1. แนวคิดการจัดการเชิงวิทยาศาสตร์ เป็นแนวคิดที่มีรากฐานมาจากสาขาวิทยาศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งมีทรรศนะว่าต้องจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นระบบ ปัญหาทางทรัพยากรธรรมชาติสามารถนำหลักการทางวิทยาศาสตร์ ทั้งวิทยาศาสตร์กายภาพและวิทยาศาสตร์สังคมมาช่วยแก้ปัญหาได้ โดยการผลิตและสร้างเทคโนโลยีเข้ามาจัดการ พระธรรมปิฏก (ป. อ. ปยุตฺโต) (2543, หน้า 73-74) กล่าวว่าแต่เดิมวิทยาศาสตร์เป็นตัวการที่สร้างเทคโนโลยีเพื่อการผลิต โดยดึงทรัพยากรธรรมชาติมาใช้อย่างประมาท ดังนั้น ในปัจจุบันวิทยาศาสตร์ก็ต้องค้นหาวิธีการที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อแก้ปัญหาที่ได้ร่วมก่อขึ้น
แนวคิดนี้ มีทรรศนะต่อปัญหาทรัพยากรธรรมชาติว่าเกิดจากกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ ซึ่งสามารถสืบค้น สอบสวน สังเกต และอธิบายได้โดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ เป็นการนำเอาวิธีการทางวิทยาศาสตร์มาทำความเข้าใจทรัพยากรธรรมชาติ การมองปัญหาจะเน้นไปในเชิงวัตถุเป็นสำคัญ และแสวงหาวิธีการแก้ไขปัญหาเหล่านั้นด้วยกลไกวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่มนุษย์คิดค้นขึ้น และยังคงมุ่งเน้นการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติเพื่อประโยชน์ในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติของแนวคิดนี้ก็เพื่อสนองความต้องการของมนุษย์เป็นหลัก ซึ่ง อนุชาติ พวงสำลี (2547, หน้า 226) เห็นว่าเป็นพัฒนาการทางสังคมและเป็นความคิดเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมสมัยใหม่ (modern environmentalism) แนวคิดนี้เป็นที่มาของคำว่า “มนุษย์เป็นนายของธรรมชาติ” (man is the master of nature)บางครั้งก็ถูกเรียกว่าแนวคิดที่เห็นมนุษย์เป็นใหญ่ (anthropocentrism) (ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร, 2545, หน้า 251) ถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่การจัดการทรัพยากรธรรมชาติอยู่ภายใต้วาทกรรมทางวิทยาศาสตร์ ที่เกิดขึ้นมานานกว่าศตวรรษและยังคงดำรงอยู่จนถึงปัจจุบัน
แนวคิดนี้มีความเชื่อ 2 แนวทางสำคัญคือ (1) เชื่อว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นกลไกของธรรมชาติ ซึ่งหมายถึงทฤษฎีต่าง ๆ ถือว่าเป็นกฎเกณฑ์ทางธรรมชาติ หรือเป็นความจริงสูงสุดที่ได้พัฒนาขึ้นบนพื้นฐานแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ทฤษฎีต่าง ๆ ตามแนวคิดนี้จึงเปรียบเสมือนกฎธรรมชาติ โดยมีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการช่วยเปิดเผยความจริงนั้นแก่เรา ซึ่งแนวคิดนี้อาจจัดอยู่ในแนวปรัชญา ปฏิฐานนิยม (positivism)2 (2) เชื่อว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือของมนุษย์ ซึ่งหมายถึงทฤษฎีต่าง ๆ นั้นไม่ถือว่าจริงหรือเท็จเพียงแต่อยู่ที่ว่าจะใช้ได้หรือไม่ได้เท่านั้น หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งทฤษฎีเป็นเสมือนเครื่องมือของมนุษย์เท่านั้น แนวคิดนี้เชื่อว่าโลกวิวัฒนาการอยู่ตลอดเวลามนุษย์สามารถใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อสนองความต้องการของมนุษย์ได้
การจัดการทรัพยากรธรรมชาติของแนวคิดนี้ เน้นการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูง เน้นที่ประสิทธิภาพ และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ตัวอย่าง เช่นการแก้ไขปัญหาดินเสื่อมโทรมด้วยการใช้สารเคมีหรือการใช้ดินหมุนเวียนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงธาตุไนโตรเจน การแก้ไขปัญหาสารตกค้างในแม่น้ำด้วยการลดสารพิษ
ที่ถูกปล่อยจากโรงงานอุตสาหกรรม หรือการจัดการแก้ไขคุณภาพน้ำด้วยการเติมบักเตรีบางชนิดหรือด้วยการกำจัดตะกอนตกค้าง การจัดการแก้ไขปัญหาป่าไม้ด้วยการศึกษากระบวนการทางอุทกวิทยาหรือการปลูกป่าแบบผสมผสาน จะเห็นได้ว่าวีธีการจัดการในแนวคิดกลุ่มนี้จะมุ่งไปที่เรื่องของวัตถุและกระบวนการเป็นสำคัญ
2. แนวคิดการจัดการทรัพยากรธรรมชาติเชิงอนุรักษ์ (สมพร แสงชัย, 2545, หน้า12-13) เริ่มมาราว ปี ค.ศ. 1860 จาก Gifford Pinchot มีหลักการ คือเป็นการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติเพื่อคนรุ่นนี้และเพื่อคนส่วนใหญ่ของสังคม โดยต้องร่วมปกป้องการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติในการพัฒนา ซึ่งแตกเป็น 3 แนวคิดย่อย คือ
2.1 แนวคิดที่เน้นประสิทธิภาพ โดยให้ความสำคัญกับการใช้เทคนิคทางวิทยาศาสตร์ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ
2.2 แนวคิดที่เน้นความเสมอภาคในการกระจายผลประโยชน์ที่เกิดจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างทั่วถึง เช่น การไม่ครอบครองที่ดินมากเกินไป การทำคลองชลประทาน เป็นต้น
2.3 แนวคิดที่เน้นความสวยงาม ซึ่งแนวคิดนี้ขัดกับแนวคิดประสิทธิภาพและแนวคิดความเสมอภาคเพราะไม่ยินยอมให้คนใช้ทรัพยากรธรรมชาติ
3. แนวคิดการจัดการทรัพยากรธรรมชาติเชิงเศรษฐศาสตร์ แบ่งเป็น 2 แนวทาง
3.1 แนวทางเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ มีฐานคติมาจากลัทธิทุนนิยมแต่มองเห็นความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด จึงมีการนำทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์เข้ามาประยุกต์กับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อให้เกิดประโยชน์เชิงเศรษฐกิจสูงสุดในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ
3.2 แนวทางเศรษฐศาสตร์สีเขียว (green economics) เป็นการเปลี่ยนแนวคิดจากเดิมมาพิจารณาว่าต้องเปลี่ยนระบบคิดทางเศรษฐศาสตร์ โดยต้องมองคุณภาพชีวิตคู่กับคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ ปรัชญาหลักของเศรษฐศาสตร์สีเขียวคือ การวิเคราะห์ตามหลักที่ว่าอะไรคือความต้องการที่แท้จริงของมนุษย์ และมีหลักการสำคัญคือต้องลดกระบวนการผลิตที่มีของเสียมาก เน้นระบบกระจายการผลิตโดยอาศัยหลักการพึ่งตนเองใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถหาใหม่ได้ และรู้จักอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่สามารถหาใหม่ได้ ระบบเศรษฐกิจตั้งอยู่บนพื้นฐานของการใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ
4. แนวคิดการจัดการทรัพยากรธรรมชาติเชิงนิเวศวิทยาการเมือง (political ecology) แนวคิดนี้ เป็นแนวคิดในการศึกษาปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งจะส่งผลต่อการกำหนดเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้อง รวมไปถึงการกำหนดแนวทางเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ซึ่งก็คือการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่อาศัยแนวคิดนี้นั่นเอง ซึ่งจะพิจารณาถึงการจัดการในประเด็นต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ (ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, สุริชัย หวันแก้ว, ไชยันต์ รัชชกูล, กัญญา ลีลาลัย และศิริพร ยอดกมลศาสตร์, 2543, หน้า 247-253)
4.1 การจัดการแก้ปัญหาในเรื่องของบริบททางเศรษฐกิจการเมืองเป็นต้นเหตุของการเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรธรรมชาติ เช่น นโยบายของรัฐที่ดำเนินการปกป้องทรัพยากรอาจก่อให้เกิดปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนที่เคยใช้ทรัพยากร หรือการกำหนดนโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มอำนาจเชิงพาณิชย์ หรือความสัมพันธ์
ระหว่างรัฐ เช่น สงครามระหว่างรัฐเป็นการทำลายนิเวศวิทยาและทรัพยากรธรรมชาติรวมไปถึงการให้เงินสนับสนุนระหว่างรัฐในการพัฒนาเขื่อนซึ่งทำลายระบบนิเวศ
4.2 การจัดการภายใต้ระบบทุนนิยมโลกที่มีอำนาจในเชิงพาณิชย์กรรมโดยไร้พรมแดน อาจผ่านมาในรูปบริษัทข้ามชาติเชิงพาณิชย์ที่แสวงหาทรัพยากรจากประเทศที่กำลังพัฒนา
4.3 การจัดการแก้ปัญหาความขัดแย้งในการเข้าถึงทรัพยากร เช่น การศึกษาการต่อสู้แย่งชิงทรัพยากรของชนชั้นผู้ปกครอง หรือชนชั้นเศรษฐกิจกับผู้ด้อยอำนาจหรือชาวนา และผลสะท้อนทางการเมืองที่ตามมาหลังจากทรัพยากรธรรมชาติเปลี่ยนแปลง
5. แนวคิดการจัดการทรัพยากรธรรมชาติทางเศรษฐศาสตร์นิเวศ (ecological economics) เป็นการศึกษาปัญหาทรัพยากรธรรมชาติโดยพิจารณาความสัมพันธ์ของเศรษฐกิจกับระบบนิเวศของโลก ซึ่งจะนำไปสู่การจัดการและการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาค โดยอาศัยการศึกษาผ่านศาสตร์ต่าง ๆ มีกรอบสถาบัน(กฎหมาย กฎระเบียบ ประเพณี วัฒนธรรม) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทุนทางสังคมและวัฒนธรรมเป็นตัวเชื่อม ซึ่งต่างจากแนวทางเศรษฐศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติที่เน้นในการประเมินคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ (ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และคณะ, 2543, หน้า 269-273)
6. แนวคิดการจัดการทรัพยากรธรรมชาติเชิงสถาบัน (ทางสังคม) สถาบันทางสังคม คือ แบบแผนพฤติกรรมที่เป็นมาตรฐานของสังคม หรือแบบอย่างทางความคิดหรือการกระทำของสมาชิกในสังคมหนึ่ง ที่มีไว้เพื่อแก้ปัญหาพื้นฐานของสังคมและมีหน้าที่ที่ทำให้สังคมคงสภาพอยู่ได้ (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2549, หน้า 105; สัญญา สัญญาวิวัฒน์, 2530, หน้า 85-87) ซึ่งแบบแผนดังกล่าวก็คือ บรรทัดฐาน ค่านิยม ความเชื่อ กฎระเบียบ ประเพณี รวมถึงระบบสัญลักษณ์
การที่จะต่อต้านกับกระแสอุตสาหกรรมนิยม ทุนนิยม บริโภคนิยม ในโลกยุคโลกาภิวัตน์ เป็นเรื่องยากที่จะแก้ไขด้วยการเปลี่ยนวิถีชีวิตของปัจเจกบุคคลเพียงอย่างเดียว จำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างที่เป็นรากฐานของสังคมในปัจจุบัน(Pracha Hutanuwart, 1999, p. 502)
แนวคิดการจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยชุมชน เป็นแนวคิดที่จัดการโดยชุมชน โดยอาศัยแบบแผนที่เป็นมาตรฐานในสังคมนั้น (ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และคณะ, 2543, หน้า 239) แต่ไม่ใช่แนวคิดเชิงชุมชนนิยม(communitarianism) ซึ่งเป็นแนวคิดที่แบ่งแยกขั้วระหว่างชุมชนกับรัฐ อย่างเด่นชัดทำให้ละเลยการจัดการร่วมกัน(co-management) ระหว่างชุมชนกับรัฐ
แนวคิดนี้สอดคล้องกับแนวคิดการสร้างพลังชุมชนในพุทธปรัชญา ซึ่งรวมถึงการสร้างพลังทางความคิดและพลังทางการกระทำ (อุทิศ จิตเงิน, 2542, หน้า 10)นอกจากนั้น Avner (2000, pp. 108-110) ยังกล่าวถึงแนวคิดที่เรียกว่า “ชุมชนแห่งการร่วมกันคิด” (the community of thinking together) ที่ประกอบไปด้วย (1) การแสดงออกทางความคิดหรือกระบวนการคิดหาเหตุผล (reflection) (2) ความมีเหตุผล (rationality)และ (3) กระบวนการสร้างความเป็นหนึ่ง (collectivity) ซึ่งตัวแบบชุมชนแห่งความคิดนี้รวมไปถึงการยอมรับ การเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์และบุคลิกภาพของสมาชิกในชุมชนนั้นหรือกล่าวอย่างสั้นคือชุมชนจะเป็นตัวสร้างกรอบการคิดหาเหตุผลในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ
บรรณานุกรม
เสาวพงษ์ ยมาพัฒน์ (2553) การจัดการทรัพยากรธรรมชาติของวัดป่าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ. ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (รัฐประศาสนศาสตร์), มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะรัฐศาสตร์, ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา. (2549). สังคมและวัฒนธรรม (พิมพ์ครั้งที่ 10). กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, สุริชัย หวันแก้ว, ไชยันต์ รัชชกูล, กัญญา ลีลาลัย และศิริพร ยอดกมลศาสตร์. (2543). สถานภาพไทยศึกษา: การสำรวจเชิงวิพากษ์. กรุงเทพมหานคร: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.
ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร. (2545). วาทกรรมการพัฒนา (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์วิภาษา.
พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตฺโต). (2543). การพัฒนาที่ยั่งยืน (พิมพ์ครั้งที่ 7). กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง.
สัญญา สัญญาวิวัฒน์. (2530). คุณภาพและคุณธรรมในการพัฒนาประเทศ (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพมหานคร: เจ้าพระยาการพิมพ์.
อนุชาติ พวงสำลี. (2547). ระบบนิเวศ: สรรพชีวิตสัมพันธ์. ใน ประเวศ วะสี(บรรณาธิการ), ธรรมชาติและสรรพสิ่งการเข้าถึงความจริงทั้งหมด. กรุงเทพมหานคร: มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์.
สมพร แสงชัย. (2545). สิ่งแวดล้อม อุดมการณ์ การเมือง และการพัฒนาที่ยั่งยืน.กรุงเทพมหานคร: สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, โครงการบัณฑิตศึกษาการจัดการสิ่งแวดล้อม.
อุทิศ จิตเงิน. (2542). แนวคิดการสร้างพลังชุมชนในพุทธปรัชญา. กรุงเทพมหานคร: กระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานปลัดกระทรวง.
3 ความคิดเห็น:
เห็นด้วยกับแนวคิดการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ที่มีหลากหลายมากขึ้น โดยหนึ่งในแนวทางนั้นคือการนำวิถีทางจริยธรรมหรือทางแนวทางหลักธรรมโดยเฉพาะทางพระพุทธศาสนามาใช้ เพราะเป็นหลักธรรมที่เกี่ยวข้องกับสังคมไทยโดยส่วนใหญ่และมีมาช้านาน คิดว่าทางหน่วยงานของรัฐและเอกชนน่าจะลองทำเป็นต้นแบบดูหากได้ผลก็เสนอเป็นตัวแบบให้กับสังคมต่อไป
ไม่ทราบว่านำมาจากหนังสือ หรือwebsite อะไร หากผู้ใดทราบกรุณาแจ้งด้วยจะขอบพระคุณมาก เพราะต้องการค้นหาเพื่อศึกษาเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อม ทางเลือกของประเทศไทย
นักศึกษา ป.โท
คุณ นักศึกษา ป.โท
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ ดุษฏีนิพนธ์ เรื่อง " การจัดการทรัพยากรธรรมชาติของวัดป่าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ" ของ เสาวพงษ์ ยมาพัฒน์
ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปี 2553หรือ 2554 ไม่แน่ใจครับ ลองหาดูใน web thailis น่าจะมีหรือห้องสมุดรามคำแหง
บุตร เมืองราช
แสดงความคิดเห็น