Custom Search
วันอาทิตย์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

แนวคิดเกี่ยวกับอำนาจรัฐในการจัดเก็บภาษี และการต่อต้านอำนาจรัฐ

การจัดเก็บภาษีอากรของรัฐ ขึ้นอยู่กับความสามารถในการเสียภาษี รัฐจึงต้องคำนึงถึงสภาวะเศรษฐกิจ และความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมในการใช้นโยบายภาษีและวิธีการจัดเก็บที่เหมาะสมกับภาวการณ์ในแต่ละช่วง หากเศรษฐกิจตกต่ำ รัฐบาลเป็นหนี้มาก พยายามจะเก็บภาษีเพิ่ม ก็ย่อมสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชน หรือหากรัฐนำเงินภาษีไปใช้อย่างไม่โปร่งใส เกิดการคอรัปชั่น ประชาชนจะรู้สึกว่า บริการที่ได้รับจากภาครัฐไม่คุ้มค่ากับเงินภาษีที่จ่ายไปก็จะเกิดปรากฎการณ์ต่อต้านการเสียภาษีที่เรียกว่า Tax Revolt (Rubin, 1998, pp. 17-30) เหตุการณ์นี้ เคยเกิดขึ้นที่เมืองซานฟรานซิสโก มลรัฐคาลิฟอร์เนีย ในปี ค.ศ. 1850-1890 และที่เมืองชิคาโก ในปี ค.ศ. 1930-1933 ประชาชนลุกขึ้นมาต่อต้านการเก็บภาษีของรัฐ และหยุดชำระภาษี ตั้งเป็นสมาคมผู้ไม่เสียภาษี เมื่อมีการฟ้องร้อง จะมีทนายไปแก้ต่างให้ทำให้เกิดความวุ่นวาย
การหลบหนีภาษี มีผลทำให้รัฐสูญเสียเม็ดเงินภาษีที่รัฐควรจะจัดเก็บได้แล้ว ยังมีผลกระทบต่อสังคม และเศรษฐกิจอื่น ๆ เช่น เมื่อรัฐไม่สามารถจัดเก็บภาษี ก็ไม่มีรายได้ที่จะนำไปพัฒนาประเทศหากอัตราการหลบหนีสูง รัฐจะเก็บภาษีไม่ได้ตามจำนวน รัฐบาลจะมีสถานะขาดดุลงบประมาณ หากรัฐบาลแก้ปัญหาโดยเพิ่มอัตราภาษีให้สูงขึ้น ก็จะทำให้อัตราการหลบหนีภาษีสูงขึ้นไปอีก ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ เรียกสถานการณ์ว่า วงจรอุบาทว์ (vicious cycle) รัฐจึงควรหามาตรการเพื่อป้องกันวงจรอุบาทว์นี้ (จุฑาทอง จารุมิลินท, 2546)

แนวคิดเกี่ยวกับระบบการบริหารการจัดเก็บภาษี

การบริหารการจัดเก็บภาษีอากร (Tax Administration)

World Bank (2007) ได้นิยามว่า การบริหารการจัดเก็บภาษี จะเริ่มจากการเกี่ยวข้อง ปฏิสัมพันธ์ระหว่างนโยบายและการบริหารจัดการ ซึ่งในที่นี้จะพูดเกี่ยวกับหน่วยงาน การจัดการหน้าที่ และทีมของการบริหารการจัดเก็บภาษีอากร โดยนโยบายภาษีมีผลต่อต้นทุนในการบริหารจัดการ และหน่วยงานภาษี ซึ่งแบบภาษีจะเป็นปัจจัยหลักในการกำหนดการบริหาร บางประเทศหน่วยงานภาษีและหน่วยงานศุลกากรจะแยกจากกัน บางประเทศจะรวมกัน หรืออาจมีหน่วยงานที่จัดเก็บเฉพาะค่าธรรมเนียมแยกต่างหาก การบริการการจัดเก็บภาษีจะเน้นหน้าที่ความรับผิดชอบที่สำคัญ คือ การบริหารจัดการ และการจัดเก็บภาษี ซึ่งหน่วยงานสำคัญที่เกี่ยวข้องจึงต้องพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ในการบริหารการจัดเก็บภาษีให้ได้ตามกฎหมาย
หน่วยงานบริหารจัดการภาษี ปัจจุบันจะเป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นโดยเป็นหน่วยงานกึ่งอิสระ (อิสระในการจัดการแต่มีคณะกรรมการ) หลาย ๆ ประเทศพัฒนา กำลังพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพ และ การบริหารจัดการแบบกึ่งอิสระนี้ การบริหารจัดการด้านหน่วยงานนี้บางประเทศ เช่น เดนมาร์ก แคนาดารวมหน่วยงานภาษีและศุลกากรเข้าด้วย บางประเทศแยกจากกัน บางประเทศแยกเป็นตำรวจภาษี (tax police) เช่น ในอิตาลี
ประเด็นสำคัญในการจัดโครงสร้างภายในของหน่วยงานภาษี มักแบ่งตามหน้าที่ของการจัดเก็บตามชนิดของภาษีหรือตามประเภทของผู้เสียภาษีโดยเลือกรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง
หน้าที่สำคัญของการบริหารการจัดเก็บภาษี ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้เสียภาษี คือ การจัดเก็บภาษี การต่อต้าน การหลบหนีภาษี (ไม่ยินยอมเสียภาษี) โดยส่วนมากเกี่ยวข้องกับการรวบรวมข้อมูลหรือการดำเนินการ กระบวนการรวบรวมข้อมูล ข้อมูลแรกจะเกี่ยวกับ การกำหนดกลุ่มผู้เสียภาษี โดยการให้เลขประจำตัวผู้เสียภาษี (ID) ต่อมา คือ การรวบรวมข้อมูลจากบุคคลที่สามที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้มีหน้าที่เสียภาษี ณ ที่จ่าย การเป็นเจ้าของถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้น การให้ความรู้ทางภาษีอากร การให้บริการผู้เสียภาษี เพื่อให้การหลีกเลี่ยงภาษีมีน้อย การสอบยันความถูกต้องของการชำระภาษี โดยจะเริ่มจากการยื่นแบบแสดงรายการ การควบคุมชนิดระบบการยื่นแบบ และประเมินภาษี การตรวจสอบภาษี ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของการบริหารการจัดเก็บ การตรวจสอบ และการติดตามผู้หนีภาษี หรือชำระภาษีน้อยกว่าความเป็นจริงเป็นสิ่งจำเป็น ต้องดำเนินการทางอาญา และลงโทษ และหน้าที่สุดท้าย ซึ่งเพิ่มความสำคัญมากขึ้น คือ การสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาษีระหว่างประเทศ
การใช้หน่วยงานภายนอกในการบริหารจัดการ เป็นการประยุกต์หลักการของการบริหารงานภาครัฐในการที่จะมอบงานเพื่อให้หน่วยงานมีขนาดเล็กลง โดยการใช้หน่วยงานภายนอก ซึ่งในบางประเทศจะมีประสิทธิผลมากกว่าด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า ซึ่งในอดีตการแปรรูปแบบเต็มรูปแบบเช่นนี้ยังไม่เคยมีมาก่อน การบริหารการจัดเก็บภาษีจะรวมถึงการสร้างความยินยอมในการเสียภาษีทั้งของผู้เสียภาษีโดยตรง และบุคคลที่สามที่เกี่ยวข้อง เช่นผู้มีหน้าที่เสียภาษี ณ ที่จ่าย ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินเพื่อที่จะลดต้นทุนในการบริหารจัดการด้วย ในบางประเทศรัฐบาลได้จัดตั้งหน่วยงานอื่นทำหน้าที่มากกว่าหน่วยงานบริหารจัดเก็บภาษี เช่น หน่วยงานตำรวจให้มีหน้าที่ดำเนินการฟ้องร้อง หรือแม้แต่การให้ประชาชนช่วยสอดส่องการใช้อำนาจที่มิชอบ หรือการฉ้อราษฎร์บังหลวงของเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่เกี่ยวกับภาษีอากร การใช้ผู้ตรวจการ (ombudsman) เป็นช่องทางอิสระในการขจัดข้อสงสัย ภาคธุรกิจเองก็ต้องการใช้การตรวจสอบบัญชีและการรับรองบัญชีโดยผู้สอบบัญชีเอกชน ให้มีการใช้ผู้แนะนำด้านภาษี หรือแม้แต่การบริหารการจัดการด้านศุลกากรให้มีการจ้างเหมาบุคคลภายนอก โดยการใช้หน่วยงานตรวจสอบของเอกชน
การเตรียมการวางแผนในการบริหารการจัดเก็บภาษีอากร ต้องจัดทำแผนกลยุทธ์เป็นแบบงานที่ชัดเจน และเป็นวัตถุประสงค์ของหน่วยงาน แจ้งให้ทุกคนในหน่วยงานทราบเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ และพันธกิจ วิธีปฏิบัติงานต้องชัดเจน โปร่งใส และนำไปปฏิบัติได้ที่สำคัญ คือ ต้องเสมอภาค และเป็นวิธีที่ขจัดการฉ้อราษฎร์บังหลวง ในประเทศที่มีวิธีปฏิบัติที่ง่ายจะเป็นประโยชน์ในการปฏิรูปการบริหารการจัดเก็บภาษี เป็นการลดต้นทุนในการสร้างความยินยอมในการเสียภาษี และลดต้นทุนในการบริหารจัดการ แนวปฏิบัติที่ซับซ้อนยุ่งยากอาจทำให้เกิดการตกลงยอมความระหว่างผู้เสียภาษีกับเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษี ซึ่งมิได้อยู่บนพื้นฐานของข้อกฎหมาย ระบบตรวจสอบภายในที่เข้มแข็งจึงจำเป็น สำหรับกรณีเช่นนี้ การมีจรรยาบรรณอาจใช้เป็นเครื่องมือที่เป็นประโยชน์ เพราะกำหนดพฤติกรรม และสิ่งที่ควรปฏิบัติ/ไม่ควรปฏิบัติของพนักงาน นอกจากนี้ผู้เสียภาษีต้องได้รับทราบเกี่ยวกับสิทธิในกระบวนการภาษีอากรอย่างชัดเจน เช่นวิธีอุทธรณ์ภาษี วิธีการรับทราบข้อมูลต่าง ๆ การขอเลขประจำตัวผู้เสียภาษี การยื่นแบบแสดงรายการ การประเมินภาษี การตรวจสอบ และการติดตามผู้ที่ไม่ยินยอมเสียภาษี

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น