ภักดิ์ ทองส้ม (2548, หน้า 17-18) อธิบายว่า บัญชีประชาชาติ หมายถึง การแสดงค่าผลผลิต โดยการแบ่งโครงสร้างของภาคเศรษฐกิจจริง (real sector) ออกเป็นภาคย่อยที่ประกอบด้วยรายการต่าง ๆ แล้วเชื่อมโยงรายการต่าง ๆ นั้น เข้าด้วยกันอย่างเป็นระบบตามกลไกทางเศรษฐกิจ ซึ่งระบบบัญชีประชาชาติตามมาตรฐาน ปี ค.ศ. 1953 (SNA 1953)ประกอบด้วยบัญชีหลัก 6 บัญชี คือ ผลิตภัณฑ์ในประเทศ (domestic product) รายได้ประชาชาติ (national income) การสะสมทุนในประเทศ (domestic capital formation) ครัวเรือนและสถาบันเอกชนไม่แสวงหากำไร (households and private non-profit institutions) รัฐบาล (general government) และภาคต่างประเทศ (external transaction)
บัญชีประชาชาติเป็นเครื่องมือสำคัญ เพื่อใช้เป็นเครื่องชี้วัดระดับของการผลิต รายได้ และการใช้จ่ายของประเทศ ซึ่งนอกจากจะสะท้อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแล้วยังเป็นเครื่องมือที่สะท้อนผลจากการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาล แต่ถึงกระนั้น ด้วยข้อจำกัดของการรวบรวมข้อมูลและโครงสร้างเศรษฐกิจ จึงทำให้รูปแบบการรายงานของประเทศไทยยังคงใช้ระบบบัญชีประชาชาติมาตรฐาน ปี ค.ศ. 1953 (SNA 1953) ผสมผสานกับระบบบัญชีประชาชาติมาตรฐาน ปี ค.ศ. 1968 (SNA 1968) บางส่วน จึงไม่มีการรายงานทั้งส่วนการไหลเวียนของสินค้าและบริการในระหว่างอุตสาหกรรม (inter-industries) การหมุนเวียนด้านรายได้รายจ่ายของสถาบันการเงินต่าง ๆ รวมไปถึงการสะสมทุนในระบบเศรษฐกิจ โดยสามารถแสดงความสัมพันธ์ระหว่างกระบวนการไหลเวียนของระบบเศรษฐกิจ และตารางบัญชีเศรษฐกิจพิจารณาได้
บัญชีรายได้ประชาชาติ (national income accounting) มีประโยชน์ต่อรัฐบาลอย่างยิ่งในการพิจารณาว่า เศรษฐกิจเท่าที่ผ่านมานั้นมีข้อดีข้อเสียอย่างไร เพื่อที่จะได้มีการวางแผนในการพัฒนา หรือแก้ไขก่อนที่จะมีปัญหารุนแรงกว่าที่เป็นอยู่ ระบบบัญชี-ประชาชาติสมัยใหม่สามารถให้ข้อมูลที่สำคัญต่าง ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GNP) รายได้ประชาชาติ (NI) รายได้ที่พ้นภาระภาษีแล้ว การบริโภค การออม และการลงทุน เป็นต้น รัฐบาลได้ใช้ข้อมูลในบัญชีรายได้ประชาชาติเพื่อวิเคราะห์ระบบเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในการประเมินผลของนโยบายทางเศรษฐกิจที่ผ่านมา และยังสามารถใช้ประกอบการวางแผนเศรษฐกิจในอนาคตได้
วิธีการคำนวณบัญชีประชาชาติ มีอยู่ 3 วิธี คือ (ภักดิ์ ทองส้ม, 2548, หน้า 4-9)
1. คำนวณด้านผลิตภัณฑ์ (output approach)
2. คำนวณด้านรายจ่าย (expenditure approach)
3. คำนวณด้านรายได้ (income approach)
การคำนวณด้านผลิตภัณฑ์ การประมวลผลบัญชีรายได้ประชาชาติรายปีในด้านการผลิตนั้นใช้วิธีการหามูลค่าเพิ่มหรือมูลค่าของสินค้าและบริการขั้นสุดท้าย โดยการหาส่วนต่างของมูลค่าผลผลิตรวม (gross output) กับต้นทุนค่าใช้จ่ายขั้นกลาง (intermediate consumption) ของสถานประกอบการในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เมื่อนำมาคำนวณแล้วจะได้มูลค่าเพิ่ม (value added) และเมื่อนำมูลค่าเพิ่ม (value added) ของทุกสาขา การผลิตมารวมกันก็จะได้ Aggregate Supply หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (gross domestic products) หรือ GDP ของระบบเศรษฐกิจ
การคำนวณด้านรายจ่ายประชาชาติ เป็นการคำนวณยอดรวมของรายจ่ายเพื่อ การอุปโภคบริโภค และการสะสมทุนทั้งในภาครัฐบาลและภาคเอกชน รวมทั้งมูลค่าของสินค้าและบริการที่ส่งไปจำหน่ายต่างประเทศ หักด้วยมูลค่าของสินค้าและบริการนำเข้าจากต่างประเทศ ยอดรวมของรายจ่ายนี้ เมื่อรวมกับค่าความคลาดเคลื่อนทางสถิติแล้ว จะเท่ากับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ
การคำนวณด้านรายได้ประชาชาติ แบบจำลองเศรษฐกิจมหภาคในด้านรายได้ จะแบ่งผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของหน่วยเศรษฐกิจ (the income side of GDP) ออกเป็น 4 ภาคเศรษฐกิจเช่นกัน ได้แก่
Y = C + S + T + R
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศในด้านรายได้ คือ GDP ในส่วนที่เป็นผลตอบแทนของปัจจัยการผลิต ได้แก่ ที่ดิน แรงงาน ทุน และการประกอบการ ผลตอบแทนของปัจจัยการผลิตเหล่านี้ คือ ค่าแรงงาน (wages) ค่าเช่า (rent) ดอกเบี้ย (interest) และกำไร (profit) รายได้ที่ได้มาประชาชนจะจัดสรรออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่
C: Consumption หมายถึง การใช้ไปในการอุปโภคบริโภคของครัวเรือน
S: Saving หมายถึง การออม รวมการออมทั้งในครัวเรือน และการออมในธุรกิจ การออมในธุรกิจ ได้แก่ ค่าเสื่อมราคา (depreciation allowances) และผลกำไรที่เก็บไว้ (retained earnings)
T: Taxes หมายถึง ภาษีอากรสุทธิที่รัฐบาลจัดเก็บ ได้แก่ รายรับ ด้านภาษีอากรทั้งหมด หักด้วยรายการเงินโอน ดอกเบี้ย และเงินช่วยเหลือที่จ่ายจากงบประมาณแผ่นดิน
R: หมายถึง เงินโอนที่ภาคเอกชนจ่ายไปยังต่างประเทศ
แบบจำลองเศรษฐกิจมหภาค สามารถแบ่งผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) โดยจำแนกตามรายจ่ายของหน่วยเศรษฐกิจในตลาดสินค้าและบริการ ออกเป็น 4 ภาค-เศรษฐกิจ ได้แก่ ครัวเรือน (household) หน่วยผลิต (firms) รัฐบาล (government) และกลุ่มผู้ซื้อจากต่างประเทศ (foreign buyers) สามารถอธิบายบทบาทและความสำคัญของแต่ละภาคเศรษฐกิจได้ ดังนี้ (รัตนา สายคณิต, 2552, หน้า 8-11)
รายจ่ายของครัวเรือน (households) ได้แก่ รายจ่ายในการซื้อสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายเพื่ออุปโภคและบริโภคของประชาชน นักสถิติจำแนกรายจ่ายในส่วนนี้ให้อยู่ในประเทศ รายจ่ายในการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล (private consumption expenditures) สินค้าที่จับจ่ายมีทั้งสินค้าไม่คงทน (nondurable goods) เช่น อาหาร เครื่องนุ่งห่ม และสินค้าคงทน (durable goods) เช่น รถยนต์ โทรทัศน์ วิทยุ และบริการต่าง ๆ เป็นต้น
รายจ่ายของหน่วยผลิต (firms) ได้แก่ รายจ่ายในการซื้อสินค้าประเภททุน เช่น เครื่องจักรกล โรงงานผลิตสินค้า เครื่องมือต่าง ๆ เป็นต้น นักสถิติจำแนกรายจ่ายใน ส่วนนี้ให้อยู่ในประเภทการสะสมทุนถาวรเบื้องต้น (gross fixed capital formation) สินค้าประเภททุนรวมไปถึงการซื้อที่อยู่อาศัยใหม่ของผู้บริโภค และส่วนเปลี่ยนแปลงของสินค้าคงเหลือ (change in inventories)
รายจ่ายในการอุปโภคบริโภคของรัฐบาล (government consumption expenditures) คำว่า รัฐบาลในที่นี้ให้รวมหน่วยการบริหารทุกระดับไม่ว่าจะเป็นระดับชาติ ส่วนภูมิภาค หรือท้องถิ่น รายจ่ายในการอุปโภคบริโภคของรัฐบาลไม่ได้รวมรายจ่ายที่เป็นเงินโอน (transfer payments) อาทิ เช่น รายจ่ายเพื่อสวัสดิการสังคมรายจ่ายเพื่อสุขภาพอนามัยของประชาชน หรือดอกเบี้ยเงินกู้ของรัฐบาล เป็นต้น
มูลค่าสินค้าและบริการส่งออกสุทธิ (net export) ได้แก่ สินค้าและบริการส่งออก หักด้วยสินค้าและบริการนำเข้า
การลงทุนในความหมายทางเศรษฐศาสตร์ หมายถึง รายจ่ายสำหรับสินค้าประเภททุนใหม่ (new capital goods) คือ เป็นสินค้าที่ใช้ในการผลิตสินค้าและบริการอื่น ๆ ดังนั้น การซื้อหุ้นหรือพันธบัตร จึงไม่ถือเป็นการลงทุนทางเศรษฐศาสตร์ แต่เป็นการเปลี่ยนกรรมสิทธิ์เท่านั้น และการลงทุนในส่วนที่เป็นแบบจำลองนี้มีความหมายเฉพาะการลงทุนของเอกชน ไม่รวมการลงทุนในส่วนของรัฐบาล สำหรับรายจ่ายของรัฐบาล ได้แก่ การใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายของภาครัฐบาลรายการใหญ่ที่สุด คือ หมวดเงินเดือนข้าราชการ สำหรับเงินโอนของรัฐบาลย่อมไม่นับรวมอยู่ใน GDP ส่วนการส่งออกสุทธิ (net exports) ได้แก่ ผลต่างระหว่างสินค้าและบริการที่ขายให้ต่างประเทศ กับสินค้าและบริการที่ซื้อจากต่างประเทศ (export-import)
การซื้อของผู้บริโภค
-
พฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภค หมายถึง
พฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคขึ้นสุดท้ายที่ซื้อสินค้าและบริการไปเพื่อกินเองใช้เอง
หรือเพื่อกินหรือใช้ภายในครัวเรือน
ผู้บ...
4 ปีที่ผ่านมา
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น