Custom Search
วันจันทร์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2553

การตัดสินใจ

การตัดสินใจ เป็นเรื่องที่ผู้บริหารต้องทำความเข้าใจ เพราะเป็นประโยชน์ในการบริหารองค์กรให้มีประสิทธิภาพ ต้องมีข้อมูลข่าวสารที่ทันสมัยมาประกอบการตัดสินใจ แต่ถ้าไม่มั่นใจในข้อมูลข่าวสารให้ใช้ประสบการณ์และวิจารณญาณเป็นหลัก
การตัดสินใจ หมายถึง กระบวนการในการพัฒนาทางเลือกในการแก้ปัญหาใดๆ จนเกิดความมั่นใจในทางเลือกนั้น
การตัดสินใจ แบ่งเป็น
1. การตัดสินใจแบบมีโครงสร้าง (Programmed Decision) หมายถึง การตัดสินใจที่เกิดขึ้นเสมอ และมีลักษณะการตัดสินใจในงานประจำ ผู้ตัดสินใจเป็นระดับล่าง และใช้เวลาสั้นๆ ในการตัดสินใจ
เทคนิคที่ใช้ประกอบการตัดสินใจ ได้แก่
1.1 ใช้วิธีการที่เคยปฏิบัติมา
1.2 ใช้กฎระเบียบขององค์กร
1.3 ตัดสินใจตามโครงสร้างขององค์กร
1.4 ใช้เทคนิคการวิจัยการดำเนินงาน
1.5 ใช้กระบวนการทางคอมพิวเตอร์
2. การตัดสินใจแบบไม่มีโครงสร้าง (Non - Programmed Decision) หมายถึง การตัดสินใจที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ไม่สามารถนำกฎเกณฑ์ที่มีอยู่มาประกอบการตัดสินใจได้ทันที จำเป็นต้องปรับปรุงทางเลือกให้เหมาะสมกับเงื่อนไขและสถานการณ์ ผู้ตัดสินใจเป็นระดับบน และใช้เวลานานในการตัดสินใจ
เทคนิคที่ใช้ประกอบการตัดสินใจ ได้แก่
2.1 ใช้ดุลพินิจและความคิดสร้างสรร
2.2 ใช้การคัดเลือกและฝึกอบรมผู้บริหาร
2.3 ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่มีความสลับซับซ้อนสูงเข้าไปประยุกต์ใช้ เพื่อการตัดสินใจ
การตัดสินใจภายใต้สถานการณ์ต่างๆ แบ่งเป็น
1. ความแน่นอน (Certainty)
ผู้บริหารรู้ทางเลือกทุกทางว่ามีเงื่อนไขอย่างไร และ มีผลอย่างไร
การตัดสินใจผู้บริหารจะต้องรู้ข้อมูลข่าวสารทุกอย่างที่สำคัญและจำเป็นต่อสถานการณ์นั้นๆ
2. ความไม่แน่นอน (Uncertainty)
ผู้บริหารไม่รู้ว่าทางเลือกทั้งหมดมีอะไรบ้าง และ ไม่รู้ว่าผลจะเป็นอย่างไร
การตัดสินใจจึงต้องตั้งสมมติฐานเกี่ยวกับสถานการณ์และวิเคราะห์ตามเหตุและผล ถ้าตั้งสมมติฐานผิด ย่อมตัดสินใจผิดพลาดเช่นกัน
3. ความคลุมเครือ (Ambiguity)
ผู้บริหารไม่รู้ว่าปัญหา และ เป้าหมายของการตัดสินใจคืออะไร
การกำหนดทางเลือกทำได้ยาก ทำให้การตัดสินใจมักจะประสบความล้มเหลว
4. ความเสี่ยง (Risk)
ผู้บริหารรู้ทางเลือก แต่ไม่รู้ผลของแต่ละทางเลือก
การตัดสินใจผู้บริหารจึงใช้ข้อมูลที่มีความน่าจะเป็นของแต่ละทางเลือกในการคาดการณ์ความสำเร็จหรือความล้มเหลว
5. ความขัดแย้ง (Conflict)
เกิดจากแรงกดดันของแหล่งต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นได้ใน 2 ระดับ
• ความขัดแย้งในตนเอง เกิดจากการพบทางเลือกที่น่าสนใจมากมาย และ ไม่มีทางเลือกที่น่าสนใจเลย
• ความขัดแย้งระหว่างบุคคลหรือกลุ่ม เกิดจากความคิดเห็นไม่ตรงกันเป็นส่วนใหญ่

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น