Custom Search
วันเสาร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

คำศัพท์เกี่ยวกับ เศรษฐศาสตร์

การปล่อยเสรี = Liberalization
แนวคิดหรือนโยบายที่เปิดโอกาสให้การดำเนินกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การผลิตและการค้าเป็นไปอย่างเสรี ไม่มีการผูกขาดตัดตอนโดยรายหนึ่งรายใด ในแง่ของการปล่อยเสรีภายในประเทศก็ คือ การยกเลิกระบบผูกขาด ส่งเสริมให้มีการแข่งขันกันอย่างเต็มที ในระดับสากล ก็คือการส่งเสริมการค้าเสรี ลด หรือ ขจัดอุปสรรคหรือข้อกีดขวางทางการค้าทั้งที่อยู่ในรูปของภาษีและไม่ใช่ภาษี

หนี้สิน = Liability
โดยปกติมักหมายถึง หนี้ทางการเงิน คือจำนวนเงินที่บุคคลหรือหน่วยธุรกิจมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องชำระให้แก่บุคคลอื่น รายการที่ถือว่าเป็นหนี้สินทางบัญชี ได้แก่ เจ้าหนี้การค้า ค่าใช้จ่ายและภาษีค้างจ่าย หุ้นกู้ เงินกู้ เป็นต้น

เงินเฟ้อขั้นสูง = Hyperinflation
ภาวะที่ระดับราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปเพิ่มขึ้นในอัตราสูงหรือเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าปกติ (สูงกว่าร้อยละ 20 ต่อปี ) ถ้าสูงมากๆ เช่น ร้อยละ 100 ต่อปี อาจเรียกว่า เงินเฟ้ออย่างรุนแรง

การแปลงหนี้ = Funding
ในความหมายเดิม หมายถึงการเปลี่ยนหนี้ที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา แต่ในปัจจุบันใช้ในความหมายที่กว้างกว่า ซึ่งหมายถึงการเปลี่ยนสถานะจากการก่อหนี้ในระยะสั้นมาเป็นหนี้ในระยะปานกลางหรือระยะยาวเช่น การเปลี่ยนจากการออกตั๋วแลกเงินมาเป็นการออกพันธบัตร เป็นต้น

ตลาดเสรี = Free market
ตลาดสินค้าหรือบริการที่มีการปล่อยให้พลังของอุปสงค์และอุปทานหรือกลไกตลาด เป็นตัวกำหนดราคาและปริมาณการซื้อขายอย่างเสรี โดยปราศจากการแทรกแซงใด ๆ จากรัฐบาล ระบบเศรษฐกิจที่ส่งเสริมตลาดเสรีเรียกว่าระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี

ราคาล่วงหน้า = Forward price
ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ หลักทรัพย์ หรือเงินตรา ที่กำหนดเอาไว้ในการตกลงซื้อขายล่วงหน้า เป็นราคาที่ผู้ซื้อจะต้องจ่าย ณ วันส่งมอบหรือวันที่ได้ตกลงกัน สำหรับราคาล่วงหน้าของการซื้อขายเงินตราต่างประเทศมีชื่อเรียกเฉพาะว่า อัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า ราคาล่วงหน้าของสิ่งของชนิดเดียวกันอาจแตกต่างกันตามเวลาที่ส่งมอบและการต่อรองของผู้ซื้อขาย และราคานี้มักจะแตกต่างกับราคาซื้อขายทันที ซึ่งเป็นราคาที่ต้องส่งมอบกันในปัจจุบัน

การเชื่อมโยงไปข้างหน้า = Forward linkage
การที่หน่วยผลิตหรืออุตสาหกรรมหนึ่งมีความสัมพันธ์กับหน่วยผลิตหรืออุตสาหกรรมอื่นในลักษณะที่ผลผลิตของหน่วยผลิตหรืออุตสาหกรรมดังกล่าว ถูกนำไปใช้เป็นปัจจัยการผลิตของหน่วยผลิตหรืออุตสาหกรรมอื่น ตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมทอผ้ามีการเชื่อมโยงไปข้างหน้ายังอุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป เป็นต้น ความสัมพันธ์ในลักษณะตรงกันข้ามนี้เรียกว่า การเชื่อมโยงไปข้างหลัง

อัตราการแลกเปลี่ยนล่วงหน้า = Forward exchange rate
อัตราการแลกเปลี่ยนหรือราคาของเงินตราสกุลหนึ่งๆ กับเงินตราต่างประเทศที่ได้มีการตกลงแลกเปลี่ยนหรือซื้อขายกันไว้ล่วงหน้า โดยมีการระบุจำนวนและวันเวลาที่จะส่งมอบกันเป็นที่แน่นอนอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้านี้อาจแตกต่างจากอัตราแลกเปลี่ยนทันทีที่เกิดขึ้น ณ วันซื้อขายเดียวกัน การตกลงซื้อขายเงินตราในอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า ก็เพื่อช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ในขณะเดียวกันก็ได้กลายมาเป็นเครื่องมืออันหนึ่งในการเก็งกำไรจากการซื้อขายเงินตราต่างประเทศของนักเก็งกำไรด้วยเช่นกัน

การแปลงสภาพหนี้ = Debt conversion
การออกหุ้นหรือพันธบัตรใหม่เพื่อทดแทนหุ้นหรือพันธบัตรเก่าที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่า ทั้งนี้เพื่อลดภาระหนี้ให้น้อยลง การแปลงสภาพหนี้ยังหมายถึงการเปลี่ยนหุ้นกู้แปลงสภาพไปเป็นหุ้นสามัญ ซึ่งทำให้ฐานะของผู้ถือเปลี่ยนจากการเป็นเจ้าหนี้บริษัทไปเป็นเจ้าของบริษัท

หนี้ = Debts
จำนวนเงินหรือทรัพย์สินอื่นจำนวนหนึ่งที่บุคคลหนึ่งมีข้อผูกพันว่า จะจ่ายให้แก่อีกบุคคลหนึ่ง หนี้อาจเกิดขึ้นจากการกู้ยืมเงิน การซื้อสินค้าหรือบริการด้วยเงินเชื่อหรือเงินผ่อน เราอาจแบ่งประเภทของหนี้ตามประเภทลูกหนี้ เป็นหนี้สาธารณะ และหนี้เอกชน หรือแบ่งตามแหล่งของผู้เป็นเจ้าหนี้ เป็นหนี้ภายในประเทศ และหนี้ต่างประเทศ

หุ้นกู้ = Debenture
พันธบัตรหรือตราสารหนี้ ระยะยาวที่บริษัทออกให้แก่ผู้ถือเพื่อเป็นหลักฐานในการกู้ยืมเงินของบริษัทจากเจ้าของเงินทุน หุ้นกู้นี้มักมีการกำหนดระยะเวลาในการชำระคืนและอัตราดอกเบี้ยที่แน่นอน ไม่ว่าบริษัทจะมีกำไรหรือขาดทุน ดังนั้นเพื่อเป็นหลักประกันว่าผู้ถือจะได้รับการชำระหนี้คืน การออกหุ้นกู้จึงต้องมีมูลค่ารวมไม่เกินทุนที่ชำระแล้วของบริษัท กรณีที่รัฐบาลเป็นผู้ออกตราสารชนิดนี้นิยม เรียกว่า พันธบัตร

เงินแพง = Dear money
ภาวะที่อัตราดอกเบี้ยสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยในอดีต เนื่องจากอุปทานของเงินมีน้อยเมื่อเทียบกับอุปสงค์ของความต้องการถือเงิน ภาวะที่ตรงกันข้ามกับเงินแพงเรียกว่า เงินถูก

ต้นทุนค่าเสียหาย = Damage cost
ต้นทุนที่เกิดจากการก่อให้เกิดความเสียหาย โดยปรกติมักใช้จำเพาะกับความเสียหายจากการก่อมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม การคิดต้นทุนค่าเสียหายเป็นตัวเงินค่อนข้างจะยุ่งยากในทางปฏิบัติ เพราะยากต่อการตีค่าของความเสียหายที่เกิดขึ้น เช่น การตีค่าความตาย การบาดเจ็บ การสูญเสียป่าไม้ สัตว์ป่า หรือแหล่งน้ำ เป็นต้น ต้นทุนค่าเสียหาย

การปรับภาษีที่พรมแดน = Bonder tax adjustment
การเพิ่มหรือลดอัตราภาษีทางอ้อม เช่น ภาษีการค้า ภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่เรียกเก็บจากสินค้าออกของประเทศภาคีตามกฎของGATT ทั้งนี้ก็เพื่อให้ระบบภาษีที่จัดเก็บภายในประเทศไม่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกสินค้าผ่านพรมแดนของประเทศนั้น ๆ

ผลตอบเเทนจากพันธบัตร = Bond yield
ผลตอบแทนที่ผู้ถือพันธบัตรจะได้รับจากพันธบัตรนั้น ผลตอบแทนที่ได้อาจจะอยู่ในรูปของอัตราดอกเบี้ยเมื่อครบกำหนด หรือผลตอบแทนจากส่วนต่างระหว่างราคาซื้อและราคาขายในกรณีที่ผู้ถือขายพันธบัตรนั้นให้แก่บุคคลอื่น ผลตอบแทนส่วนหลังนี้เรียกว่า ผลกำไรจากมูลค่าทุน

ตลาดพันธบัตร = Bond market
สถานที่หรือช่องทางในการตกลงซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนพันธบัตร อาจจะมีการตกลงซื้อขายพันธบัตรนั้นเฉพาะภายในประเทศโดยผ่านตัวแทนนายหน้า ที่ทำหน้าที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์หรืออาจมีการซื้อขายกันระหว่างประเทศ ตลาดพันธบัตรระหว่างประเทศที่มีชื่อเสียงคือ ตลาดพันธบัตรยูโร

คลังสินค้าทัณฑ์บน = Bonded warehouse
สถานที่ที่ใช้เก็บสินค้าที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ โดยที่ยังไม่มีการชำระภาษีนำเข้า ทั้งนี้ก็เพื่อรอให้มีการชำระภาษีให้เสร็จสิ้นเสียก่อน หรือในกรณีที่ผู้ผลิตได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าวัตถุดิบที่นำมาผลิตเพื่อการส่งออก ในช่วงที่นำเข้ามาในประเทศจะต้องผ่านคลังสินค้าทัณฑ์บนนี้เสียก่อนเช่นกัน

พันธบัตร , ตราสารหนี้ = Bond
ตราสารทางการเงินที่ออกโดย รัฐบาล รัฐวิสาหกิจ บริษัทเอกชน หรือองค์กรระหว่างประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะกู้ยืมเงินจากบุคคลอื่น โดยวิธีนำตราสารดังกล่าวออกขาย ผู้ออกพันธบัตรนั้น สัญญาว่าจะจ่ายเงินกลับคืนพร้อมดอกเบี้ยให้แก่ผู้ถือเมื่อกำหนด พันธบัตรเป็นตราสารที่สามารถโอนหรือเปลี่ยนมือกันได้ พันธบัตรที่ออกโดยเอกชนนิยมเรียกว่า หุ้นกู้ ซึ่งหุ้นกู้บางประเภทสามารถแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญได้ในภายหลัง ตามเงื่อนไขและเงื่อนเวลาที่กำหนดไว้

ตลาดมืด = Black market
ตลาดที่มีการซื้อขายสินค้าในราคาที่ผิดกฎหมาย เกิดจากผลการควบคุมราคาสินค้าโดยรัฐบาล เช่น การกำหนดราคาขั้นสูงของสินค้า อัตราการแลกเปลี่ยนเงินตรา เป็นต้น ในกรณีนี้จะก่อให้เกิดการขาดแคลนหรือเกิดอุปสงค์ส่วนเกินขึ้น หากไม่สามารถควบคุมหรือควบคุมได้ไม่ทั่วถึงจะทำให้มีการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนกันในราคาหรืออัตราที่สูงกว่ารัฐบาลกำหนดไว้

เงินเฟ้อคืบคลาน = Creeping inflation
การสูงขึ้นของระดับราคาโดยทั่วไปที่เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ และต่อเนื่อง ซึ่งดูจะไม่รุ่นแรงในระยะสั้น แต่ในระยะยาวแล้ว อาจจะทำให้ระดับราคาทั่วไปเพิ่มขึ้นมากจนอาจจะมีผลให้การลดอำนาจซื้อของเงินลงเรื่อย ๆ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น