Custom Search
วันอังคารที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2555

ตราสารหนี้

ตราสารหนี้ภาครัฐ

1. พันธบัตรรัฐบาล
พันธบัตรรัฐบาลเป็นตราสารหนี้ระยะกลางถึงระยะยาวที่ออกโดยกระทรวงการคลัง มีทั้งหมดสามประเภท ได้แก่ พันธบัตรเพื่อการลงทุน พันธบัตรเพื่อการกู้ยืม และพันธบัตรออมทรัพย์ ตั้งแต่ปี 2534 เป็นต้นมาไม่มีการออกพันธบัตรเพื่อการลงทุนอีก พันธบัตรในตลาดส่วนใหญ่จะเป็นพันธบัตรเพื่อการกู้ยืม ซึ่งออกมาเพื่อแก้ไขภาวะขาดดุลงบประมาณการเงิน ส่วนพันธบัตรออมทรัพย์นั้นเพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกในการออมทรัพย์เพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่ง


2. พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ (SOE)
พันธบัตรรัฐวิสาหกิจเป็นตราสารหนี้ระยะกลางถึงระยะยาวที่ออกโดยรัฐวิสาหกิจ ส่วนใหญ่จะได้รับการค้ำประกันโดยกระทรวงการคลัง

ผลตอบแทนของพันธบัตรจะขึ้นอยู่กับอัตราดอกเบี้ยของตลาดเงินในขณะนั้น ระดับความเสี่ยง และระยะเวลาครบกำหนดไถ่ถอน โดยปกติ พันธบัตรที่มีอายุคงเหลือยาวจะให้ผลตอบแทนสูงกว่าพันธบัตรรุ่นที่มีอายุคงเหลือสั้น และพันธบัตรรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังไม่ค้ำประกันจะมีผลตอบแทนสูงกว่าพันธบัตรที่กระทรวงการคลังค้ำประกันและพันธบัตรรัฐบาล
ตราสารหนี้ภาคเอกชน
การออกหุ้นกู้ค่อนข้างจะเป็นที่นิยมกันมาก และมักจะขายหมดภายในเวลาไม่กี่วัน


เนื่องจากผู้ที่กู้เงินผ่านตลาดซื้อขายตราสารหนี้ คือบริษัท มิใช่ธนาคาร ดังนั้น ความมั่นคงของเงินกู้จำนวนนั้นจึงขึ้นอยู่กับความมั่งคงของบริษัท โดยไม่มีการประกันทั้งจากธนาคารและรัฐบาล ดังนั้น นักลงทุนจะพบว่าหุ้นกู้มีข้อได้เปรียบพันธบัตรรัฐบาลตรงที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่า เนื่องจากมีความเสี่ยงมากกว่า

การลงทุนขั้นต่ำสุดในหุ้นกู้สำหรับนักลงทุนที่เป็นบุคคล ขึ้นอยู่กับว่าเป็นการเสนอขายแก่ประชาชน (Public Offering - P/O) หรือเป็นการเสนอขายแก่บุคคลในวงจำกัด (Private Placement - P/P) หุ้นกู้ที่เสนอขายแก่ประชาชน ท่านสามารถซื้อได้ตั้งแต่หนึ่งหน่วยขึ้นไป (โดยราคาที่ตราต่อหน่วยอาจเป็น 1,000 บาท 10,000 บาท หรือขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของผู้ออกหุ้นกู้) ส่วนการเสนอขายแก่บุคคลในวงจำกัด ต้องซื้อขั้นต่ำ 10 ล้านบาท หรือ 10,000 หน่วย บริษัทต่าง ๆ เริ่มออกตราสารหนี้ในปี 2535 หลังจากมีการตราพระราชบัญญัติคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขให้การออกหุ้นกู้ทำได้ง่ายขึ้น



ประเภทของตราสารหนี้ที่ออกจำหน่าย
เงื่อนไขในการออกหุ้นกู้มีหลายลักษณะ เช่น แบบดอกเบี้ยคงที่ (Straight Fixed) แบบอัตราลอยตัว (FRN) แบบทยอยคืนเงินต้น (Amortizing) และแบบแปลงสภาพได้ (Convertible) สำหรับการเสนอขายในตลาดนั้น ผู้ออกสามารถทำได้ด้วยการเสนอขายให้แก่ประชาชนทั่วไปหรือเสนอขายแก่บุคคลในวงจำกัด โดยผู้ออกตราสารหนี้จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของ กลต. และต้องได้รับการอนุมัติจาก กลต. ก่อนทำการเสนอขาย ส่วนการออกจำหน่ายโดยเสนอขายแบบเฉพาะเจาะจงนั้นจะทำได้โดยตรง โดยสามารถขายให้กับนักลงทุนได้ไม่เกิน 35 คน หรือเสนอขายให้กับผู้ลงทุนที่เป็นสถาบันตามที่ กลต. กำหนดไว้ 17 ประเภท คลิกที่นี่เพื่อดูรายละเอียด

การเสนอขายหุ้นกู้นั้นต้องมีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ซึ่งหมายถึงความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ออก ยกเว้นกรณีการออกหุ้นกู้ในจำนวนไม่เกิน 100 ล้านบาท หรือการออกตราสารหนี้ที่จำกัดนักลงทุนจำนวนไม่เกิน 10 คน ไม่จำเป็นต้องมีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น