Custom Search
วันเสาร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

กลไกราคา

ราคาสินค้า คือ มูลค่าของสินค้าและบริการที่ผู้ประกอบการทำการผลิตได้และนำมาจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภค เช่น นาย ก. ผลิตปากกาออกขายให้แก่นักเรียนในราคาด้ามละ 5 บาท เป็นต้น ในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม หรือระบบเศรษฐกิจแบบผสม ซึ่งการผลิตการบริโภคส่วนใหญ่เป็นเรื่องของภาคเอกชน โดยผ่านกลไกของราคานั้น ราคาสินค้าและบริการจะทำหน้าที่ 3 ประการ คือ

กำหนดมูลค่าของสินค้า ในการซื้อขายแลกเปลี่ยนที่ใช้เงินเป็นสื่อกลาง ราคาจะทำหน้าที่กำหนดมูลค่า เพื่อให้ผู้ซื้อตัดสินใจที่จะซื้อสินค้าในมูลค่าที่คุ้มหรือไม่คุ้มกับเงินที่เขาจะต้องเสียไป ราคาสินค้าบางแห่งก็กำหนดไว้แน่นอนตายตัว แต่บางแห่งก็ตั้งไว้เผื่อต่อ เพื่อให้ผู้ซื้อต่อรองราคาได้

กำหนดปริมาณสินค้า ในการซื้อขายแลกเปลี่ยนกันนั้นถ้าสินค้ามีราคาถูก ผู้ซื้อจะซื้อปริมาณมากขึ้นส่วนผู้ขายจะเสนอขายในปริมาณน้อยลง แต่ถ้าสินค้ามีราคาแพงผู้ซื้อจะซื้อปริมาณน้อยลงส่วนผู้ขายจะขายในปริมาณมากขึ้น ราคาจึงเป็นตัวกำหนดปริมาณสินค้าที่จะซื้อขายกัน

กำหนดปริมาณการผลิตของผู้ประกอบการ ในระบบเศรษฐกิจแบบผสม ซึ่งการผลิตส่วนใหญ่เป็นเรื่องของเอกชนนั้น จะมีปัญหาว่าผู้ผลิตควรจะผลิตในปริมาณสักเท่าใดจึงจะพอดีกับความต้องการของผู้บริโภค เพื่อให้เขาได้กำไรสูงสุดตามที่ต้องการ โดยสังเกตความต้องการซื้อ (อุปสงค์) และความต้องการขาย (อุปทาน) ของสินค้าที่เราทำการผลิตในระดับราคาต่างๆ กันเพื่อหา ดุลยภาพ ซึ่งเป็นระดับที่ผู้ซื้อและผู้ขายจะทำการซื้อขายกันในปริมาณและราคาที่ตรงกัน ปริมาณที่มีการซื้อขาย ณจุดดุลยภาพ เรียกว่า ปริมาณดุลยภาพ และผู้ซื้อมีความต้องการซื้อ ส่วนราคาที่ดุลยภาพ เรียกว่า ราคาดุลยภาพ อันเป็นราคาที่ผู้ผลิตควรพิจารณาในการตั้งราคาขาย

กลไกราคา (price mechanism) หมายถึง ตัวกำหนดการจัดสรรทรัพยากรในระบบเศรษฐกิจทีมีปัจจัยสำคัญในการกำหนดราคา คือ อุปสงค์ (demand) และอุปทาน (supply)

อุปสงค์ (Demand) คือ ปริมาณความต้องการซิ้อสินค้าและบริการของผู้ซื้อในระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง ณ ระดับราคาต่างๆ กัน ความต้องการซื้อจะแตกต่างจากความต้องการทั่วไป (want) แต่จะต้องรวมอำนาจซื้อ (purchasing power) คือ เต็มใจและมีเงินเพียงพอที่จะจ่ายซื้อสินค้านั้นด้วย อย่างไรก็ตามปริมาณความต้องการซื้อนี้จะเปลี่ยนแปลงเมื่อมีปัจจัยกำหนดอุปสงค์ตัวอื่นๆ เปลี่ยนแปลงด้วย เช่น รายได้ของผู้ซื้อ รสนิยม ราคาสินค้าชนิดที่ใช้ทดแทนกันได้ เช่น เนื้อหมูกับเนื้อไก่ เป็นต้น

อุปทาน (supply) คือ ปริมาณความต้องการเสนอขายสินค้าและบริการของผู้ขายในระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง ณ ระดับราคาต่างๆ กันโดยผู้ขายเต็มใจจะขาย กล่าวคือ ถ้าราคาต่ำปริมาณที่เสนอขายก็จะลดต่ำลงด้วย และใน่ทางตรงกันข้าม หากระดับราคาสูงขึ้นก็จะมีปริมาณเสนอขายเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นไปตาม กฎของอุปทาน (Law of Supply) ปัจจัยที่ทำให้อุปทานเปลี่ยนแปลง เช่น การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีในการผลิต ราคาของปัจจัยที่ใช้ในการผลิตสินค้าและบริการ การเปลี่ยนแปลงฤดูกาล การคาคคะเนราคาสินค้าและบริการของผู้ขาย

ตลาด ตลาดในความหมายทางเศรษฐศาสตร์ จะกว้างกว่าความหมายทั่ว ๆ ไปที่เป็นสถานที่ที่มีผู้ขายจำนวนมากนำสินค้ามาวางขาย แต่ตลาดในทางเศรษฐศาสตร์จะเกิดขึ้นทันที่ที่มีการตกลงซื่อขายกัน ต่อรองราคาหรือมีการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ โดยไม่จำเป็นต้องมีสินค้าและบริการปรากฏอยู่ ณ สถานที่นั้น

องค์ประกอบของตลาดจะประกอบด้วย ผู้ซื้อ ผู้ขาย สินค้า และ ราคา ซึ่งอาจจะมีพ่อค้าคนกลางร่วมด้วย ปัจจุบันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารได้ทำให้ผู้ซื้อและผู้ขายใกล้ชิดกันมากขึ้น โดยอาศัยคนกลางน้อยลง นอกจากนี้ความสะดวกสบายรวดเร็วของสื่อที่ใช้ในการชำระค่าสินค้าก็ทำได้คล่องตัวขึ้น เช่น ระบบเครดิต เป็นต้น

ระบบตลาดขึ้นอยู่กับกลไกราคา ซึ่งราคาตลาดถุกกำหนดโดยปฏิสัมพันธ์ (Interaction) ระหว่างผู้ซื้อจำนวนมาก ผู้ขายจำนวนมาก ณ ช่วงเวลาหนึ่งเช่น ช่วงต้นฤดูทุเรียนหมอนทอง ราคากิโลกรัมละ 40 บาท ผู้ซื้อต้องการซื้อ 200 ล้านกิโลกรัม / สัปดาห์ ในขณะที่ผู้ขายต้องการขาย 200 ล้านกิโลกรัม/ สัปดาห์ เช่นกัน ไม่มีของเหลือของขาด ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายต่างพอใจในภาวการณ์ที่เป็นอยู่ ราคาตลาดดังกล่าวเป็นราคาดุลยภาพ และราคาตลาดนี้จะเปลียนแปลงไปถ้าอุปสงค์
หรืออุปทานเปลี่ยน หรือเปลี่ยนทั้งอุปสงค์และอุปทาน

ระบบเศรษฐกิจ

ระบบเศรษฐกิจ หมายถึง หน่วยเศรษฐกิจที่รวมตัวกันทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายใต้รูปแบบการปกครอง จารีตประเพณี สังคม และวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ เพื่อกำหนดว่าจะผลิตอะไร จำนวนมากน้อยเท่าใด ใช้วิธีการผลิตอย่างไร และผลิตเพื่อขายให้ใคร

ระบบเศรษฐกิจในปัจจุบันที่สำคัญ มี 3 รูปแบบ คือ

1. ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม (Capitalism)

2. ระบบเศรษฐกิจแบบบังคับ ซึ่งแยกเป็น
แบบสังคมนิยมเสรี (Socialism)
แบบคอมมิวนิสต์ (Communism)

3. ระบบเศรษฐกิจแบบผสม (Mixed Economy)

ระบบทุนนิยมหรือเสรีนิยม หมายถึง ระบบเศรษฐกิจที่เอกชนสามารถมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินต่างๆ มีเสรีภาพในการเลือกที่จะประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ไม่ว่าในเรื่องการกำหนดนโยบายในการผลิต ว่าผลิตอะไร ผลิตอย่างไร และผลิตเพื่อใคร ระบบนี้จะมีการแข่งขันระหว่างเอกชนอย่างเสรีหน่วยงานของรัฐจะเข้าไปเกี่ยวข้องน้อยที่สุด

ระบบเศรษฐกิจแบบบังคับ เป็นระบบเศรษฐกิจที่รัฐจะเป็นผู้วางแผนการผลิตจากส่วนกลาง มีการจำกัดกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินส่วนบุคคล และการทำงานของกลไกราคา แต่เน้นการกระจายรายได้ที่เป็นธรรมแก่ประชาชน ระบบนี้มี 2 รูปแบบ คือ

ระบบสังคมนิยม คือ ระบบเศรษฐกิจที่รัฐบาลเข้าไปเป็นผู้ดำเนินการผลิตโดยเน้นในด้านสวัสดิการของประชาชนในประเทศเป็นหลัก รัฐบาลเป็นผู้กำหนดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รัฐเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตและกิจการขนาดใหญ่ที่สำคัญ เช่น กิจการสาธารณูปโภค เอกชนไม่มีเสรีภาพในการตัดสินใจเพื่อดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจแต่ยังมีกรรมสิทธิ์ในการถือครองทรัพย์สินส่วนตัว และดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจขนาดเล็ก ประชาชนทั่วไปยังมีเสรีภาพอยู่บ้าง

ระบบคอมมิวนิสต์ เป็นระบบเศรษฐกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตทุกชนิด โดยรัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการในการตัดสินใจทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมโดยรัฐบาลจะกำหนดว่า จะให้ประชาชนในประเทศผลิตสินค้าและบริการอะไร ผลิตอย่างไร และเพื่อส่งให้ใครบริโภคประชาชนไม่มีเสรีภาพในการถือครองทรัพย์สินไม่มีเสรีภาพในการเลือกประกอบอาชีพ หรือการเลือกซื้อสินค้าและบริการมาบริโภค

ระบบเศรษฐกิจแบบผสม คือ ระบบเศรษฐกิจที่นำลักษณะสำคัญของระบบทุนนิยมและสังคมนิมยมมารวมไว้ด้วยกัน กล่าวคือ มีทั้งส่วนที่ปล่อยให้เอกชน
ตัดสินใจดำเนินการกิจกรรมทางเศรษฐกิจเอง และส่วนที่รัฐบาลเข้าไปควบคุมและวางแผนทางเศรษฐกิจ
ปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เกิดขึ้นจากการที่ทรัพยากรเศรษฐกิจมีจำกัด เมื่อเทียบกับความต้องการของมนุษย์ที่มีอยู่อย่างไม่จำกัด ทำให้ทุกสังคมประสบปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ซึ่งจำแนกออกได้เป็น 3 ปัญหา คือ

จะเลือกผลิตอะไร (What to produce)
ผลิตอย่างไร (How to produce)
ผลิตเพื่อใด (For Whom to produce)

1. ปัญหาว่าจะผลิตอะไร (What) เนื่องจากมีทรัพยากรจำกัดเมื่อเทียบกับความต้องการ ดังนั้นจึงต้องมีการตัดสินใจว่าควรจะเลือกทรัพยากรที่มีอยู่นำไปผลิตสินค้าและบริการอะไรได้บ้างที่จำเป็น และเป็นจำนวนเท่าใด จึงจะสามารถสนองความต้องการและเป็นประโยชน์สูงสุดต่อสังคม ตัวอย่างเช่น ประเทศชาติมีทรัพยากรจำกัดก็ต้องตัดสินใจว่าจะเลือกใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดนั้นไปในการผลิตอาหารเพื่อปากท้องของพลเมืองอย่างทั่วถึง หรือควรจะผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหารให้เป็นประเทศมหาอำนาจ เป็นต้น

2. ปัญหาว่าควรผลิตอย่างไร (How) หลังจากตัดสินใจได้ว่าจะผลิตอะไรเป็นจำนวนสักเท่าใดแล้ว ปัญหาที่เราจะต้องตัดสินใจขั้นต่อไปก็คือ เราจะใช้
เทคนิคและกรรมวิธีการผลิตสินค้าและบริการที่ผู้บริโภคต้องการวิธีการใด และจะใช้ปัจจัยการผลิตมากน้อยในสัดส่วนเท่าใดจึงจะมีประสิทธิภาพมากที่สุด หรือเสียต้นทุนต่ำที่สุด เนื่องจากผู้ผลิตมีเทคนิคและกรรมวิธีการผลิตสินค้าได้หลายวิธีที่สามารถให้ผลผลิตเท่าเทียมกัน จึงต้องเลือกใช้ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ตัวอย่างเช่น เกษตรกรต้องการปลูกข้าวให้ได้ข้าวเปลือก 1,000 เกวียน อาจเลือกใช้ที่นาจำนวนมากโดยใช้เทคโนโลยีและอุปกรณ์การเกษตรจำนวนน้อย หรืออาจเลือกใช้ที่นาจำนวนน้อยโดยใช้เทคโนโลยีการเกษตรจำนวนมาก ไม่ว่าเราใช้การผลิตวิธีใดก็สามารถได้ข้าวเปลือก 1,000 เกวียนเท่ากัน เป็นต้น

3. ปัญหาวาจะผลิตเพื่อใคร (For Whom) ปัญหาว่าจะผลิตสินค้าและบริการเพื่อใคร คำตอบก็คือผลิตเพื่อประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภค หลังจากผลิตสินค้าและบริการได้แล้วก็จะมีการจำหน่ายจ่ายแจกไปยงผู้บริโภค เงินที่ผู้บริโภคใช้จ่ายเพื่อเป็นเจ้าของสินค้าและบริการจะตกไปอยู่กับใคร จำนวนเท่าใด เป็นการศึกษาถึงการผลิต การบริโภค และการแบ่งสรรทรรัพยากรการผลิตโดยการซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน การที่ผู้บริโภคแต่ละคนจะได้สินค้าและบริการมากินมาใช้มากน้อยแค่ไหน หรือรัฐบาลของบาง ประเทศอาจเป็นผู้กำหนด ตามนโยบายของรัฐบาลว่าจะจัดสรรให้แก่กลุ่มบุคคลใด

การตัดสินใจว่า เราควรจะผลิตอะไร ผลิตอย่างไร และผลิตเพื่อใครดังกล่าวนี้ เป็นเรื่องของการจัดสรรทรพัยากรการผลิตที่มีอยู่จำกัด เพื่อสนองความต้องการของมนุษย์ที่มีไม่จำกัด ให้มีประสิทธิภาพสูงสุดและอำนวยประโยชน์สูงสุดต่อสังคม เศรษฐกิจ ส่วนการแก้ปัญหาจะแตกต่างกันไป แล้วแต่ระบบเศรษฐกิจของสังคมนั้นๆ
การบริโภค (consumption) หมายถึง การใช้ประโยชน์จากสินค้าและบริการ เพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภค การบริโภคในทางเศรษฐศาสตร์จึงมิได้หมายถึงเฉพาะการรับประทานอาหารเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการใช้สินค้าและบริการสนองความต้องการของผู้บริโภคโดยวิธีการอื่นๆ ด้วย เช่น การดื่มเครื่องดื่ม การชมภาพยนตร์ การฟังเพลง การดมน้ำหอม การอ่านหนังสือพิมพ์ การใช้ปากกา การซื้อเสื้อผ้า การเช่าบ้าน การรับบริการตรวจรักษา การโดยสารรถประจำทาง เป็นต้น

ผู้บริโภค (consumer) หมายถึง ผู้ซื้อสินค้าและบริการเพื่อสนองความต้องการของตน จุดมุ่งหมายที่สำคัญของผู้บริโภค คือ ความพอใจสูงสุดจากการบริโภคสินค้าและบริการที่ซื้อมา

คำว่า ผู้บริโภค เป็นคำกลางๆ ยังมีคำอื่นๆ ที่ใช้เรียกผู้บริโภคในลักษณะต่างๆ ได้อีก เช่น คำว่า ผู้ซื้อ ลูกค้า ผู้ชม ผู้อ่าน ผู้ฟัง ผู้เช่า ผู้โดยสาร เป็นต้น

หลักการและวิธีเลือกสินค้าและบริการ ในการเลือกบริโภคสินค้าและบริการ ควรคำนึงถึงหลักการและวิธีการ ดังนี้

ความประหยัด ในการบริโภคสินค้าและบริการ ควรคำนึงหลักความประหยัด ซึ่งเป็นการบริโภคตามความเหมาะสม ไม่เกินความจำเป็น ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคไม่เป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากร

ประโยชน์ ประโยชน์ในทางเศรษฐศาสตร์ เรียกว่า อรรถประโยชน์ (utility)

อรรถประโยชน์ (utility) หมายถึง ความพอใจที่ผู้บริโภคได้รับจากการบริโภคสินค้าหรือบริการชนิดใดชนิดหนึ่งในเวลาหนึ่งๆ ในการบริโภคสินค้าหรือบริการ ผู้บริโภคจะต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อนว่า สินค้าหรือบริการที่จะเลือกบริโภคนี้มีประโยชน์ต่อตนเองและครอบครัวอย่างแท้จริงเพียงใด ผู้บริโภคจะต้องพิจารณาว่าสินค้าหรือบริการนั้นมีความจำเป็นที่จะต้องบริโภคหรือไม่ หากเป็นสิ่งจำเป็นจึงควรบริโภคสินค้าและบริการบางอย่างเป็นสิ่งฟุ่มเฟือย มีความจำเป็นหรือมีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตของเราน้อย เราก็ไม่จำเป็นต้องบริโภคสินค้าหรือบริการนั้น วิธีพิจารณาอย่างง่ายๆ ก็คือ หากเราไม่ซื้อสินค้าและบริการนั้น จะมีผลเสียต่อการดำเนินชีวิตของเรามากน้อยเพียงใด หากไม่มีผลกระทบหรือมีผลกระทบน้อย เราก็ไม่ควรบริโภคสินค้าหรือบริการนั้น

คุณภาพและราคา

สินค้าและบริการโดยทั่วไปที่มีคุณภาพสูงมักจะมีราคาสูงตามไปด้วย แม้แต่สินค้าประเภทเดียวกันก็มีคุณภาพแตกต่างกัน เช่น น้ำตาลทราย ข้าวสาร เป็นต้น การประหยัดของผู้บริโภคในการเลือกซื้อสิน้าและบริการควรคำนึงเรื่องคุณภาพควบคู่ไปด้วย

ในการบริโภคสินค้าผู้บริโภคจะต้องวิเคราะห์สิน้าหรือบริการนั้น เป็นสินค้าหรือบริการที่มีคุณภาพมากน้อยเพียงใด เช่น นักเรียนจะซื้อเสื้อสักหนึ่งตัว ก่อนอื่นจะต้องพิจารณาก่อนว่า เสื้อที่นั้กเรียนจะซื้อ จะสวมใส่ไปงานใด โอกาสใดบ้าง จึงค่อยพิจารณานต่อไปว่า จะซื้อเสื้อที่มีเนื้อผ้าอย่างไร แบบและสีใด ควรจะเลือกเนื้อผ้าที่มีความทนทาน ดูแลรักษาง่าย ต่อไปจึงค่อยพิจารณาราคาของเสื้อ ยี่ห้อต่างๆ ควรพิจารณาราคาตามคุณภาพของเสื้อว่าสมเหตุสมผลหรือไม่ เสื้อบางยี่ห้อตั้งราคาสูงเกินความเป็นจริง ก็ไม่ควรซื้อ ไม่ควรซื้อสินค้าตามความนิยมโดยไม่ได้พิจารณาราคาและคุณภาพ

ปลอดภัย

ในยุคที่เทคโนโลยีการผลิตทันสมัยทำให้มีการนำมาใช้ในกรรมวิธีการผลิตเพื่อเพิ่มปริมาณการผลิต หรือทำให้สินค้าคงทนมีสีสันสดุดตา โดยใช้วัสดุที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ฉะนั้นผู้บริโภคจะต้องดูฉลากก่อนการบริโภค โดยคำนึงถึงส่วนผสม และวันหมดอายุ
ปัจจัยการผลิต (tactors of production) หรือทรัพยากรการผลิต หมายถึง สิ่งที่นำมาใช้ประกอบกันในการผลิตสินค้าและบริการ แบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ ที่ดิน แรงงาน ทุน และผู้ประกอบการ

1. ที่ดิน รวมถึงสิ่งที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติ ซึ่งมนุษย์ไม่ได้สร้างขึ้น เช่น น้ำ ป่าไม้ แร่ธาตุ ความหมายของคำว่าที่ดิน ในทางเศรษฐศาสตร์จะกว้างกว่าที่ใช้ทั่วไป กล่าวคือ ในการผลิตภาคเกษตรใช้ที่ดินเพื่อการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ ในภาคอุตสาหกรรมใช้ที่ดินเป็นที่ตั้งโรงงานเก็บสินค้า แต่ที่ดินยังหมายความรวมถึงทรัพยากรธรรมชาติที่เกิดเหนือดิน ภายในดิน และต่ำกว่าระดับพื้นดินด้วย เช่น น้ำ สัตว์น้ำ ป่าไม้ สัตว์ป่า ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันดิบ แร่ธาตุ เป็นต้น

2. ทุน รวมถึงเครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์ และสถานที่ที่ใช้ในการผลิต หมายถึง สิ่งที่มนษย์สร้างขึ้นสำหรับใช้ร่วมกับปัจจัยการผลิตอื่น ๆ เพื่อการผลิตสินค้าและบริการ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า สินค้าทุน (capital goods) ได้แก่ สิ่งก่อสร้าง เช่น โรงงาน ถนน สะพาน ทางรถไฟ เครื่องจักรเครื่องมือ เช่น เครื่องจักรในโรงงาน เครื่องสูบน้ำ รถแทรกเตอร์ รถบรรทุก รถไถนา สัตว์ที่ใช้แรงงาน อุปกรณ์ต่างๆ วัตถุดิบ เช่น เมล็ดพันธุ์พืช ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง น้ำมันเชื้อเพลิง เหล็กเส้นไม้แปรรูป ยางแผ่น เม็ดพลาสติก ผัก ผลไม้ ที่จะนำมาประกอบหรือแปรรูป

สินค้าทุนเหล่านี้ถือว่าเป็น ทุนที่แท้จริง (real capital)

ทุนเป็นตัวเงิน หรือ เงินทุน (money capital) ในแง่ของนักเศรษฐศาสตร์พิจารณาว่า เป็นเพียงสือกลางใช้แลกเปลี่ยน แต่ สินค้าทุน จะเป็นตัวบ่งชี้กำลังการผลิตที่เป็นจริงได้ดีกว่าเงินทุน ดังนั้นเงินทุนจึงไม่นับเป็นทุนในทางเศรษฐศาสตร์

ดอกเบี้ย (interest) เป็นผลตอบแทนของเจ้าของทุน เนื่องจากสินค้าทุนมีความยุ่งยากในการคำนวณผลตอบแทน จึงมักตีราคาเป็นตัวเงินก่อน และคำนวณหาผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยเช่นเดียวกับเงินทุน

3. แรงงาน รวมถึงกำลังกายและกำลังความคิดของคนที่ใช้ในการผลิต หมายถึง ความสามารถทั้งกำลังกายและกำลังความคิด ตลอดจนความรู้ความชำนาญของมนุษย์ ที่ใช้ไปในการผลิตสินค้าและบริการ แต่ไม่รวมถึงความสามารถในการประกอบการซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตอีกประเภทหนึ่งที่จะกล่าวในลำดับต่อไป

ผู้ใช้แรงงานหรือเจ้าของแรงงาน ซึ่งเรียกสั้นๆ ว่าแรงงาน จะได้รับ ค่าจ้าง (wages) เป็นผลตอบแทน แรงงานแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

1) แรงงานที่มีทักษะ (skilled labor) เป็นแรงงานที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่าดี การปฏิบัติงานใช้กำลังความคิดมากกกว่าใช้แรงกาย เช่น แพทย์ สถาปนิก วิศวกร เป็นต้น

2) แรงงานที่ไม่มีทักษะ (unskilled labor) เป็นแรงงานที่ไม่ได้รับการฝึกฝนมาก่อน มักทำงานโดยอาศัยกำลังกาย เช่น คนงานรับจ้างทั่วไป คนงานขนข้าวสารในโรงสี เป็นต้น

4. ผู้ประกอบการ คือ ผู้ที่นำที่ดิน ทุน แรงงาน มาร่วมดำเนินการผลิต ผู้ประกอบการ (entrepreneur) หมายถึง ผู้ที่นำที่ดิน แรงงาน และทุนมาดำเนินการผลิตสินค้า และบริการเพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภค ผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับการผลิต สามารถคาคคะเนแนวโน้มความต้องการของผู้บริโภคและกำลังการผลิตในอนาคตได้ นอกจากนี้ยังต้องเป็นผู้ตัดสินใจว่า จะผลิตอะไร ปริมาณเท่าใด ใช้เทคนิคการผลิตแบบใด ผลิตแล้วจำหน่ายแก่ใคร ราคาต่อหน่วยเป็นเท่าใด จึงจะได้ผลตอบแทนสูงสุด ผู้ประกอบการจะต้องยอมรับการเสี่ยงในธุรกิจของตน ผลตอบแทนที่ผู้ประกอบการได้รับอยู่ในรูปของ กำไร (profit)

ผู้ประกอบการมีบทบาทสำคัญมาในการพัฒนาและสร้างความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ประเทศต่างๆ ที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจสูง ส่วนใหญ่มาจากการริเริ่มของผู้ประกอบการ ปัจจุบันประเทศไทยได้ให้ความสำคัญต่อผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium scales Enterpreneurs SMEs)

คุณธรรมของผู้ผลิต

ผู้ผลิตสินค้าและบริการเพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภค โดยปกติมีเป้าหมายที่จะแสวงหากำไรสูงสุด และใช้ต้นทุนการผลิตต่ำที่สุด แต่ในปัจจุบันจำเป็นต้องให้ความสำคัญต่อผลกระทบด้านสังคม และวัฒนธรรมร่วมด้วย นั่นคือคุณธรรมของผู้ผลิต ผู้ผลิตที่ขาดคุณธรรมและหวังแต่ผลประโยชน์ของตน จะก่อความเสียหายต่อผู้บริโภค ผู้ผลิตรายอื่น สังคมส่วนรวมและประเทศชาติ พฤติกรรมการณ์ที่ปรากฏเป็นข่าวบ่อยๆ เช่น ละเมิดสิทธิ์โดยการผลิตเทปและซีดีปลอม การผลิตเสื้อผ้า กระเป๋าเลียนแบบสินค้าต่างประเทศยี่ห้อที่มีชื่อเสียง ผลิตผลิตภัณฑ์ในครัวเรือนปลอม ใช้สีย้อมผ้าผสมอาหาร ใส่ฟอร์มาลินแช่อาหารสด ฉีดยาป้องกันกำจัดศัตรูพืชก่อนเก็บพืชผลทำให้มีสารพิษตกค้างในผักผลไม้ ปล่อยน้ำเสียจากโรงงานหรือฟาร์มลงในแม่น้ำลำคลอง เป็นการสร้างมลภาวะอันเป็นปัญหาของสังคมเป็นต้น การกระทำเหล่านี้นอกจากผิดศีลธรรมแล้ว ยังขัดต่อระเบียบช้อบังคับตามกฎหมายบ้านเมืองด้วย คุณธรรมที่สำคัญสำหรับผู้ผลิตได้แก่ ความซื่อสัตย์ และความรับผิดชอบ
การปล่อยเสรี = Liberalization
แนวคิดหรือนโยบายที่เปิดโอกาสให้การดำเนินกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การผลิตและการค้าเป็นไปอย่างเสรี ไม่มีการผูกขาดตัดตอนโดยรายหนึ่งรายใด ในแง่ของการปล่อยเสรีภายในประเทศก็ คือ การยกเลิกระบบผูกขาด ส่งเสริมให้มีการแข่งขันกันอย่างเต็มที ในระดับสากล ก็คือการส่งเสริมการค้าเสรี ลด หรือ ขจัดอุปสรรคหรือข้อกีดขวางทางการค้าทั้งที่อยู่ในรูปของภาษีและไม่ใช่ภาษี

หนี้สิน = Liability
โดยปกติมักหมายถึง หนี้ทางการเงิน คือจำนวนเงินที่บุคคลหรือหน่วยธุรกิจมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องชำระให้แก่บุคคลอื่น รายการที่ถือว่าเป็นหนี้สินทางบัญชี ได้แก่ เจ้าหนี้การค้า ค่าใช้จ่ายและภาษีค้างจ่าย หุ้นกู้ เงินกู้ เป็นต้น

เงินเฟ้อขั้นสูง = Hyperinflation
ภาวะที่ระดับราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปเพิ่มขึ้นในอัตราสูงหรือเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าปกติ (สูงกว่าร้อยละ 20 ต่อปี ) ถ้าสูงมากๆ เช่น ร้อยละ 100 ต่อปี อาจเรียกว่า เงินเฟ้ออย่างรุนแรง

การแปลงหนี้ = Funding
ในความหมายเดิม หมายถึงการเปลี่ยนหนี้ที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา แต่ในปัจจุบันใช้ในความหมายที่กว้างกว่า ซึ่งหมายถึงการเปลี่ยนสถานะจากการก่อหนี้ในระยะสั้นมาเป็นหนี้ในระยะปานกลางหรือระยะยาวเช่น การเปลี่ยนจากการออกตั๋วแลกเงินมาเป็นการออกพันธบัตร เป็นต้น

ตลาดเสรี = Free market
ตลาดสินค้าหรือบริการที่มีการปล่อยให้พลังของอุปสงค์และอุปทานหรือกลไกตลาด เป็นตัวกำหนดราคาและปริมาณการซื้อขายอย่างเสรี โดยปราศจากการแทรกแซงใด ๆ จากรัฐบาล ระบบเศรษฐกิจที่ส่งเสริมตลาดเสรีเรียกว่าระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี

ราคาล่วงหน้า = Forward price
ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ หลักทรัพย์ หรือเงินตรา ที่กำหนดเอาไว้ในการตกลงซื้อขายล่วงหน้า เป็นราคาที่ผู้ซื้อจะต้องจ่าย ณ วันส่งมอบหรือวันที่ได้ตกลงกัน สำหรับราคาล่วงหน้าของการซื้อขายเงินตราต่างประเทศมีชื่อเรียกเฉพาะว่า อัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า ราคาล่วงหน้าของสิ่งของชนิดเดียวกันอาจแตกต่างกันตามเวลาที่ส่งมอบและการต่อรองของผู้ซื้อขาย และราคานี้มักจะแตกต่างกับราคาซื้อขายทันที ซึ่งเป็นราคาที่ต้องส่งมอบกันในปัจจุบัน

การเชื่อมโยงไปข้างหน้า = Forward linkage
การที่หน่วยผลิตหรืออุตสาหกรรมหนึ่งมีความสัมพันธ์กับหน่วยผลิตหรืออุตสาหกรรมอื่นในลักษณะที่ผลผลิตของหน่วยผลิตหรืออุตสาหกรรมดังกล่าว ถูกนำไปใช้เป็นปัจจัยการผลิตของหน่วยผลิตหรืออุตสาหกรรมอื่น ตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมทอผ้ามีการเชื่อมโยงไปข้างหน้ายังอุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป เป็นต้น ความสัมพันธ์ในลักษณะตรงกันข้ามนี้เรียกว่า การเชื่อมโยงไปข้างหลัง

อัตราการแลกเปลี่ยนล่วงหน้า = Forward exchange rate
อัตราการแลกเปลี่ยนหรือราคาของเงินตราสกุลหนึ่งๆ กับเงินตราต่างประเทศที่ได้มีการตกลงแลกเปลี่ยนหรือซื้อขายกันไว้ล่วงหน้า โดยมีการระบุจำนวนและวันเวลาที่จะส่งมอบกันเป็นที่แน่นอนอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้านี้อาจแตกต่างจากอัตราแลกเปลี่ยนทันทีที่เกิดขึ้น ณ วันซื้อขายเดียวกัน การตกลงซื้อขายเงินตราในอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า ก็เพื่อช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ในขณะเดียวกันก็ได้กลายมาเป็นเครื่องมืออันหนึ่งในการเก็งกำไรจากการซื้อขายเงินตราต่างประเทศของนักเก็งกำไรด้วยเช่นกัน

การแปลงสภาพหนี้ = Debt conversion
การออกหุ้นหรือพันธบัตรใหม่เพื่อทดแทนหุ้นหรือพันธบัตรเก่าที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่า ทั้งนี้เพื่อลดภาระหนี้ให้น้อยลง การแปลงสภาพหนี้ยังหมายถึงการเปลี่ยนหุ้นกู้แปลงสภาพไปเป็นหุ้นสามัญ ซึ่งทำให้ฐานะของผู้ถือเปลี่ยนจากการเป็นเจ้าหนี้บริษัทไปเป็นเจ้าของบริษัท

หนี้ = Debts
จำนวนเงินหรือทรัพย์สินอื่นจำนวนหนึ่งที่บุคคลหนึ่งมีข้อผูกพันว่า จะจ่ายให้แก่อีกบุคคลหนึ่ง หนี้อาจเกิดขึ้นจากการกู้ยืมเงิน การซื้อสินค้าหรือบริการด้วยเงินเชื่อหรือเงินผ่อน เราอาจแบ่งประเภทของหนี้ตามประเภทลูกหนี้ เป็นหนี้สาธารณะ และหนี้เอกชน หรือแบ่งตามแหล่งของผู้เป็นเจ้าหนี้ เป็นหนี้ภายในประเทศ และหนี้ต่างประเทศ

หุ้นกู้ = Debenture
พันธบัตรหรือตราสารหนี้ ระยะยาวที่บริษัทออกให้แก่ผู้ถือเพื่อเป็นหลักฐานในการกู้ยืมเงินของบริษัทจากเจ้าของเงินทุน หุ้นกู้นี้มักมีการกำหนดระยะเวลาในการชำระคืนและอัตราดอกเบี้ยที่แน่นอน ไม่ว่าบริษัทจะมีกำไรหรือขาดทุน ดังนั้นเพื่อเป็นหลักประกันว่าผู้ถือจะได้รับการชำระหนี้คืน การออกหุ้นกู้จึงต้องมีมูลค่ารวมไม่เกินทุนที่ชำระแล้วของบริษัท กรณีที่รัฐบาลเป็นผู้ออกตราสารชนิดนี้นิยม เรียกว่า พันธบัตร

เงินแพง = Dear money
ภาวะที่อัตราดอกเบี้ยสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยในอดีต เนื่องจากอุปทานของเงินมีน้อยเมื่อเทียบกับอุปสงค์ของความต้องการถือเงิน ภาวะที่ตรงกันข้ามกับเงินแพงเรียกว่า เงินถูก

ต้นทุนค่าเสียหาย = Damage cost
ต้นทุนที่เกิดจากการก่อให้เกิดความเสียหาย โดยปรกติมักใช้จำเพาะกับความเสียหายจากการก่อมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม การคิดต้นทุนค่าเสียหายเป็นตัวเงินค่อนข้างจะยุ่งยากในทางปฏิบัติ เพราะยากต่อการตีค่าของความเสียหายที่เกิดขึ้น เช่น การตีค่าความตาย การบาดเจ็บ การสูญเสียป่าไม้ สัตว์ป่า หรือแหล่งน้ำ เป็นต้น ต้นทุนค่าเสียหาย

การปรับภาษีที่พรมแดน = Bonder tax adjustment
การเพิ่มหรือลดอัตราภาษีทางอ้อม เช่น ภาษีการค้า ภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่เรียกเก็บจากสินค้าออกของประเทศภาคีตามกฎของGATT ทั้งนี้ก็เพื่อให้ระบบภาษีที่จัดเก็บภายในประเทศไม่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกสินค้าผ่านพรมแดนของประเทศนั้น ๆ

ผลตอบเเทนจากพันธบัตร = Bond yield
ผลตอบแทนที่ผู้ถือพันธบัตรจะได้รับจากพันธบัตรนั้น ผลตอบแทนที่ได้อาจจะอยู่ในรูปของอัตราดอกเบี้ยเมื่อครบกำหนด หรือผลตอบแทนจากส่วนต่างระหว่างราคาซื้อและราคาขายในกรณีที่ผู้ถือขายพันธบัตรนั้นให้แก่บุคคลอื่น ผลตอบแทนส่วนหลังนี้เรียกว่า ผลกำไรจากมูลค่าทุน

ตลาดพันธบัตร = Bond market
สถานที่หรือช่องทางในการตกลงซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนพันธบัตร อาจจะมีการตกลงซื้อขายพันธบัตรนั้นเฉพาะภายในประเทศโดยผ่านตัวแทนนายหน้า ที่ทำหน้าที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์หรืออาจมีการซื้อขายกันระหว่างประเทศ ตลาดพันธบัตรระหว่างประเทศที่มีชื่อเสียงคือ ตลาดพันธบัตรยูโร

คลังสินค้าทัณฑ์บน = Bonded warehouse
สถานที่ที่ใช้เก็บสินค้าที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ โดยที่ยังไม่มีการชำระภาษีนำเข้า ทั้งนี้ก็เพื่อรอให้มีการชำระภาษีให้เสร็จสิ้นเสียก่อน หรือในกรณีที่ผู้ผลิตได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าวัตถุดิบที่นำมาผลิตเพื่อการส่งออก ในช่วงที่นำเข้ามาในประเทศจะต้องผ่านคลังสินค้าทัณฑ์บนนี้เสียก่อนเช่นกัน

พันธบัตร , ตราสารหนี้ = Bond
ตราสารทางการเงินที่ออกโดย รัฐบาล รัฐวิสาหกิจ บริษัทเอกชน หรือองค์กรระหว่างประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะกู้ยืมเงินจากบุคคลอื่น โดยวิธีนำตราสารดังกล่าวออกขาย ผู้ออกพันธบัตรนั้น สัญญาว่าจะจ่ายเงินกลับคืนพร้อมดอกเบี้ยให้แก่ผู้ถือเมื่อกำหนด พันธบัตรเป็นตราสารที่สามารถโอนหรือเปลี่ยนมือกันได้ พันธบัตรที่ออกโดยเอกชนนิยมเรียกว่า หุ้นกู้ ซึ่งหุ้นกู้บางประเภทสามารถแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญได้ในภายหลัง ตามเงื่อนไขและเงื่อนเวลาที่กำหนดไว้

ตลาดมืด = Black market
ตลาดที่มีการซื้อขายสินค้าในราคาที่ผิดกฎหมาย เกิดจากผลการควบคุมราคาสินค้าโดยรัฐบาล เช่น การกำหนดราคาขั้นสูงของสินค้า อัตราการแลกเปลี่ยนเงินตรา เป็นต้น ในกรณีนี้จะก่อให้เกิดการขาดแคลนหรือเกิดอุปสงค์ส่วนเกินขึ้น หากไม่สามารถควบคุมหรือควบคุมได้ไม่ทั่วถึงจะทำให้มีการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนกันในราคาหรืออัตราที่สูงกว่ารัฐบาลกำหนดไว้

เงินเฟ้อคืบคลาน = Creeping inflation
การสูงขึ้นของระดับราคาโดยทั่วไปที่เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ และต่อเนื่อง ซึ่งดูจะไม่รุ่นแรงในระยะสั้น แต่ในระยะยาวแล้ว อาจจะทำให้ระดับราคาทั่วไปเพิ่มขึ้นมากจนอาจจะมีผลให้การลดอำนาจซื้อของเงินลงเรื่อย ๆ
ในทางเศรษฐศาสตร์ อุปสงค์และอุปทาน (Supply and Demand) เป็นแบบจำลองพื้นฐานที่อธิบายความสัมพันธ์ของผู้ซื้อและผู้ขายสินค้าในตลาดที่มีการแข่งขัน โดยถือว่าอุปสงค์และอุปทาน เป็นตัวแปรที่กำหนดปริมาณและราคาของสินค้าแต่ละชนิดในตลาด

โดยทั่วไป อุปสงค์ (demand) หมายถึง ความต้องการและความสามารถในการซื้อสินค้าและบริการ ในขณะที่อุปทาน (supply) หมายถึง สินค้าหรือบริการที่พร้อมจะขายในตลาดเพื่อตอบสนองความต้องการซื้อ

กฎอุปสงค์และอุปทาน

กฎอุปสงค์ (Law of Demand) และกฎอุปทาน (Law of Supply) เป็นหลักการที่อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างราคาและปริมาณความต้องการซื้อหรือขาย โดยกฎอุปสงค์ระบุว่า ปริมาณความต้องการซื้อสินค้า หรือเรียกว่าปริมาณอุปสงค์ (quantity demanded) มีความสัมพันธ์ในทางลบกับราคา เมื่อปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลนั้นคงที่ กล่าวคือ เมื่อราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะต้องการซื้อสินค้านั้นน้อยลงกฎอุปทานระบุว่า ปริมาณสินค้าที่ต้องการขาย หรือปริมาณอุปทาน (quantity supplied) มีความสัมพันธ์ในทางบวกกับราคา เมื่อปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลนั้นคงที่ กล่าวคือเมื่อราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น ผู้ขายมีแนวโน้มที่จะต้องการขายสินค้ามากขึ้น

กฎอุปสงค์และอุปทาน มักนำเสนอออกมาในรูปแบบของแผนภูมิเส้น โดยให้แกนตั้งเป็นราคา และแกนนอนเป็นปริมาณสินค้า เส้นอุปสงค์มักเขียนออกมาเป็นเส้นลาดลง และเส้นอุปทานเป็นเส้นชันขึ้น แม้ว่าโดยทั่วไปเส้นกราฟอุปทานจะมีลักษณะชันขึ้น อย่างไรก็ตาม มีบางกรณีที่เส้นกราฟอุปทานไม่เป็นไปตามลักษณะดังกล่าว ตัวอย่างของข้อยกเว้นนี้ได้แก่ เส้นกราฟอุปทานของแรงงานที่มีลักษณะของการโน้มกลับกล่าวคือ เมื่ออัตราค่าแรงเพิ่มขึ้น คนงานคนหนึ่งก็พร้อมจะทำงานเป็นจำนวนชั่วโมงที่มากขึ้น แต่เมื่ออัตราค่าแรงขึ้นถึงจุดที่สูงมากๆ คนงานอาจพบกับเลือกทำงานน้อยลงและใช้เวลาว่างมากขึ้น การวกกลับของเส้นกราฟอุปทานยังปรากฏในตลาดอื่นด้วย เช่นในตลาดน้ำมัน ประเทศที่ส่งออกน้ำมันหลายประเทศลดการผลิตน้ำมันหลังจากราคาพุ่งสูงขึ้นในวิกฤตการณ์น้ำมันปีพ.ศ. 2520

ความสัมพันธ์ของอุปสงค์และอุปทาน

โมเดลของอุปสงค์และอุปทาน อธิบายว่า ตลาดมีแนวโน้มที่จะเข้าสู่ดุลยภาพ (equilibrium) ซึ่งปริมาณอุปสงค์และปริมาณอุปทานจะเท่ากัน เรียกราคาที่ภาวะดุลยภาพว่า ราคาดุลยภาพ และปริมาณสินค้าที่ภาวะนี้ว่า ปริมาณดุลยภาพ หากปริมาณอุปสงค์มากกว่าปริมาณอุปทาน ซึ่งเกิดเมื่อราคาสินค้าต่ำกว่าราคาดุลยภาพของสินค้านั้น จะเกิดการขาดแคลนสินค้า หรือเรียกว่ามีอุปสงค์ส่วนเกิน ในขณะที่เมื่อปริมาณอุปทานมากกว่าปริมาณอุปสงค์ คือเมื่อราคาสินค้าสูงกว่าราคาดุลยภาพ จะเกิดสินค้าล้นตลาด หรืออุปทานส่วนเกิน โดยเมื่อเกิดกรณีเหล่านี้ ผู้ซื้อและผู้ขายในตลาดจะตอบสนองจนกระทั่งตลาดเข้าสู่ดุลยภาพ