Custom Search
วันพุธที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2554

แรงงาน

แรงงานเป็นปัจจัยการผลิต และเป็นทุนมนุษย์ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับส่วนย่อย (Micro) ของระบบเศรษฐกิจ อันได้แก่ แรงงานในภาคการผลิตต่างๆ เช่น แรงงานในภาคการเกษตรกรรม แรงงานในสถานประกอบการภาคอุตสาหกรรม และแรงงานในภาคบริการ นอกจากนี้แรงงานยังมีความสำคัญในระดับภาพรวม (Macro) ของประเทศ เพราะหากว่าแรงงานในภาคการผลิตต่างๆมีความรู้ความสามารถ มีศักยภาพที่ดี ย่อมส่งผลต่อประสิทธิภาพในการผลิต และเกิดประสิทธิผลต่อการพัฒนาภาคการผลิตนั้นๆ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการพัฒนาในภาพรวมของประเทศ ดังนั้น แรงงานจึงมีคุณค่าต่อการพัฒนาประเทศอย่างยิ่ง และแรงงานมีความจำเป็นต้องได้รับการเอาใจใส่ให้การดูแลอย่างพอเหมาะพอควร มีศักดิ์ศรี สามารถดำรงตนอยู่อย่างเท่าเทียมกันกับทุกกลุ่มชนต่าง ๆ ในสังคมได้ แต่อย่างไรก็ตาม การที่แรงงานมีความหลากหลายแยกไปตามภาคการผลิตสาขาต่างๆ นั้น ทำให้การจัดการดูแลและการดำรงอยู่ของแรงงานมีความแตกต่างกันไปด้วย

โดยเฉพาะในประเทศไทยที่มีแรงงานกระจายไปตามสาขาการผลิตทั้งในภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม ภาคพาณิชยกรรม และภาคบริการ จึงทำให้การบริหารทางด้านแรงงานมีความซับซ้อนตามไปด้วย ทั้งนี้ เนื่องจากในแต่ละภาคการผลิตจะมีบริบทที่แตกต่างกัน ดังนั้น ผู้ศึกษาจึงต้องให้ความสำคัญกับการศึกษารายละเอียดของแรงงานเป็นอย่างดีทั้งในเชิงกว้าง และเชิงลึก โดยที่แรงงานในแต่ละภาคการผลิตยังแยกออกเป็นหลายระดับ เช่น แรงงานมีฝีมือ แรงงานกึ่งฝีมือ และแรงงานไร้ฝีมือ นอกจากนี้แรงงานยังมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันในหลากหลายมิติ ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม การเมือง รวมถึงมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับกลุ่ม สถาบันทางสังคมอีกมากมาย โดยเฉพาะแรงงานในภาคอุตสาหกรรมจะมีความสัมพันธ์ทั้งในระดับทวิภาคี ระหว่างแรงงานกับผู้ประกอบการที่เป็นนายจ้าง และในระดับไตรภาคี ระหว่างแรงงาน ผู้ประกอบการ และรัฐ ดังนั้น ในการศึกษารายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับแรงงานจึงต้องทราบความหมายของแรงงานในหลายระดับนั้นว่ามีองค์ประกอบอย่างไร และมีความหมายครอบคลุมแค่ไหน จึงจะทำให้ผู้ศึกษาเข้าใจถึงสภาพความเป็นไปของแรงงาน เพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการแรงงานสัมพันธ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น