Custom Search
วันอังคารที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2555

การซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า หรือ การทำ Forward

การซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า หรือ การทำ Forward คือ เครื่องมือสำคัญที่สามารถป้องกันความเสี่ยง ให้กับผู้ที่ต้องเกี่ยวข้องกับเงินตราต่างประเทศได้ เป็นการทำสัญญาตกลงที่จะซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศสกุลหนึ่งๆ โดยกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนที่จะซื้อขายกันในอนาคตไว้ ณ ระดับที่ตกลงกันในวันนี้ เพื่อทำการส่งมอบเงินสกุลนั้นๆ ในอนาคตตามกำหนดที่ระบุไว้ในสัญญา



อัตราแลกเปลี่ยนที่กำหนดไว้ ณ วันที่ตกลงทำสัญญาเรียกว่าอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า หรือ Forward Exchange Rate การชำระเงินและส่งมอบจะกระทำในวันครบกำหนดสัญญา โดยปกติระยะเวลาการซื้อขายอาจเป็น 1 เดือน 2 เดือน 3 เดือน 6 เดือน หรือ 12 เดือน



การทำ Forward คำนวณจากอัตราซื้อขายทันที หรือ Spot Rate ในปัจจุบัน และปรับด้วยค่าที่เทียบเท่ากับผลต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยของเงินสองสกุลที่เกี่ยวข้องในการซื้อขาย ถ้าผลต่างดังกล่าวเป็นค่าบวก เรียกว่า Premium ถ้าผลต่างมีค่าเป็นลบเรียกว่า Discount ในกรณีที่บวกด้วย Premium อัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้าจะมีค่าสูงกว่าอัตราในปัจจุบัน แต่ถ้าหักด้วยค่า Discount อัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้าจะมีค่าต่ำกว่าอัตราในปัจจุบัน



การทำ Forward ช่วยขจัดความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นกับอัตราแลกเปลี่ยนได้ในระดับหนึ่ง เนื่องจากนักธุรกิจสามารถกำหนดอัตราที่จะซื้อขายเงินในอนาคตไว้ในระดับที่ตกลงกันไว้ ช่วยให้ผู้นำเข้าสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายในการนำเข้าและต้นทุนในการดำเนินธุรกิจได้ระดับหนึ่ง เช่น

บริษัทผู้นำเข้าของไทยเปิด L/C สั่งซื้อสินค้าโดยชำระเงินเป็นเงินเยน จำนวน 1 ล้านเยน กำหนดชำระเงินภายใน 3 เดือน เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน บริษัทดังกล่าวจึงทำสัญญาซื้อเงินเยนล่วงหน้า 3 เดือน จำนวน 1 ล้านเยน ณ อัตราแลกเปลี่ยน 40 บาท/100 เยน ดังนั้น ในอนาคตถึงแม้เงินเยนจะมีค่าสูงขึ้น ต้นทุนการนำเข้าของบริษัทในรูปเงินบาท ก็ยังคงเป็น 400,000 บาท แต่ถ้าหากไม่มีการซื้อเงินล่วงหน้า เมื่อค่าเงินเยนสูงขึ้น บริษัทต้องแบกรับภาระค่าสินค้าในรูปเงินบาทเป็นจำนวนมากขึ้น ตามค่าเงินเยนที่สูงขึ้นด้วย

ด้านส่งออกก็เช่นเดียวกัน การขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าจากรายได้การส่งออกที่คาดว่าจะได้รับในอนาคต ช่วยให้ผู้ส่งออกได้รับรายได้เป็นจำนวนที่แน่นอน ถึงแม้ว่าอัตราแลกเปลี่ยนในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงไป เช่น

ผู้ส่งออกไทยทำการขายสินค้าโดยได้รับการชำระเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จำนวน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ผู้ส่งออกจึงทำสัญญาขายเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ล่วงหน้า 3 เดือน ณ อัตราแลกเปลี่ยน 55 บาท/1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในอนาคตแม้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ จะมีค่าลดลง ผู้ส่งออกไทยก็ยังคงได้รับเงินบาทในจำนวน 55 ล้านบาท ซึ่งคำนวณตามอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้าที่ได้ตกลงกันไว้ เพื่อช่วยให้ผู้ส่งออกได้รับรายได้เป็นเงินบาทในจำนวนที่แน่นอน

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น