Custom Search
วันพุธที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ทฤษฎีการออม

ตามแนวความคิดพื้นฐานเกี่ยวกับการออม (saving) มีนักเศรษฐศาสตร์กล่าวไว้หลายทฤษฎีด้วยกัน โดยรายละเอียดของทฤษฎีที่เกี่ยวข้องมีดังนี้ (สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, 2547, หน้า 20-24)



ทฤษฎีการออมกับกระแสรายได้และรายจ่าย

ระดับรายได้เป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดความสามารถในการออมทรัพย์ ตามทฤษฎีการใช้จ่ายอุปโภคบริโภค (การออมทรัพย์) ของ Keynes การออมทรัพย์มีความสัมพันธ์กับรายได้ภายหลังหักภาษี ถ้ารายได้หลังหักภาษีสูงขึ้นความสามารถในการออมทรัพย์จะเพิ่มสูงขึ้นด้วย อย่างไรก็ตามเมื่อรายได้หลังหักภาษีเพิ่มสูงขึ้นแล้ว การออมทรัพย์จะเพิ่มสูงขึ้นหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการกระจายของรายได้อีกด้วย ซึ่งสามารถเขียนสมการแสดงความสัมพันธ์ระหว่างรายได้ที่สามารถใช้สอยได้จริง ค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภค และปริมาณการออมได้ดังนี้

Y = C + S
กำหนดให้ Y = รายได้ที่สามารถจับจ่ายใช้สอยได้จริง
C = ค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภค
S = ปริมาณการออม




ทฤษฎีการออมกับระดับราคา

ระดับราคาก็เป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการออมทรัพย์ ถ้าระดับราคาสินค้าสูงขึ้นอำนาจในการซื้อจะลดลง นั่นหมายถึงการใช้จ่ายเงินจำนวนเท่าเดิมจะซื้อสินค้าได้น้อยลง ดังนั้น การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคที่แท้จริงจะลดลง หรือการออมที่แท้จริงจะเพิ่มสูงขึ้น การออมที่แท้จริงก็ยังคงเพิ่มขึ้นได้ ตราบเท่าที่การใช้จ่ายอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นช้ากว่าการเพิ่มขึ้นของระดับราคา ส่วนอีกเหตุผลหนึ่งก็คือ ถ้าผู้บริโภคคาดว่าระดับราคาสินค้าจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างถาวรเป็นระยะเวลานาน ก็อาจคาดได้ว่า ในอนาคตระดับราคาสินค้าจะยิ่งเพิ่มสูงขึ้น จึงทำให้ผู้บริโภคใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคในปัจจุบันมากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณการออมมีระดับลดลง




ทฤษฎีการออมกับอัตราดอกเบี้ย

จากการพิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างการออมกับระดับรายได้เป็นหลักแล้ว นอกจากระดับรายได้ตามทฤษฎี อัตราดอกเบี้ยก็สามารถส่งผลกระทบต่อปริมาณการออมได้เช่นกัน ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยในทรรศนะของนักเศรษฐศาสตร์คลาสสิกแล้วถือว่าอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลกระทบต่อปริมาณการออมได้ โดยอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงที่เป็นบวกจะเป็นสิ่งจูงใจให้ผู้ออมทำการออมมากขึ้น การออมที่แท้จริงผันแปรไปในทิศทางเดียวกันกับอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง ถ้าอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นการออมทรัพย์จะเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

ฟังก์ชันการออมตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ของสำนักคลาสสิก แสดงได้ดังนี้
S = S(r)
กำหนดให้ S = การออมที่แท้จริง
r = อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น