แรงงาน (labour) ในแนวคิดของวิชาเศรษฐศาสตร์แรงงาน คำว่า แรงงาน เป็นคำรวม หมายถึง ความพยายามของมนุษย์หรือการออกแรง ในการผลิตและจำหน่ายสินค้าและบริการเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจและผู้ที่ดำเนินการจะได้รับค่าตอบแทน จากแนวคิดดังกล่าวก็จะเห็นได้ว่า แรงงานมีส่วนประกอบ ๒ ส่วน คือ ส่วนแรกเป็นการกระทำของมนุษย์ และส่วนที่ ๒ จากผลของการกระทำก่อให้เกิดผลทางเศรษฐกิจในรูปของค่าตอบแทนหรือรายได้ ดังนั้น การที่มนุษย์ออกแรงหรือกระทำการเพื่อตัวเองและไม่ก่อให้เกิดประโยชน์เป็นเงินเป็นทองจึงไม่อยู่ในความหมายของ "แรงงาน" โดยที่กระบวนการผลิตมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้น คำว่า การออกแรงไม่ได้หมายความแต่เพียง "การออกแรงกาย" การใช้ "สมอง" และ "สติปัญญา" ก็อยู่ในความหมายของ "แรงงาน" ยิ่งกว่านั้นแม้การทำงานในโรงงานคนงานมีหน้าที่แต่เพียงกดปุ่มให้เครื่องจักรทำงานเท่านั้น ไม่ได้ใช้การออกแรงงานอย่างสมัยก่อน
พจนานุกรมของราชบัณฑิตยสถานนิยามคำว่า แรงงานไว้ว่า "แรงงาน น. ประชากรในวัยทำงาน ไม่รวมถึงคนพิการ คนวิกลจริต นักเรียน นักศึกษา แม่บ้าน นักบวช ทหาร ผู้ต้องขังและผู้ประกอบกิจการเพื่อหากำไร; ความสามารถในการทำงานเพื่อประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ, กิจการที่คนงานทำในการผลิตเศรษฐทรัพย์, ผู้ใช้แรงงาน."
คำนิยามของราชบัณฑิตยสถานครอบคลุมความหมายของเศรษฐศาสตร์แรงงาน โดยรวมบุคคลที่กำลังทำงานและหางานทำ แต่ไม่รวมผู้ที่อยู่ในสภาพที่ทำงานไม่ได้ เพราะร่างกายและจิตใจไม่สมประกอบ หรือผู้อยู่ในสถาบันการศึกษาและอื่น ๆ เช่น ผู้ต้องขัง
อย่างไรก็ดี เมื่อนับรวมแม่บ้านและผู้อยู่ในสถาบันการศึกษาเข้าด้วย ก็เรียกว่า กำลังคน(man power) หมายถึง ผู้ที่กำลังทำงาน กำลังหางานทำและบุคคลที่ยังไม่ได้ทำงาน แต่บางเวลาบางครั้งก็จะออกหางาน เช่น แม่บ้าน นักเรียน ออกหางานทำเพื่อหารายได้เพิ่มเติม
คำนิยามของราชบัณฑิตยสถานดังกล่าว ตรงกับคำว่า กำลังแรงงาน (labour force) ซึ่งใช้ในการทำสำมะโนประชากรหรือการสำรวจแรงงาน กำลังแรงงานโดยปรกติขึ้นอยู่กับคำนิยามของสำนักสถิติแห่งชาติ ซึ่งใช้แบบเดียวกับราชบัณฑิตยสถาน เพียงแต่คำว่า ผู้หางาน ให้หมายเฉพาะผู้ที่ออกหางานทำเท่านั้น ไม่รวมผู้ที่อยู่บ้านและคอยงาน
คำว่า แรงงาน ยังแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ แรงงานรับจ้าง (employee หรือ wage-earner) และแรงงานที่ทำงานส่วนตัว (self-employed หรือ own account)
"แรงงานรับจ้าง" หมายถึง ทุกคนที่ทำงานให้นายจ้างเพื่อค่าจ้างหรือเงินเดือน
"คนทำงานส่วนตัว" หมายถึง ผู้ทำงานให้แก่ตัวเองและไม่ได้เป็นลูกจ้างผู้ใด
ในเชิงความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง คำว่า แรงงาน ยังหมายถึงผู้ทำงานระดับปฏิบัติการหรือระดับล่าง ซึ่งเรียกกันว่า คนงาน (worker) เพื่อให้แตกต่างกับแรงงานระดับบริหารหรือระดับบังคับบัญชา
แรงงานระดับล่างหรือคนงานมักก่อตั้งเป็นสหภาพแรงงาน (labour union) ในแนวคิดของเศรษฐศาสตร์แรงงาน สหภาพแรงงานเป็นการรวมของผู้รับจ้างเพื่อรักษาและปรับปรุงสภาพการทำงานและชีวิตความเป็นอยู่ ตามกฎหมายแรงงาน สหภาพแรงงาน คือ องค์กรของลูกจ้างที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย
สหภาพแรงงานหลายสหภาพสามารถรวมกันเป็นสหพันธ์ (federation) หรือเป็นสภาแรงงาน (congress)
การก่อตั้งในรูปสหภาพ สหพันธ์ และสภาแรงงาน และดำเนินการเพื่อรักษาสิทธิและประโยชน์ของคนงาน เรียกกันว่าขบวนแรงงาน (labour movement)
โดยสรุป เรื่องของแรงงานเป็นเรื่องเกี่ยวกับประชากรในวัยทำงาน และกำลังทำงาน ในเชิงเศรษฐกิจ ปัจจุบัน ประเทศไทยมีประชากรประมาณ ๕๗ ล้าน อยู่ในกำลังแรงงาน ๓๐.๖ ล้าน เป็นผู้ทำงาน ๒๙.๑ ล้าน และไม่มีงานทำ ๑.๕ ล้าน เป็นผู้ทำงานภาคเกษตร ๑๗.๔ ล้าน นอกวงเกษตร ๑๐.๘ ล้าน เป็นผู้ทำงานส่วนตัว ๘.๙ ล้าน ผู้ช่วยธุรกิจในครัวเรือน ๑๐ ล้าน เป็นลูกจ้าง ๘.๙ ล้าน เป็นนายจ้าง ๓๙๙,๐๐๐ คน
แรงงานเหล่านี้ทำงานอยู่สาขาอุตสาหกรรม ซึ่งแบ่งออกเป็น ๘ ประเภท คือ
๑. การเกษตรซึ่งรวมถึงป่าไม้ การล่าสัตว์ และการประมง
๒. การทำเหมืองแร่
๓. การทำหัตถกรรม อุตสาหกรรม
๔. การก่อสร้าง
๕. การไฟฟ้า แก๊ส การประปา และการสาธารณูปการ
๖. การพาณิชย์
๗. การขนส่ง คลังสินค้า และการคมนาคม
๘. การอำนวยการบริหารต่าง ๆ
ในด้านอาชีพก็ยังแยกออกไปอีก ๙ ประเภท คือ
๑. นักวิชาชีพและนักวิชาการ
๒. นักบริหารและผู้ปฏิบัติงานด้านจัดการ
๓. เสมียนพนักงาน
๔. พนักงานขายของ
๕. เกษตรกร ชาวประมง นักล่าสัตว์
๖. คนทำเหมืองแร่
๗. คนงานในด้านขนส่งและคมนาคม
๘. ช่างฝีมือและคนงานในการผลิต
๙. ผู้ปฏิบัติงานในการกีฬาและพักผ่อนหย่อนใจ
อาชีพ ๙ ประเภทนี้ยังแจกซอยออกไปเป็นอาชีพอีกจำนวนมาก เช่น เสมียน พนักงาน ยังแยกเป็น เสมียนบัญชี พนักงานชวเลข พนักงานเครื่องคำนวณ เสมียนสถิติ สำหรับพนักงานขายของก็มี พนักงานขาย พนักงานเดินตลาด ตัวแทน นายหน้าขายประกัน พนักงานขายทอดตลาด พนักงานตีราคา พนักงานขายส่ง ผู้เร่ขายหนังสือ พนักงานจำนำต่าง ๆ เป็นต้น
เศรษฐศาสตร์แรงงาน (Labour Economics) สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการศึกษาสภาวะการทำงานและความสัมพันธ์ของคนงานต่องานเศรษฐศาสตร์แรงงานจะเกี่ยวข้องกับตลาดแรงงาน ปัญหาค่าจ้าง ชั่วโมงทำงาน สภาพการทำงาน และความมั่นคงในการทำงาน เศรษฐศาสตร์แรงงานยังศึกษาคนงานในสังคมอุตสาหกรรม ประชากรและการโยกย้ายแรงงาน ทฤษฎีว่าด้วยขบวนการแรงงาน ขบวนการแรงงานกับรัฐบาล ปัญหาทางกฎหมายของการเจรจาต่อรอง
การซื้อของผู้บริโภค
-
พฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภค หมายถึง
พฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคขึ้นสุดท้ายที่ซื้อสินค้าและบริการไปเพื่อกินเองใช้เอง
หรือเพื่อกินหรือใช้ภายในครัวเรือน
ผู้บ...
4 ปีที่ผ่านมา
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น