Custom Search
วันพฤหัสบดีที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2554

สหกรณ์

ความหมาย สหกรณ์ (Cooperatives) หมายถึง องค์กรที่เกิดจากกลุ่มบุคคลที่มารวมกันโดยสมัครใจเพื่อดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ต่อความต้องการและเป้าหมายของสมาชิกที่เป็นเจ้าของร่วมกันภายใต้หลักประชาธิปไตย

ลักษณะสำคัญของสหกรณ์

1. เกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มคนด้วยความสมัครใจเพื่อร่วมมือกันในการดำเนินการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม

2. มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินธุรกิจที่แน่นอน คือ ช่วยเหลือตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

3. จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีกฎหมายสหกรณ์และข้อบังคับสหกรณ์เป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจ

ความเป็นมาของสหกรณ์ สหกรณ์เกิดขึ้นครั้งแรกที่ทวีปยุโรป สาเหตุสำคัญมาจากความยากลำบากในการประกอบอาชีพของประชากรจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม(การใช้เครื่องจักรแทนแรงงานคน) จึงเกิดความร่วมมือกันขึ้น โดย นายโรเบิร์ต โอเวน เสนอแนวคิดตามวิธีการสหกรณ์ นายโรเบิร์ต โอเวน จึงเป็นผู้ริเริ่มใช้คำว่า “สหกรณ์” เป็นคนแรก

ในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมที่เมืองรอชเดล ประเทศ อังกฤษ เป็นดินแดนอุตสาหกรรมการทอผ้าที่สำคัญ ต้องประสบกับภาวการณ์ว่างงาน และคนงานถูกเอารัดเอาเปรียบในเรื่องค่าจ้าง จึงได้นำแนวคิดของโอเวน มาดำเนินการจัดตั้งร้านสหกรณ์ของกรรมกรช่างทอผ้าเมืองรอชเดล อังกฤษ เริ่มจากการสะสมทุนคนละเล็กละน้อย ผู้ที่เป็นสมาชิกจะต้องถือหุ้นในสหกรณ์อย่างน้อย 1 หุ้น และตั้งชื่อสหกรณ์ว่า

“ร้านสหกรณ์รอชเดลของผู้นำอันเที่ยงธรรม” ถือเป็นสหกรณ์แห่งแรกของโลก

ความเป็นมาของสหกรณ์ไทย เริ่มในสมัยรัชกาลที่ 6 ตอนต้น โดยจัดตั้งธนาคารเงินกู้แห่งชาติ โดยให้ชาวนาที่ต้องการกู้เงินรวมกันเป็นสมาคม ซึ่งมีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และจัดตั้งสมาคมและสหกรณ์ บัญญัติโดย พระวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ซึ่งได้รับ การยกย่องว่าเป็น พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย

สหกรณ์แห่งแรกของไทย เป็นสหกรณ์หาทุน ตั้งอยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ชื่อว่า “สหกรณ์วัดจันทร์ไม่จำกัดสินใช้” โดยจดทะเบียนเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2459 และต่อมารัฐได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2471 นับเป็นกฎหมายสหกรณ์ฉบับแรก

ต่อมามีการรวมสหกรณ์หาทุนหลายสหกรณ์เข้าด้วยกันเมื่อรัฐออกพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2511 กลายมาเป็นสหกรณ์การเกษตรในปัจจุบัน

หลักการของสหกรณ์ 1. เป็นสมาชิกโดยความสมัครใจ ไม่กีดกันการเป็นสมาชิก 2. ควบคุมตามหลักประชาธิปไตยและดำเนินการโดยอิสระ 3.จำกัดอัตราดอกเบี้ยที่จ่ายให้แก่ทุนเรือนหุ้น เพื่อป้องกันการแสวงหากำไร 4. ส่งเสริมการศึกษา 5. ร่วมมือกับสหกรณ์ในทุกระดับ

ประเภทของสหกรณ์ ของไทยแบ่งเป็น 6 ประเภท ได้แก่ 1. สหกรณ์การเกษตร 2. สหกรณ์ประมง

3. สหกรณ์นิคม 4. สหกรณ์ร้านค้า 5. สหกรณ์บริการ 6. สหกรณ์ออมทรัพย์

ในที่นี้จะศึกษาเฉพาะสหกรณ์ออมทรัพย์และ สหกรณ์การเกษตร

สหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์การเกษตร จัดตั้งขึ้นโดยความร่วมมือของบุคคลกลุ่มหนึ่ง มีจุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือสมาชิกในด้านต่างๆ ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมดูและของกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีหลายประเภท เช่น

2.5.1 สหกรณ์ออมทรัพย์ ตั้งขึ้นโดยสมาชิกของหน่วยงานหนึ่งๆร่วมกันถือหุ้นสหกรณ์ มีหน้าที่รับฝากเงินจากสมาชิกและนำเงินนั้นให้สมาชิกกู้ยืมโดยคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าสถาบันการเงินอื่น โดยระดมเงินออมจากสมาชิกในรูปของเงินค่าหุ้น และเงินฝาก ผลกำไรที่ได้จากการดำเนินงาน ส่วนหนึ่งก็จ่ายคืนแก่ผู้ถือหุ้นในรูปของเงินปันผล ค่าสวัสดิการ บริจาคเพื่อสาธารณประโยชน์ สหกรณ์เป็นสถาบันการเงินที่ยึดหลักการเพื่อช่วยเหลือตนเอง หมู่สมาชิกและสังคม เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ครู

2.5.2 สหกรณ์การเกษตร จัดตั้งขึ้นโดยสมาชิกของสหกรณ์จะเป็นเกษตรกรทั้งหมด มีหน้าที่ รับฝากเงินจากสมาชิกเพื่อส่งเสริมให้สมาชิกออมทรัพย์ และให้เงินกู้แก่สมาชิกเพื่อส่งเสริมการเพาะปลูก แสวงหาตลาด และขายผลิตผลให้สมาชิก จัดซื้อและจัดหาสิ่งของที่จำเป็นมาขายให้แก่สมาชิก ส่งเสริมเผยแพร่ความรู้ด้านการเกษตรให้สมาชิก เงินทุนดำเนินการ ได้จากค่าหุ้น เงินฝากของสมาชิก ผลกำไร และได้เงินกู้ยืมจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรและกรมส่งเสริมสหกรณ์ มาเป็นเงินทุนดำเนินการด้วย

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น