"เศรษฐศาสตร์" เป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดและหายากโดยการเลือก ทางเลือกหรือวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ ที่มีอยู่ไม่จำกัด ซึ่งปัญหาเหล่านี้ก็เป็นปัญหาเดียวกับผู้บริหารในองค์กรธุรกิจที่ต้องตัดสิน ใจในการจัดสรรทรัพยากรภายในองค์กรที่มีอยู่จำกัด เช่น เงินทุน ที่ดิน โรงงาน อุปกรณ์ วัตถุดิบ ความรู้ เทคโนโลยีการผลิต สมรรถภาพในการสร้างค่าสินค้าและบริการเพื่อดำเนินงานผลิต จำหน่ายสินค้าหรือบริการไปสู่ผู้ซื้อในตลาด
แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ถูกนำไปใช้ในการแก้ปัญหาการจัดสรรทรัพยากรในธุรกิจ ตัวอย่างเช่น ในด้านการผลิตองค์กรธุรกิจจะผลิตอะไร จำนวนเท่าไร ? สินค้าที่ผลิตควรจะมีความแตกต่างกับผู้ขายรายอื่นในตลาดหรือไม่ ? องค์กรควรใช้เทคโนโลยีการผลิตอย่างไร ? ใช้ปัจจัยการผลิตอย่างไร ? องค์กรควรทำ การผลิตวัตถุดิบเอง หรือจัดซื้อจากผู้ผลิตอื่นในตลาด การผลิตขององค์กรมีลักษณะประหยัดจากขนาดหรือไม่ ? ประหยัด จากการผลิตสินค้าที่หลากหลายหรือไม่ ? ต้นทุนการ ผลิตสินค้าและบริการขององค์กรมีลักษณะเป็นอย่างไร ? ใช้ ตัดสินใจเกี่ยวกับปัญหาการเพิ่มกำลังการผลิต การกระจายการผลิตสู่สินค้าใหม่ หรือจำหน่ายในตลาดและกลุ่มผู้ซื้อใหม่ การลงทุนในเทคโนโลยีการผลิตและการจัดจำหน่าย รวมทั้งการกำหนดตำแหน่งของสินค้าและบริการเพื่อสร้างความได้เปรียบการแข่ง ขัน
แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ยังถูกนำไปใช้กับ การตัดสินใจเกี่ยวกับการสร้างค่าของสินค้าและบริการ เช่น การเลือกวิธีการกำหนดราคาภายใต้สภาพการแข่งขันต่างๆ ว่าองค์กรควรจะกำหนดราคาสินค้าและยึดครองค่าสินค้าจากผู้บริโภคอย่างไร ? องค์กรควรวางตำแหน่งสินค้าอย่างไร ควรผลิตสินค้าคุณภาพสูงหรือคุณภาพต่ำ ? องค์กรควรมี กลยุทธ์อย่างไรในการสร้างความได้เปรียบการแข่งขันเน้นที่ต้นทุนการผลิตหรือ สร้างคุณค่าของสินค้า ? เมื่อคำนึงถึงโครงสร้างตลาด และพฤติกรรมตอบโต้ของคู่แข่ง เป็นต้น เพื่อให้กับองค์กรธุรกิจให้สามารถเลือกตัดสินใจเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ภาย ใต้ข้อจำกัดทางด้านทรัพยากรและสภาวะแวดล้อมต่างๆ ที่องค์กรธุรกิจเผชิญอยู่ จึงมีการผสานแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์กับทฤษฎีการตัดสินใจ การตลาด การบริหาร และการจัดการเชิงกลยุทธ์เข้าด้วยกันกลายเป็นศาสตร์ที่เรียกว่า "เศรษฐศาสตร์ธุรกิจ" (business economics) เป็นการศึกษาปัญหาที่เกี่ยวข้องกับองค์การธุรกิจ การจัดการและกลยุทธ์ เช่น อธิบายว่าทำไมต้องมีกิจการ สาเหตุที่ธุรกิจขยายตัวทั้งแนวนอนและแนวดิ่ง รูปแบบโครงสร้างองค์กร ความสัมพันธ์ของบริษัทกับพนักงานและปฏิสัมพันธ์ระหว่างบริษัทกับสิ่งแวดล้อม ทางธุรกิจ ทั้งนี้คำว่าเศรษฐศาสตร์ธุรกิจถูกใช้อย่างหลากหลาย บางครั้งก็ใช้รวมกับ "เศรษฐศาสตร์การจัดการ" (managerial economics) "องค์การอุตสาหกรรม" (industrial organization) หรือ "เศรษฐศาสตร์สำหรับธุรกิจ" (economics for business) หรือองค์กรที่นำทฤษฎี Economic มาจัดการเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตามแต่ละชื่อก็มีความแตกต่างกัน อยู่บ้าง กล่าวคือ
"เศรษฐศาสตร์การจัดการ" เน้นการประยุกต์ใช้เครื่องมือการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ในการจัดการกระบวน การการตัดสินใจระดับองค์กรธุรกิจและการแข่งขันในตลาด เป็นการนำเอาทฤษฎีเศรษฐศาสตร์องค์กรธุรกิจมาประยุกต์ใช้ร่วมกับวิธีการ วิเคราะห์เชิงปริมาณโดยวิธีการพิจารณาตัดสินใจจะอาศัยหลักการวิเคราะห์หน่วย ท้ายสุดทางเศรษฐศาสตร์ (marginal analysis) ในการ จัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ หลักการวิเคราะห์หน่วยท้ายสุดนี้เป็นเครื่องมือสำคัญหนึ่งที่เศรษฐศาสตร์นำ มาใช้เพื่ออธิบายพฤติกรรมการเลือกต่างๆ ของบุคคลและหน่วยเศรษฐกิจในการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด โดยเปรียบเทียบระหว่างต้นทุนที่เพิ่มขึ้น (marginal costs) และประโยชน์ที่เพิ่มขึ้น (marginal benefits) จากการจัดสรรทรัพยากรจากการแก้ปัญหานั้นโดยมีหลักการว่า การจัดสรรทรัพยากรจะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเมื่อทรัพยากรถูกนำไปใช้ใน กิจกรรมที่ให้ประโยชน์สุทธิท้ายสุดที่สูงสุด นอกเหนือจากวิเคราะห์หน่วยท้ายสุดทางเศรษฐศาสตร์แล้ว ยังมีแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์อื่นๆ ที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้กับการตัดสินใจขององค์กรธุรกิจ เช่น ทฤษฎีบริษัท เศรษฐศาสตร์ต้นทุนธุรกรรม ทฤษฎีเกม เศรษฐศาสตร์สารสนเทศ แนวคิด principal-agent เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม เป็นต้น
สำหรับ "องค์กรอุตสาหกรรม" เป็นสาขาเศรษฐศาสตร์ที่ศึกษากลยุทธ์พฤติกรรมของบริษัท, โครงสร้างของตลาดและการมีปฏิสัมพันธ์ (interactions) โดยใช้ทฤษฎีราคา (price theory) กับการ วิเคราะห์ตามแนวคิด structure-conduct-performance (SCP) ซึ่งมีสมมติฐานว่าประสิทธิภาพของอุตสาหกรรม (ความสำเร็จของอุตสาหกรรมในการผลิตเพื่อสร้างประโยชน์ต่อผู้ บริโภค) จะขึ้นอยู่กับการดำเนินการ (conduct) ของ บริษัทที่ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับโครงสร้างอุตสาหกรรมในขณะที่โครงสร้างของ อุตสาหกรรมนั้นขึ้นอยู่กับเงื่อนไขพื้นฐาน เช่น เทคโนโลยีและอุปสงค์ผลิตภัณฑ์ ตัวอย่างเช่น จำนวนกิจการที่ดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีที่ต้นทุนการผลิต เฉลี่ยลดลงเมื่อมีการผลิตเพิ่มขึ้น มีแนวโน้มที่จะน้อยหรือ การมีตลาดรองหรือตลาดมือสองอาจส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของบริษัทในตลาดหลัก เป็นต้น
วิชา "องค์กรอุตสาหกรรม" ช่วยเพิ่มเติมข้อจำกัดในโลกความเป็นจริงไปในข้อสมมติตลาดแข่งขันสมบูรณ์ของ นักเศรษฐศาสตร์ เช่น ความไม่สมบูรณ์และความไม่สมมาตรของข้อมูล ต้นทุนธุรกรรม ต้นทุนในการปรับราคา การดำเนินนโยบายของรัฐบาล และอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดของกิจการใหม่ ฯลฯ เศรษฐศาสตร์อุตสาหกรรมนั้นมีส่วนคล้ายกับเศรษฐศาสตร์ธุรกิจมากที่สุด แต่เศรษฐศาสตร์ธุรกิจจะมีขอบเขตที่กว้างกว่าเศรษฐศาสตร์อุตสาหกรรม เพราะไม่เพียงแต่ที่เกี่ยวข้องกับ "อุตสาหกรรม" แต่ยังเกี่ยวข้องกับธุรกิจในภาคบริการและยังนำเอาแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์มา ประยุกต์ใช้กับ "กลยุทธ์ธุรกิจ" อีกด้วย เช่น การตั้งราคาลำเอียง (price discrimination) การ สร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์ การตัดสินใจด้านความคงทนของสินค้า การสมรู้ร่วมคิด การควบรวมและเข้าซื้อกิจการ เป็นต้น
นักธุรกิจที่เข้าใจใน "เศรษฐศาสตร์ ธุรกิจ" จะมีเซนส์ทางเศรษฐศาสตร์ที่ช่วยให้การตัดสินใจทางธุรกิจดีขึ้น ในที่นี้จะขอยกสัก 2 ตัวอย่าง ตัวอย่างแรก "เศรษฐศาสตร์ธุรกิจ" ทำให้ผู้บริหารเข้าใจถึงความมีเหตุผลของผู้บริโภคในการตัดสินใจซื้อ ผู้บริโภคนั้นไม่ซื้อสินค้าหรือบริการที่คุณภาพดีที่สุดหรือซื้อสินค้าที่ ราคาถูกที่สุด แต่จะคำนึงถึงค่าหรือประโยชน์ที่ลูกค้าได้รับจากสินค้าและบริการหักด้วยต้น ทุนค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นหรือที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า "ส่วนเกินผู้บริโภค" (consumer surplus) ทั้ง นี้ค่าหรือประโยชน์ที่ผู้บริโภคได้รับนั้นจะขึ้นอยู่กับลักษณะ คุณสมบัติของสินค้าและบริการ เช่น ความคงทน ความเชื่อถือได้ การใช้งาน ภาพลักษณ์ ความปลอดภัย ความสวยงามและความถนัดในการใช้ ซึ่งค่าเหล่านี้เป็นค่าที่ผู้บริโภครับรู้ หรือค่าความเห็น (perceived value) ที่ธุรกิจต้องพยายามเพิ่มค่าที่ผู้บริโภครับรู้นี้ ให้มากที่สุด เพราะคุณค่านี้จะไปเกี่ยวข้องกับการกำหนดราคาสินค้าด้วย ขณะเดียวกันผู้บริโภคก็คำนึงถึงค่าใช้จ่ายของการได้มาซึ่งสินค้าและบริการ ที่ตนต้องการ เช่น ต้นทุนตัวเงิน ต้นทุนเวลา ต้นทุนการค้นหา ต้นทุนด้านจิตวิทยา ซึ่งธุรกิจต้องพยายามลดต้นทุนส่วนนี้ลงเพื่อให้คุณค่าสุทธิที่ผู้บริโภคได้ รับสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ความมีเหตุผลของคนก็มีข้อจำกัด ตัวอย่างเช่น หากผู้บริโภคไม่มีข้อมูลหรือไม่สามารถใช้ข้อมูลด้านคุณภาพจากผู้รู้ข้อมูลมา ใช้เพื่อเลือกซื้อสินค้าได้ โดยเฉพาะสินค้า experience goods ที่ต้องใช้ประสบการณ์เพื่อรับรู้ถึงคุณภาพ เช่น ยา สบู่ แชมพู หนังสือ เครื่องเสียง รถยนต์ ร้านอาหาร สมาชิกสโมสร พนักงานคนใหม่ ฯลฯ ผู้บริโภคอาจโชคร้ายได้สินค้าคุณภาพต่ำหรือสินค้าปลอมแปลงไม่เหมาะสมกับราคา ที่ต้องจ่ายไป ในกรณีเช่นนี้ถึงแม้ตลาดสินค้ายังคงอยู่แต่ราคาสินค้าจะไม่แสดงถึงค่าของ สินค้าที่แท้จริงแต่จะเป็นราคาคาดคะเนระหว่างราคาสินค้าคุณภาพสูงและต่ำที่ ผู้บริโภคเต็มใจจะจ่าย ธุรกิจก็ต้องพยายามแก้ไขปัญหานี้โดยการส่งสัญญาณ (signaling) เช่น การรับประกันคุณภาพสินค้า เป็นต้น
ตัวอย่างที่ 2 "เศรษฐศาสตร์ธุรกิจ" ทำให้ผู้บริหารตระหนักถึง "ต้นทุนค่าเสียโอกาส" ในการตัดสินใจ นักเศรษฐศาสตร์นั้นมีวิธีการวัดผลกำไรทางธุรกิจที่แตกต่างกับทางบัญชี นักเศรษฐศาสตร์สนใจรายได้และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการใช้ทรัพยากรในการทำ ธุรกิจที่ใช้จ่ายไปจริงในช่วงเวลาดังกล่าว ไม่ว่ารายการค่าใช้จ่ายหรือรายได้นั้นจะมีเอกสารหลักฐานทางการเงินหรือมีการ รับจ่ายเงินเกิดขึ้นจริงหรือไม่ก็ตาม ผู้บริหารต้องเปรียบเทียบระหว่างผลประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นจากการใช้ทรัพยากร หน่วยท้ายสุดเทียบกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการเลือกใช้ทรัพยากรหน่วยนี้ หรือต้นทุนหน่วยสุดท้ายซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายขององค์กรที่ต้องจัดหาซื้อมาจาก ตลาดหรือเป็นผลประโยชน์อื่นที่ทรัพยากรนี้สามารถนำไปใช้ได้แต่เลือกไม่ใช้ เป็นค่าเสียโอกาสของทรัพยากร ตัวอย่างของค่าใช้จ่ายแอบแฝงก็เช่น ค่าเสียโอกาสการทำงานของเจ้าของกิจการเมื่อมาทำธุรกิจแต่ไม่มีการจ่ายเงิน เดือนให้ ค่าเสียโอกาสการใช้อาคารเมื่ออาคารถูกนำมาใช้เพื่อกิจการธุรกิจโดยไม่ได้คิด ค่าเช่า ค่าเสียโอกาสของเงินลงทุนที่ธุรกิจไม่ได้คิดดอกเบี้ยให้แตกต่างกับการกู้ยืม เงินซึ่งธุรกิจต้องเสียค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้ยืม ค่าเสื่อมราคา เป็นต้น
นอกเหนือจากเศรษฐศาสตร์จุลภาคซึ่ง นำไปประยุกต์ใช้กับการตัดสินใจภายในองค์กรแล้ว สิ่งที่ทำให้ "เศรษฐศาสตร์ธุรกิจ" แตกต่างจากศาสตร์การบริหารอื่นๆ ก็คือการให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์และเข้าใจสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจภายนอก องค์กรและเศรษฐกิจมหภาค เช่น ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงตัวแปรเศรษฐกิจมหภาค นโยบายภาครัฐและกฎหมายต่างๆ รวมทั้งให้ความสนใจในภาวะเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เช่น ผลกระทบจากการรวมกลุ่มเศรษฐกิจและการค้า นโยบายและทิศทางการค้าและการเงินระหว่างประเทศ แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของการแข่งขันในการค้าโลก บทบาทของบริษัทข้ามชาติที่มีต่อสภาพแวดล้อมทางธุรกิจขององค์กร เพราะความเข้าใจเหล่านี้จะช่วยให้การตัดสินใจทางธุรกิจดีขึ้น
การซื้อของผู้บริโภค
-
พฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภค หมายถึง
พฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคขึ้นสุดท้ายที่ซื้อสินค้าและบริการไปเพื่อกินเองใช้เอง
หรือเพื่อกินหรือใช้ภายในครัวเรือน
ผู้บ...
4 ปีที่ผ่านมา
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น