การให้นิยามความหมายของแรงงานมีคำที่เกี่ยวข้อง และมีความหมายใกล้เคียงกันหลายคำ เช่น กำลังคน กำลังแรงงาน ผู้มีงานทำ และประชากรวัยทำงาน เป็นต้น ดังนั้น การให้ความหมายของแรงงานจึงต้องทราบความหมายของคำที่เกี่ยวข้องเหล่านั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการศึกษาต่อไป
“แรงงาน” มีนักวิชาการหลายท่านได้ให้ความหมายไว้ดังต่อไปนี้
กวี วงศ์พุฒ (2538, น. 1) ให้ความหมายของแรงงานโดยแยกเป็นความหมายกว้าง ความหมายแคบ และความหมายแคบที่สุด ดังนี้
1. การให้ความหมายของแรงงานในความหมายกว้าง หมายถึง ประชากรทุกคนที่สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติได้
2. การให้ความหมายของแรงงานในความหมายแคบ หมายถึง กำลังคน (Manpower) หรือประชากรทุกคนที่อยู่ในวัยทำงาน
3. การให้ความหมายของแรงงานในความหมายแคบที่สุด หมายถึง กรรมกร (Labor)
ณรงค์ศักดิ์ ธนวิบูลย์ชัย (2538, น.7) ให้ความหมายของแรงงาน หมายถึง ผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงานทั้งหมด แต่บางกรณีอาจหมายถึงเฉพาะผู้ทำงานด้วยกำลังกายเท่านั้น โดยได้แบ่งประเภทของแรงงานออกเป็น 3 ประเภท คือ
3.1 แรงงานฝีมือ (Skilled Labor) หมายถึง ผู้ที่มีความรู้ทางทฤษฎีและปฏิบัติ ทั้งนี้ ความชำนาญในงานอาชีพสามารถตัดสินใจและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในการทำงานด้วยตนเองได้
3.2 แรงงานกึ่งฝีมือ (Semi-skilled Labor) หมายถึง ผู้ที่มีความรู้ทางทฤษฎีและปฏิบัติที่มีความชำนาญเพียงบางส่วนของงานอาชีพ
3.3 แรงงานไร้ฝีมือ (Unskilled Labor) หมายถึง ผู้ที่ทำงานโดยใช้กำลังกาย ไม่จำเป็นต้องใช้ความรู้ความชำนาญ เพียงได้รับคำแนะนำบ้างเล็กน้อยก็สามารถทำงานได้
สุมาลี ปิตยานนท์ (2539, น.1) ได้ให้ความหมายของแรงงาน หมายถึง กำลังกายและกำลังความคิดของมนุษย์ ซึ่งถือเป็นปัจจัยในการผลิตชนิดหนึ่ง รวมทั้งเป็นทรัพยากรที่สำคัญของประเทศ
ความหมายของแรงงานจากการสืบค้นข้อมูลทางอิเลคทรอนิกส์จากระบบอินเทอร์เน็ต ได้ให้ความหมายไว้หลากหลาย แต่โดยสรุปแล้ว แรงงานหมายถึง บุคคลที่ทำงานจากการใช้กำลังแรงกายที่ไม่ต้องใช้ความชำนาญในการทำงาน โดยได้รับค่าจ้างเป็นการตอบแทน
จากการที่มีผู้ให้ความหมายของแรงงาน สามารถกล่าวโดยสรุปได้ว่า แรงงาน หมายถึง ประชากรที่อยู่ในวัยทำงานที่สามารถทำงานได้โดยใช้กำลังกายและกำลังความคิดที่มีหลายระดับความรู้ความสามารถอันเป็นประโยชน์ในทางเศรษฐกิจต่อประเทศชาติ
สำหรับคำที่มีความเกี่ยวข้องกับแรงงาน เช่น กำลังคน กำลังแรงงาน ผู้มีงานทำ และประชากรวัยทำงาน มีการให้ความหมายดังต่อไปนี้
“กำลังคน” (Manpower) หมายถึง ประชากรที่อยู่ในกำลังแรงงาน และไม่อยู่ในกำลังแรงงาน โดยที่ประชากรที่อยู่ในกำลังแรงงาน ประกอบด้วย ประชากรที่มีงานทำ และว่างงาน สำหรับประชากรที่ไม่อยู่ในกำลังแรงงาน ประกอบด้วย ประชากรผู้ที่ไม่มีงานทำซึ่งไม่ประสงค์จะทำงาน ผู้ทำงานในกิจการกุศลที่ไม่ได้รับค่าจ้าง ผู้รอฤดูการเกษตรที่ปกติทำงานโดยไม่ได้รับค่าจ้างจากการเกษตร แม่บ้านหรือผู้ทำงานบ้าน นักเรียน นิสิต นักศึกษา นักบวช นักโทษ เด็ก คนชรา และคนพิการที่ไม่สามารถทำงานได้
“กำลังแรงงาน” (Labor Force) หมายถึง ประชาชนที่อยู่ในวัยทำงานมีอายุอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถทำงานได้ ซึ่งโดยทั่วไปการกำหนดวัยทำงานจะคำนึงถึงอายุที่
พ้นวัยของการศึกษาภาคบังคับแล้ว สำหรับประเทศไทยได้กำหนดวัยทำงานมีอายุ 15 ปีขึ้นไปตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
นอกจากนี้ การให้ความหมายของแรงงานยังมีรายละเอียดที่ชัดเจนแบ่งย่อยลงไปอีกหลายคำ ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน และสามารถอ้างอิงเป็นฐานข้อมูลจากแหล่งเดียวกัน ดังปรากฏในคำนิยามศัพท์ตามรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี(2544) ดังนี้
“ผู้มีงานทำ” (Employed persons) ตามมาตรฐานการจัดประเภทสาขาสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติได้ให้ความหมายของ ผู้มีงานทำ หมายถึง บุคคลที่ทำงานในสถานที่ทำงานหรือช่วยธุรกิจในครัวเรือน ถึงแม้ว่าบุคคลดังกล่าวจะไม่มาทำงานในคาบเวลา โดยแยกเป็น
1. ผู้มีงานทำโดยได้รับค่าจ้าง (Paid-employed persons) คือ บุคคลที่ทำงานในคาบเวลาอ้างอิงของการเก็บข้อมูล หรือผู้ที่ไม่ทำงานในคาบเวลาดังกล่าวเนื่องจากสาเหตุต่างๆ เช่น การลาป่วย ลาพักผ่อน ลาศึกษาต่อ แต่ยังได้รับค่าจ้างเงินเดือน รวมถึงนักศึกษาฝึกงานที่ได้รับค่าจ้างในการทำงาน
2. ผู้มีงานทำที่ทำงานของตนเอง (Self-employed persons) คือ บุคคลที่ทำงานในคาบเวลาอ้างอิงของการเก็บข้อมูลเพื่อผลกำไรของตนเองหรือครอบครัวในรูปของเงินสดหรือรูปแบบอื่นๆ รวมถึงบุคคลในครัวเรือนที่ไม่ได้รับค่าจ้าง บุคคลที่ทำการผลิตสินค้า และบริการทางเศรษฐกิจเพื่อบริโภคภายในครัวเรือน
สำหรับการสำรวจข้อมูลทางด้านแรงงานของประเทศไทย สำนักงานสถิติแห่งชาติได้ดำเนินการจัดเก็บ โดยมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระเบียบวิธีการสำรวจมาโดยลำดับ ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2514 เป็นต้นมา ดังต่อไปนี้
ปีพ.ศ.2514 - 2526 ทำการสำรวจปีละ 2 ครั้ง ในเดือนมกราคม – มีนาคม และกรกฎาคม- กันยายน
ปีพ.ศ.2527 - 2540 ทำการสำรวจปีละ 3 รอบ ในเดือน กุมภาพันธ์ พฤษภาคม และสิงหาคม
ปีพ.ศ. 2541 – 2543 ทำการสำรวจปีละ 4 รอบ
รอบที่ 1 เดือนกุมภาพันธ์ ช่วงหน้าแล้ง นอกฤดูการเกษตร
รอบที่ 2 เดือนพฤษภาคม ช่วงกำลังแรงงานใหม่ที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาเริ่มเข้าสู่ตลาดแรงงาน
รอบที่ 3 เดือนสิงหาคม ช่วงฤดูการเกษตร
รอบที่ 4 เดือนพฤศจิกายน ช่วงฤดูการเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตร
นับตั้งแต่ปีพ.ศ.2544 เป็นต้นมา สำนักงานสถิติแห่งชาติได้ดำเนินการสำรวจเป็นรายเดือน จากนั้นจึงนำข้อมูล 3 เดือนมารวมกันเพื่อเสนอข้อมูลเป็นรายไตรมาส ซึ่งในแต่ละไตรมาสประกอบด้วย
ไตรมาสที่ 1 สำรวจในเดือน มกราคม - มีนาคม
ไตรมาสที่ 2 สำรวจในเดือน เมษายน – มิถุนายน
ไตรมาสที่ 3 สำรวจในเดือน กรกฎาคม – กันยายน
ไตรมาสที่ 4 สำรวจในเดือน ตุลาคม – ธันวาคม
โดยที่สำนักงานสถิติแห่งชาติได้กำหนดรายละเอียดของ “ผู้มีงานทำ” ตามคำนิยามที่ใช้ในการสำรวจไว้ให้สอดคล้องกับกฎหมายการใช้แรงงานเด็ก คือ บุคคลที่มีอายุ 15 ขึ้นไป ซึ่งในสัปดาห์แห่งการสำรวจมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
1. ได้ทำงานอย่างน้อย 1 ชั่วโมง โดยได้รับค่าจ้าง เงินเดือน ผลกำไร เงินปันผลหรือค่าตอบแทนที่มีลักษณะอย่างอื่น สำหรับผลงานที่ทำเป็นเงินสด หรือสิ่งของ หรือ
2. ไม่ได้ทำงานหรือทำงานน้อยกว่า 1 ชั่วโมง แต่เป็นบุคคลที่มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ (ซึ่งจะถือว่าเป็น ผู้ที่ปกติมีงานประจำ)
2.1 ยังได้รับค่าตอบแทน ค่าจ้าง หรือผลประโยชน์อื่นๆ หรือผลกำไรจากงาน หรือธุรกิจในระหว่างที่ไม่ได้ทำงาน
2.2 ไม่ได้รับค่าตอบแทน ค่าจ้าง หรือประโยชน์อื่นๆ หรือผลกำไรจากงาน หรือธุรกิจในระหว่างที่ไม่ได้ทำงาน แต่ยังมีงานหรือธุรกิจที่จะกลับไปทำ
3. ทำงานอย่างน้อย 1 ชั่วโมง โดยไม่ได้รับค่าจ้างในธุรกิจหรือไร่นาเกษตรของหัวหน้าครัวเรือนหรือของสมาชิกในครัวเรือน
“ผู้ว่างงาน” (Unemployed persons) หมายถึง บุคคลที่นอกเหนือจากผู้ที่มีงานทำ ซึ่งมีความพร้อมสำหรับการทำงาน โดยเป็นบุคคลที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป และในสัปดาห์แห่งการสำรวจมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดต่อไปนี้
1. ไม่ได้ทำงานและไม่มีงานประจำ แต่ได้หางาน สมัครงานหรือรอการบรรจุ ในระหว่าง 30 วันก่อนวันสัมภาษณ์
2. ไม่ได้ทำงานและไม่มีงานประจำ และไม่ได้หางานทำในระหว่าง 30 วันก่อนวันสัมภาษณ์ แต่พร้อมที่จะทำงานในสัปดาห์แห่งการสำรวจ
“กำลังแรงงานปัจจุบัน” (Current labor force) หมายถึงบุคคลที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ในสัปดาห์แห่งการสำรวจมีงานทำหรือว่างงาน ตามคำนิยามที่ได้ระบุข้างต้น
“กำลังแรงงานที่รอฤดูกาล” (Seasonally inactive labor force) หมายถึง ผู้มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ในสัปดาห์แห่งการสำรวจมีงานทำหรือว่างงาน แต่เป็นผู้รอฤดูกาลที่
เหมาะสมเพื่อที่จะทำงาน และเป็นบุคคลที่ตามปกติจะทำงานโดยไม่ได้รับสิ่งตอบแทนในไร่นาเกษตร หรือธุรกิจซึ่งทำกิจกรรมตามฤดูกาล โดยมีหัวหน้าครัวเรือนหรือสมาชิกคนอื่น ๆ ในครัวเรือนเป็นเจ้าของหรือผู้ดำเนินการ
“กำลังแรงงานรวม” (Total labor force) หมายถึง บุคคลทุกคนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ในสัปดาห์แห่งการสำรวจเป็นผู้อยู่ในกำลังแรงงานปัจจุบัน หรือเป็นผู้ถูกจัดจำแนกอยู่ในประเทศไทยกำลังแรงงานที่รอฤดูกาลตามนิยามที่ระบุข้างต้น
“ผู้ไม่อยู่ในกำลังแรงงาน” (Persons not in labor force) หมายถึง บุคคลผู้ไม่เข้าข่าย คำนิยามของผู้มีงานทำ หรือผู้ว่างงานในสัปดาห์แห่งการสำรวจ หรือไม่เข้ากำลังแรงงานที่รอฤดูกาล ได้แก่
1. บุคลากรซึ่งในระหว่างสัปดาห์แห่งการสำรวจมีอายุต่ำกว่า 15 ปี
2. บุคลากรในระหว่างสัปดาห์แห่งการสำรวจมีอายุ 15 ปีขึ้นไป แต่ไม่ได้ทำงานและไม่ พร้อมที่จะทำงาน เนื่องจากเป็นผู้ที่มีลักษณะดังต่อไปนี้
2.1 ทำงานบ้าน
2.2 เรียนหนังสือ
2.3 ยังเด็กเกินไป (มีอายุน้อยกว่า 18 ปี) หรือชรามาก (มีอายุไม่เกิน 60 ปี)
2.4 ไม่สามารถทำงานได้ เนื่องจากพิการทางร่างกายหรือจิตใจ หรือเจ็บป่วยเรื้อรัง
2.5 ไม่สมัครใจทำงาน
2.6 ทำงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง ผลกำไร ส่วนแบ่ง หรือสิ่งตอบแทนอื่น ๆ ให้แก่บุคคลซึ่งมิได้เป็นสมาชิกในครัวเรือนเดียวกัน
2.7 ทำงานให้แก่องค์การหรือสถาบันการกุศลต่างๆ โดยไม่ได้รับค่าจ้าง ผลกำไร ส่วนแบ่ง หรือสิ่งตอบแทนใด ๆ
2.8 ไม่พร้อมที่จะทำงาน เนื่องจากเหตุผลอื่น
การซื้อของผู้บริโภค
-
พฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภค หมายถึง
พฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคขึ้นสุดท้ายที่ซื้อสินค้าและบริการไปเพื่อกินเองใช้เอง
หรือเพื่อกินหรือใช้ภายในครัวเรือน
ผู้บ...
4 ปีที่ผ่านมา
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น