เงินฝืด (deflation) หมายถึงภาวะที่ระดับราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปลดลงเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง ทำให้อำนาจซื้อของเงินเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม สภาวการณ์ดังกล่าวเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ กล่าวคือ แม้ว่าราคาสินค้าจะมีแนวโน้มลดลงก็ตาม แต่จะไม่ส่งผลให้อุปสงค์มวลรวมเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากเงินฝืดเป็นภาวะที่เกิดจากปริมาณเงินที่หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจมีน้อยเกิน ไปเมื่อเทียบกับความต้องการถือเงิน ประชาชนมีเงินไม่พอที่จะใช้ในการจับจ่ายซื้อหาสินค้าและบริการ
ลักษณะของเงินฝืด
ลักษณะของเงินฝืดแบ่งออกเป็นเงินฝืดอย่างอ่อน เงินฝืดปานกลาง และเงินฝืดอย่างรุนแรงทำนองเดียวกันกับเงินเฟ้อดังนี้
เงินฝืดอย่างอ่อน (mild deflation) เป็นภาวะที่ระดับราคาของสินค้าและบริการลดลงไม่เกิน 5% ต่อปี ซึ่งค่อนข้างจะเป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากจะช่วยกระตุ้นให้ประชาชนเพิ่มการใช้จ่ายทำให้อุปสงค์มวลรวมของระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจมีการขยายตัว
เงินฝืดปานกลาง (moderate deflation) เป็นภาวะที่ระดับราคาของสินค้าและบริการลดลงเกิน 5% แต่ไม่เกิน 20% ต่อปี เงินฝืดในระดับนี้ไม่ค่อยจะเป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ กล่าวคือ การที่ราคาลดลงค่อนข้างมาก ผู้ผลิตคาดว่ากำไรหรือผลตอบแทนของกิจการลดลง ทำให้ผู้ผลิตอาจจะลดการผลิตลง เนื่องจากผลิตแล้วขายไม่ได้ เมื่อการผลิตลดจะทำให้ประชาชนมีรายได้น้อยลง ส่งผล ให้กำลังซื้อของประชาชนยิ่งน้อยลง เศรษฐกิจอาจถดถอยจนถึงจุดตกต่ำ
เงินฝืดอย่างรุนแรง (hyper inflation) เป็นภาวะที่ระดับราคาของสินค้าและบริการลดลงเกินกว่า 20% ต่อปี ซึ่งเป็นการลดลงของราคาอย่างมาก ทำให้การผลิตหยุดชะงัก คนว่างงานมาก รายได้ ของประชาชนจะลดลง ก่อให้เกิดผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจอย่างรุนแรง เศรษฐกิจเข้าสู่ระยะเศรษฐกิจตกต่ำ
สาเหตุของเงินฝืด
เงินฝืดเป็นภาวะที่อุปทานมวลรวมของระบบเศรษฐกิจมีมากกว่าอุปสงค์มวลรวม เนื่องจากปริมาณเงินที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจมีไม่เพียงพอกับความต้องการถือเงินหรือความต้องการใช้เงินของประชาชน ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุดังนี้
ธนาคารกลางพิมพ์ธนบัตรออกมาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจน้อยไป ไม่เพียงพอกับความต้องการ
การที่ประเทศมีฐานะดุลการค้า ดุลการชำระเงินขาดดุลอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานทำให้ประเทศต้องสูญเสียเงินตราให้กับต่างประเทศ ส่งผลให้ปริมาณเงินที่หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจมีน้อยลง
รัฐบาลเก็บภาษีในอัตราสูง ทำให้ปริมาณเงินจำนวนหนึ่งถูกดูดออกจากระบบ (ปริมาณ เงินน้อยลง)
สถาบันการเงินชะลอการปล่อยสินเชื่อให้แก่ระบบเศรษฐกิจ ทำให้ปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจมีไม่เพียงพอกับความต้องการ
ธนาคารกลางดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวด เช่น การที่ธนาคารกลางประกาศเพิ่มอัตราเงินสดสำรองที่ธนาคารพาณิชย์จะต้องดำรงตามกฎหมาย หรือการประกาศใช้นโยบายควบคุมการปล่อยสินเชื่อ ฯลฯ ซึ่งนโยบายดังกล่าวจะส่งผลให้ปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจน้อยลง
รัฐบาลใช้นโยบายงบประมาณแบบเกินดุล กล่าวคือ รัฐบาลมีรายได้มากกว่ารายจ่ายทำให้มีปริมาณเงินจำนวนหนึ่งถูกดูดออกจากระบบเศรษฐกิจ (ปริมาณเงินลดลง)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น