลได้
6.บทลงโทษทางภาษีอากร หากผู้เสียภาษีไม่ยื่นแบบแสดงรายการชำระภาษีหรือยื่นแบบแสดงรายการภาษีไว้แล้ว แต่ได้ชำระภาษีไว้ไม่ครบถ้วน ซึ่งจะทำให้รัฐมีรายได้ภาษีลดลงได้ ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร เพื่อสร้างความเป็นธรรมแก่ผู้ที่เสียภาษีไว้ครบถ้วนถูกต้องและเพื่อให้รัฐมีรายได้ภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วย ผู้ฝ่าฝืนที่ไม่เสียภาษีหรือเสียภาษีไม่ครบถ้วนถูกต้องจะได้รับบทลงโทษ ซึ่งประกอบด้วย โทษทางอาญาและโทษทางแพ่ง โทษทางอาญา ได้แก่ ค่าปรับ จำคุก หรือทั้งจำทั้งปรับ จะใช้ในกรณีที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีหรือผู้ที่มีเจตนาในการทำลายระบบภาษีอากร โทษทางแพ่ง ได้แก่ เบี้ยปรับและเงินเพิ่มโดยเบี้ยปรับ ได้แก่ เงินที่รัฐเรียกเก็บเป็นจำนวนเท่ากับภาษีที่ชำระไว้ไม่ครบหรือมิได้ชำระ โดยหากผู้เสียภาษีมิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษี เบี้ยปรับจะเท่ากับ 2 เท่าของภาษีที่มิได้ยื่นชำระ แต่หากผู้เสียภาษีได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีไว้ แต่ได้ชำระภาษีไม่ครบถ้วน เบี้ยปรับจะเท่ากับ 1 เท่าของภาษีที่ชำระไว้ขาด และเงินเพิ่ม ได้แก่ เงินที่รัฐเรียกเก็บในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน โดยคำนวณจากภาษีที่ชำระไว้ขาดหรือภาษีที่มิได้ชำระ และระยะเวลาที่นับตั้งแต่วันพ้นกำหนดเวลาการชำระภาษีจนกระทั่งถึงวันที่ได้ชำระภาษีเพิ่มเติมครบถ้วน ถูกต้อง

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น