Custom Search
วันเสาร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ปัจจัยการผลิต (tactors of production)

ปัจจัยการผลิต (tactors of production) หรือทรัพยากรการผลิต หมายถึง สิ่งที่นำมาใช้ประกอบกันในการผลิตสินค้าและบริการ แบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ ที่ดิน แรงงาน ทุน และผู้ประกอบการ

1. ที่ดิน รวมถึงสิ่งที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติ ซึ่งมนุษย์ไม่ได้สร้างขึ้น เช่น น้ำ ป่าไม้ แร่ธาตุ ความหมายของคำว่าที่ดิน ในทางเศรษฐศาสตร์จะกว้างกว่าที่ใช้ทั่วไป กล่าวคือ ในการผลิตภาคเกษตรใช้ที่ดินเพื่อการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ ในภาคอุตสาหกรรมใช้ที่ดินเป็นที่ตั้งโรงงานเก็บสินค้า แต่ที่ดินยังหมายความรวมถึงทรัพยากรธรรมชาติที่เกิดเหนือดิน ภายในดิน และต่ำกว่าระดับพื้นดินด้วย เช่น น้ำ สัตว์น้ำ ป่าไม้ สัตว์ป่า ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันดิบ แร่ธาตุ เป็นต้น

2. ทุน รวมถึงเครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์ และสถานที่ที่ใช้ในการผลิต หมายถึง สิ่งที่มนษย์สร้างขึ้นสำหรับใช้ร่วมกับปัจจัยการผลิตอื่น ๆ เพื่อการผลิตสินค้าและบริการ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า สินค้าทุน (capital goods) ได้แก่ สิ่งก่อสร้าง เช่น โรงงาน ถนน สะพาน ทางรถไฟ เครื่องจักรเครื่องมือ เช่น เครื่องจักรในโรงงาน เครื่องสูบน้ำ รถแทรกเตอร์ รถบรรทุก รถไถนา สัตว์ที่ใช้แรงงาน อุปกรณ์ต่างๆ วัตถุดิบ เช่น เมล็ดพันธุ์พืช ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง น้ำมันเชื้อเพลิง เหล็กเส้นไม้แปรรูป ยางแผ่น เม็ดพลาสติก ผัก ผลไม้ ที่จะนำมาประกอบหรือแปรรูป

สินค้าทุนเหล่านี้ถือว่าเป็น ทุนที่แท้จริง (real capital)

ทุนเป็นตัวเงิน หรือ เงินทุน (money capital) ในแง่ของนักเศรษฐศาสตร์พิจารณาว่า เป็นเพียงสือกลางใช้แลกเปลี่ยน แต่ สินค้าทุน จะเป็นตัวบ่งชี้กำลังการผลิตที่เป็นจริงได้ดีกว่าเงินทุน ดังนั้นเงินทุนจึงไม่นับเป็นทุนในทางเศรษฐศาสตร์

ดอกเบี้ย (interest) เป็นผลตอบแทนของเจ้าของทุน เนื่องจากสินค้าทุนมีความยุ่งยากในการคำนวณผลตอบแทน จึงมักตีราคาเป็นตัวเงินก่อน และคำนวณหาผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยเช่นเดียวกับเงินทุน

3. แรงงาน รวมถึงกำลังกายและกำลังความคิดของคนที่ใช้ในการผลิต หมายถึง ความสามารถทั้งกำลังกายและกำลังความคิด ตลอดจนความรู้ความชำนาญของมนุษย์ ที่ใช้ไปในการผลิตสินค้าและบริการ แต่ไม่รวมถึงความสามารถในการประกอบการซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตอีกประเภทหนึ่งที่จะกล่าวในลำดับต่อไป

ผู้ใช้แรงงานหรือเจ้าของแรงงาน ซึ่งเรียกสั้นๆ ว่าแรงงาน จะได้รับ ค่าจ้าง (wages) เป็นผลตอบแทน แรงงานแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ

1) แรงงานที่มีทักษะ (skilled labor) เป็นแรงงานที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่าดี การปฏิบัติงานใช้กำลังความคิดมากกกว่าใช้แรงกาย เช่น แพทย์ สถาปนิก วิศวกร เป็นต้น

2) แรงงานที่ไม่มีทักษะ (unskilled labor) เป็นแรงงานที่ไม่ได้รับการฝึกฝนมาก่อน มักทำงานโดยอาศัยกำลังกาย เช่น คนงานรับจ้างทั่วไป คนงานขนข้าวสารในโรงสี เป็นต้น

4. ผู้ประกอบการ คือ ผู้ที่นำที่ดิน ทุน แรงงาน มาร่วมดำเนินการผลิต ผู้ประกอบการ (entrepreneur) หมายถึง ผู้ที่นำที่ดิน แรงงาน และทุนมาดำเนินการผลิตสินค้า และบริการเพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภค ผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับการผลิต สามารถคาคคะเนแนวโน้มความต้องการของผู้บริโภคและกำลังการผลิตในอนาคตได้ นอกจากนี้ยังต้องเป็นผู้ตัดสินใจว่า จะผลิตอะไร ปริมาณเท่าใด ใช้เทคนิคการผลิตแบบใด ผลิตแล้วจำหน่ายแก่ใคร ราคาต่อหน่วยเป็นเท่าใด จึงจะได้ผลตอบแทนสูงสุด ผู้ประกอบการจะต้องยอมรับการเสี่ยงในธุรกิจของตน ผลตอบแทนที่ผู้ประกอบการได้รับอยู่ในรูปของ กำไร (profit)

ผู้ประกอบการมีบทบาทสำคัญมาในการพัฒนาและสร้างความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ประเทศต่างๆ ที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจสูง ส่วนใหญ่มาจากการริเริ่มของผู้ประกอบการ ปัจจุบันประเทศไทยได้ให้ความสำคัญต่อผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium scales Enterpreneurs SMEs)

คุณธรรมของผู้ผลิต

ผู้ผลิตสินค้าและบริการเพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภค โดยปกติมีเป้าหมายที่จะแสวงหากำไรสูงสุด และใช้ต้นทุนการผลิตต่ำที่สุด แต่ในปัจจุบันจำเป็นต้องให้ความสำคัญต่อผลกระทบด้านสังคม และวัฒนธรรมร่วมด้วย นั่นคือคุณธรรมของผู้ผลิต ผู้ผลิตที่ขาดคุณธรรมและหวังแต่ผลประโยชน์ของตน จะก่อความเสียหายต่อผู้บริโภค ผู้ผลิตรายอื่น สังคมส่วนรวมและประเทศชาติ พฤติกรรมการณ์ที่ปรากฏเป็นข่าวบ่อยๆ เช่น ละเมิดสิทธิ์โดยการผลิตเทปและซีดีปลอม การผลิตเสื้อผ้า กระเป๋าเลียนแบบสินค้าต่างประเทศยี่ห้อที่มีชื่อเสียง ผลิตผลิตภัณฑ์ในครัวเรือนปลอม ใช้สีย้อมผ้าผสมอาหาร ใส่ฟอร์มาลินแช่อาหารสด ฉีดยาป้องกันกำจัดศัตรูพืชก่อนเก็บพืชผลทำให้มีสารพิษตกค้างในผักผลไม้ ปล่อยน้ำเสียจากโรงงานหรือฟาร์มลงในแม่น้ำลำคลอง เป็นการสร้างมลภาวะอันเป็นปัญหาของสังคมเป็นต้น การกระทำเหล่านี้นอกจากผิดศีลธรรมแล้ว ยังขัดต่อระเบียบช้อบังคับตามกฎหมายบ้านเมืองด้วย คุณธรรมที่สำคัญสำหรับผู้ผลิตได้แก่ ความซื่อสัตย์ และความรับผิดชอบ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น