Custom Search
วันพุธที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2554

สถาบันการเงินระหว่างประเทศ


1. ภาวะความยุ่งยากทางการเงินของประเทศต่าง ๆ ภายหลังสงครามโลก ทำให้ประเทศต่าง ๆ เห็นพ้องกันว่า ควรจะมีการจัดตั้งสถาบันการเงินระหว่างประเทศขึ้น เพื่อให้ระบบการเงินระหว่างประเทศมีเสถียรภาพ ปราศจากการแข่งขันการลดอัตราแลกเปลี่ยน
2. สถาบันการเงินที่ตั้งขึ้นมาภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่วนใหญ่มีบทบาททางด้านการบูรณะและพัฒนา บทบาททางด้านการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และบทบาทในการให้คำแนะนำปรึกษาและให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่ประเทศต่าง ๆ
3. กองทุนการเงินระหว่างประเทศจัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2487 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางการเงินระหว่างประเทศ อำนวยความสะดวกทางด้านการค้า ส่งเสริมให้การแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศมีเสถียรภาพ และช่วยขจัดปัญหาความไม่สมดุลของดุลการชำระเงินในประเทศต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศมีสมาชิกมากกว่า 140 ประเทศ
4. บทบาทที่สำคัญของกองทุนการเงินระหว่างประเทศได้แก่ การให้ประเทศต่าง ๆ รักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศต่าง ๆ ในด้านการปรับดุลการชำระเงิน และการประคับประคองให้ระบบการเงินระหว่างประเทศเข้ากับนโยบายการเงินของแต่ละประเทศ

ตลาดเงินตราต่างประเทศ
1. ตลาดเงินตราต่างประเทศทำหน้าที่ด้านต่าง ๆ ดังนี้คือ
- หน้าที่ในการโอนอำนาจซื้อ
- หน้าที่ในการให้สินเชื่อ
- หน้าที่ในการช่วยลดความเสี่ยง
2. ประเทศสิงคโปร์เป็นศูนย์กลางที่สำคัญของตลาดเอเชียดอลล่าร์เนื่องมาจากประเทศสิงคโปร์ได้มีการปรับปรุงระเบียบการเงินที่ล้าหลังและก่อให้เกิดความไม่สะดวกให้มีความทันสมัยมากขึ้น มีการปรับปรุงระบบการเก็บภาษีเงินได้ของเงินฝากชาวต่างประเทศให้เหมาะสมยิ่งขึ้น นอกจากนั้นยังมีความได้เปรียบทางด้านระบบการควบคุมการสื่อสารมากกว่าประเทศอื่นในทวีปเอเชีย

การเปลี่ยนแปลงค่าของเงินระหว่างประเทศ
การลดค่าเงิน หมายถึง การที่ประเทศใดประเทศหนึ่งเปลี่ยนแปลงค่าเสมอภาคในเงินตราสกุลของตนให้ต่ำลง เมื่อเทียบกับเงินดอลล่าร์สหรัฐอเมริกาและทองคำ
การที่ประเทศไทยลดค่าเงินบาทลงจะมีผลทำให้ราคาสินค้านำเข้าราคาสูงขึ้น แต่ราคาสินค้าส่งออกจะต่ำลง ซึ่งจะทำให้ประชาชนในประเทศซื้อสินค้าจากต่างประเทศลดลง ชาวต่างประเทศจะซื้อสินค้าจากประเทศไทยมากขึ้น ในที่สุดเงินตราจะไหลเข้าประเทศมากขึ้น ดุลการชำระเงินในประเทศไทยจะดีขึ้น

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น