Custom Search
วันพฤหัสบดีที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ทฤษฎีความเกี่ยวพัน (Linkage Theory)

การศึกษาปัจจัยที่เข้ามามีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายนั้น Rosenau ได้นำเสนอแนวทางการศึกษาวิเคราะห์พฤติกรรมต่าง ๆ ที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับ ปัจจัยสิ่งแวดล้อมภายในประเทศและปัจจัยสิ่งแวดล้อมภายนอกประเทศ หรืออาจกล่าวว่า ศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งแวดล้อมภายในประเทศและสิ่งแวดล้อมภายนอกประเทศ ภายในระบบย่อย (subsystem) และระบบระหว่างประเทศ (International system) ซึ่งเป็นระบบใหญ่หรือระบบสังคมชุมชนระหว่างประเทศ ทฤษฎีความเกี่ยวพัน (Linkage Theory) (Rosenau, 1969, pp. 1-56) มีองค์ประกอบที่สำคัญ 2 ประการ คือ 1. ปัจจัยภายในประเทศ (Internal Factors) หรือสภาพแวดล้อมภายในประเทศ (Internal environment) ได้แก่ บทบาทของผู้นำ (ผู้มีอำนาจหน้าที่ในการตัดสินใจวางแผนนโยบาย) สภาวะการเมืองภายในประเทศ เช่น การอยู่ร่วมกันของคนในสังคม อุดมการณ์ ปัญหาทางเศรษฐกิจ บทบาทของสื่อมวลชนภายในประเทศเป็นต้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มีอิทธิพลหรือผลักดันต่อการกำหนดนโยบาย การดำเนินนโยบาย 2. ปัจจัยภายนอกประเทศ (External Factors) ได้แก่สภาพแวดล้อมทางการเมืองระหว่างประเทศ รวมทั้งนโยบายของประเทศอื่นที่เข้ามาเกี่ยวข้องว่ามีผลกระทบหรืออิทธิพลต่อการกำหนดนโยบาย หรือพฤติกรรมของคนในประเทศมากน้อยเพียงใด เป็นปัจจัยภายนอกประเทศที่ไม่อาจควบคุมได้ แต่มีอิทธิพลต่อประเทศหนึ่ง ซึ่งอาจประกอบด้วย 2 ลักษณะใหญ่ ๆ คือ 2.1 เหตุการณ์ทางการเมืองในประเทศอื่น ที่มีอิทธิพลต่อประเทศเป้าหมายหรือประเทศหนึ่ง หรือความสำคัญของประเทศหนึ่งที่มีต่อความมั่นคงของอีกประเทศหนึ่ง ซึ่งจะมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับสภาพที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ หรือตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่มีผลกระทบต่อผลประโยชน์ของชาติหรือไม่อย่างไร เช่น กรณีปัญหาชนกลุ่มน้อยสัญชาติพม่ากับรัฐบาลทหารพม่าที่ส่งผลกระทบต่อนโยบาย ความมั่นคงบริเวณชายแดนของไทย หรือกรณีการอพยพของกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง (ลาว) เข้ามาพักพิงในไทยโดยมีบางส่วนอ้างว่ามีความขัดแย้งทางการเมืองกับรัฐบาลลาว เป็นต้น 2.2 สภาพแวดล้อมทางการเมืองระหว่างประเทศ ตลอดจนนโยบายของประเทศอื่นที่อาจส่งผลต่อนโยบายของประเทศของตน และการเข้าไปมีบทบาทของสื่อมวลชน เช่น กรณีความขัดแย้งทางอุดมการณ์ทางการเมืองในยุคสงครามเย็นระหว่างสหรัฐอเมริกา จีนและอดีตสหภาพโซเวียตที่มีผลต่อนโยบายภายในของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งกล่าวได้ว่าบทบาทและการแทรกแซงของประเทศมหาอำนาจ มีผลต่อนโยบายความมั่นคงตลอดจนพฤติกรรมของประเทศต่าง ๆ รวมทั้งบทบาทของสื่อมวลชนที่เข้าไปมีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดของประชาชน

1 ความคิดเห็น:

บล็อกเกอร์สายยุโรป กล่าวว่า...
ความคิดเห็นนี้ถูกผู้เขียนลบ

แสดงความคิดเห็น