Custom Search
วันพุธที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2554

“แรงงาน” มีนักวิชาการหลายท่านได้ให้ความหมายไว้

การให้นิยามความหมายของแรงงานมีคำที่เกี่ยวข้อง และมีความหมายใกล้เคียงกันหลายคำ เช่น กำลังคน กำลังแรงงาน ผู้มีงานทำ และประชากรวัยทำงาน เป็นต้น ดังนั้น การให้ความหมายของแรงงานจึงต้องทราบความหมายของคำที่เกี่ยวข้องเหล่านั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการศึกษาต่อไป

“แรงงาน” มีนักวิชาการหลายท่านได้ให้ความหมายไว้ดังต่อไปนี้

กวี วงศ์พุฒ (2538, น. 1) ให้ความหมายของแรงงานโดยแยกเป็นความหมายกว้าง ความหมายแคบ และความหมายแคบที่สุด ดังนี้

1. การให้ความหมายของแรงงานในความหมายกว้าง หมายถึง ประชากรทุกคนที่สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติได้
2. การให้ความหมายของแรงงานในความหมายแคบ หมายถึง กำลังคน (Manpower) หรือประชากรทุกคนที่อยู่ในวัยทำงาน
3. การให้ความหมายของแรงงานในความหมายแคบที่สุด หมายถึง กรรมกร (Labor)

ณรงค์ศักดิ์ ธนวิบูลย์ชัย (2538, น.7) ให้ความหมายของแรงงาน หมายถึง ผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงานทั้งหมด แต่บางกรณีอาจหมายถึงเฉพาะผู้ทำงานด้วยกำลังกายเท่านั้น โดยได้แบ่งประเภทของแรงงานออกเป็น 3 ประเภท คือ

3.1 แรงงานฝีมือ (Skilled Labor) หมายถึง ผู้ที่มีความรู้ทางทฤษฎีและปฏิบัติ ทั้งนี้ ความชำนาญในงานอาชีพสามารถตัดสินใจและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในการทำงานด้วยตนเองได้
3.2 แรงงานกึ่งฝีมือ (Semi-skilled Labor) หมายถึง ผู้ที่มีความรู้ทางทฤษฎีและปฏิบัติที่มีความชำนาญเพียงบางส่วนของงานอาชีพ
3.3 แรงงานไร้ฝีมือ (Unskilled Labor) หมายถึง ผู้ที่ทำงานโดยใช้กำลังกาย ไม่จำเป็นต้องใช้ความรู้ความชำนาญ เพียงได้รับคำแนะนำบ้างเล็กน้อยก็สามารถทำงานได้

สุมาลี ปิตยานนท์ (2539, น.1) ได้ให้ความหมายของแรงงาน หมายถึง กำลังกายและกำลังความคิดของมนุษย์ ซึ่งถือเป็นปัจจัยในการผลิตชนิดหนึ่ง รวมทั้งเป็นทรัพยากรที่สำคัญของประเทศ

ความหมายของแรงงานจากการสืบค้นข้อมูลทางอิเลคทรอนิกส์จากระบบอินเทอร์เน็ต ได้ให้ความหมายไว้หลากหลาย แต่โดยสรุปแล้ว แรงงานหมายถึง บุคคลที่ทำงานจากการใช้กำลังแรงกายที่ไม่ต้องใช้ความชำนาญในการทำงาน โดยได้รับค่าจ้างเป็นการตอบแทน

จากการที่มีผู้ให้ความหมายของแรงงาน สามารถกล่าวโดยสรุปได้ว่า แรงงาน หมายถึง ประชากรที่อยู่ในวัยทำงานที่สามารถทำงานได้โดยใช้กำลังกายและกำลังความคิดที่มีหลายระดับความรู้ความสามารถอันเป็นประโยชน์ในทางเศรษฐกิจต่อประเทศชาติ

สำหรับคำที่มีความเกี่ยวข้องกับแรงงาน เช่น กำลังคน กำลังแรงงาน ผู้มีงานทำ และประชากรวัยทำงาน มีการให้ความหมายดังต่อไปนี้

“กำลังคน” (Manpower) หมายถึง ประชากรที่อยู่ในกำลังแรงงาน และไม่อยู่ในกำลังแรงงาน โดยที่ประชากรที่อยู่ในกำลังแรงงาน ประกอบด้วย ประชากรที่มีงานทำ และว่างงาน สำหรับประชากรที่ไม่อยู่ในกำลังแรงงาน ประกอบด้วย ประชากรผู้ที่ไม่มีงานทำซึ่งไม่ประสงค์จะทำงาน ผู้ทำงานในกิจการกุศลที่ไม่ได้รับค่าจ้าง ผู้รอฤดูการเกษตรที่ปกติทำงานโดยไม่ได้รับค่าจ้างจากการเกษตร แม่บ้านหรือผู้ทำงานบ้าน นักเรียน นิสิต นักศึกษา นักบวช นักโทษ เด็ก คนชรา และคนพิการที่ไม่สามารถทำงานได้

“กำลังแรงงาน” (Labor Force) หมายถึง ประชาชนที่อยู่ในวัยทำงานมีอายุอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถทำงานได้ ซึ่งโดยทั่วไปการกำหนดวัยทำงานจะคำนึงถึงอายุที่
พ้นวัยของการศึกษาภาคบังคับแล้ว สำหรับประเทศไทยได้กำหนดวัยทำงานมีอายุ 15 ปีขึ้นไปตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน

นอกจากนี้ การให้ความหมายของแรงงานยังมีรายละเอียดที่ชัดเจนแบ่งย่อยลงไปอีกหลายคำ ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน และสามารถอ้างอิงเป็นฐานข้อมูลจากแหล่งเดียวกัน ดังปรากฏในคำนิยามศัพท์ตามรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี(2544) ดังนี้

“ผู้มีงานทำ” (Employed persons) ตามมาตรฐานการจัดประเภทสาขาสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติได้ให้ความหมายของ ผู้มีงานทำ หมายถึง บุคคลที่ทำงานในสถานที่ทำงานหรือช่วยธุรกิจในครัวเรือน ถึงแม้ว่าบุคคลดังกล่าวจะไม่มาทำงานในคาบเวลา โดยแยกเป็น

1. ผู้มีงานทำโดยได้รับค่าจ้าง (Paid-employed persons) คือ บุคคลที่ทำงานในคาบเวลาอ้างอิงของการเก็บข้อมูล หรือผู้ที่ไม่ทำงานในคาบเวลาดังกล่าวเนื่องจากสาเหตุต่างๆ เช่น การลาป่วย ลาพักผ่อน ลาศึกษาต่อ แต่ยังได้รับค่าจ้างเงินเดือน รวมถึงนักศึกษาฝึกงานที่ได้รับค่าจ้างในการทำงาน
2. ผู้มีงานทำที่ทำงานของตนเอง (Self-employed persons) คือ บุคคลที่ทำงานในคาบเวลาอ้างอิงของการเก็บข้อมูลเพื่อผลกำไรของตนเองหรือครอบครัวในรูปของเงินสดหรือรูปแบบอื่นๆ รวมถึงบุคคลในครัวเรือนที่ไม่ได้รับค่าจ้าง บุคคลที่ทำการผลิตสินค้า และบริการทางเศรษฐกิจเพื่อบริโภคภายในครัวเรือน

สำหรับการสำรวจข้อมูลทางด้านแรงงานของประเทศไทย สำนักงานสถิติแห่งชาติได้ดำเนินการจัดเก็บ โดยมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระเบียบวิธีการสำรวจมาโดยลำดับ ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2514 เป็นต้นมา ดังต่อไปนี้

ปีพ.ศ.2514 - 2526 ทำการสำรวจปีละ 2 ครั้ง ในเดือนมกราคม – มีนาคม และกรกฎาคม- กันยายน
ปีพ.ศ.2527 - 2540 ทำการสำรวจปีละ 3 รอบ ในเดือน กุมภาพันธ์ พฤษภาคม และสิงหาคม
ปีพ.ศ. 2541 – 2543 ทำการสำรวจปีละ 4 รอบ
รอบที่ 1 เดือนกุมภาพันธ์ ช่วงหน้าแล้ง นอกฤดูการเกษตร
รอบที่ 2 เดือนพฤษภาคม ช่วงกำลังแรงงานใหม่ที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาเริ่มเข้าสู่ตลาดแรงงาน
รอบที่ 3 เดือนสิงหาคม ช่วงฤดูการเกษตร
รอบที่ 4 เดือนพฤศจิกายน ช่วงฤดูการเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตร

นับตั้งแต่ปีพ.ศ.2544 เป็นต้นมา สำนักงานสถิติแห่งชาติได้ดำเนินการสำรวจเป็นรายเดือน จากนั้นจึงนำข้อมูล 3 เดือนมารวมกันเพื่อเสนอข้อมูลเป็นรายไตรมาส ซึ่งในแต่ละไตรมาสประกอบด้วย

ไตรมาสที่ 1 สำรวจในเดือน มกราคม - มีนาคม
ไตรมาสที่ 2 สำรวจในเดือน เมษายน – มิถุนายน
ไตรมาสที่ 3 สำรวจในเดือน กรกฎาคม – กันยายน
ไตรมาสที่ 4 สำรวจในเดือน ตุลาคม – ธันวาคม

โดยที่สำนักงานสถิติแห่งชาติได้กำหนดรายละเอียดของ “ผู้มีงานทำ” ตามคำนิยามที่ใช้ในการสำรวจไว้ให้สอดคล้องกับกฎหมายการใช้แรงงานเด็ก คือ บุคคลที่มีอายุ 15 ขึ้นไป ซึ่งในสัปดาห์แห่งการสำรวจมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้

1. ได้ทำงานอย่างน้อย 1 ชั่วโมง โดยได้รับค่าจ้าง เงินเดือน ผลกำไร เงินปันผลหรือค่าตอบแทนที่มีลักษณะอย่างอื่น สำหรับผลงานที่ทำเป็นเงินสด หรือสิ่งของ หรือ
2. ไม่ได้ทำงานหรือทำงานน้อยกว่า 1 ชั่วโมง แต่เป็นบุคคลที่มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ (ซึ่งจะถือว่าเป็น ผู้ที่ปกติมีงานประจำ)
2.1 ยังได้รับค่าตอบแทน ค่าจ้าง หรือผลประโยชน์อื่นๆ หรือผลกำไรจากงาน หรือธุรกิจในระหว่างที่ไม่ได้ทำงาน
2.2 ไม่ได้รับค่าตอบแทน ค่าจ้าง หรือประโยชน์อื่นๆ หรือผลกำไรจากงาน หรือธุรกิจในระหว่างที่ไม่ได้ทำงาน แต่ยังมีงานหรือธุรกิจที่จะกลับไปทำ
3. ทำงานอย่างน้อย 1 ชั่วโมง โดยไม่ได้รับค่าจ้างในธุรกิจหรือไร่นาเกษตรของหัวหน้าครัวเรือนหรือของสมาชิกในครัวเรือน

“ผู้ว่างงาน” (Unemployed persons) หมายถึง บุคคลที่นอกเหนือจากผู้ที่มีงานทำ ซึ่งมีความพร้อมสำหรับการทำงาน โดยเป็นบุคคลที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป และในสัปดาห์แห่งการสำรวจมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดต่อไปนี้

1. ไม่ได้ทำงานและไม่มีงานประจำ แต่ได้หางาน สมัครงานหรือรอการบรรจุ ในระหว่าง 30 วันก่อนวันสัมภาษณ์
2. ไม่ได้ทำงานและไม่มีงานประจำ และไม่ได้หางานทำในระหว่าง 30 วันก่อนวันสัมภาษณ์ แต่พร้อมที่จะทำงานในสัปดาห์แห่งการสำรวจ

“กำลังแรงงานปัจจุบัน” (Current labor force) หมายถึงบุคคลที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ในสัปดาห์แห่งการสำรวจมีงานทำหรือว่างงาน ตามคำนิยามที่ได้ระบุข้างต้น

“กำลังแรงงานที่รอฤดูกาล” (Seasonally inactive labor force) หมายถึง ผู้มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ในสัปดาห์แห่งการสำรวจมีงานทำหรือว่างงาน แต่เป็นผู้รอฤดูกาลที่
เหมาะสมเพื่อที่จะทำงาน และเป็นบุคคลที่ตามปกติจะทำงานโดยไม่ได้รับสิ่งตอบแทนในไร่นาเกษตร หรือธุรกิจซึ่งทำกิจกรรมตามฤดูกาล โดยมีหัวหน้าครัวเรือนหรือสมาชิกคนอื่น ๆ ในครัวเรือนเป็นเจ้าของหรือผู้ดำเนินการ

“กำลังแรงงานรวม” (Total labor force) หมายถึง บุคคลทุกคนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ในสัปดาห์แห่งการสำรวจเป็นผู้อยู่ในกำลังแรงงานปัจจุบัน หรือเป็นผู้ถูกจัดจำแนกอยู่ในประเทศไทยกำลังแรงงานที่รอฤดูกาลตามนิยามที่ระบุข้างต้น

“ผู้ไม่อยู่ในกำลังแรงงาน” (Persons not in labor force) หมายถึง บุคคลผู้ไม่เข้าข่าย คำนิยามของผู้มีงานทำ หรือผู้ว่างงานในสัปดาห์แห่งการสำรวจ หรือไม่เข้ากำลังแรงงานที่รอฤดูกาล ได้แก่

1. บุคลากรซึ่งในระหว่างสัปดาห์แห่งการสำรวจมีอายุต่ำกว่า 15 ปี
2. บุคลากรในระหว่างสัปดาห์แห่งการสำรวจมีอายุ 15 ปีขึ้นไป แต่ไม่ได้ทำงานและไม่ พร้อมที่จะทำงาน เนื่องจากเป็นผู้ที่มีลักษณะดังต่อไปนี้
2.1 ทำงานบ้าน
2.2 เรียนหนังสือ
2.3 ยังเด็กเกินไป (มีอายุน้อยกว่า 18 ปี) หรือชรามาก (มีอายุไม่เกิน 60 ปี)
2.4 ไม่สามารถทำงานได้ เนื่องจากพิการทางร่างกายหรือจิตใจ หรือเจ็บป่วยเรื้อรัง
2.5 ไม่สมัครใจทำงาน
2.6 ทำงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง ผลกำไร ส่วนแบ่ง หรือสิ่งตอบแทนอื่น ๆ ให้แก่บุคคลซึ่งมิได้เป็นสมาชิกในครัวเรือนเดียวกัน
2.7 ทำงานให้แก่องค์การหรือสถาบันการกุศลต่างๆ โดยไม่ได้รับค่าจ้าง ผลกำไร ส่วนแบ่ง หรือสิ่งตอบแทนใด ๆ
2.8 ไม่พร้อมที่จะทำงาน เนื่องจากเหตุผลอื่น

แรงงาน

แรงงานเป็นปัจจัยการผลิต และเป็นทุนมนุษย์ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับส่วนย่อย (Micro) ของระบบเศรษฐกิจ อันได้แก่ แรงงานในภาคการผลิตต่างๆ เช่น แรงงานในภาคการเกษตรกรรม แรงงานในสถานประกอบการภาคอุตสาหกรรม และแรงงานในภาคบริการ นอกจากนี้แรงงานยังมีความสำคัญในระดับภาพรวม (Macro) ของประเทศ เพราะหากว่าแรงงานในภาคการผลิตต่างๆมีความรู้ความสามารถ มีศักยภาพที่ดี ย่อมส่งผลต่อประสิทธิภาพในการผลิต และเกิดประสิทธิผลต่อการพัฒนาภาคการผลิตนั้นๆ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการพัฒนาในภาพรวมของประเทศ ดังนั้น แรงงานจึงมีคุณค่าต่อการพัฒนาประเทศอย่างยิ่ง และแรงงานมีความจำเป็นต้องได้รับการเอาใจใส่ให้การดูแลอย่างพอเหมาะพอควร มีศักดิ์ศรี สามารถดำรงตนอยู่อย่างเท่าเทียมกันกับทุกกลุ่มชนต่าง ๆ ในสังคมได้ แต่อย่างไรก็ตาม การที่แรงงานมีความหลากหลายแยกไปตามภาคการผลิตสาขาต่างๆ นั้น ทำให้การจัดการดูแลและการดำรงอยู่ของแรงงานมีความแตกต่างกันไปด้วย

โดยเฉพาะในประเทศไทยที่มีแรงงานกระจายไปตามสาขาการผลิตทั้งในภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม ภาคพาณิชยกรรม และภาคบริการ จึงทำให้การบริหารทางด้านแรงงานมีความซับซ้อนตามไปด้วย ทั้งนี้ เนื่องจากในแต่ละภาคการผลิตจะมีบริบทที่แตกต่างกัน ดังนั้น ผู้ศึกษาจึงต้องให้ความสำคัญกับการศึกษารายละเอียดของแรงงานเป็นอย่างดีทั้งในเชิงกว้าง และเชิงลึก โดยที่แรงงานในแต่ละภาคการผลิตยังแยกออกเป็นหลายระดับ เช่น แรงงานมีฝีมือ แรงงานกึ่งฝีมือ และแรงงานไร้ฝีมือ นอกจากนี้แรงงานยังมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันในหลากหลายมิติ ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม การเมือง รวมถึงมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับกลุ่ม สถาบันทางสังคมอีกมากมาย โดยเฉพาะแรงงานในภาคอุตสาหกรรมจะมีความสัมพันธ์ทั้งในระดับทวิภาคี ระหว่างแรงงานกับผู้ประกอบการที่เป็นนายจ้าง และในระดับไตรภาคี ระหว่างแรงงาน ผู้ประกอบการ และรัฐ ดังนั้น ในการศึกษารายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับแรงงานจึงต้องทราบความหมายของแรงงานในหลายระดับนั้นว่ามีองค์ประกอบอย่างไร และมีความหมายครอบคลุมแค่ไหน จึงจะทำให้ผู้ศึกษาเข้าใจถึงสภาพความเป็นไปของแรงงาน เพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการแรงงานสัมพันธ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Labour Economics

แรงงาน (labour) ในแนวคิดของวิชาเศรษฐศาสตร์แรงงาน คำว่า แรงงาน เป็นคำรวม หมายถึง ความพยายามของมนุษย์หรือการออกแรง ในการผลิตและจำหน่ายสินค้าและบริการเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจและผู้ที่ดำเนินการจะได้รับค่าตอบแทน จากแนวคิดดังกล่าวก็จะเห็นได้ว่า แรงงานมีส่วนประกอบ ๒ ส่วน คือ ส่วนแรกเป็นการกระทำของมนุษย์ และส่วนที่ ๒ จากผลของการกระทำก่อให้เกิดผลทางเศรษฐกิจในรูปของค่าตอบแทนหรือรายได้ ดังนั้น การที่มนุษย์ออกแรงหรือกระทำการเพื่อตัวเองและไม่ก่อให้เกิดประโยชน์เป็นเงินเป็นทองจึงไม่อยู่ในความหมายของ "แรงงาน" โดยที่กระบวนการผลิตมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้น คำว่า การออกแรงไม่ได้หมายความแต่เพียง "การออกแรงกาย" การใช้ "สมอง" และ "สติปัญญา" ก็อยู่ในความหมายของ "แรงงาน" ยิ่งกว่านั้นแม้การทำงานในโรงงานคนงานมีหน้าที่แต่เพียงกดปุ่มให้เครื่องจักรทำงานเท่านั้น ไม่ได้ใช้การออกแรงงานอย่างสมัยก่อน

พจนานุกรมของราชบัณฑิตยสถานนิยามคำว่า แรงงานไว้ว่า "แรงงาน น. ประชากรในวัยทำงาน ไม่รวมถึงคนพิการ คนวิกลจริต นักเรียน นักศึกษา แม่บ้าน นักบวช ทหาร ผู้ต้องขังและผู้ประกอบกิจการเพื่อหากำไร; ความสามารถในการทำงานเพื่อประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ, กิจการที่คนงานทำในการผลิตเศรษฐทรัพย์, ผู้ใช้แรงงาน."

คำนิยามของราชบัณฑิตยสถานครอบคลุมความหมายของเศรษฐศาสตร์แรงงาน โดยรวมบุคคลที่กำลังทำงานและหางานทำ แต่ไม่รวมผู้ที่อยู่ในสภาพที่ทำงานไม่ได้ เพราะร่างกายและจิตใจไม่สมประกอบ หรือผู้อยู่ในสถาบันการศึกษาและอื่น ๆ เช่น ผู้ต้องขัง

อย่างไรก็ดี เมื่อนับรวมแม่บ้านและผู้อยู่ในสถาบันการศึกษาเข้าด้วย ก็เรียกว่า กำลังคน(man power) หมายถึง ผู้ที่กำลังทำงาน กำลังหางานทำและบุคคลที่ยังไม่ได้ทำงาน แต่บางเวลาบางครั้งก็จะออกหางาน เช่น แม่บ้าน นักเรียน ออกหางานทำเพื่อหารายได้เพิ่มเติม

คำนิยามของราชบัณฑิตยสถานดังกล่าว ตรงกับคำว่า กำลังแรงงาน (labour force) ซึ่งใช้ในการทำสำมะโนประชากรหรือการสำรวจแรงงาน กำลังแรงงานโดยปรกติขึ้นอยู่กับคำนิยามของสำนักสถิติแห่งชาติ ซึ่งใช้แบบเดียวกับราชบัณฑิตยสถาน เพียงแต่คำว่า ผู้หางาน ให้หมายเฉพาะผู้ที่ออกหางานทำเท่านั้น ไม่รวมผู้ที่อยู่บ้านและคอยงาน

คำว่า แรงงาน ยังแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ แรงงานรับจ้าง (employee หรือ wage-earner) และแรงงานที่ทำงานส่วนตัว (self-employed หรือ own account)

"แรงงานรับจ้าง" หมายถึง ทุกคนที่ทำงานให้นายจ้างเพื่อค่าจ้างหรือเงินเดือน

"คนทำงานส่วนตัว" หมายถึง ผู้ทำงานให้แก่ตัวเองและไม่ได้เป็นลูกจ้างผู้ใด

ในเชิงความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง คำว่า แรงงาน ยังหมายถึงผู้ทำงานระดับปฏิบัติการหรือระดับล่าง ซึ่งเรียกกันว่า คนงาน (worker) เพื่อให้แตกต่างกับแรงงานระดับบริหารหรือระดับบังคับบัญชา

แรงงานระดับล่างหรือคนงานมักก่อตั้งเป็นสหภาพแรงงาน (labour union) ในแนวคิดของเศรษฐศาสตร์แรงงาน สหภาพแรงงานเป็นการรวมของผู้รับจ้างเพื่อรักษาและปรับปรุงสภาพการทำงานและชีวิตความเป็นอยู่ ตามกฎหมายแรงงาน สหภาพแรงงาน คือ องค์กรของลูกจ้างที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย

สหภาพแรงงานหลายสหภาพสามารถรวมกันเป็นสหพันธ์ (federation) หรือเป็นสภาแรงงาน (congress)

การก่อตั้งในรูปสหภาพ สหพันธ์ และสภาแรงงาน และดำเนินการเพื่อรักษาสิทธิและประโยชน์ของคนงาน เรียกกันว่าขบวนแรงงาน (labour movement)

โดยสรุป เรื่องของแรงงานเป็นเรื่องเกี่ยวกับประชากรในวัยทำงาน และกำลังทำงาน ในเชิงเศรษฐกิจ ปัจจุบัน ประเทศไทยมีประชากรประมาณ ๕๗ ล้าน อยู่ในกำลังแรงงาน ๓๐.๖ ล้าน เป็นผู้ทำงาน ๒๙.๑ ล้าน และไม่มีงานทำ ๑.๕ ล้าน เป็นผู้ทำงานภาคเกษตร ๑๗.๔ ล้าน นอกวงเกษตร ๑๐.๘ ล้าน เป็นผู้ทำงานส่วนตัว ๘.๙ ล้าน ผู้ช่วยธุรกิจในครัวเรือน ๑๐ ล้าน เป็นลูกจ้าง ๘.๙ ล้าน เป็นนายจ้าง ๓๙๙,๐๐๐ คน

แรงงานเหล่านี้ทำงานอยู่สาขาอุตสาหกรรม ซึ่งแบ่งออกเป็น ๘ ประเภท คือ

๑. การเกษตรซึ่งรวมถึงป่าไม้ การล่าสัตว์ และการประมง
๒. การทำเหมืองแร่
๓. การทำหัตถกรรม อุตสาหกรรม
๔. การก่อสร้าง
๕. การไฟฟ้า แก๊ส การประปา และการสาธารณูปการ
๖. การพาณิชย์
๗. การขนส่ง คลังสินค้า และการคมนาคม
๘. การอำนวยการบริหารต่าง ๆ

ในด้านอาชีพก็ยังแยกออกไปอีก ๙ ประเภท คือ

๑. นักวิชาชีพและนักวิชาการ
๒. นักบริหารและผู้ปฏิบัติงานด้านจัดการ
๓. เสมียนพนักงาน
๔. พนักงานขายของ
๕. เกษตรกร ชาวประมง นักล่าสัตว์
๖. คนทำเหมืองแร่
๗. คนงานในด้านขนส่งและคมนาคม
๘. ช่างฝีมือและคนงานในการผลิต
๙. ผู้ปฏิบัติงานในการกีฬาและพักผ่อนหย่อนใจ

อาชีพ ๙ ประเภทนี้ยังแจกซอยออกไปเป็นอาชีพอีกจำนวนมาก เช่น เสมียน พนักงาน ยังแยกเป็น เสมียนบัญชี พนักงานชวเลข พนักงานเครื่องคำนวณ เสมียนสถิติ สำหรับพนักงานขายของก็มี พนักงานขาย พนักงานเดินตลาด ตัวแทน นายหน้าขายประกัน พนักงานขายทอดตลาด พนักงานตีราคา พนักงานขายส่ง ผู้เร่ขายหนังสือ พนักงานจำนำต่าง ๆ เป็นต้น

เศรษฐศาสตร์แรงงาน (Labour Economics) สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการศึกษาสภาวะการทำงานและความสัมพันธ์ของคนงานต่องานเศรษฐศาสตร์แรงงานจะเกี่ยวข้องกับตลาดแรงงาน ปัญหาค่าจ้าง ชั่วโมงทำงาน สภาพการทำงาน และความมั่นคงในการทำงาน เศรษฐศาสตร์แรงงานยังศึกษาคนงานในสังคมอุตสาหกรรม ประชากรและการโยกย้ายแรงงาน ทฤษฎีว่าด้วยขบวนการแรงงาน ขบวนการแรงงานกับรัฐบาล ปัญหาทางกฎหมายของการเจรจาต่อรอง
ภักดิ์ ทองส้ม (2548, หน้า 17-18) อธิบายว่า บัญชีประชาชาติ หมายถึง การแสดงค่าผลผลิต โดยการแบ่งโครงสร้างของภาคเศรษฐกิจจริง (real sector) ออกเป็นภาคย่อยที่ประกอบด้วยรายการต่าง ๆ แล้วเชื่อมโยงรายการต่าง ๆ นั้น เข้าด้วยกันอย่างเป็นระบบตามกลไกทางเศรษฐกิจ ซึ่งระบบบัญชีประชาชาติตามมาตรฐาน ปี ค.ศ. 1953 (SNA 1953)ประกอบด้วยบัญชีหลัก 6 บัญชี คือ ผลิตภัณฑ์ในประเทศ (domestic product) รายได้ประชาชาติ (national income) การสะสมทุนในประเทศ (domestic capital formation) ครัวเรือนและสถาบันเอกชนไม่แสวงหากำไร (households and private non-profit institutions) รัฐบาล (general government) และภาคต่างประเทศ (external transaction)

บัญชีประชาชาติเป็นเครื่องมือสำคัญ เพื่อใช้เป็นเครื่องชี้วัดระดับของการผลิต รายได้ และการใช้จ่ายของประเทศ ซึ่งนอกจากจะสะท้อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแล้วยังเป็นเครื่องมือที่สะท้อนผลจากการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาล แต่ถึงกระนั้น ด้วยข้อจำกัดของการรวบรวมข้อมูลและโครงสร้างเศรษฐกิจ จึงทำให้รูปแบบการรายงานของประเทศไทยยังคงใช้ระบบบัญชีประชาชาติมาตรฐาน ปี ค.ศ. 1953 (SNA 1953) ผสมผสานกับระบบบัญชีประชาชาติมาตรฐาน ปี ค.ศ. 1968 (SNA 1968) บางส่วน จึงไม่มีการรายงานทั้งส่วนการไหลเวียนของสินค้าและบริการในระหว่างอุตสาหกรรม (inter-industries) การหมุนเวียนด้านรายได้รายจ่ายของสถาบันการเงินต่าง ๆ รวมไปถึงการสะสมทุนในระบบเศรษฐกิจ โดยสามารถแสดงความสัมพันธ์ระหว่างกระบวนการไหลเวียนของระบบเศรษฐกิจ และตารางบัญชีเศรษฐกิจพิจารณาได้

บัญชีรายได้ประชาชาติ (national income accounting) มีประโยชน์ต่อรัฐบาลอย่างยิ่งในการพิจารณาว่า เศรษฐกิจเท่าที่ผ่านมานั้นมีข้อดีข้อเสียอย่างไร เพื่อที่จะได้มีการวางแผนในการพัฒนา หรือแก้ไขก่อนที่จะมีปัญหารุนแรงกว่าที่เป็นอยู่ ระบบบัญชี-ประชาชาติสมัยใหม่สามารถให้ข้อมูลที่สำคัญต่าง ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GNP) รายได้ประชาชาติ (NI) รายได้ที่พ้นภาระภาษีแล้ว การบริโภค การออม และการลงทุน เป็นต้น รัฐบาลได้ใช้ข้อมูลในบัญชีรายได้ประชาชาติเพื่อวิเคราะห์ระบบเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในการประเมินผลของนโยบายทางเศรษฐกิจที่ผ่านมา และยังสามารถใช้ประกอบการวางแผนเศรษฐกิจในอนาคตได้

วิธีการคำนวณบัญชีประชาชาติ มีอยู่ 3 วิธี คือ (ภักดิ์ ทองส้ม, 2548, หน้า 4-9)
1. คำนวณด้านผลิตภัณฑ์ (output approach)
2. คำนวณด้านรายจ่าย (expenditure approach)
3. คำนวณด้านรายได้ (income approach)

การคำนวณด้านผลิตภัณฑ์ การประมวลผลบัญชีรายได้ประชาชาติรายปีในด้านการผลิตนั้นใช้วิธีการหามูลค่าเพิ่มหรือมูลค่าของสินค้าและบริการขั้นสุดท้าย โดยการหาส่วนต่างของมูลค่าผลผลิตรวม (gross output) กับต้นทุนค่าใช้จ่ายขั้นกลาง (intermediate consumption) ของสถานประกอบการในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เมื่อนำมาคำนวณแล้วจะได้มูลค่าเพิ่ม (value added) และเมื่อนำมูลค่าเพิ่ม (value added) ของทุกสาขา การผลิตมารวมกันก็จะได้ Aggregate Supply หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (gross domestic products) หรือ GDP ของระบบเศรษฐกิจ

การคำนวณด้านรายจ่ายประชาชาติ เป็นการคำนวณยอดรวมของรายจ่ายเพื่อ การอุปโภคบริโภค และการสะสมทุนทั้งในภาครัฐบาลและภาคเอกชน รวมทั้งมูลค่าของสินค้าและบริการที่ส่งไปจำหน่ายต่างประเทศ หักด้วยมูลค่าของสินค้าและบริการนำเข้าจากต่างประเทศ ยอดรวมของรายจ่ายนี้ เมื่อรวมกับค่าความคลาดเคลื่อนทางสถิติแล้ว จะเท่ากับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

การคำนวณด้านรายได้ประชาชาติ แบบจำลองเศรษฐกิจมหภาคในด้านรายได้ จะแบ่งผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของหน่วยเศรษฐกิจ (the income side of GDP) ออกเป็น 4 ภาคเศรษฐกิจเช่นกัน ได้แก่
Y = C + S + T + R

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศในด้านรายได้ คือ GDP ในส่วนที่เป็นผลตอบแทนของปัจจัยการผลิต ได้แก่ ที่ดิน แรงงาน ทุน และการประกอบการ ผลตอบแทนของปัจจัยการผลิตเหล่านี้ คือ ค่าแรงงาน (wages) ค่าเช่า (rent) ดอกเบี้ย (interest) และกำไร (profit) รายได้ที่ได้มาประชาชนจะจัดสรรออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่

C: Consumption หมายถึง การใช้ไปในการอุปโภคบริโภคของครัวเรือน
S: Saving หมายถึง การออม รวมการออมทั้งในครัวเรือน และการออมในธุรกิจ การออมในธุรกิจ ได้แก่ ค่าเสื่อมราคา (depreciation allowances) และผลกำไรที่เก็บไว้ (retained earnings)
T: Taxes หมายถึง ภาษีอากรสุทธิที่รัฐบาลจัดเก็บ ได้แก่ รายรับ ด้านภาษีอากรทั้งหมด หักด้วยรายการเงินโอน ดอกเบี้ย และเงินช่วยเหลือที่จ่ายจากงบประมาณแผ่นดิน
R: หมายถึง เงินโอนที่ภาคเอกชนจ่ายไปยังต่างประเทศ

แบบจำลองเศรษฐกิจมหภาค สามารถแบ่งผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) โดยจำแนกตามรายจ่ายของหน่วยเศรษฐกิจในตลาดสินค้าและบริการ ออกเป็น 4 ภาค-เศรษฐกิจ ได้แก่ ครัวเรือน (household) หน่วยผลิต (firms) รัฐบาล (government) และกลุ่มผู้ซื้อจากต่างประเทศ (foreign buyers) สามารถอธิบายบทบาทและความสำคัญของแต่ละภาคเศรษฐกิจได้ ดังนี้ (รัตนา สายคณิต, 2552, หน้า 8-11)

รายจ่ายของครัวเรือน (households) ได้แก่ รายจ่ายในการซื้อสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายเพื่ออุปโภคและบริโภคของประชาชน นักสถิติจำแนกรายจ่ายในส่วนนี้ให้อยู่ในประเทศ รายจ่ายในการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล (private consumption expenditures) สินค้าที่จับจ่ายมีทั้งสินค้าไม่คงทน (nondurable goods) เช่น อาหาร เครื่องนุ่งห่ม และสินค้าคงทน (durable goods) เช่น รถยนต์ โทรทัศน์ วิทยุ และบริการต่าง ๆ เป็นต้น

รายจ่ายของหน่วยผลิต (firms) ได้แก่ รายจ่ายในการซื้อสินค้าประเภททุน เช่น เครื่องจักรกล โรงงานผลิตสินค้า เครื่องมือต่าง ๆ เป็นต้น นักสถิติจำแนกรายจ่ายใน ส่วนนี้ให้อยู่ในประเภทการสะสมทุนถาวรเบื้องต้น (gross fixed capital formation) สินค้าประเภททุนรวมไปถึงการซื้อที่อยู่อาศัยใหม่ของผู้บริโภค และส่วนเปลี่ยนแปลงของสินค้าคงเหลือ (change in inventories)

รายจ่ายในการอุปโภคบริโภคของรัฐบาล (government consumption expenditures) คำว่า รัฐบาลในที่นี้ให้รวมหน่วยการบริหารทุกระดับไม่ว่าจะเป็นระดับชาติ ส่วนภูมิภาค หรือท้องถิ่น รายจ่ายในการอุปโภคบริโภคของรัฐบาลไม่ได้รวมรายจ่ายที่เป็นเงินโอน (transfer payments) อาทิ เช่น รายจ่ายเพื่อสวัสดิการสังคมรายจ่ายเพื่อสุขภาพอนามัยของประชาชน หรือดอกเบี้ยเงินกู้ของรัฐบาล เป็นต้น

มูลค่าสินค้าและบริการส่งออกสุทธิ (net export) ได้แก่ สินค้าและบริการส่งออก หักด้วยสินค้าและบริการนำเข้า

การลงทุนในความหมายทางเศรษฐศาสตร์ หมายถึง รายจ่ายสำหรับสินค้าประเภททุนใหม่ (new capital goods) คือ เป็นสินค้าที่ใช้ในการผลิตสินค้าและบริการอื่น ๆ ดังนั้น การซื้อหุ้นหรือพันธบัตร จึงไม่ถือเป็นการลงทุนทางเศรษฐศาสตร์ แต่เป็นการเปลี่ยนกรรมสิทธิ์เท่านั้น และการลงทุนในส่วนที่เป็นแบบจำลองนี้มีความหมายเฉพาะการลงทุนของเอกชน ไม่รวมการลงทุนในส่วนของรัฐบาล สำหรับรายจ่ายของรัฐบาล ได้แก่ การใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายของภาครัฐบาลรายการใหญ่ที่สุด คือ หมวดเงินเดือนข้าราชการ สำหรับเงินโอนของรัฐบาลย่อมไม่นับรวมอยู่ใน GDP ส่วนการส่งออกสุทธิ (net exports) ได้แก่ ผลต่างระหว่างสินค้าและบริการที่ขายให้ต่างประเทศ กับสินค้าและบริการที่ซื้อจากต่างประเทศ (export-import)

ทฤษฎี Dow Theory

ทฤษฎี Dow Theory เกิดจากแนวความคิดพื้นฐานของ Dow (อ้างถึงใน จิรัตน์ สังข์แก้ว, 2540, หน้า 532-536) ผู้ได้รับขนานนามว่า เป็นบิดาแห่งการวิเคราะห์ทางเทคนิค ที่ได้เขียนแนวคิดลงในบทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ The Wall Street Journal ระหว่าง ค.ศ. 1900-1902 รวมกับการขยายความเพิ่มเติมและการเผยแพร่ของบรรดาศิษย์ของ Dow เกิดเป็นหลักเกณฑ์การวิเคราะห์หลักทรัพย์ทางเทคนิค ที่มีลักษณะเป็นระบบและมีหลักเกณฑ์ชัดเจนซึ่งรู้จักกันทั่วไป

พื้นฐานของทฤษฎี Dow นั้น ได้มาจากการเปรียบเทียบการเคลื่อนไหวราคาหุ้นกับการขึ้นลงของกระแสน้ำในทะเล กล่าวคือ กระแสน้ำในทะเลประกอบด้วยโครงสร้าง 3 ส่วน คือ (1) กระแสน้ำ (tide) (2) ลูกคลื่น (wave) และ (3) ฟองคลื่น (ripple) ในการดูว่า กระแสน้ำในทะเลกำลังขึ้นหรือลงนั้นจะต้องวิเคราะห์พฤติกรรมของลูกคลื่น ในกรณีที่ลูกคลื่นลูกต่อมาขึ้นมาสูงกว่าลูกคลื่นก่อนหน้านี้ก็เป็นลักษณะว่า กระแสน้ำในทะเลกำลังขึ้น ในทางตรงข้ามถ้าลูกคลื่นลูกต่อมาอยู่ต่ำกว่าลูกคลื่นลูกก่อนหน้านี้ก็แสดงว่า กระแสน้ำกำลังลดลง ส่วนฟองคลื่นเป็นส่วนประกอบในลูกคลื่นมิได้บ่งบอกกระแสน้ำขึ้นกระแสน้ำลงโดยตรงดังเช่นลูกคลื่น

แนวโน้มราคาหุ้นก็มีลักษณะเช่นเดียวกับกระแสน้ำและคลื่นในทะเล คือ ประกอบด้วยการเปลี่ยนแปลงสามส่วน คือ แนวโน้มใหญ่ (primary trend) ซึ่งเป็นแนวโน้มหุ้นระยะยาว แนวโน้มรอง (secondary movement) ซึ่งถือเป็นแนวโน้มระยะกลาง และการเคลื่อนไหวรายวัน (daily fluctuation) ดังแสดงในภาพ


ในการวิเคราะห์แนวโน้มใหญ่หรือทิศทางของราคาของหุ้นนั้น พฤติกรรมของแนวโน้มรองจะเป็นตัวกำหนด กล่าวคือ ถ้าระดับการขึ้นของหุ้นในแนวโน้มรองครั้งต่อมา ยังสูงกว่าครั้งก่อนและเวลาปรับตัวลดลงระดับที่ลดลงยังอยู่เหนือระดับที่ลดลงก่อนหน้านี้ แสดงว่า แนวโน้มใหญ่หรือระยะยาวของหุ้นยังขึ้นอยู่ ในกรณีที่แนวโน้มรองของหุ้นในช่วงต่อมามีระดับต่ำกว่าในช่วงแรกแสดงว่า แนวโน้มใหญ่ของหุ้นกำลังลดลง ส่วนแนวโน้มย่อยซึ่งแม้จะไม่มีส่วนในการบอกทิศทางของแนวโน้มใหญ่ของหุ้น แต่ก็เป็นองค์ประกอบที่ก่อให้เกิดแนวโน้มรอง สาระสำคัญของทฤษฎี Dow มีดังนี้ (อ้างถึงใน จิรัตน์ สังข์แก้ว, 2540, หน้า 537-538)

1. ดัชนีราคาหุ้นเป็นผลสะท้อนของข่าวสารข้อมูลต่าง ๆ ในตลาด ประเด็นนี้เป็นประเด็นเดียวกับข้อสมมติฐานของการวิเคราะห์ทางเทคนิคที่ได้กล่าวมาแล้วนั่นเอง

2. แนวโน้มราคาหุ้นมีอยู่สามลักษณะ คือ แนวโน้มใหญ่ (primary หรือ major trend) แนวโน้มรอง (secondary หรือ intermediate movement) และการเคลื่อนไหวรายวัน (daily fluctuation)

แนวโน้มใหญ่เป็นแนวโน้มระยะยาว โดยปกติจะกินเวลาประมาณตั้งแต่หนึ่งปีจนถึงหลาย ๆ ปี แนวโน้มใหญ่อาจมีลักษณะขึ้น (primary uptrend หรือ bull market) หรือแนวโน้มใหญ่มีลักษณะลง (primary downtrend หรือ bear market) การลงความเห็นว่า แนวโน้มใหญ่ของตลาดหุ้นมีลักษณะขึ้นหรือลง ตามทฤษฎี Dow จะมีหลักเกณฑ์ใน การพิจารณา คือ ถ้าการขึ้นแต่ละครั้งของแนวโน้มรอง จุดสูงสุดของการขึ้นครั้งหลังสุด สูงกว่าจุดสูงสุดของแนวโน้มรองก่อนหน้านี้ และถ้าจุดต่ำสุดของแนวโน้มรองครั้งหลังสุดสูงกว่าจุดต่ำสุดของแนวโน้มรองก่อนหน้านี้ แสดงว่า ตลาดกำลังอยู่ในภาวะแนวโน้มใหญ่มีลักษณะขึ้น ในทางตรงข้าม ถ้าในการลดลงแต่ละครั้งของแนวโน้มรองมีจุดต่ำสุดที่ระดับต่ำกว่าจุดต่ำสุดของแนวโน้มรองครั้งก่อนหน้านี้ และในการขึ้นของแนวโน้มรองแต่ละครั้งจะมีจุดสูงสุดต่ำกว่าจุดสูงสุดของแนวโน้มรองครั้งก่อน ถือว่าตลาดหุ้นกำลังอยู่ในภาวะแนวโน้มใหญ่มีลักษณะลง

แนวโน้มรองหรือแนวโน้มระยะกลางโดยปกติจะกินเวลาตั้งแต่ 3 สัปดาห์จนถึงระยะเวลาหลายเดือน แนวโน้มรองมี 2 ประเภท คือ ประเภทแนวโน้มรองที่มีทิศทางเช่นเดียวกับแนวโน้มใหญ่ กับแนวโน้มรองที่มีทิศทางตรงกันข้ามกับแนวโน้มใหญ่ ในภาวะที่ตลาดหุ้นมีแนวโน้มใหญ่ในทิศทางขึ้น แนวโน้มรองประเภทนี้จะมีทิศทางลงเป็นการชั่วคราวหรือที่เรียกว่า ลงเพื่อปรับตัวชั่วคราว (correction) ในภาวะที่ตลาดหุ้นมีแนวโน้มใหญ่ในทิศทางลง แนวโน้มรองประเภทนี้จะมีทิศทางขึ้นเป็นการชั่วคราว (recovery)

การเปลี่ยนแปลงรายวัน ได้แก่ ระดับราคาหุ้นที่ขึ้นลงในระยะสั้น โดยปกติจะกินเวลาไม่เกิน 3 สัปดาห์ และรวมถึงราคาหุ้นขึ้นลงประจำวันด้วย การเปลี่ยนแปลงรายวันนั้นในตัวมันเองไม่มีประโยชน์ที่จะใช้ในการวิเคราะห์ แต่มีความสำคัญในประเด็นที่ว่า เป็นส่วนหนึ่งของแนวโน้มใหญ่และรองนั่นเอง

3. ในช่วงของแนวโน้มใหญ่ในทิศทางขึ้น ประกอบด้วยการเปลี่ยนแปลงราคาหุ้น 3 ระยะ ระยะแรกเป็นระยะของการสะสมหุ้น เป็นระยะที่ราคาหุ้นต่ำเป็นอย่างมาก จำนวนซื้อขายต่ำ ในช่วงนี้เองที่นักลงทุนที่เห็นการณ์ไกลจะเริ่มเข้ามาซื้อในลักษณะสะสมกล่าวคือ จะรอซื้อเมื่อราคาลงเป็นช่วง ๆ ระยะที่สองเป็นช่วงระยะที่จำนวนซื้อขายค่อย ๆ เพิ่มปริมาณมากขึ้น ราคาหุ้นจะค่อย ๆ ขยับฐานขึ้นทีละน้อย ส่วนระยะที่สามเป็นช่วงเวลาแตกตื่นหุ้น ระดับราคาหุ้นสูงขึ้นในอัตราสูงและอาจติดต่อกันหลายวัน ปริมาณซื้อขายเพิ่มขึ้นมาก จำนวนที่เข้ามาในตลาดมากมาย ระยะที่นักเก็งกำไรเข้ามามากที่สุด ในขณะที่นักลงทุนเริ่มทยอยกันออก และในช่วงนี้เองที่แนวโน้มใหญ่จะเริ่มมีการเปลี่ยนทิศทางในลักษณะลง

4. ในช่วงของแนวโน้มใหญ่มีทิศทางลง ประกอบด้วย 3 ระยะ เช่นเดียวกัน คือ ระยะแรกเป็นระยะที่นักลงทุนเริ่มปล่อยหุ้นที่ซื้อเก็บไว้ (distribution phase) เพราะเห็นว่า ราคาหุ้นขึ้นมาสูงเกินอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลมากมาย ในช่วงนี้แม้จำนวนซื้อขายจะมีปริมาณมาก แต่จะมีลักษณะที่เห็นได้ชัด คือ ทุกครั้งที่หุ้นมีราคาขยับสูงขึ้น ปริมาณซื้อขายจะลดลง ระยะที่สองเป็นระยะที่คนทั่วไปเสียขวัญกัน (panic phase) นักเก็งกำไรจะรีบเทขายหุ้น ทำให้ราคาหุ้นลดลงอย่างรุนแรง โดยในบางช่วงจะมีการขยับตัวสูงขึ้นชั่วคราว (recovery) ก่อนที่จะมีการลดต่ำลงต่อไปตามแนวโน้มใหญ่ในเวลาต่อมา ในบางครั้งพฤติกรรมของราคาหุ้นภายหลังการตกต่ำอย่างรุนแรงจะมีลักษณะเป็นการขยับขึ้นลงในช่วงต่ำ คือ ขึ้นลงในช่วงประมาณร้อยละ 5 (sideway movement) การขยับตัวสูงขึ้นในแนวโน้มรองก็ดี หรือการมีแนวโน้มค่อนข้างคงที่อย่างในกรณีที่สองก็ดีจะกินเวลาเพียงระยะหนึ่งเท่านั้น หลังจากนั้นหุ้นจะมีราคาขยับลงต่อเนื่องต่อไป ระยะที่สามเป็นระยะที่หุ้นยังคงลดต่ำลง แต่เป็นการลดต่ำลงไม่มากนักปริมาณการซื้อขายอยู่ในระดับต่ำ ระยะที่สามของแนวโน้มใหญ่ลงนี้ จะคาบเกี่ยวต่อเนื่องกับระยะแรกของแนวโน้มใหญ่ขึ้นจนยากต่อการแยกวิเคราะห์

5. ดัชนีราคาแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมจะต้องมีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกัน จึงจะเป็นการยืนยันแนวโน้มในกรณีที่ดัชนีหนึ่ง อาทิเช่น ดัชนีหุ้นกิจการอุตสาหกรรมแสดงแนวโน้มขึ้น ในขณะที่ดัชนีหุ้นกิจการขนส่งยังมีแนวโน้มลง เมื่อนั้นตามทฤษฎี Dow ถือว่า แนวโน้มตลาดยังไม่แน่นอน ควรจะรอดูการเคลื่อนไหวของราคาต่อไป

6. ปริมาณซื้อขาย (volume) จะต้องไปด้วยกันกับแนวโน้มจึงเป็นการยืนยันแนวโน้ม กล่าวคือ ในภาวะตลาดมีแนวโน้มในทิศทางขึ้น ปริมาณซื้อขายจะเพิ่มขึ้นทุกครั้งที่ราคาหุ้นสูงขึ้นและปริมาณจะลดลงเมื่อราคาลดลง ในภาวะที่ตลาดมีแนวโน้มใหญ่ในทิศทางลง ปริมาณซื้อขายจะเพิ่มขึ้นทุกครั้งที่ราคาหุ้นมีระดับลดต่ำลงและจะลดประมาณ เมื่อหุ้นมีการขยับราคาสูงขึ้น กฎเกณฑ์ในเรื่องปริมาณซื้อขายนี้ตามทฤษฎี Dow เป็นเพียงวิธีการที่จะช่วยยืนยันเครื่องมืออื่น ๆ เท่านั้น โดยตัวมันเองไม่ถือว่า เป็นเครื่องมือบอกแนวโน้มได้อย่างสมบูรณ์ คุณค่าของการวิเคราะห์ปริมาณซื้อขาย จึงอยู่ที่การใช้เป็นเครื่องยืนยังความถูกต้องของดัชนีราคาเฉลี่ยมากกว่า

7. “เส้นตรง” (line) หรือการเคลื่อนไหวของราคาในช่วงแคบ ๆ ประมาณบวก ลบ 5% ติดต่อกันชั่วระยะเวลาหนึ่ง (หรือที่เรียกว่า sideway) ใช้แทนแนวโน้มรองได้

8. แนวโน้มจะดำรงทิศทางต่อเนื่องกันไป ตราบจนกระทั่งมีปัจจัยมาทำให้แนวโน้มเปลี่ยนแปลง