Custom Search
วันศุกร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

เงินฝืด


เงินฝืด (deflation) หมายถึงภาวะที่ระดับราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปลดลงเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง ทำให้อำนาจซื้อของเงินเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม สภาวการณ์ดังกล่าวเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ กล่าวคือ แม้ว่าราคาสินค้าจะมีแนวโน้มลดลงก็ตาม แต่จะไม่ส่งผลให้อุปสงค์มวลรวมเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากเงินฝืดเป็นภาวะที่เกิดจากปริมาณเงินที่หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจมีน้อยเกิน ไปเมื่อเทียบกับความต้องการถือเงิน ประชาชนมีเงินไม่พอที่จะใช้ในการจับจ่ายซื้อหาสินค้าและบริการ
ลักษณะของเงินฝืด


ลักษณะของเงินฝืดแบ่งออกเป็นเงินฝืดอย่างอ่อน เงินฝืดปานกลาง และเงินฝืดอย่างรุนแรงทำนองเดียวกันกับเงินเฟ้อดังนี้

เงินฝืดอย่างอ่อน (mild deflation) เป็นภาวะที่ระดับราคาของสินค้าและบริการลดลงไม่เกิน 5% ต่อปี ซึ่งค่อนข้างจะเป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากจะช่วยกระตุ้นให้ประชาชนเพิ่มการใช้จ่ายทำให้อุปสงค์มวลรวมของระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจมีการขยายตัว


เงินฝืดปานกลาง (moderate deflation) เป็นภาวะที่ระดับราคาของสินค้าและบริการลดลงเกิน 5% แต่ไม่เกิน 20% ต่อปี เงินฝืดในระดับนี้ไม่ค่อยจะเป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ กล่าวคือ การที่ราคาลดลงค่อนข้างมาก ผู้ผลิตคาดว่ากำไรหรือผลตอบแทนของกิจการลดลง ทำให้ผู้ผลิตอาจจะลดการผลิตลง เนื่องจากผลิตแล้วขายไม่ได้ เมื่อการผลิตลดจะทำให้ประชาชนมีรายได้น้อยลง ส่งผล ให้กำลังซื้อของประชาชนยิ่งน้อยลง เศรษฐกิจอาจถดถอยจนถึงจุดตกต่ำ


เงินฝืดอย่างรุนแรง (hyper inflation) เป็นภาวะที่ระดับราคาของสินค้าและบริการลดลงเกินกว่า 20% ต่อปี ซึ่งเป็นการลดลงของราคาอย่างมาก ทำให้การผลิตหยุดชะงัก คนว่างงานมาก รายได้ ของประชาชนจะลดลง ก่อให้เกิดผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจอย่างรุนแรง เศรษฐกิจเข้าสู่ระยะเศรษฐกิจตกต่ำ
สาเหตุของเงินฝืด


เงินฝืดเป็นภาวะที่อุปทานมวลรวมของระบบเศรษฐกิจมีมากกว่าอุปสงค์มวลรวม เนื่องจากปริมาณเงินที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจมีไม่เพียงพอกับความต้องการถือเงินหรือความต้องการใช้เงินของประชาชน ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุดังนี้
ธนาคารกลางพิมพ์ธนบัตรออกมาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจน้อยไป ไม่เพียงพอกับความต้องการ
การที่ประเทศมีฐานะดุลการค้า ดุลการชำระเงินขาดดุลอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานทำให้ประเทศต้องสูญเสียเงินตราให้กับต่างประเทศ ส่งผลให้ปริมาณเงินที่หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจมีน้อยลง
รัฐบาลเก็บภาษีในอัตราสูง ทำให้ปริมาณเงินจำนวนหนึ่งถูกดูดออกจากระบบ (ปริมาณ เงินน้อยลง)
สถาบันการเงินชะลอการปล่อยสินเชื่อให้แก่ระบบเศรษฐกิจ ทำให้ปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจมีไม่เพียงพอกับความต้องการ
ธนาคารกลางดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวด เช่น การที่ธนาคารกลางประกาศเพิ่มอัตราเงินสดสำรองที่ธนาคารพาณิชย์จะต้องดำรงตามกฎหมาย หรือการประกาศใช้นโยบายควบคุมการปล่อยสินเชื่อ ฯลฯ ซึ่งนโยบายดังกล่าวจะส่งผลให้ปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจน้อยลง
รัฐบาลใช้นโยบายงบประมาณแบบเกินดุล กล่าวคือ รัฐบาลมีรายได้มากกว่ารายจ่ายทำให้มีปริมาณเงินจำนวนหนึ่งถูกดูดออกจากระบบเศรษฐกิจ (ปริมาณเงินลดลง)

ผลกระทบของเงินเฟ้อ

ผลกระทบของเงินเฟ้อ

ผลที่มีต่อความต้องการถือเงิน เมื่อเกิดภาวะเงินเฟ้อจะทำให้อำนาจซื้อของเงินที่อยู่ในมือของประชาชนลดลง ทั้งนี้ เพราะเงินจำนวนเดิมสามารถใช้จับจ่ายซื้อของได้ในปริมาณที่น้อยลง และเนื่องจากแต่ละบุคคลจะพยายามรักษาระดับการบริโภคของตนให้อยู่ในระดับเดิม ทำให้ประชาชน มีความต้องการถือเงินเพิ่มขึ้นเพื่อให้พอเพียงกับระดับการใช้จ่ายหรือการบริโภคของแต่ละบุคคล ซึ่งความต้องการดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นมากหรือน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับขนาดของเงินเฟ้อที่เกิดขึ้น


มาตรฐานการครองชีพของประชาชน ผลกระทบโดยตรงที่เกิดจากเงินเฟ้อก็คือทำให้มาตรฐานการครองชีพความอยู่ดีกินดีของประชาชนลดลง ในยุคที่ข้าวยากหมากแพงประชาชนจะได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากแต่ละบุคคลจะมีความรู้สึกว่าตนเองจนลง คือมีรายได้ที่แท้จริงลดลง แม้ว่ารายได้ที่เป็นตัวเงินจะเท่าเดิมก็ตาม


ผลที่มีต่อเจ้าหนี้และลูกหนี้ เมื่อเกิดเงินเฟ้อ เจ้าหนี้จะเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เนื่องจากเงินที่ได้รับชำระหนี้ในปัจจุบันหรืออนาคตจะมีอำนาจซื้อลดลง เมื่อเทียบกับในขณะที่ให้กู้ยืมไป ตรงกันข้าม ลูกหนี้จะเป็นฝ่ายได้เปรียบเนื่องจากเงินที่ได้รับไปขณะกู้ยืมมีอำนาจซื้อสูงกว่า โดยเปรียบเทียบ กับเงินที่จะใช้ชำระหนี้ในอนาคต


ผลที่มีต่อระดับการผลิตและการลงทุนของประเทศ ขึ้นอยู่กับว่าภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นอยู่ในระดับมากน้อยเพียงใด กล่าวคือ ถ้าเป็นเงินเฟ้ออย่างอ่อนจะเป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม นั่นคือ เงินเฟ้อจะช่วยกระตุ้นให้ผู้ผลิตลงทุนเพื่อการผลิตเพิ่มขึ้น ทำให้ผลผลิตรวมของประเทศสูงขึ้น แต่ถ้าเงินเฟ้อที่ค่อนข้างรุนแรงหรือรุนแรงมากแล้ว นอกจากจะไม่เป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม แล้ว ยังก่อให้เกิดผลเสียอีกด้วย กล่าวคือ เมื่อราคาสินค้าและบริการสูงขึ้นมากกว่ากำลังซื้อของประชาชน ที่มีอยู่ จะทำให้ผลผลิตที่ผลิตขึ้นมาแล้วไม่สามารถขายได้ เนื่องจากประชาชนไม่มีกำลังซื้อเพียงพอ ในที่สุดจะส่งผลให้ผู้ผลิตลดการลงทุน ทำให้ผลผลิตรวมของประเทศลดลง ประชาชนมีรายได้น้อยลง


ผลที่มีต่อดุลการค้า ดุลการชำระเงิน เมื่อเกิดเงินเฟ้อ ราคาสินค้าในประเทศมีแนวโน้ม สูงขึ้นเมื่อเทียบกับในต่างประเทศ ทำให้สินค้าที่ส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศมีราคาแพงขึ้น เป็นผลให้ขายสินค้าให้ต่างประเทศได้น้อยลง ตรงกันข้าม จะมีการสั่งซื้อสินค้าเข้าจากต่างประเทศมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อฐานะดุลการค้า ดุลการชำระเงินของประเทศ ทำให้มีสภาพเลวลง

เงินเฟ้อ เงินฝืด

สาเหตุทางด้านอุปสงค์

เงินเฟ้อที่เกิดมาจากอุปสงค์ดึง (demand pull inflation) หมายถึงภาวะเงินเฟ้อที่เกิดจากอุปสงค์มวลรวมของระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นมากกว่าอุปทานมวลรวมของระบบเศรษฐกิจ กอปรกับในขณะนั้นระบบเศรษฐกิจอยู่ใกล้จุดที่มีการจ้างงานเต็มที่ (full employment) ซึ่งเป็นระยะที่ระบบเศรษฐกิจมีการใช้ทรัพยากรต่างๆที่มีอยู่อย่างเต็มกำลังการผลิต กล่าวคือ ไม่มีปัจจัยการผลิตเหลือพอที่จะทำการผลิตเพิ่ม จากผลของการที่อุปสงค์มวลรวมเพิ่มขึ้นโดยที่อุปทานมวลรวมของระบบเศรษฐกิจเพิ่มตามไม่ทัน ในที่สุดอุปสงค์มวลรวมส่วนเกินดังกล่าวจะเป็นแรงกดดันให้ราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปมีแนวโน้มสูงขึ้น ก่อให้เกิดเงินเฟ้อขึ้นในระบบเศรษฐกิจ


เงินเฟ้อที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างของอุปสงค์ (structural demand inflation) หมายถึงภาวะเงินเฟ้อที่เกิดจากโครงสร้างของอุปสงค์มวลรวมในระบบเศรษฐกิจเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันจนทำให้อุปทานมวลรวมไม่สามารถปรับตัวตามทัน เช่น ในภาวะที่เกิด สงคราม อุปสงค์ในสินค้าจำเป็นบางอย่างจะเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ ได้แก่ อาหาร อาวุธ ยารักษาโรค ฯลฯ จากผลดังกล่าวจะก่อให้เกิดภาวะสินค้าขาดแคลน (shortage) ทำให้สินค้าดังกล่าวมีราคาสูงขึ้น และส่งผลต่อเนื่องไปยังสินค้าและบริการในหมวดอื่นๆในระบบเศรษฐกิจทำให้สูงขึ้นตามไปด้วย นั่นคือ จะเกิดภาวะเงินเฟ้อขึ้นในระบบเศรษฐกิจ หรืออย่างกรณีที่มีการเก็งกำไรในที่ดิน อาคารที่อยู่อาศัย ตลาดหุ้น ทำให้สินค้าและบริการเหล่านี้มีราคาสูงขึ้น ส่งผลให้ระดับการใช้จ่ายรวมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มของสินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งในที่สุดจะส่งผลต่อเนื่องไปยังสินค้าและบริการหมวดอื่นๆให้มีการปรับราคาให้สูงตาม ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อขึ้น

สาเหตุของเงินเฟ้อ

ราคาของสินค้าและบริการถูกกำหนดมาจากอุปสงค์และอุปทานของตลาด และเนื่องจากภาวะเงินเฟ้อเป็นภาวการณ์ที่ระดับราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปของทั้งตลาดสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นโดยรวมแล้วนักเศรษฐศาสตร์จึงมีความเชื่อว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดเงินเฟ้อมาจากสาเหตุสำคัญ 2 ประการ คือ สาเหตุที่มาจากทางด้านอุปสงค์ และสาเหตุที่มาจากทางด้านอุปทาน เพียงแต่ว่าอุปสงค์และอุปทานดังกล่าวจะเป็นอุปสงค์และอุปทานมวลรวมของประเทศ

อุปสงค์มวลรวม (aggregate demand, AD) หมายถึงความต้องการใช้จ่ายรวมของระบบเศรษฐกิจ ซึ่งคำนวณจากผลรวมของค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคของครัวเรือน (C) + ค่าใช้จ่ายในการลงทุนของภาคธุรกิจ (I) + ค่าใช้จ่ายของรัฐบาล (G) + สินค้าส่งออกนำเข้าสุทธิ (X - M)


AD = C + I + G + (X - M)




อุปทานมวลรวม (aggregate supply, AS) หมายถึงปริมาณของสินค้าและบริการทั้งหมดที่ ระบบเศรษฐกิจนั้นผลิตขึ้นมาได้ในขณะใดขณะหนึ่ง
ลักษณะของเงินเฟ้อ


ในทางเศรษฐศาสตร์ เราแบ่งลักษณะของเงินเฟ้อออกเป็น 3 ลักษณะ คือ
ภาวะเงินเฟ้ออย่างอ่อน (mild inflation) หมายถึงภาวะที่ระดับราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปสูงขึ้นไม่เกิน 5% ต่อปี ภาวะเงินเฟ้อระดับนี้จะเป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม เนื่องจากการสูงขึ้นของราคาสินค้าและบริการแต่เพียงเล็กน้อยดังกล่าวจะเป็นแรงกระตุ้นให้ผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการลงทุนในการผลิตสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น (ได้กำไรสูงขึ้น) เมื่อมีการลงทุนมากขึ้นก็จะทำให้การจ้างงานเพิ่มขึ้น ประชาชนมีรายได้เพื่อจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น เศรษฐกิจ มีการขยายตัวสูงขึ้น
ภาวะเงินเฟ้อปานกลาง (moderate inflation) หมายถึงภาวะที่ระดับราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปสูงขึ้นเกินกว่า 5% แต่ไม่เกิน 20% ต่อปี ภาวะเช่นนี้ทำให้ประชาชนเดือดร้อน เนื่องจากค่าครองชีพสูงขึ้นโดยที่รายได้เพิ่มตามไม่ทัน ส่งผลให้ประชาชนส่วนใหญ่มีฐานะทางเศรษฐกิจ เลวลง (รายได้ที่แท้จริงลดลง)
ภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรง (hyper inflation) หมายถึงภาวะที่ระดับราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปสูงขึ้นเกินกว่า 20% เป็นสภาพที่เกิดขึ้นในฉับพลันทันที เนื่องจากราคาสินค้าสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะเวลาสั้นๆ ประชาชนประสบกับความเดือดร้อนมาก เงินที่ถืออยู่ในมือมีค่าลดลงทุกวัน จนอาจจะไม่มีค่าเลยอีกต่อไป ภาวะดังกล่าวนี้โดยมากจะเกิดขึ้นในระยะที่เกิดสงคราม จลาจล หรือเกิดภัยพิบัติต่างๆ ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม จากที่กล่าวข้างต้นเป็นแต่เพียงหลักเกณฑ์ทั่วๆไปในทางทฤษฎี ซึ่งจริงๆแล้วในทางปฏิบัติเป็นการยากที่จะระบุให้แน่ชัดว่าภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นเป็นเงินเฟ้อประเภทใด ทั้งนี้ ย่อมขึ้นอยู่กับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆเป็นสำคัญ หลักเกณฑ์ดังกล่าวสามารถใช้เป็นหลักกว้างๆในการจัดแบ่งลักษณะของภาวะเงินเฟ้อเท่านั้น