Custom Search
วันอาทิตย์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

แนวคิดเรื่องการใช้ซอฟต์แวร์มาตรฐานสำหรับภาษีมูลค่าเพิ่ม

Professor Richard Ainsworth จาก Boston University (อ้างถึงใน กรมสรรพากร, 2550ค) ได้เสนอแนวความคิดว่า เนื่องจากโลกปัจจุบันเทคโนโลยีสมัยใหม่มีความก้าวหน้ามาก บริษัทขนาดใหญ่ในประเทศที่พัฒนาแล้วมีการปรับรูปแบบการดำเนินการ แต่ก็ยังพบว่า มีปัญหาการทุจริตเกิดขึ้น เช่น กรณีบริษัท Enron บริษัท Parmalot และบริษัท Onetel เป็นต้น ซึ่งกลุ่มธุรกิจดังกล่าวมีปัญหาระบบการควบคุมและการหมุนเวียนของเงินสด จึงได้มีการนำเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือการแก้ปัญหา โดยการสร้างระบบควบคุมด้วยเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร และ CEO/CFO ของบริษัทต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขข้อบังคับ
สำหรับระบบภาษีมูลค่าเพิ่มก็เช่นกันมีปัญหาเกี่ยวกับข้อมูลตัวเลข และยอดรายรับที่แสดง ในประเทศที่กำลังพัฒนา ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บได้ประมาณ 50% มาจากธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งมีจำนวนรายไม่เกิน 1% ของรายทั้งหมด ในขณะเดียวกันประเทศที่พัฒนาแล้วก็ปรับเปลี่ยนจากการทำธุรกิจพื้นฐานไปสู่ธุรกิจเทคโนโลยีขั้นสูง ดังนั้น จึงมีแนวคิดว่า ควรมีการนำซอฟต์แวร์ที่ผ่านการรับรองจากหน่วยงานของรัฐมาใช้ในธุรกิจ เพื่อมาช่วยดำเนินการตั้งแต่การออกใบกำกับภาษี การคำนวณภาษี การจัดทำงบการเงิน รายงานต่าง ๆ รวมไปถึงการจัดเตรียมแบบแสดงรายการ และการจ่ายเงิน การนำซอฟต์แวร์ดังกล่าวมาใช้จะช่วยให้สามารถควบคุมและตรวจสอบความถูกต้องเกี่ยวกับการจัดทำบัญชีและรายได้เพื่อเสียภาษีได้ทุกขั้นตอน
ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้มีการพัฒนาให้ธุรกิจใช้ซอฟต์แวร์มาตรฐาน ซึ่งมีการใช้ใน 19 รัฐ โดยธุรกิจสามารถนำไปใช้ได้ฟรี และจะไม่ถูกตรวจสอบ ยกเว้นกรณีพบว่า มีการทุจริต ซอฟต์แวร์ดังกล่าวเป็นไปตามมาตรฐานที่ OECD กำหนด ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ ผู้เสียภาษีไม่มีภาระด้านต้นทุนและเป็นการช่วยลดเรื่องการทุจริตและความผิดพลาดจากการคำนวณได้

การบริหารการจัดเก็บภาษีอากรในระดับท้องถิ่นของสหรัฐอเมริกา

กรมภาษีอากรและการเงิน (Department of Taxation and Finance) ของรัฐนิวยอร์คได้จัดทำรายงานประจำปี ค.ศ. 2004-2005 (New York State Department of Taxation and Finance, 2005) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ พันธกิจ แผนกลยุทธ์โครงสร้างของงานและสถิติการจัดเก็บภาษี โดยข้าราชการในกรมนี้ได้กำหนดเป้าหมายว่า จะเป็นหน่วยงานที่จัดเก็บรายได้ในระดับต้น ๆ ของชาติ ทั้งนี้ ไม่ได้วัดจากจำนวนภาษีที่จัดเก็บได้เพียงอย่างเดียวแต่ดูที่ระดับของการให้บริการผู้เสียภาษี โดยเน้นที่แบบฟอร์มที่ง่าย การลดกฎระเบียบ การจัดตั้ง state-of-the-art call centers เพื่อมุ่งเน้นความต้องการของผู้เสียภาษีและที่สำคัญที่สุด คือ ยอมรับฟังสิ่งที่ผู้เสียภาษีต้องการเสนอ และนำข้อเสนอแนะเหล่านั้นมาบูรณาการเพื่อนำไปปฏิบัติ

วิสัยทัศน์ คือ หน่วยงานของเราต้องนำระบบการบริหารการจัดเก็บภาษีที่เป็นธรรม ตอบสนองต่อผู้เสียภาษีและช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจ
พันธกิจ คือ จัดเก็บภาษีรายได้และจัดสรรบริการต่าง ๆ ในรัฐนิวยอร์ก

เป้าหมายเชิงกลยุทธ์ คือ ผู้เสียภาษียินยอมชำระภาษีโดยสมัครใจ ถูกต้อง และภายในกำหนดกำหนด กลยุทธ์หนึ่งที่นำใช้ คือ ค้นหาวิธีที่จะขยายและเพิ่มบริการให้ผู้เสียภาษี ในอันที่จะส่งเสริมความสมัครใจในการเสียภาษี โดยมุ่งเน้นการเสียภาษีภายในกำหนดเวลา ชำระภาษีตามจำนวนที่ถูกต้องและเข้าใจเกี่ยวกับการออกหมายเรียก การให้คำแนะนำ รวมทั้งการใช้กลยุทธ์ในการปรับปรุงการบริการตนเอง และการให้บริการผ่านเครือข่าย
กรมภาษีอากรและการเงิน รับผิดชอบในการบริหารจัดเก็บภาษีอากรประมาณ 40 ชนิด มีการจัดโครงสร้างที่เน้นเรื่องการให้บริการผู้เสียภาษี เพราะเป็นการตอบสนองต่อเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ คือ มีการจัดตั้งแผนกให้บริการผู้เสียภาษี (Taxpayer Service and Revenue Division--TSRD) มีหน้าที่ในการจัดหาบริการและสนับสนุนผู้เสียภาษีให้ปฏิบัติตามกฎหมาย จัดหาข่าวสารและช่วยผู้เสียภาษีในการยื่นแบบที่ถูกต้องและเรียกเก็บหนี้ภาษีอากร รวมทั้งการเก็บรักษาข้อมูลผู้เสียภาษี ช่วยแก้ปัญหาเรื่องการยื่นแบบ การขอคืนในกระบวนการต่าง ๆ และจัดให้มีการวางแผน การวิจัย การประเมินผล และการอบรมเกี่ยวกับการบริการต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการทำงาน
นับแต่ปี ค.ศ. 2002 รัฐนิวยอร์กได้จัดให้มี โครงการยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาโดยผ่านทางอิเลกโทรนิกส์ ซึ่งมีประโยชน์หลายด้าน เช่น ลดความผิดพลาดในการยื่นแบบ ยืนยันการยื่นแบบ ใช้เวลาน้อย และสะดวก โดยปี ค.ศ. 2002 มีผู้ยื่นแบบ e-file จำนวน 1.8 ล้านคน ปี ค.ศ. 2003 จำนวน 2.2 ล้านคน และปี ค.ศ. 2004 จำนวน 2.5 ล้านคน
ต่อมาในปี ค.ศ. 2003 เดือนมกราคม ได้มีการใช้ระบบ 2-D bar coding technology ในการยื่นแบบแสดงระบบภาษีเงินได้
สำหรับรายงานประจำปี ค.ศ. 2005-2006 (Annual Report 2005-2006) กรมภาษีอากรและการเงิน ได้กำหนดเป้าหมายในการบริหารการจัดเก็บภาษีของรัฐอย่างมีประสิทธิผลและมีความก้าวหน้า โดยต้องทำงานอย่างเต็มความสามารถและมีความมุ่งมั่น กรมภาษีอากรและการเงินของรัฐนิวยอร์ค ได้รับรางวัล 2005-2006 Best Practices Award in Management (New York State Department of Taxation and Finance, 2006)
Plumley (2002) ได้ศึกษาวิจัย ให้กับหน่วยงานภาษีของสหรัฐอเมริกา IRS เกี่ยวกับผลกระทบจากการยินยอมเสียภาษี พบว่า เมื่อผู้เสียภาษีมีรายได้เพิ่มขึ้น อัตราการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ เพิ่มขึ้น จะทำให้มีการแจ้งรายได้เพิ่มขึ้นด้วยซึ่งผลการศึกษานี้มีประโยชน์อย่างมาก ในการจัดสรรทรัพยากรต่าง ๆ และมีประโยชน์ต่อการจัดเก็บรายได้ด้วย คือ จะนำมาพิจารณาเพิ่มอัตราเจ้าหน้าที่เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบรวมทั้ง ขยายกิจกรรมของหน่วยงาน เพิ่มขึ้นเพื่อประสิทธิภาพ ในการจัดเก็บ ในเรื่องนโยบายภาษีอากร การสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ สร้างความสมัครใจยินยอมในการเสียภาษี
Bloomquist (2003) ได้ศึกษาวิจัยแนวโน้มของการยินยอมเสียภาษีกรณีศึกษา IRS และนำเสนอในที่ประชุม IRS Research พบว่า ผู้เสียภาษีจะยินยอมเสียภาษีขึ้นอยู่กับอัตราภาษี ความซับซ้อนของกฎหมายภาษีอากร การวางแผนการจัดเก็บภาษีอากร ความซับซ้อนในการปฏิบัติเกี่ยวกับการเสียภาษีอากร การมีหลักฐานที่แน่ชัดของรายได้ (visibility income)
Plumley (1996) ได้ศึกษาวิจัยลักษณะของการยินยอมเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา พบว่า จากการวิเคราะห์ในเชิงเศรษฐมิติ ใช้ข้อมูล IRS จ ากปี ค.ศ. 1982-1991 รวมทั้ง ข้อมูลต่าง ๆ จาก IRS พบว่า ปัจจัยในการยินยอมเสียภาษีของบุคคลธรรมดา คือ ลักษณะของนโยบายภาษี การบริหารจัดเก็บภาษีอากร การตรวจสอบ การสอบยันข้อมูลจากบุคคลภายนอก การลงโทษทางอาญา อัตราภาษี ความยุ่งยากในการกรอกแบบแสดงรายการภาษี และการจัดเตรียมเกี่ยวกับการยื่นแบบแสดงรายการของหน่วยงาน IRS โดยผลจากการวิจัยนี้ IRS จะนำไปใช้ในการจัดสรรทรัพยากร และจะนำไปสู่การประเมินประสิทธิผลของหน่วยงานได้
Internal Revenue Service (IRS) (2005) มีการศึกษากลยุทธ์ในการเพิ่มความยินยอมในการเสียภาษี และลดการหลบหนีภาษีของหน่วยงานจัดเก็บภาษี คือ การเปลี่ยนแปลงข้อกฎหมายภาษี ต้องทำให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจของผู้เสียภาษีง่ายต่อการบริหารและใช้บังคับของหน่วยจัดเก็บและให้ความรู้ความเข้าใจพื้นฐานเรื่องภาษีต่อประชาชน (tax education) การปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้เสียภาษีที่มีต่อรัฐบาล สร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างหน่วยจัดเก็บและผู้เสียภาษี การทำให้ผู้เสียภาษีเชื่อว่า ผู้อื่นเสียภาษีถูกต้องครบถ้วนเช่นเดียวกับตน การลดต้นทุนของผู้เสียภาษีในการยื่นชำระต้องให้บริการที่ดีและอำนวยความสะดวก การจับกุม การปราบปราม และตรวจสอบผู้หลบหนีภาษี
การบริหารการจัดเก็บภาษีในประเทศสหรัฐอเมริกา

หน่วยงานที่มีหน้าที่จัดเก็บภาษีสำหรับรัฐบาลกลาง คือ Internal Revenue Service (IRS) เพื่อที่จะให้ประชาชนยินยอม สมัครใจในการเสียภาษี เพื่อให้หน่วยจัดเก็บสามารถเก็บภาษีได้ตามเป้าหมาย การบริหารจัดการต้องมีประสิทธิภาพ (Brown & Mazur, 2003) หน่วยงานวิจัยแห่งชาติ (The National Research Program--NRP) ได้ทำการศึกษา โดยให้มีการวัดในเชิงกลยุทธ์ที่เกี่ยวกับความสมัครใจในการยื่นแบบเสียภาษี การเสียภาษีเงินได้ ความสมัครใจในการชำระภาษีของผู้เสียภาษีในสหรัฐอเมริกาและมีการวัดในระดับปฏิบัติ (bottom-line measures) โดยวัดประสิทธิผลของหน่วยงานนอกจากนี้มีการจัดตั้งโครงการวัดความสมัครใจของผู้เสียภาษี (Taxpayer Compliance Measures Program--TCMP) โดย IRS เมื่อปี ค.ศ. 1980 โดยความสมัครใจในการแจ้งจำนวนเงินได้ วัดจากร้อยละของภาษีที่คำนวณได้จริงจากหลักฐานที่สอบยัน และความสมัครใจในการชำระภาษีวัดจากร้อยละของการยื่นแบบภายในเวลาซึ่งอาจสรุปได้ว่า การวัดความสมัครใจในการเสียภาษีจะดูว่า ผู้เสียภาษียื่นแบบแสดงรายการภายในกำหนดเวลา ถูกต้อง และชำระภาษีครบถ้วนหรือไม่ โครงการ TCMP มีจุดมุ่งหมายเพื่อที่จะส่งเสริมการยื่นแบบแสดงรายการภาษี ปรับปรุง ประสิทธิภาพในกระบวนการบริหารจัดการภาษีอากร โดยจะนำไปใช้ในการจัดสรรอัตรากำลัง การวางแผนทรัพยากรต่าง ๆ และการติดต่อกับผู้เสียภาษี
ในปี ค.ศ. 2000 การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีมีวิวัฒนาการเร็วมาก ซึ่งทำให้มีผลทั้งทางบวกและทางลบ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ในการบริหารจัดเก็บภาษี เทคโนโลยี ข่าวสารข้อมูลรวมทั้งการสื่อสารโทรคมนาคม และระบบคอมพิวเตอร์มีผลมากในการเพิ่มผลผลิต ประหยัดเวลา ประหยัดค่าใช้จ่าย ช่วยให้การบริการดีขึ้น หากพิจารณาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของมนุษย์แล้วการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีก็มีส่วนสำคัญในการทำให้การทำงานของมนุษย์ดีขึ้น (CIAT, 2000)ในระบบข้อมูลภาษีอากร จึงต้องมีการบูรณาการ ใช้เครื่องมือเพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการ รวมทั้งต้องมีการจัดการอย่างมีประสิทธิผล จึงเป็นความท้าทายที่จะแก้ปัญหา โดยการนำโปรแกรมคอมพิวเตอร์มาใช้ในการยื่นแบบแทน แต่ก็มีความจำเป็นที่ต้องเรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้น
ในปี ค.ศ. 2003 ระบบภาษีอากรของสหรัฐอเมริกาเก่ามาก ซึ่งในรอบ 25 ปีที่ผ่านมา ได้มีการอภิปรายถึงเหตุผลและวิธีที่จะเปลี่ยนแปลงการจัดเก็บภาษี เนื่องจากกฎหมายบางฉบับซับซ้อนมากและไม่มีประสิทธิภาพ จากการสนทนาพบว่า ระบบภาษีอากรจะต้องมีลักษณะที่พึงปรารถนา ต้องมีต้นทุนในการบริหารจัดเก็บที่ต่ำ มีความเป็นธรรม และปัจเจกบุคคลจะไม่สามารถแจ้งจำนวนเงินได้ต่ำกว่าความเป็นจริง ในการศึกษาวิจัย Sanghi (2003) ได้เสนอ ทางเลือกของระบบภาษีอากร คือ ต้องทำให้การจัดเก็บภาษีง่ายและมีประสิทธิผล ณ จุด ๆ เดียว และระบบต้องง่ายและสามารถนำไปปฏิบัติได้ โดยระบบตำราต้องง่าย มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม ไม่มีสิ่งจูงใจให้หนีภาษีอากร (evade) หรือหลีกเลี่ยง (avoid) ดังนั้น การจ่ายชำระภาษีจะต้องเป็นแบบอัตโนมัติ (automatic) ในระบบภาษีอากรแบบเก่าจะมีภาษีหลายชนิด และมีหลายระดับ (ส่วนกลาง รัฐ และท้องถิ่น) กฎหมาย และระเบียบปฏิบัติมีความซับซ้อน ข้อยกเว้นเข้าใจยาก ต้นทุนการจัดเก็บของ รัฐบาลสูง จึงมีข้อเสนอสำหรับเป็นทางเลือกในการจัดเก็บภาษีที่จะขจัดภาษีที่หลากหลาย ง่าย และมีประสิทธิผล การจัดเก็บอยู่ในขั้นตอนเดียว (single stage of transaction) โดยนำเสนอวิธีจัดเก็บโดย จัดเก็บร้อยละ 1 ของการถอนเงินจากธนาคารในอัตราเดียว และนำภาษีร้อยละ 1 ที่จัดเก็บมาแบ่งให้กับส่วนกลาง รัฐ และท้องถิ่น และให้มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบ ในการนำเสนอนี้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความง่าย ความมีประสิทธิภาพ และเป็นธรรม
แนวคิดที่ Sanghi (2003) นำเสนอมาจากลักษณะของระบบภาษีที่ใช้ขณะนั้น 3 ลักษณะ คือ ความจำเป็นในการจัดเก็บภาษี การจ่ายชำระภาษีอากร และกระบวนการทางภาษีอากร ในด้านการจัดเก็บภาษี ผู้ศึกษาได้เก็บสถิติข้อมูลประกอบว่า ภาษีส่วนใหญ่ เก็บจากใคร จำนวนเท่าใด อัตราใด ช่วงเวลาไหน และในการจ่ายชำระภาษีอากร ผู้เสียภาษีจะจ่ายโดยเงินสด เช็ค และจ่ายผ่านธนาคาร ซึ่งการจ่ายมีจำนวนเงินมาก สำหรับกระบวนการในการชำระภาษี ทุกรายการจะเริ่มจากธนาคาร ซึ่งบางครั้งอาจจะซับซ้อนแตกต่างจากการซื้อขายสินค้าทั่วไป และหากจะคุ้มครองโครงสร้างของตลาดการเงิน อัตราภาษีสำหรับธุรกรรมต้องต่ำกว่าอัตราภาษีทั่วไป (1%) อัตราโครงสร้างของตลาดการเงิน อาจจะ 0.2%-0.5% ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ วิธีการ ซึ่งอาจจะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจ ให้มีเงินออมเพิ่มขึ้น ในการเลือกระบบภาษีนี้ไม่ต้องมีรายละเอียดเลขประจำตัว ไม่ต้องมีแบบแสดงรายการ ประหยัด สามารถเพิ่มเงินออมได้ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ
Malcolm (2005) ได้เสนอแนวคิดในการปรับเปลี่ยนไปสู่ระบบภาษีแบบบูรณาการ (Integrated Tax Systems) ซึ่งเป็นระบบภาษีที่ช่วยสนับสนุนระบบต่าง ๆ ทุกระบบสนับสนุนระบบภาษีทั้งหมด เช่น การจัดเก็บภาษี การตรวจสอบภาษี การบริหารจัดการและระบบการทำงาน รวมถึงการช่วยในการยื่นแบบแสดงรายการ การชำระภาษี สามารถบริหารการจัดเก็บด้วย เว็ปไซด์ (web-enabled) และที่สำคัญ ข้าราชการระดับสูงและผู้บริหารด้านการจัดเก็บภาษีต้องสนับสนุน
ในขั้นตอนการใช้ระบบภาษีแบบบูรณาการ ต้องรวบรวมปัญหาที่เกิดขึ้น สำรวจเครือข่ายที่จะนำมาใช้ และค้นหารูปแบบที่เหมาะสม จากนั้นจึงทำการพัฒนาหรือประยุกต์โดยการเลียนแบบจากรูปแบบที่ดี โดยอาจเริ่มจากระบบที่ง่าย และหากจะประสบความสำเร็จจึงให้มีการขยายผลต่อไป
การบริหารการจัดเก็บภาษีอากรโดยใช้ระบบเทคโนโลยีข่าวสารข้อมูล (IT) จะเริ่มด้วยการประเมินสภาวะที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยทบทวนกฎหมาย กระบวนการ วิธีปฏิบัติ พิจารณาตัวแบบภาษีอากร พิจารณาในเรื่องเลขประจำตัวผู้เสียภาษี ขั้นต่อมาจึงพิจารณาสิ่งที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลง แล้วออกกฎหมายให้สอดคล้อง พัฒนากระบวนการหรือวิธีปฏิบัติ กำหนดรูปแบบ กำหนดโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ที่ต้องการจะใช้เมื่อกำหนดได้แล้วจะถึงขั้นที่จะนำไปปฏิบัติซึ่งใช้เวลานาน
ในขั้นการนำไปปฏิบัติ จะเริ่มจากการออกแบบ การพัฒนา การจัดหาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ให้เหมาะสมกับสิ่งที่วางแผนไว้ จากนั้นให้การอบรมฝ่ายเทคนิค ฝ่ายสนับสนุน ผู้ใช้ระบบ ให้มีการทดสอบเกี่ยวกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้น ๆ แล้วจึงนำมาปฏิบัติ
แนวคิดระบบภาษีแบบบูรณาการ ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากและต้องมีพอเพียงสำหรับการแก้ปัญหาในระยะยาว เพราะหากเกิดปัญหาต้องแก้ปัญหาให้ทันเวลา ขั้นตอน และวิธีปฏิบัติในระยะแรกนั้น ผู้ปฏิบัติงานด้านเทคนิคต้องอยู่ในหน่วยงาน งานด้านเทคโนโลยีต้องโอนให้เป็นงานประจำ ต้องมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วอาจใช้การประยุกต์หรือลอกเลียนแบบจากต้นแบบที่ดี และเตรียมที่จะนำไปปฏิบัติได้ทันที เมื่อถึงคราวที่จะประกาศใช้โครงการระบบภาษีแบบบูรณาการเป็นโครงการที่ใหญ่มีผลบังคับทุกพื้นที่ (big bang project) เป็นโครงการด้านเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร IT ที่มีความซับซ้อน จึงต้องการผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานทั้งในและนอกประเทศในระยะเริ่มแรกและนำไปปฏิบัติให้เกิดความเคยชิน มีการจัดทำตารางกิจกรรมในระยะยาว ใช้ต้นทุนสูงมีความเสี่ยงสูง ซึ่งอาจเป็นเหตุให้โครงล้มเหลว ดังนั้น ภาระเริ่มโครงการเช่นนี้จึงต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ การปฏิรูประบบภาษีจึงมักเริ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เช่น ในด้านนโยบาย การออกกฎหมาย การกำหนดเลขประจำตัวภาษี วิธีปฏิบัติและรูปแบบต่าง ๆ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ต้องจัดหามาใช้ให้เหมาะสมกับความต้องการ มิฉะนั้นจะไม่ประสบความสำเร็จ
สิ่งที่ต้องคำนึงในการใช้ระบบภาษีแบบบูรณาการ คือ ระบบต้องง่ายต่อการปฏิบัติ เครื่องมือเครื่องใช้สามารถเรียนรู้ได้ง่าย การฝึกอบรมทีมงานในหน่วยงาน การสนับสนุนด้านอุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ การสนับสนุนในระยะยาว สิ่งอำนวยความสะดวกด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ด้านพลังงาน โทรศัพท์ เครือข่ายต่าง ๆ รวมทั้งฐานข้อมูลสำหรับการใช้ในอนาคตต้องมีการวางแผนในการพัฒนา มีผลใช้บังคับและมีการตรวจสอบ มีการอบรมผู้ใช้ระบบและต้องเหมาะสมกับท้องถิ่นนั้น ๆ เช่น การใช้ภาษีที่เหมาะสม
สำหรับประเด็นที่เป็นข้อจำกัดในการออกแบบและการใช้ระบบภาษีแบบบูรณาการนั้น ในขั้นแรกต้องคำนึงถึงบริบท การใช้ต้องเริ่มจากประเภทภาษีที่ไม่ซับซ้อน และต้องพิจาณาสิ่งที่เคยเกิดขึ้น เพราะจะสามารถแสดงให้เห็นถึงรูปแบบและการใช้ระบบภาษีแบบบูรณาการ ซึ่งต้องได้รับการสนับสนุน การใช้เงินจำนวนมาก ใช้เวลานาน จำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในทุกขั้นตอน และที่สำคัญกว่านั้น คือ ความปลอดภัยของข้อมูล
สิ่งท้าทายในการแก้ไขที่ต้องเตรียม คือ โครงการส่วนใหญ่จะเริ่มจากประเภทภาษีที่ไม่ซับซ้อนโดยการเริ่มใช้กับลูกค้าที่กำหนดไว้ ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การออกแบบระบบในภาพรวมทั้งหมดต้องใช้เวลา ใช้เงินในการที่จะใช้กับประเภทภาษีที่หลากหลาย การพิจารณาต่าง ๆ จะแตกต่างกัน นอกจากนี้การออกแบบและแก้ปัญหาต่าง ๆ จะใช้เงินมากขึ้น ใช้เวลามากขึ้น เพราะการแก้ปัญหาด้าน โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ไม่ใช่สิ่งที่ง่าย จึงเกิดรูปแบบการแก้ปัญหาแบบ Commercial-Off-The-Shelf (COTS) เป็นการแก้ปัญหาที่นำมาจากรูปแบบที่ดี มีลักษณะที่จริงจังเป็นทางการ เป็นการมองปัญหาแบบข้ามหน่วยงานหรือต่างประเภทภาษีกัน วิธีการแก้ปัญหาง่ายต่อการนำไปปฏิบัติ มีฐานข้อมูลสนับสนุนจากหลายแหล่ง เหมาะสำหรับใช้ในท้องถิ่นนั้น ๆ ใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ขณะนั้น ความพอเพียงของเครือข่าย รับข้อมูลจากหลายแหล่ง เช่น Internet การบันทึกข้อมูลการใช้เครื่องช่วยบันทึก การบำรุงรักษาต่าง ๆ
ลักษณะการทำงานของ COTS คือ ขั้นตอนการลงทะเบียนโดยกรอกประวัติ ข้อมูลส่วนตัว กรอกเลขรหัสจำนวนตามที่กำหนดให้และมีการกำหนดตัวควบคุม การทำรายการโดยใช้แบบฟอร์ม รูปแบบที่กำหนด ลักษณะของแบบฟอร์มอาจกำหนดในรูปแบบบันทึก เช่น เป็นชำระเพิ่มเติม หรือชำระเกิน การบันทึกข้อมูลจะนำไประบบทางการบัญชี ซึ่งเป็นการเก็บข้อมูลจากการแสดงรายการเพื่อการวิเคราะห์และตรวจสอบ
ลักษณะการทำงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษี ระบบจะคำนวณภาษี เบี้ยปรับและดอกเบี้ย โดยเป็นไปตามกฎข้อบังคับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และจะกำหนดวีการชำระเงิน ขั้นตอนการปฏิบัติจะง่ายเหมือนกับระบบการซื้อขาย ในการใช้รหัสเพื่อทำรายการชำระเพิ่มเติมหรือชำระเกินจะเป็นสิทธิของหน่วยงานแต่เพียงผู้เดียว จากนั้นจะเป็นการแยกว่าจะออกหมายเรียกหรือประเมินภาษีแบบใด
อย่างไรก็ตาม COTS ก็ยังคงมีประโยชน์ในภาพรวม คือ ลดต้นทุน ลดความเสี่ยง มีกำหนดเวลาที่น้อยกว่า เป็นการบูรณาการอย่างแท้จริง มีพื้นฐานจากรูปแบบที่เหมาะสม หลังจากการนำระบบภาษีแบบบูรณาการไปใช้และประสบผลสำเร็จ จะมีการพัฒนาและนำไปใช้ให้กว้างขวางขึ้นโดย อาจใช้ในหลายหน่วยงาน ในประเภทภาษีที่แตกต่างกัน แต่การนำไปปฏิบัติจะต้องกำหนดกรอบให้ชัดเจน
ประเด็นหลักในการใช้ระบบเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร คือ ความไม่พอเพียงของทรัพยากรที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ขึ้นอยู่กับเครื่องมือใช้ การแปลงข้อมูล ความปลอดภัยของข้อมูล การสำรองข้อมูล การเข้าถึงข้อมูล ความถูกต้องของข้อมูล ระยะเวลาที่จะใช้ การฝึกอบรม โครงสร้างเครือข่ายพื้นฐาน ความพอเพียงของอุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ ในทุกหน่วยงานและบทบาทของ Internet
ปัจจัยสำคัญที่จะให้ระบบภาษีแบบบูรณาการ ประสบความสำเร็จ คือ บุคลากร เริ่มตั้งแต่ ผู้จัดการโครงการ สมาชิกโครงการ การสนับสนุนจากผู้บริหาร การมีส่วนร่วมของพนักงาน การติดต่อสื่อสาร รวมทั้งต้องมีการทดสอบ การนำไปปฏิบัติ (เริ่มจากภาษีที่ไม่ซับซ้อน) การบริหารการเปลี่ยนแปลง และสุดท้าย คือ ความตั้งใจที่จะเปลี่ยนกระบวนการต่าง ๆ โดยให้มีการเปลี่ยนแปลงน้อยที่สุดและเลือกวิธีที่ดีที่สุด


บรรณานุกรม

อรอนงค์ ประสังสิต(2550). การบริหารการจัดเก็บภาษีอากร: ศึกษากรณีกลุ่มภารกิจด้านรายได้ กระทรวงการคลัง. ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (รัฐประศาสนศาสตร์), มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

Brown, E. R., & Mazur, M. J. (2003, June). IRS’s comprehensive approach to compliance measurement. Retrieved October 20, 2006, from http://www .irs.gov/pub/irs-soi/mazur.pdf

CIAT. (2000). Handbook for tax administration-july 2000. Retrieved August 22, 2003, from http://www.nta.go.jp/foreign_language/report2003/ contents.htm

Malcolm, G. L. (2005). Improving the approach to implementing integrated tax systems. Retrieved June 2, 2007, from http://www1.worldbank.org/ publicsector/pe/bbagsdetails.cfm
เจริญ ธฤติมานนท์ (2534, หน้า 56) กล่าวว่า ความยินยอมในการเสียภาษีอากรของผู้เสียภาษีอากร คือ การที่ผู้เสียภาษีอากรมีความสำนึกในหน้าที่และความรับผิดชอบที่จะต้องเสียภาษีอากรที่ตนมีหน้าที่ต้องเสียภาษีให้แก่รัฐบาลอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยภายในระยะเวลาที่กฎหมายภาษีอากรกำหนดไว้และผู้เสียภาษีอากรได้ปฏิบัติการเสียภาษีอากรให้ครบถ้วนในระยะเวลาที่กำหนดนั้นด้วยรวมทั้งการที่ผู้เสียภาษีอากรจะต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรด้วยความเต็มใจ
การที่จะสร้างความยินยอมในการเสียภาษีนั้น เป็นสิ่งที่ไม่สามารถกระทำได้ในระยะเวลาอันสั้น จะต้องใช้เวลายาวนาน โดยต้องสร้างให้เกิดขึ้น และสะสมติดต่อกันมาจนฝังในจิตใจ ไม่สามารถสร้างขึ้นมาโดยผู้หนึ่งผู้ใดหรือกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด แต่จำต้องร่วมมือร่วมใจกันสร้างขึ้นโดยทุกฝ่ายทั้งฝ่ายจัดเก็บภาษีและฝ่ายประชาชนผู้เสียภาษีอากรด้วย
สำหรับด้านฝ่ายจัดเก็บภาษีอากรซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการปฏิบัติโดยตรงจะต้องพยายามสร้างความสมัครใจในการเสียภาษีอากรของผู้เสียภาษีอากรโดยจัดองค์การและการบริหารภาษีอากรให้เป็นธรรมและมีประสิทธิภาพอย่างสูงสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันความตื่นตัวของประชาชนและสิทธิมนุษยชนทำให้ประชาชนมีความต้องการเข้ามามีส่วนร่วมและรับรู้ในการใช้ดุลยพินิจในการดำเนินการต่าง ๆ ของทางราชการประกอบกับระบบสื่อสารข้อมูลเสรีได้เปิดโอกาสในสื่อมวลชนสามารถสะท้อนการทำงานของข้าราชการได้มากขึ้น ดังนั้น ระบบราชการจึงต้องปรับเปลี่ยนให้มีความโปร่งใส และสามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน (บุญรอด โบว์เสรีวงศ์, 2540, หน้า 96) ด้วยมาตรการในการส่งเสริมการเสียภาษีอากร คือ ปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงาน โดยปรับเปลี่ยนทัศนคติของเจ้าหน้าที่ให้เป็นผู้มีจิตสำนึกในการให้บริการที่ดีแก่ผู้เสียภาษีอากร เปลี่ยนความคิดจาก “ผู้รับ” มาเป็น “ผู้ให้” เพื่อให้ผู้เสียภาษีเกิดความรู้สึกที่ดี และพึงพอใจว่า การเสียภาษีแต่ละครั้งได้รับความสะดวกความเป็นธรรมและเกิดทัศนคติที่แก่ผู้เสียภาษี เปลี่ยนกระบวนการทำงานใหม่ เพื่อให้มีขั้นตอนการทำงานที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น ตัดทอนขั้นตอนการทำงานที่ซ้ำซ้อน มีการกำหนดระยะเวลาการทำงานในแต่ละขั้นตอนที่ชัดเจน มีการนำระบบการจัดการคุณภาพโดยรวม มาใช้ในกระบวนการทำงาน มีการทำงานเป็นทีม โดยเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ทุกระดับมีส่วนร่วม และแสดงความเห็นในการทำงานมากขึ้น สร้างบริการใหม่ ๆ เพื่อความพอใจของผู้เสียภาษี จัดให้มีบริการขั้น พื้นฐานตั้งแต่สถานที่จอดรถ ที่พักเพื่อนั่งคอย น้ำดื่ม ตลอดจนปรับปรุงสถานที่ เพื่อ ให้ง่ายต่อการติดต่อและความสะดวกรวดเร็ว พัฒนาอุปกรณ์ตลอดจนระบบคอมพิวเตอร์มาช่วยเสริมให้งานบริการต่าง ๆ มีความถูกต้อง สะดวก และรวดเร็ว สำรวจ และติดตามความต้องการ และพึงพอใจของผู้เสียภาษีตลอดเวลาหา Feedback ให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องการเสียภาษี ยกย่องผู้ให้ความร่วมมือ ตอบข้อหารือเกี่ยวกับปัญหาให้รวดเร็ว ถูกต้อง พิจารณาอุทธรณ์ให้เป็นธรรมและรวดเร็ว และมีมาตรการป้องกัน และปราบปรามการหลบหนีภาษีอากร ในการสร้างความยินยอมในการเสียภาษี ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชน หรือสถาบันอื่น ๆ ของชาติ หน่วยจัดเก็บต้องปรับปรุง และเพิ่มประสิทธิภาพ การบริหารงานจัดเก็บภาษี ปรับปรุงคุณภาพด้านความรู้ ความสามารถของเจ้าหน้าที่ และต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการจัดสรรทรัพยากรด้านต่าง ๆ
คณะกรรมการ OECD (2001) ได้ศึกษา ลักษณะทัศนคติของผู้เสียภาษี และหน่วยจัดเก็บต่อความยินยอมในการเสียภาษี ดังแสดงในภาพ 7 ในด้านหน่วยจัดเก็บภาษีหากมีระบบภาษีอากรที่ดี มีการบริหารการจัดเก็บที่เป็นธรรม และมีการปกป้องฐานภาษี กลยุทธ์ของหน่วยจัดเก็บมุ่งในการเพิ่มความยินยอมในการเสียภาษี เช่น มีการออกกฎระเบียบ มีการประชาสัมพันธ์ ผู้เสียภาษีจะยินยอมเสียภาษี แต่หากผู้เสียภาษีอยากที่จะปฏิบัติตามกฎระบบภาษีอากร ไม่อยากเสี่ยงต่อการตรวจสอบภาษี ก็จะมีการวางแผนภาษี โดยใช้ช่องโหว่ของกฎหมาย (avoidance) หากผู้เสียภาษีไม่อยากปฏิบัติตามกฎหมาย และอยากหลีกเลี่ยงทำการหลบหนีภาษี ถือเป็นการเจตนาที่จะหนีภาษี (evasion) (จุฑาทอง จารุมิลินท, 2547)

บรรณานุกรม

อรอนงค์ ประสังสิต(2550). การบริหารการจัดเก็บภาษีอากร: ศึกษากรณีกลุ่มภารกิจด้านรายได้ กระทรวงการคลัง. ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (รัฐประศาสนศาสตร์), มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

จุฑาทอง จารุมิลินท. (2547). เข้าใจนโยบายภาษี. สรรพากรสาส์น, 51(1), 83-90.

เจริญ ธฤติมานนท์. (2534, กันยายน). ความสมัครใจในการเสียภาษีอากร. สรรพากรสาส์น, 2(3), 52-59.

บุญรอด โบว์เสรีวงศ์. (กันยายน 2540). การปรับปรุงเพื่อความเป็นผู้นำในด้านบริการที่ดี. สรรพากรสาส์น, 96-99.
การส่งเสริมให้การบริหารการจัดเก็บภาษีอากรให้มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลนั้น ในทางทฤษฎีงบประมาณเป็นเครื่องมือสำคัญ แต่ในทางปฏิบัติแล้วยังไม่มีข้อสรุป เพราะนอกจากงบประมาณแล้วแล้วยังมีปัจจัยอื่นอีก เช่น กฎระเบียบและข้อบังคับ แนวปฏิบัติ ลักษณะและปริมาณของโครงสร้างทางกายภาพ เครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ การใช้บุคคลภายนอก การบริหารทรัพยากรบุคคล (การบริหารทรัพยากรมนุษย์) ซึ่งเริ่มจากวิธีการสรรหา การกำหนดหน้าที่ การกำหนดลักษณะงาน การประเมินผลการปฏิบัติงาน และการส่งเสริมการบริหารจัดเก็บภาษีต้องระบุไว้ชัดเจน นอกเหนือจากกฎระเบียบข้อราชการพลเรือน การฝึกอบรมต้องมีการกำหนดรูปแบบสำหรับข้าราชการกรมสรรพากร กรมศุลกากร หรือกรมสรรพสามิต ซึ่งแตกต่างกันหรือรวมถึงการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมพิเศษสำหรับแต่ละหน่วยงาน หรืออาจจะใช้สถาบันฝึกอบรมภาครัฐ หรือเอกชน และให้มีการฝึกอบรมระหว่างปฏิบัติงาน การกำหนดเงินเดือน ค่าจ้างหรือสิ่งจูงใจ โดยใช้ค่าตอบแทน สิ่งจูงใจอื่นในการกระตุ้นผู้จัดเก็บภาษีอากรให้ปฏิบัติงานเพื่อผลประโยชน์ของรัฐ เทคโนโลยี ข่าวสารข้อมูล (IT) ต้องเชื่อมโยง และนำมาใช้กับลักษณะการบริหารจัดการของหน่วยงานภาษี
ในปัจจุบัน การบริหารเปลี่ยนแปลงในมิติพัฒนาทรัพยากรบุคคลได้มีความสำคัญเพิ่มขึ้นในผู้ประกอบการภาคเอกชน ในบางประเทศที่พัฒนาแล้วและในประเทศกำลังพัฒนาหน่วยงานภาครัฐเริ่มหันมาสู่ประสบการณ์ภาคเอกชน และวิธีบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงอย่างกว้างขวาง การบริหารการเปลี่ยนแปลงในภาครัฐนั้นการพัฒนาบุคลากรมีบทบาทร่วมกับการบริหารในการออกแบบ กำหนดรูปแบบการเปลี่ยนแปลง และการพัฒนารวมกิจการปรับเปลี่ยนองค์การที่เปลี่ยนแปลงแบบรวดเร็ว และแพร่กระจายกว้างขวาง
การปฏิรูปด้านภาษีอากรมักเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป (transactional changes) มีส่วนที่เปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อย ใช้เวลาแบบเป็นขั้น ๆ อย่างช้า ๆ โดยมุ่งเป้าหมายไปจุดที่ต้องการเปลี่ยน เช่นด้านเทคนิค หรือด้านการบริหาร แต่หากเป็นภาคเอกชนจะเปลี่ยนแปลงแบบรวดเร็ว (transforming changes) ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์ แต่การปฏิรูปด้านภาษีอากรส่วนมากจะใช้มุมมองทั้งสองแบบ คือ ด้านผลลัพธ์จะเป็นแบบปรับเปลี่ยนรวดเร็ว เช่น ภาพรวมขององค์การ หรือการเปลี่ยนวัฒนธรรม การจ้างงาน ระบบการจ่ายค่าตอบแทน ส่วนการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไปนั้นจะเป็นการปรับเปลี่ยนด้านระบบเทคนิคต่าง ๆ หรือการปรับเปลี่ยนหน้าที่ใหม่
การปฏิรูปการบริหารการจัดเก็บภาษีอากรนั้นจะเน้นใน 4 ลักษณะ คือ ให้เน้นการปฏิรูปการบริหารจัดการด้านรายได้ทั้งในทางทฤษฎี และทางปฏิบัติ ประการที่สอง ปัจจัยภายนอกซึ่งเป็นแรงผลักดันให้ต้องปฏิรูปในหลาย ๆ ด้าน (large-scale reforms) เช่น ในด้านผู้ประกอบการ และส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาษี ประการที่สาม ข้อจำกัดด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์ และการพัฒนาคณะทำงานที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง และประการสุดท้าย บทบาทของค่าตอบแทน วัฒนธรรมองค์การ และผู้นำในการกำหนดการปฏิรูปภาษีอากร
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF, 1992) ได้ตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับการปฏิรูปการบริหารการจัดเก็บภาษีอากรในประเทศกำลังพัฒนา โดยต้องคำนึงถึงโครงสร้างองค์การ และบุคลากร และประสบการณ์ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1990 กรอบในการพิจารณาการปฏิรูปในภาพรวม คือ การยอมรับนโยบายภาษี ความพร้อมที่จะถูกตรวจสอบ และการให้บริการ โดยใช้ตัวชี้วัดผลการปฏิบัติงาน ซึ่งการใช้กรอบนี้ จำเป็นต้องมีส่วนเกี่ยวข้องกับสถาบัน เช่น วิสัยทัศน์เชิงกลยุทธ์ ความสามารถในการนำไปปฏิบัติ และตัวชี้วัดผลการปฏิบัติงานที่เหมาะสม ซึ่งจำเป็นต้องมีการพัฒนาเป็นระบบทั้งหน่วยงานภาษีและลูกค้า โดยจะต้องเข้าใจบริบทในการปฏิรูป และความต้องการที่จะปฏิรูป เช่นวัฒนธรรมองค์การแบบเป็นทางการ และไม่เป็นทางการ เช่น ลักษณะของเจ้าหน้าที่ และความสัมพันธ์กับหน่วยงาน คุณสมบัติ ทักษะ เป้าหมายส่วนตัว แรงจูงใจของผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ที่สอดคล้องความต้องการ และความคาดหวังของหน่วยงานในเรื่องเกี่ยวกับหน่วยงาน บุคลากร และปัจจัยในการอบรม
ปัจจัยภายนอกหน่วยงานที่จำเป็นในการปฏิรูปการบริหารจัดการ เช่น การจัดเก็บภาษีลดลงอันเนื่องมาจากผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศลดลง ไม่มีการจัดเก็บภาษีบางประเภท วัฒนธรรมของผู้เสียภาษี เช่น ผู้เสียภาษีรายใหญ่หลบเลี่ยงไม่ชำระภาษีมีจำนวนมาก การจัดเก็บรายได้ลดลง และเกิดวิกฤตทางการเงิน หรือเกิดการฉ้อราษฎร์บังหลวงในหน่วยงานหรือทุกส่วน หากเป็นเช่นนี้การบริหารการจัดเก็บภาษีอากรต้องรีบดำเนินการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง หน้าที่หลัก จัดตั้งหน่วยงานใหม่เพื่อดำเนินการอย่างรวดเร็ว เช่น จัดตั้งหน่วยเฉพาะพิเศษ และฝึกอบรมเช่นจัดตั้งสำนักผู้ประกอบการรายใหญ่ หรืออาจมีการกำหนดเจ้าหน้าที่ และให้มีโปรแกรมแบบมืออาชีพเพื่อยกระดับการปฏิบัติงานด้านเทคโนโลยี ฮาร์ดแวร์ ซอฟท์แวร์ และเครือข่ายการคมนาคม และให้มีการบริหารจัดการ และให้มีผู้นำแบบมีประสิทธิภาพมีการบริหารทรัพยากรบุคคลแบบระยะสั้นแต่บ่อย ๆ และมีการอบรมซ้ำ
การปฏิรูปการบริหารการจัดเก็บภาษีในส่วนที่เกี่ยวกับผู้ประกอบการ เช่น แรงกดดันทางการเงิน สังคมการเมือง การกระตุ้นให้ปรับเปลี่ยนหน่วยงาน การจ้างงาน การควบรวมหน่วยงาน การจัดตั้งหน่วยงานใหม่ การกระจายการปฏิบัติงาน การพัฒนาซอฟท์แวร์ ฮาร์ดแวร์ใหม่ ๆ การใช้เทคโนโลยีก้าวหน้าเป็นเครื่องมือในการจัดการ และอบรมการให้บริการลูกค้าที่ดีขึ้น การปรับเปลี่ยนระบบเทคโนโลยี และการเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์การเพื่อที่จะต่อต้านการฉ้อราษฎร์บังหลวง เช่น ว่าจ้างพนักงานใหม่ อบรม และให้แรงจูงใจสำหรับผลการปฏิบัติงานที่ดีขึ้น ในส่วนที่เกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรมนุษย์ และการมีส่วนร่วม ต้องใช้กลยุทธ์การพัฒนา และการบริหารแบบสมัยใหม่ สร้างบุคลากรให้มีสมรรถนะ วิสัยทัศน์และภาวะผู้นำต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของหน่วยงาน
การบริหารการจัดเก็บภาษีด้านการพัฒนาพนักงาน และการบริหารทรัพยากรมนุษย์ มักจะเผชิญกับปัญหาอุปสรรค ในเรื่องการขาดแคลนมืออาชีพในการอบรม (well-trained professionals) งานมีขอบเขตจำกัด และการพัฒนาพนักงานไม่เชื่อมต่อกับวัตถุประสงค์ขององค์การ และมักเป็นงานปกติ ผู้เชี่ยวชาญมืออาชีพที่จะทำการอบรมในหน่วยงานภาษีมีค่อนข้างน้อย โอกาสที่จะเป็นมืออาชีพของหัวหน้าหน่วยฝึกอบรมจึงมีจำกัดในประเทศกำลังพัฒนา จะมีการศึกษาแบบต่อเนื่อง และศึกษาเกี่ยวกับจิตวิทยา อุตสาหกรรม รัฐประศาสนศาสตร์ แนวโน้มเกี่ยวกับต่างประเทศ ข้อจำกัดในการใช้บุคลากรก็คือ หน่วยงานมักให้พนักงานเป็นเพียงผู้บันทึกข้อมูล ซึ่งหน่วยงานยังเข้าใจไม่เพียงพอต่อแนวคิดของการบริหารทรัพยากรมนุษย์ โดยคิดว่า การจัดการจะมีเพียงการจ้างงาน การโอน การกำหนดค่าจ้าง การฝึกอบรม และการเลื่อนตำแหน่งใหม่ตามเส้นทางอาชีพหรือการกำหนดลักษณะงาน แต่ในยุคปัจจุบันระบบการพัฒนาพนักงานต้องมีหน่วยงานขับเคลื่อนเพื่อให้เป็นมืออาชีพ และเพิ่มทักษะในหน่วยงานระบบการศึกษาต้องเพียงพอในด้านบัญชี การตรวจสอบบัญชี เศรษฐศาสตร์ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารการจัดเก็บภาษี ซึ่งการอบรมต้องมีการอบรมทั้งก่อน ระหว่างและหลังการปฏิบัติงาน
การบริหารทรัพยากรมนุษย์มีบทบาทมากขึ้นในการบริหารการเปลี่ยนแปลงในการบริหารการจัดเก็บภาษีในเรื่อง การจ่ายค่าตอบแทน การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม และภาวะผู้นำ การบริหารทรัพยากรมนุษย์ที่ภาคเอกชนดำเนินการแล้ว ควรนำมาใช้ประโยชน์ได้บ้างเช่นทุกส่วนในหน่วยงานต้องเข้าใจกระบวนการต่าง ๆ การฝึกอบรมต้องกำหนดเป็นเป้าหมาย และวัตถุประสงค์ในระยะยาวของหน่วยงาน มีการกำหนดวิสัยทัศน์ สร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้า ผลักดันให้มีการกระตุ้นมิติใหม่ ๆ ในหน่วยงาน
การจะเป็นบุคลากรแบบมืออาชีพต้องปรับเปลี่ยนจากการปฏิบัติงานไปสู่กลยุทธ์ จากการทำงานเชิงคุณภาพไปสู่ปริมาณ การกำหนดนโยบายไปเป็นการเข้าไปเป็นหุ้นส่วน ปฏิบัติงานระยะสั้นไปเป็นการปฏิบัติงานแบบระยะยาว การบริหารจัดการเป็นการให้คำปรึกษา การปฏิบัติงานแบบทำตามหน้าที่ไปสู่การปฏิบัติเชิงธุรกิจ การเน้นเฉพาะภายในหน่วยงานเป็นการเน้นภายนอกหน่วยงาน และให้ความสำคัญกับเน้นลูกค้า การปฏิบัติงานที่เป็นการแก้ปัญหา แนวคิดแบบใหม่นี้บุคลากรจะมีหลายบทบาทและมีความรับผิดชอบแบบบูรณาการ
สำหรับด้านเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร นั้น ได้มีการสร้างศูนย์เครือข่ายที่ใช้ในเรื่องของทรัพยากรมนุษย์ เช่นในเรื่องของผลประโยชน์ การสรรหาและการบรรจุ การจัดการผลการปฏิบัติงาน การวางแผนค่าตอบแทน การพัฒนาบุคลากร และการจัดการความรู้ ในเรื่องของการประเมินผลการปฏิบัติงานแบบ On-line การสร้างโปรแกรมการเรียนรู้ด้วยตนเอง (self-paged learning programs) และการดัชนีของนายจ้าง นอกจากนี้ยังมีการใช้เครือข่าย ยืดหยุ่น ปฏิบัติได้ง่าย และต้นทุนที่ต่ำกว่า ภาวะผู้นำเป็นสิ่งสำคัญในการปฏิรูป ผู้นำต้องตัดสินใจ และพร้อมที่จะถูกตรวจสอบ ทั้งในด้านการปรับปรุงหน่วยงาน และการพัฒนาการบริหารจัดการด้วย
จากการประชุม The OECD Committee of Fiscal Affairs Forum on Strategic Management (FSM) เมื่อเดือน มิถุนายน 1999 และการประชุม The FSM Steering Group เมื่อเดือนธันวาคม 2000 เพื่อจัดทำเอกสารการประชุม เกี่ยวกับหลักการบริหารการจัดเก็บภาษีอากรที่ดี (Principles of Good Tax Administration) ซึ่งเป็นรูปแบบที่เหมาะสมที่แต่ละประเทศควรนำไปปฏิบัติทั้งในระดับประเทศ และระหว่างประเทศ โดยนำเสนอหลักการบริหารการจัดเก็บภาษีที่ดีของหน่วยจัดเก็บภาษีอากร (revenue authorities) 5 ประการ (Organization for Economic Co-operation Development (OECD), 2001) คือ ประการแรก การสร้างความสัมพันธ์กับผู้เสียภาษี ในลักษณะที่กฎหมายภาษีอากร ต้องมีลักษณะที่เป็นธรรม โปร่งใส มีการแจ้งสิทธิหน้าที่ของผู้เสียภาษี การให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง และทันเวลา การเข้าถึงบริการข้อมูลข่าวสารของผู้เสียภาษีมีกฎหมายรองรับ ต้นทุนในการเสียภาษีต่ำให้ผู้เสียภาษีมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นหากจะเปลี่ยนนโยบายวิธีปฏิบัติ การใช้ข้อมูลผู้เสียภาษีเป็นไปตามกฎหมายกำหนด และรักษาความสัมพันธ์กับผู้เสียภาษี และชุมชน ประที่สองการสร้างความสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่ สื่อสารให้เจ้าหน้าที่ได้รับทราบถึงจรรยาบรรณ ขจัดความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานของรัฐกับภาคเอกชน กระบวนการ สรรหา และเลื่อนขั้นต้องอยู่บนพื้นฐานของระบบคุณธรรมฝึกอบรมพัฒนาเจ้าหน้าที่โดยเน้นในเรื่องภาษีที่ซับซ้อน และสัมพันธ์กับโลกาภิวัฒน์ เช่น ประเทศอังกฤษจะ จัดอบรมเจ้าหน้าที่อย่างต่อเนื่องพยายามดึงดูด และรักษาพนักงานที่มีสมรรถนะ ประการที่สาม ลักษณะของกฎหมายต้องมีความเป็นธรรม มีความแน่นอน สนับสนุนการกระจายอย่างเป็นธรรม และมีการพัฒนา ไม่ส่งเสริมหรือ สนับสนุนให้มีการหลีกเลี่ยง หรือหนีภาษี การให้ข่าวสาร การรักษาความลับของผู้เสียภาษี อยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย ประการที่สี่ลักษณะของการบริหารจัดการเก็บภาษี มีการแลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และต้องคำนึงถึงข้อมูลย้อนกลับการให้ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับการตรวจสอบ ต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นอิสระ ข้อมูลต้องสอดคล้อง มีนัยสำคัญ สามารถนำไปใช้ได้ แจ้งให้ผู้เสียภาษีทราบถึงวิธีปฏิบัติ และผลในการต่อรองภายใต้ กฎเกณฑ์ และต้องสนับสนุนหลักการภาษีระหว่างประเทศ ในเรื่องการกำหนดราคาของทรัพย์สินต่ำกว่าราคาตลาดหรือราคาที่ควรจะเป็น (transfer pricing) หรือการขยายสาขา (the arm’s length principle) และประการสุดท้าย การจัดการ และการปรับเปลี่ยนสู่การเปลี่ยนแปลง ต้องมีการทบทวนหลักการ กระบวนการเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษีอากร จัดให้มีการประชุมร่วมกัน เพื่อพัฒนามาตรการระหว่างประเทศติดตามการยินยอมการเสียภาษี และมาตรฐานการจัดการระหว่างประเทศ และให้มีมาตรวัดที่จำเป็นสำหรับแต่ละประเทศ รวมถึงการจัดทำข้อตกลงทางการค้า และภาษีอากร
ระบบการจัดเก็บภาษีอากร (จรัส สุวรรณมาลา, 2541, หน้า 5-6) หมายถึง โครงสร้าง และวิธีการจัดเก็บภาษีของประเทศหรือสังคมหนึ่ง ๆ ซึ่งโครงสร้างภาษีจะประกอบด้วยประเภทที่จัดเก็บ ฐานภาษี รวมถึงอัตราภาษีของภาษีแต่ละประเภท ส่วนวิธีการเก็บภาษีนั้นหมายรวมถึงองค์การ และกระบวนการจัดเก็บภาษีประเภทต่าง ๆ ทั้งนี้ ในการวางแผนบริหารการจัดเก็บภาษีที่มีประสิทธิภาพนั้น องค์การมีบทบาทสำคัญในการจัดระบบการจัดเก็บปรับกระบวนการจัดเก็บภาษีให้ต่อเนื่องและทันต่อเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดจนให้สอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจของประเทศ ตั้งแต่การจัดโครงสร้างองค์การ การแบ่งงาน การรวมและกระจายอำนาจ การกำหนดขั้นตอนการทำงาน การวางแผนและเตรียมการวิธีการรับชำระภาษีการตรวจสอบและประเมินภาษี ตลอดจนการประเมินผลการปฏิบัติงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องมีระบบบริหารงานบุคคลที่ดี และรัดกุม เนื่องจากเจ้าพนักงานของรัฐที่ทำหน้าที่ในการจัดเก็บภาษีมีอำนาจให้คุณให้โทษแก่ผู้เสียภาษีโดยตรงกับทั้งสามารถใช้อำนาจและดุลยพินิจเพื่อหาประโยชน์ใส่ตัว โดยมิชอบได้โดยง่าย ดังนั้น จึงจำเป็นต้องสร้างค่านิยมที่เน้นคุณภาพและจริยธรรมในการปฏิบัติงาน มีการอบรมเพื่อเสริมสร้างจริยธรรมและให้มีความซื่อสัตย์สุจริตต่อหน้าที่ เพื่อให้มั่นใจว่า เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจหน้าที่และวิจารณญาณโดยชอบอย่างแท้จริงกับทั้งต้องสร้างระบบแรงจูงใจที่สามารถสนับสนุนให้ผู้ปฏิบัติงานมีขวัญกำลังใจในการทำงาน มีการปรับปรุงศักยภาพและเพิ่มคุณภาพการทำงานให้ดียิ่งขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องมีระบบรักษาวินัยที่เข้มงวด มีระบบการตรวจสอบการปฏิบัติงานของบุคลากรที่ทันเวลา และเชื่อถือได้ โดยมีการสอบสวนที่เป็นธรรมและชัดเจนตลอดจนมีระบบการลงโทษที่รวดเร็วและเด็ดขาด เพื่อป้องปรามและขจัดพฤติกรรมเบี่ยงเบนให้ได้ผลมากที่สุด
การจัดเก็บภาษีอากรของรัฐ ขึ้นอยู่กับความสามารถในการเสียภาษี รัฐจึงต้องคำนึงถึงสภาวะเศรษฐกิจ และความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมในการใช้นโยบายภาษีและวิธีการจัดเก็บที่เหมาะสมกับภาวการณ์ในแต่ละช่วง หากเศรษฐกิจตกต่ำ รัฐบาลเป็นหนี้มาก พยายามจะเก็บภาษีเพิ่ม ก็ย่อมสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชน หรือหากรัฐนำเงินภาษีไปใช้อย่างไม่โปร่งใส เกิดการคอรัปชั่น ประชาชนจะรู้สึกว่า บริการที่ได้รับจากภาครัฐไม่คุ้มค่ากับเงินภาษีที่จ่ายไปก็จะเกิดปรากฎการณ์ต่อต้านการเสียภาษีที่เรียกว่า Tax Revolt (Rubin, 1998, pp. 17-30) เหตุการณ์นี้ เคยเกิดขึ้นที่เมืองซานฟรานซิสโก มลรัฐคาลิฟอร์เนีย ในปี ค.ศ. 1850-1890 และที่เมืองชิคาโก ในปี ค.ศ. 1930-1933 ประชาชนลุกขึ้นมาต่อต้านการเก็บภาษีของรัฐ และหยุดชำระภาษี ตั้งเป็นสมาคมผู้ไม่เสียภาษี เมื่อมีการฟ้องร้อง จะมีทนายไปแก้ต่างให้ทำให้เกิดความวุ่นวาย
การหลบหนีภาษี มีผลทำให้รัฐสูญเสียเม็ดเงินภาษีที่รัฐควรจะจัดเก็บได้แล้ว ยังมีผลกระทบต่อสังคม และเศรษฐกิจอื่น ๆ เช่น เมื่อรัฐไม่สามารถจัดเก็บภาษี ก็ไม่มีรายได้ที่จะนำไปพัฒนาประเทศหากอัตราการหลบหนีสูง รัฐจะเก็บภาษีไม่ได้ตามจำนวน รัฐบาลจะมีสถานะขาดดุลงบประมาณ หากรัฐบาลแก้ปัญหาโดยเพิ่มอัตราภาษีให้สูงขึ้น ก็จะทำให้อัตราการหลบหนีภาษีสูงขึ้นไปอีก ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ เรียกสถานการณ์ว่า วงจรอุบาทว์ (vicious cycle) รัฐจึงควรหามาตรการเพื่อป้องกันวงจรอุบาทว์นี้ (จุฑาทอง จารุมิลินท, 2546)

แนวคิดเกี่ยวกับระบบการบริหารการจัดเก็บภาษี

การบริหารการจัดเก็บภาษีอากร (Tax Administration)

World Bank (2007) ได้นิยามว่า การบริหารการจัดเก็บภาษี จะเริ่มจากการเกี่ยวข้อง ปฏิสัมพันธ์ระหว่างนโยบายและการบริหารจัดการ ซึ่งในที่นี้จะพูดเกี่ยวกับหน่วยงาน การจัดการหน้าที่ และทีมของการบริหารการจัดเก็บภาษีอากร โดยนโยบายภาษีมีผลต่อต้นทุนในการบริหารจัดการ และหน่วยงานภาษี ซึ่งแบบภาษีจะเป็นปัจจัยหลักในการกำหนดการบริหาร บางประเทศหน่วยงานภาษีและหน่วยงานศุลกากรจะแยกจากกัน บางประเทศจะรวมกัน หรืออาจมีหน่วยงานที่จัดเก็บเฉพาะค่าธรรมเนียมแยกต่างหาก การบริการการจัดเก็บภาษีจะเน้นหน้าที่ความรับผิดชอบที่สำคัญ คือ การบริหารจัดการ และการจัดเก็บภาษี ซึ่งหน่วยงานสำคัญที่เกี่ยวข้องจึงต้องพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ในการบริหารการจัดเก็บภาษีให้ได้ตามกฎหมาย
หน่วยงานบริหารจัดการภาษี ปัจจุบันจะเป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นโดยเป็นหน่วยงานกึ่งอิสระ (อิสระในการจัดการแต่มีคณะกรรมการ) หลาย ๆ ประเทศพัฒนา กำลังพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพ และ การบริหารจัดการแบบกึ่งอิสระนี้ การบริหารจัดการด้านหน่วยงานนี้บางประเทศ เช่น เดนมาร์ก แคนาดารวมหน่วยงานภาษีและศุลกากรเข้าด้วย บางประเทศแยกจากกัน บางประเทศแยกเป็นตำรวจภาษี (tax police) เช่น ในอิตาลี
ประเด็นสำคัญในการจัดโครงสร้างภายในของหน่วยงานภาษี มักแบ่งตามหน้าที่ของการจัดเก็บตามชนิดของภาษีหรือตามประเภทของผู้เสียภาษีโดยเลือกรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง
หน้าที่สำคัญของการบริหารการจัดเก็บภาษี ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้เสียภาษี คือ การจัดเก็บภาษี การต่อต้าน การหลบหนีภาษี (ไม่ยินยอมเสียภาษี) โดยส่วนมากเกี่ยวข้องกับการรวบรวมข้อมูลหรือการดำเนินการ กระบวนการรวบรวมข้อมูล ข้อมูลแรกจะเกี่ยวกับ การกำหนดกลุ่มผู้เสียภาษี โดยการให้เลขประจำตัวผู้เสียภาษี (ID) ต่อมา คือ การรวบรวมข้อมูลจากบุคคลที่สามที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้มีหน้าที่เสียภาษี ณ ที่จ่าย การเป็นเจ้าของถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้น การให้ความรู้ทางภาษีอากร การให้บริการผู้เสียภาษี เพื่อให้การหลีกเลี่ยงภาษีมีน้อย การสอบยันความถูกต้องของการชำระภาษี โดยจะเริ่มจากการยื่นแบบแสดงรายการ การควบคุมชนิดระบบการยื่นแบบ และประเมินภาษี การตรวจสอบภาษี ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของการบริหารการจัดเก็บ การตรวจสอบ และการติดตามผู้หนีภาษี หรือชำระภาษีน้อยกว่าความเป็นจริงเป็นสิ่งจำเป็น ต้องดำเนินการทางอาญา และลงโทษ และหน้าที่สุดท้าย ซึ่งเพิ่มความสำคัญมากขึ้น คือ การสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาษีระหว่างประเทศ
การใช้หน่วยงานภายนอกในการบริหารจัดการ เป็นการประยุกต์หลักการของการบริหารงานภาครัฐในการที่จะมอบงานเพื่อให้หน่วยงานมีขนาดเล็กลง โดยการใช้หน่วยงานภายนอก ซึ่งในบางประเทศจะมีประสิทธิผลมากกว่าด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า ซึ่งในอดีตการแปรรูปแบบเต็มรูปแบบเช่นนี้ยังไม่เคยมีมาก่อน การบริหารการจัดเก็บภาษีจะรวมถึงการสร้างความยินยอมในการเสียภาษีทั้งของผู้เสียภาษีโดยตรง และบุคคลที่สามที่เกี่ยวข้อง เช่นผู้มีหน้าที่เสียภาษี ณ ที่จ่าย ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สินเพื่อที่จะลดต้นทุนในการบริหารจัดการด้วย ในบางประเทศรัฐบาลได้จัดตั้งหน่วยงานอื่นทำหน้าที่มากกว่าหน่วยงานบริหารจัดเก็บภาษี เช่น หน่วยงานตำรวจให้มีหน้าที่ดำเนินการฟ้องร้อง หรือแม้แต่การให้ประชาชนช่วยสอดส่องการใช้อำนาจที่มิชอบ หรือการฉ้อราษฎร์บังหลวงของเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่เกี่ยวกับภาษีอากร การใช้ผู้ตรวจการ (ombudsman) เป็นช่องทางอิสระในการขจัดข้อสงสัย ภาคธุรกิจเองก็ต้องการใช้การตรวจสอบบัญชีและการรับรองบัญชีโดยผู้สอบบัญชีเอกชน ให้มีการใช้ผู้แนะนำด้านภาษี หรือแม้แต่การบริหารการจัดการด้านศุลกากรให้มีการจ้างเหมาบุคคลภายนอก โดยการใช้หน่วยงานตรวจสอบของเอกชน
การเตรียมการวางแผนในการบริหารการจัดเก็บภาษีอากร ต้องจัดทำแผนกลยุทธ์เป็นแบบงานที่ชัดเจน และเป็นวัตถุประสงค์ของหน่วยงาน แจ้งให้ทุกคนในหน่วยงานทราบเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ และพันธกิจ วิธีปฏิบัติงานต้องชัดเจน โปร่งใส และนำไปปฏิบัติได้ที่สำคัญ คือ ต้องเสมอภาค และเป็นวิธีที่ขจัดการฉ้อราษฎร์บังหลวง ในประเทศที่มีวิธีปฏิบัติที่ง่ายจะเป็นประโยชน์ในการปฏิรูปการบริหารการจัดเก็บภาษี เป็นการลดต้นทุนในการสร้างความยินยอมในการเสียภาษี และลดต้นทุนในการบริหารจัดการ แนวปฏิบัติที่ซับซ้อนยุ่งยากอาจทำให้เกิดการตกลงยอมความระหว่างผู้เสียภาษีกับเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษี ซึ่งมิได้อยู่บนพื้นฐานของข้อกฎหมาย ระบบตรวจสอบภายในที่เข้มแข็งจึงจำเป็น สำหรับกรณีเช่นนี้ การมีจรรยาบรรณอาจใช้เป็นเครื่องมือที่เป็นประโยชน์ เพราะกำหนดพฤติกรรม และสิ่งที่ควรปฏิบัติ/ไม่ควรปฏิบัติของพนักงาน นอกจากนี้ผู้เสียภาษีต้องได้รับทราบเกี่ยวกับสิทธิในกระบวนการภาษีอากรอย่างชัดเจน เช่นวิธีอุทธรณ์ภาษี วิธีการรับทราบข้อมูลต่าง ๆ การขอเลขประจำตัวผู้เสียภาษี การยื่นแบบแสดงรายการ การประเมินภาษี การตรวจสอบ และการติดตามผู้ที่ไม่ยินยอมเสียภาษี
นโยบายภาษีอากรเป็นส่วนของนโยบายการคลังที่มีส่วนช่วยในการปฏิบัติหน้าที่ทางเศรษฐกิจของรัฐบาลให้บรรลุเป้าหมายในการพัฒนาประเทศ นอกจากการจัดเก็บภาษีอากรเพื่อให้รัฐมีรายได้เพียงพอกับการพัฒนาประเทศแล้ว ภาษีอากรยังใช้เป็นเครื่องมือที่สำคัญของรัฐบาลในการบริหาร และพัฒนาประเทศเพื่อให้เป็นไปตามแนวทางการบริหารและพัฒนาประเทศโดยการจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด (กรมสรรพากร, 2550ค) รัฐบาลอาจใช้นโยบายการจัดเก็บภาษีในการบริหารกิจการที่ใช้ทรัพยากรในการผลิตสินค้าหรือสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยให้จัดเก็บภาษีในอัตราที่สูง เพื่อลดการบริโภคของประชาชน และในทางตรงข้ามก็อาจลดอัตราภาษีหรือยกเว้นภาษีแก่กิจการที่จำเป็นในการครองชีพสำหรับการกระจายรายได้และทรัพย์สินให้เป็นธรรมรัฐบาลใช้นโยบายจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราภาษีแบบก้าวหน้า เพื่อให้คนมีรายได้มาก ร่ำรวยเสียภาษีมากกว่าคนจน และอาจจัดเก็บภาษีมรดกเพื่อลดความได้เปรียบของบุคคลหรือทายาทที่ได้รับมรดก และเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจให้กับสังคม ในด้านการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ รัฐบาลอาจเพิ่มประเภทหรืออัตราภาษีทางอ้อมสำหรับสินค้าหรือบริการ ทำให้ระดับราคาสินค้าหรือบริการเพิ่มขึ้น เพื่อประชาชนจะได้ลดการบริโภคลง เมื่อประชาชนลดการบริโภคลง ราคาสินค้าหรือบริการก็จะลดลง ภาวะเงินเฟ้อก็ผ่อนคลายได้ ในด้านการรักษาดุลการชำระเงินรัฐบาลอาจใช้นโยบายยกเว้นหรือลดอัตราภาษีสินค้าที่ส่งออก ในขณะเดียวกันก็จัดเก็บภาษีจากการนำเข้าสินค้าในอัตราที่สูงเพื่อลดปริมาณการนำเข้า และประการสุดท้ายที่ใช้นโยบายภาษีในการพัฒนาประเทศ คือ การเสริมสร้างความเจริญเติบโตของระบบเศรษฐกิจการจัดเก็บภาษีอากรสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศที่กำลัง เจริญเติบโตให้เป็นไปในทิศทางที่เหมาะสม โดยการกำหนดมาตรการที่สำคัญเพื่อการเสริมสร้างความเจริญเติบโต ได้แก่ มาตรการส่งเสริมการลงทุนที่มีความสำคัญต่อการขยายต่อเศรษฐกิจ มาตรการส่งเสริมการออม มาตรการส่งเสริมการส่งออก มาตรการเพิ่มการใช้จ่ายของประชาชนในภาวะที่เศรษฐกิจตกต่ำ เป็นต้น

ลักษณะที่ดีของภาษีอากร

ภาษีอากรเป็นสิ่งที่รัฐบังคับจัดเก็บจากประชาชนและถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ ดังนั้น เพื่อให้รัฐสามารถจัดเก็บรายได้เพียงพอ มีประสิทธิภาพและเพื่อเป็นการสร้างความรู้สึกที่ดีในการจัดเก็บภาษีอากรต่อผู้เสียภาษี จึงควรมีระบบภาษีอากรที่ดีซึ่งมีลักษณะดังต่อไปนี้ (กรมสรรพากร, 2550ค) คือ (1) มีความเป็นธรรม การจัดเก็บภาษีอากรที่ดีต้องสร้างความยุติธรรมเท่าเทียมให้กับผู้เสียภาษี โดยภาษีที่ดีต้องจัดเก็บจากความสามารถในการเสียภาษีของผู้มีเงินได้ ฐานะ สภาพความเป็นอยู่ หรือการได้รับผลประโยชน์หรือการบริการจากรัฐ นอกจากนี้ในการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ในการจัดเก็บภาษีอากรก็จำเป็นต้องให้ความเท่าเทียมกับผู้เสียภาษีทุกคน มิฉะนั้นแล้วก็อาจจะก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมและการหลีกเลี่ยงการเสียภาษี (2) มีความสะดวก เพื่อร้างความสมัครใจในการเสียภาษีและเพื่อมิให้การจัดเก็บภาษีเป็นภาระสร้างความยุ่งยากให้แก่ผู้เสียภาษี ในการจัดเก็บภาษีอากร รัฐจึงควรจัดให้มีการอำนวยความสะดวกแก่ผู้เสียภาษีในด้านต่าง ๆ เช่น การให้บริการในความรู้ ข้อกฎหมาย ระเบียบแนวปฏิบัติ การให้คำปรึกษา แนะนำการกรอกแบบแสดงรายการ กำหนดเวลาและสถานที่ในการยื่นแบบแสดงรายการภาษี เป็นต้น (3) ความแน่นอน การจัดเก็บภาษีต้อง มีความชัดเจนและแน่นอนโดยเฉพาะในด้านข้อกฎหมาย ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้เสียภาษีปฏิบัติและเสียภาษีถูกต้อง อันจะเป็นการขจัดปัญหาต่าง ๆ และเป็นการสร้างความมั่นใจในการลงทุนให้แก่ผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น (4) ความประหยัด การจัดเก็บภาษีที่ดีต้องไม่เป็นการเพิ่มภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายให้กับผู้เสียภาษี นอกจากเงินภาษีที่ผู้เสียภาษีต้องชำระแล้ว นอกจากนี้ในส่วนของภาครัฐการจัดเก็บภาษีก็ควรต้องมีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บต่ำ ทั้งนี้ เพื่อให้รัฐมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีเพียงพอ และนำไปใช้จ่ายเพื่อการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ มากขึ้น (5) ความเป็นกลางทางเศรษฐกิจการจัดเก็บภาษีอากรที่ดีจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อกลไกตลาดหรือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการผลิตหรือการบริโภคของผู้เสียภาษี ทั้งนี้ เนื่องจากจะทำให้ธุรกิจมีการใช้ทรัพยากรอย่างไม่มีประสิทธิภาพ อันจะก่อให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจ (6) ระบบภาษีที่ดีต้องสามารถอำนวยรายได้ รัฐบาลจำเป็นต้องนำรายได้ จากภาษีอากรไปเพื่อการใช้จ่ายและพัฒนาประเทศ ดังนั้น การจัดเก็บภาษีอากรที่ไม่สามารถให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้น จึงไม่สมควรนำมาใช้บังคับจัดเก็บ ทั้งนี้ เนื่องจากจะเป็นภาระแก่ผู้เสียภาษีแล้วรัฐยังไม่สามารถนำรายได้จากการจัดเก็บไปใช้ได้อย่างเพียงพออีกด้วย (7) มีความยืดหยุ่น ภาษีที่จัดเก็บต้องมีความยืดหยุ่นและสอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปได้ โดยหากภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ การจัดเก็บภาษีควรไม่เป็นการเพิ่มภาระให้กับประชาชนผู้เสียภาษี ซึ่งมีรายได้น้อยในขณะนั้น และหากภาวะเศรษฐกิจเจริญรุ่งเรือง ระบบภาษีที่ดีควรจัดเก็บรายได้ให้กับรัฐเพิ่มขึ้นในขณะที่ประชาชนมีรายได้สูงขึ้นในขณะนั้น และ ( 8 ) สามารถบังคับใช้ได้ กฎหมายภาษีอากรที่ใช้ในการจัดเก็บต้องสามารถนำไปปฏิบัติได้แม้ว่า เป็นภาษีที่ดีในทางทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัติหากการจัดเก็บกระทำได้ยากก็อาจก่อให้เกิดภาระ รวมทั้งต้นทุนในการบริหารการจัดเก็บภาษีอากร

โครงสร้างของภาษีสรรพากร

การจะจัดเก็บภาษีได้ผลเพียงใดนั้น ส่วนหนึ่งที่มีผลกระทบคือ โครงสร้างของภาษี ในประเทศไทยมีการพิจารณาดังนี้ (กรมสรรพากร, 2550ข, หน้า 46-47)

1.ประเภทของภาษีอากร ประเภทของภาษีอากรที่กรมสรรพากรจัดเก็บสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ทางตรงและภาษีทางอ้อม ภาษีทางตรง (direct tax) หมายถึง ภาษีที่ผู้มีหน้าที่เสียต้องรับภาระในภาษีที่ตนมีหน้าที่เสีย โดยไม่สามารถผลักภาระไปให้บุคคลอื่นได้ ประเภทของภาษีทางตรงที่กรมสรรพากรจัดเก็บ ได้แก่ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ส่วนภาษีทางอ้อม (indirect tax) หมายถึง ภาษีที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีสามารถผลักภาระไปให้บุคคลอื่นได้ การผลักภาระภาษีอาจผลักไปข้างหน้าโดยเพิ่มในราคาสินค้าหรือบริการ หรือผลักไปข้างหลังการลดราคาสินค้าหรือวัตถุดิบที่ผู้ผลิตขายให้กับผู้เสียภาษี ประเภทของภาษีทางอ้อมที่กรมสรรพากรจัดเก็บ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะ เป็นต้น
2.ฐานภาษี ได้แก่ สิ่งที่นำมาเป็นฐานในการคำนวณภาษี ภาษีที่กรมสรรพากรจัดเก็บในปัจจุบันคำนวณบนฐานภาษีซึ่งได้แก่ ฐานรายได้ เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คำนวณจากฐานเงินได้สุทธิ ภาษีเงินได้นิติบุคคล คำนวณจากฐานกำไรสุทธิ เป็นต้น สำหรับภาษีมูลค่าเพิ่มคำนวณจากภาษีขายลบด้วยภาษีซื้อ และภาษีธุรกิจเฉพาะคำนวณจากยอดรายรับก่อนหักรายจ่าย ซึ่งเป็นภาษีที่จัดเก็บจากฐานการบริโภค เป็นต้น
3.อัตราภาษี ที่กรมสรรพากรใช้ในการจัดเก็บเป็นอัตราตามมูลค่า (advalorem tax) ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น อัตราก้าวหน้า เป็นการจัดเก็บภาษีที่เมื่อฐานภาษีสูงขึ้น อัตราภาษีจะเพิ่มขึ้น ได้แก่ การจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เป็นต้น และอัตราคงที่ เป็นการจัดเก็บภาษีที่เมื่อฐานภาษีสูงขึ้น อัตราภาษีจะคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง ได้แก่ การจัดเก็บภาษีเงินได้สำหรับนิติบุคคลทั่วไป ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะ เป็นต้น
4.วิธีการเสียภาษี การจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากร สามารถแบ่งวิธีการจัดเก็บภาษีออกเป็นการจัดเก็บภาษีโดยผู้เสียภาษีประเมินตนเอง เป็นวิธีการเสียภาษีที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเป็นผู้คำนวณภาษีจากฐานภาษี โดยการกรอกแบบแสดงรายการ และชำระภาษีพร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการภาษีตามที่กฎหมายกำหนดและการจัดเก็บภาษีโดยเจ้าพนักงานประเมิน เป็นวิธีการที่ผู้เสียภาษีไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษี หรือผู้มีหน้าที่เสียภาษีได้ยื่นแบบฯ ไว้แล้ว และเจ้าพนักงานได้ตรวจสอบพบว่า ผู้เสียภาษีได้ยื่นภาษีไว้ผิดพลาดคลาดเคลื่อนหรือไม่ถูกต้อง เจ้าพนักงานจะคำนวณและประเมินเรียกเก็บภาษีจากผู้เสียภาษีให้ถูกต้องต่อไป และการจัดเก็บภาษีโดยการเสียภาษีล่วงหน้าหรือภาษีหัก ณ ที่จ่าย การเสียภาษีล่วงหน้าหรือภาษีหัก ณ ที่จ่ายเป็นวิธีการจัดเก็บภาษีในขณะที่ผู้เสียภาษีมีเงินได้ โดยผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่คำนวณภาษีจากเงินได้ที่จ่ายและนำส่งภาษี ภาษีถูกหัก ณ ที่จ่าย ให้ถือเป็นเครดิตในการคำนวณภาษีของผู้มีเงินได้เมื่อยื่นแบบแสดงการภาษี
5.การอุทธรณ์การเสียภาษี ในกรณีที่ผู้เสียภาษีได้รับหนังสือแจ้งการประเมินภาษีจากเจ้าพนักงานเพื่อการเรียกเก็บภาษีที่ผู้เสียภาษีเก็บไว้ไม่ครบถ้วนถูกต้อง ซึ่งผู้เสียภาษีไม่เห็นด้วยและต้องการให้เจ้าพนักงานทบทวนการประเมินดังกล่าว ผู้เสียภาษีสามารถอุทธรณ์การประเมินได้ โดยให้ยื่นคำขออุทธรณ์การประเมินต่อ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งการประเมิน คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จะพิจารณาและแจ้งผลการพิจาณาให้กับผู้เสียภาษีทราบ และหากผู้เสียภาษีด้วยกับผลการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็สามารถนำเรื่องขึ้นสู่ชั้นศาลได้
6.บทลงโทษทางภาษีอากร หากผู้เสียภาษีไม่ยื่นแบบแสดงรายการชำระภาษีหรือยื่นแบบแสดงรายการภาษีไว้แล้ว แต่ได้ชำระภาษีไว้ไม่ครบถ้วน ซึ่งจะทำให้รัฐมีรายได้ภาษีลดลงได้ ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร เพื่อสร้างความเป็นธรรมแก่ผู้ที่เสียภาษีไว้ครบถ้วนถูกต้องและเพื่อให้รัฐมีรายได้ภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วย ผู้ฝ่าฝืนที่ไม่เสียภาษีหรือเสียภาษีไม่ครบถ้วนถูกต้องจะได้รับบทลงโทษ ซึ่งประกอบด้วย โทษทางอาญาและโทษทางแพ่ง โทษทางอาญา ได้แก่ ค่าปรับ จำคุก หรือทั้งจำทั้งปรับ จะใช้ในกรณีที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีหรือผู้ที่มีเจตนาในการทำลายระบบภาษีอากร โทษทางแพ่ง ได้แก่ เบี้ยปรับและเงินเพิ่มโดยเบี้ยปรับ ได้แก่ เงินที่รัฐเรียกเก็บเป็นจำนวนเท่ากับภาษีที่ชำระไว้ไม่ครบหรือมิได้ชำระ โดยหากผู้เสียภาษีมิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษี เบี้ยปรับจะเท่ากับ 2 เท่าของภาษีที่มิได้ยื่นชำระ แต่หากผู้เสียภาษีได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีไว้ แต่ได้ชำระภาษีไม่ครบถ้วน เบี้ยปรับจะเท่ากับ 1 เท่าของภาษีที่ชำระไว้ขาด และเงินเพิ่ม ได้แก่ เงินที่รัฐเรียกเก็บในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน โดยคำนวณจากภาษีที่ชำระไว้ขาดหรือภาษีที่มิได้ชำระ และระยะเวลาที่นับตั้งแต่วันพ้นกำหนดเวลาการชำระภาษีจนกระทั่งถึงวันที่ได้ชำระภาษีเพิ่มเติมครบถ้วน ถูกต้อง