Custom Search
วันพุธที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ทฤษฎี Dow Theory

ทฤษฎี Dow Theory เกิดจากแนวความคิดพื้นฐานของ Dow (อ้างถึงใน จิรัตน์ สังข์แก้ว, 2540, หน้า 532-536) ผู้ได้รับขนานนามว่า เป็นบิดาแห่งการวิเคราะห์ทางเทคนิค ที่ได้เขียนแนวคิดลงในบทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ The Wall Street Journal ระหว่าง ค.ศ. 1900-1902 รวมกับการขยายความเพิ่มเติมและการเผยแพร่ของบรรดาศิษย์ของ Dow เกิดเป็นหลักเกณฑ์การวิเคราะห์หลักทรัพย์ทางเทคนิค ที่มีลักษณะเป็นระบบและมีหลักเกณฑ์ชัดเจนซึ่งรู้จักกันทั่วไป

พื้นฐานของทฤษฎี Dow นั้น ได้มาจากการเปรียบเทียบการเคลื่อนไหวราคาหุ้นกับการขึ้นลงของกระแสน้ำในทะเล กล่าวคือ กระแสน้ำในทะเลประกอบด้วยโครงสร้าง 3 ส่วน คือ (1) กระแสน้ำ (tide) (2) ลูกคลื่น (wave) และ (3) ฟองคลื่น (ripple) ในการดูว่า กระแสน้ำในทะเลกำลังขึ้นหรือลงนั้นจะต้องวิเคราะห์พฤติกรรมของลูกคลื่น ในกรณีที่ลูกคลื่นลูกต่อมาขึ้นมาสูงกว่าลูกคลื่นก่อนหน้านี้ก็เป็นลักษณะว่า กระแสน้ำในทะเลกำลังขึ้น ในทางตรงข้ามถ้าลูกคลื่นลูกต่อมาอยู่ต่ำกว่าลูกคลื่นลูกก่อนหน้านี้ก็แสดงว่า กระแสน้ำกำลังลดลง ส่วนฟองคลื่นเป็นส่วนประกอบในลูกคลื่นมิได้บ่งบอกกระแสน้ำขึ้นกระแสน้ำลงโดยตรงดังเช่นลูกคลื่น

แนวโน้มราคาหุ้นก็มีลักษณะเช่นเดียวกับกระแสน้ำและคลื่นในทะเล คือ ประกอบด้วยการเปลี่ยนแปลงสามส่วน คือ แนวโน้มใหญ่ (primary trend) ซึ่งเป็นแนวโน้มหุ้นระยะยาว แนวโน้มรอง (secondary movement) ซึ่งถือเป็นแนวโน้มระยะกลาง และการเคลื่อนไหวรายวัน (daily fluctuation) ดังแสดงในภาพ


ในการวิเคราะห์แนวโน้มใหญ่หรือทิศทางของราคาของหุ้นนั้น พฤติกรรมของแนวโน้มรองจะเป็นตัวกำหนด กล่าวคือ ถ้าระดับการขึ้นของหุ้นในแนวโน้มรองครั้งต่อมา ยังสูงกว่าครั้งก่อนและเวลาปรับตัวลดลงระดับที่ลดลงยังอยู่เหนือระดับที่ลดลงก่อนหน้านี้ แสดงว่า แนวโน้มใหญ่หรือระยะยาวของหุ้นยังขึ้นอยู่ ในกรณีที่แนวโน้มรองของหุ้นในช่วงต่อมามีระดับต่ำกว่าในช่วงแรกแสดงว่า แนวโน้มใหญ่ของหุ้นกำลังลดลง ส่วนแนวโน้มย่อยซึ่งแม้จะไม่มีส่วนในการบอกทิศทางของแนวโน้มใหญ่ของหุ้น แต่ก็เป็นองค์ประกอบที่ก่อให้เกิดแนวโน้มรอง สาระสำคัญของทฤษฎี Dow มีดังนี้ (อ้างถึงใน จิรัตน์ สังข์แก้ว, 2540, หน้า 537-538)

1. ดัชนีราคาหุ้นเป็นผลสะท้อนของข่าวสารข้อมูลต่าง ๆ ในตลาด ประเด็นนี้เป็นประเด็นเดียวกับข้อสมมติฐานของการวิเคราะห์ทางเทคนิคที่ได้กล่าวมาแล้วนั่นเอง

2. แนวโน้มราคาหุ้นมีอยู่สามลักษณะ คือ แนวโน้มใหญ่ (primary หรือ major trend) แนวโน้มรอง (secondary หรือ intermediate movement) และการเคลื่อนไหวรายวัน (daily fluctuation)

แนวโน้มใหญ่เป็นแนวโน้มระยะยาว โดยปกติจะกินเวลาประมาณตั้งแต่หนึ่งปีจนถึงหลาย ๆ ปี แนวโน้มใหญ่อาจมีลักษณะขึ้น (primary uptrend หรือ bull market) หรือแนวโน้มใหญ่มีลักษณะลง (primary downtrend หรือ bear market) การลงความเห็นว่า แนวโน้มใหญ่ของตลาดหุ้นมีลักษณะขึ้นหรือลง ตามทฤษฎี Dow จะมีหลักเกณฑ์ใน การพิจารณา คือ ถ้าการขึ้นแต่ละครั้งของแนวโน้มรอง จุดสูงสุดของการขึ้นครั้งหลังสุด สูงกว่าจุดสูงสุดของแนวโน้มรองก่อนหน้านี้ และถ้าจุดต่ำสุดของแนวโน้มรองครั้งหลังสุดสูงกว่าจุดต่ำสุดของแนวโน้มรองก่อนหน้านี้ แสดงว่า ตลาดกำลังอยู่ในภาวะแนวโน้มใหญ่มีลักษณะขึ้น ในทางตรงข้าม ถ้าในการลดลงแต่ละครั้งของแนวโน้มรองมีจุดต่ำสุดที่ระดับต่ำกว่าจุดต่ำสุดของแนวโน้มรองครั้งก่อนหน้านี้ และในการขึ้นของแนวโน้มรองแต่ละครั้งจะมีจุดสูงสุดต่ำกว่าจุดสูงสุดของแนวโน้มรองครั้งก่อน ถือว่าตลาดหุ้นกำลังอยู่ในภาวะแนวโน้มใหญ่มีลักษณะลง

แนวโน้มรองหรือแนวโน้มระยะกลางโดยปกติจะกินเวลาตั้งแต่ 3 สัปดาห์จนถึงระยะเวลาหลายเดือน แนวโน้มรองมี 2 ประเภท คือ ประเภทแนวโน้มรองที่มีทิศทางเช่นเดียวกับแนวโน้มใหญ่ กับแนวโน้มรองที่มีทิศทางตรงกันข้ามกับแนวโน้มใหญ่ ในภาวะที่ตลาดหุ้นมีแนวโน้มใหญ่ในทิศทางขึ้น แนวโน้มรองประเภทนี้จะมีทิศทางลงเป็นการชั่วคราวหรือที่เรียกว่า ลงเพื่อปรับตัวชั่วคราว (correction) ในภาวะที่ตลาดหุ้นมีแนวโน้มใหญ่ในทิศทางลง แนวโน้มรองประเภทนี้จะมีทิศทางขึ้นเป็นการชั่วคราว (recovery)

การเปลี่ยนแปลงรายวัน ได้แก่ ระดับราคาหุ้นที่ขึ้นลงในระยะสั้น โดยปกติจะกินเวลาไม่เกิน 3 สัปดาห์ และรวมถึงราคาหุ้นขึ้นลงประจำวันด้วย การเปลี่ยนแปลงรายวันนั้นในตัวมันเองไม่มีประโยชน์ที่จะใช้ในการวิเคราะห์ แต่มีความสำคัญในประเด็นที่ว่า เป็นส่วนหนึ่งของแนวโน้มใหญ่และรองนั่นเอง

3. ในช่วงของแนวโน้มใหญ่ในทิศทางขึ้น ประกอบด้วยการเปลี่ยนแปลงราคาหุ้น 3 ระยะ ระยะแรกเป็นระยะของการสะสมหุ้น เป็นระยะที่ราคาหุ้นต่ำเป็นอย่างมาก จำนวนซื้อขายต่ำ ในช่วงนี้เองที่นักลงทุนที่เห็นการณ์ไกลจะเริ่มเข้ามาซื้อในลักษณะสะสมกล่าวคือ จะรอซื้อเมื่อราคาลงเป็นช่วง ๆ ระยะที่สองเป็นช่วงระยะที่จำนวนซื้อขายค่อย ๆ เพิ่มปริมาณมากขึ้น ราคาหุ้นจะค่อย ๆ ขยับฐานขึ้นทีละน้อย ส่วนระยะที่สามเป็นช่วงเวลาแตกตื่นหุ้น ระดับราคาหุ้นสูงขึ้นในอัตราสูงและอาจติดต่อกันหลายวัน ปริมาณซื้อขายเพิ่มขึ้นมาก จำนวนที่เข้ามาในตลาดมากมาย ระยะที่นักเก็งกำไรเข้ามามากที่สุด ในขณะที่นักลงทุนเริ่มทยอยกันออก และในช่วงนี้เองที่แนวโน้มใหญ่จะเริ่มมีการเปลี่ยนทิศทางในลักษณะลง

4. ในช่วงของแนวโน้มใหญ่มีทิศทางลง ประกอบด้วย 3 ระยะ เช่นเดียวกัน คือ ระยะแรกเป็นระยะที่นักลงทุนเริ่มปล่อยหุ้นที่ซื้อเก็บไว้ (distribution phase) เพราะเห็นว่า ราคาหุ้นขึ้นมาสูงเกินอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลมากมาย ในช่วงนี้แม้จำนวนซื้อขายจะมีปริมาณมาก แต่จะมีลักษณะที่เห็นได้ชัด คือ ทุกครั้งที่หุ้นมีราคาขยับสูงขึ้น ปริมาณซื้อขายจะลดลง ระยะที่สองเป็นระยะที่คนทั่วไปเสียขวัญกัน (panic phase) นักเก็งกำไรจะรีบเทขายหุ้น ทำให้ราคาหุ้นลดลงอย่างรุนแรง โดยในบางช่วงจะมีการขยับตัวสูงขึ้นชั่วคราว (recovery) ก่อนที่จะมีการลดต่ำลงต่อไปตามแนวโน้มใหญ่ในเวลาต่อมา ในบางครั้งพฤติกรรมของราคาหุ้นภายหลังการตกต่ำอย่างรุนแรงจะมีลักษณะเป็นการขยับขึ้นลงในช่วงต่ำ คือ ขึ้นลงในช่วงประมาณร้อยละ 5 (sideway movement) การขยับตัวสูงขึ้นในแนวโน้มรองก็ดี หรือการมีแนวโน้มค่อนข้างคงที่อย่างในกรณีที่สองก็ดีจะกินเวลาเพียงระยะหนึ่งเท่านั้น หลังจากนั้นหุ้นจะมีราคาขยับลงต่อเนื่องต่อไป ระยะที่สามเป็นระยะที่หุ้นยังคงลดต่ำลง แต่เป็นการลดต่ำลงไม่มากนักปริมาณการซื้อขายอยู่ในระดับต่ำ ระยะที่สามของแนวโน้มใหญ่ลงนี้ จะคาบเกี่ยวต่อเนื่องกับระยะแรกของแนวโน้มใหญ่ขึ้นจนยากต่อการแยกวิเคราะห์

5. ดัชนีราคาแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมจะต้องมีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกัน จึงจะเป็นการยืนยันแนวโน้มในกรณีที่ดัชนีหนึ่ง อาทิเช่น ดัชนีหุ้นกิจการอุตสาหกรรมแสดงแนวโน้มขึ้น ในขณะที่ดัชนีหุ้นกิจการขนส่งยังมีแนวโน้มลง เมื่อนั้นตามทฤษฎี Dow ถือว่า แนวโน้มตลาดยังไม่แน่นอน ควรจะรอดูการเคลื่อนไหวของราคาต่อไป

6. ปริมาณซื้อขาย (volume) จะต้องไปด้วยกันกับแนวโน้มจึงเป็นการยืนยันแนวโน้ม กล่าวคือ ในภาวะตลาดมีแนวโน้มในทิศทางขึ้น ปริมาณซื้อขายจะเพิ่มขึ้นทุกครั้งที่ราคาหุ้นสูงขึ้นและปริมาณจะลดลงเมื่อราคาลดลง ในภาวะที่ตลาดมีแนวโน้มใหญ่ในทิศทางลง ปริมาณซื้อขายจะเพิ่มขึ้นทุกครั้งที่ราคาหุ้นมีระดับลดต่ำลงและจะลดประมาณ เมื่อหุ้นมีการขยับราคาสูงขึ้น กฎเกณฑ์ในเรื่องปริมาณซื้อขายนี้ตามทฤษฎี Dow เป็นเพียงวิธีการที่จะช่วยยืนยันเครื่องมืออื่น ๆ เท่านั้น โดยตัวมันเองไม่ถือว่า เป็นเครื่องมือบอกแนวโน้มได้อย่างสมบูรณ์ คุณค่าของการวิเคราะห์ปริมาณซื้อขาย จึงอยู่ที่การใช้เป็นเครื่องยืนยังความถูกต้องของดัชนีราคาเฉลี่ยมากกว่า

7. “เส้นตรง” (line) หรือการเคลื่อนไหวของราคาในช่วงแคบ ๆ ประมาณบวก ลบ 5% ติดต่อกันชั่วระยะเวลาหนึ่ง (หรือที่เรียกว่า sideway) ใช้แทนแนวโน้มรองได้

8. แนวโน้มจะดำรงทิศทางต่อเนื่องกันไป ตราบจนกระทั่งมีปัจจัยมาทำให้แนวโน้มเปลี่ยนแปลง

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น