Custom Search
วันพฤหัสบดีที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2554

สถาบันการเงินเป็นองค์กรทางการเงิน

สถาบันการเงินเป็นองค์กรทางการเงินที่มีบทบาทหน้าที่ในการเป็นตัวกลางในการอำนวยความสะดวกในเรื่องการเคลื่อนไหวหรือเคลื่อนย้ายของเงิน การรับฝากเงินและให้กู้ยืมเงิน ซึ่งเป็นการรวบรวมเงินออมไปยังผู้ลงทุน การซื้อขายหลักทรัพย์และหน้าที่อื่นๆ

ความหมาย สถาบันการเงิน หมายถึง สถาบันที่ดำเนินการเกี่ยวกับธุรกิจการเงินและหรือการให้สินเชื่อ

ประเภทของสถาบันการเงิน แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่

1. สถาบันการเงินที่ประกอบกิจการธนาคาร หมายถึง สถาบันการเงินที่ดำเนินงานด้านรับ – ฝากเงินที่ถอนคืนได้โดยใช้เช็ค ดราฟต์ หรือหนังสือสั่ง ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธนาคารกลางของไทย) ส่วนธนาคารกลางที่เก่าแก่ที่สุดในโลกคือธนาคารกลางแห่งสวีเดน , ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง , ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร , ธนาคารอาคารสงเคราะห์ , ธนาคารออมสิน , ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย , ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย , ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย

2. สถาบันการเงินที่ไม่ได้ประกอบกิจการธนาคาร หมายถึง สถาบันการเงินที่จัดตั้งเพื่อดำเนินธุรกิจเฉพาะสาขาของเศรษฐกิจที่ระบุไว้ในกฎหมายควบคุมการดำเนินงานของสถาบันการเงินนั้นๆ ได้แก่

2.1 บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐบาล ภายใต้การดูแลของกระทรวงการคลัง มีจุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือภารธุระอุตสาหกรรมขนาดย่อมได้ได้รับสินเชื่อและความมั่นใจจากสถาบันการเงินจำนวนมากขึ้น

2.2 บริษัทเงินทุน (บง.) เป็นสถาบันการเงินที่จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด ประกอบธุรกิจเงินทุน มีหน้าที่ จัดหาทุนเพื่อบุคคลอื่น บริษัทเงินทุนจะกู้ยืมเงินจากประชาชนทั่วไป โดยการออกตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อเป็นหลักฐานในการกู้ยืม หรือกู้ยืมจากสถาบันการเงินในประเทศและต่างประเทศและนำเงินนั้นไปหาประโยชน์โดยการให้กู้ยืม ซื้อลดเช็ค ตราสารเปลี่ยนมือ

2.3 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) เป็นสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้การกำกับ ดูแลของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.) มีหน้าที่ ระดมทุน โดยจัดตั้งกองทุนรวมและขายหน่วยลงทุนให้ผู้ที่ต้องการนำเงินไปลงทุนในหุ้นทุน ทั้งในตลาดหลักทรัพย์และนอกตลาดหลักทรัพย์ ลงทุนในตราสารหนี้ในตลาดทุนและตลาดเงิน เช่น พันธบัตร หุ้นกู้ตั๋วสัญญาใช้เงิน

2.4 บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ (บค.) เป็นสถาบันที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 มีหน้าที่ ให้กู้ยืมเงินโดยวิธีรับจำนองอสังหาริมทรัพย์ และการรับซื้ออสังหาริมทรัพย์ตามสัญญาขายฝาก (การให้สินเชื่อเพื่อการจัดซื้ออสังหาริมทรัพย์ คล้ายกับ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ แต่ต่างกันตรงที่ บริษัทเครดิตฟองซิเอร์เป็นของเอกชน อยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงการคลัง แต่ได้มอบหมายให้ธนาคารแห่งประเทศไทยดูแล และให้กู้ยืมเงินคล้ายกับบริษัทเงินทุน โดยออกตั๋วสัญญาใช้เงิน แต่ตั๋วสัญญาใช้เงินต้องมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1,000 บาทและมีระยะเวลาไถ่ถอนไม่ต่ำกว่า 1 ปี เพราะให้สินเชื่อระยะยาว

2.5 บริษัทประกันภัย บริษัทประกันชีวิต และบริษัทประกันวินาศภัย

บริษัทประกันภัย มีหน้าที่ ระดมเงินออมจากประชาชนในรูปของการขายกรมธรรม์ประกันภัย แบ่งเป็น การประกันชีวิตและ การประกันวินาศภัย(ประกันภัยทรัพย์สิน) เมื่อผู้เอาประกันประสบความเสียหายแก่ชีวิต เจ็บป่วย พิการ หรือสูญเสียทรัพย์สินแล้วแต่กรณีภายใต้อายุของกรมธรรม์ บริษัทประกันภัยต้องชดใช้เงินตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์

2.6 โรงรับจำนำ เป็นสถาบันการเงินขนาดเล็ก มีหน้าที่ให้เงินกู้แก่ประชาชนในวงเงินไม่มากเป็นสินเชื่อเพื่อการบริโภคเป็นส่วนมาก

โดยผู้กู้ต้องมีสินทรัพย์มาค้ำประกัน เรียกว่า การจำนำ โรงรับจำนำที่ดำเนินการโดยภาครัฐ (กรมประชาสงเคราะห์) เรียกว่า สถานธนานุเคราะห์ เงินทุนดำเนินการ ของรัฐได้จากเงินงบประมาณแผ่นดิน หรือกู้ยืมจากธนาคารออมสิน ส่วนโรงรับจำนำของเทศบาล เรียกว่า สถานธนานุบาล

2.7 กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ส่งเสริมการออม ของกระทรวงการคลัง โดยนายจ้างกับลูกจ้างร่วมกันจัดตั้งขึ้น โดยลูกจ้างจ่ายเงินสะสมรายเดือนและนายจ้างจ่ายสมทบอีกส่วนหนึ่ง และจ่ายคืนให้เมื่อลูกจ้างลาออกจากกองทุน หรือเสียชีวิต

2.8 กองทุนประกันสังคม จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2537 และแก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 3) พ.ศ.2542 เป็นกองทุนของสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป เพื่อเป็นหลักประกันในการดำรงชีพ สังคมมีเสถียรภาพ โดยเงินสมทบที่นำเข้ากองทุน ได้จาก 1. ลูกจ้าง 2. นายจ้าง 3. รัฐบาล จ่ายในอัตราเท่าๆกันให้ความคุ้มครอง 7 กรณี ได้แก่ 1. ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย 2. คลอดบุตร 3. ทุพพลภาพ 4. ตาย 5. สงเคราะห์บุตร 6. ชราภาพ 7. กรณีว่างงาน ผู้ประกันตนจะได้รับความคุ้มครองเมื่อได้รับอันตรายหรือประสบเหตุทำให้ได้รับความเดือดร้อนการช่วยเหลือจะให้ในรูปของตัวเงินและบริการทางการแพทย์

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น