Custom Search
วันศุกร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ตลาดในความหมายของวิชาเศรษฐศาสตร์

ตลาดในความหมายของวิชาเศรษฐศาสตร์ หมายถึง ที่ ๆ มีกิจกรรมการตกลงซื้อขายสินค้า บริการ รวมทั้งปัจจัยการผลิต เช่น แรงงาน ซึ่งจะกินความหมายกว้างกว่าตลาดที่เรารู้จักกันอยู่ทั่วไป โดยตลาดอาจมีได้หลายแบบ ตั้งแต่ตลาดภายในประเทศ ตลาดขายส่ง ตลาดขายปลีก ตลาดต่างประเทศ ตลาดผลผลิต ตลาดปัจจัยการผลิต ตลาดการเงิน ตลาดเงินตราต่างประเทศหรือตลาดอัตราแลกเปลี่ยนที่ได้ยินกันบ่อยๆ  รวมไปถึงตลาดซื้อขายล่วงหน้า เช่น ตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า เป็นต้น ซึ่งการที่ตลาดมีอยู่หลายแบบ เพราะเป็นการกำหนดจากผู้เรียกว่าจะเรียกตลาดโดยแบ่งตามหลักเกณฑ์อะไร เช่น หลักเกณฑ์ตามขอบเขตทางภูมิศาสตร์ ตามชนิดของสินค้าที่ขายอยู่ในตลาด หรือตามสภาพของการซื้อขายที่เกิดขึ้น รวมทั้งหลักเกณฑ์อื่น ๆ
                  จะเห็นได้ว่าตลาดในวิชาเศรษฐศาสตร์จะมีความหมายกว้างกว่าตลาดที่เราเห็นอยู่ทั่วๆ ไป เนื่องจากอาจจะไม่จำเป็นต้องมีตัวสถานที่ซื้อขายที่เป็นตลาดจริง ๆ ก็ได้ แต่ที่สำคัญคือ ตัวกิจกรรมในการซื้อขายมากกว่า

                 โครงสร้างของตลาดในทางเศรษฐศาสตร์ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ตามลักษณะของผู้ซื้อ ผู้ขาย และลักษณะการดำเนินกิจกรรมในตลาด ได้แก่

1. ตลาดแข่งขันสมบูรณ์ (Perfectly competitive market)
2. ตลาดแข่งขันไม่สมบูรณ์ (Imperfectly competitive market) ซึ่งแบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ ได้อีก 2 ประเภทได้แก่
           1) ตลาดผูกขาดที่แท้จริง (Pure monopoly market)
           2) ตลาดกึ่งแข่งขัน กึ่งผูกขาด (Monopolistic competitive market)
วิธีดูว่าตลาดเป็นแบบใด ให้ดูลักษณะของผู้ซื้อ ผู้ขาย และลักษณะการดำเนินกิจกรรมในตลาดที่สำคัญได้แก่ การตั้งราคาของผู้ขาย

ตลาดผูกขาด

ตลาดผูกขาดเป็นตลาดที่มีลักษณะตรงกันข้ามกับตลาดแข่งขันสมบูรณ์ โดยผู้ขายหรือธุรกิจที่อยู่ในตลาดแห่งมีเพียงรายเดียวเท่านั้นเพราะฉะนั้นลักษณะของอุปสงค์ในตลาดนี้จึงมีความชันเป็นลบ นอกจากนี้ยังเป็นตลาดที่สามารถทำให้เกิดกำไรได้ในระยะยาวเพราะตลาดประเภทนี้มีกำแพงหรืออุปสรรคที่กีดกันไม่ให้ผู้แข่งรายอื่นสามารถเข้ามาแข่งขันได้ ต่อไปนี้จะได้กล่าวถึงปัจจัยสำคัญ 4 ประการที่ทำให้เกิดตลาดผูกขาด คือ
                 1) ความเป็นผู้ผูกขาดโดยความสามารถควบคุมปัจจัยการผลิตที่สำคัญไว้ได้ ตัวอย่างเช่น ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่บริษัท Aluminum company of america (Alcoa) สามารถควบคุมปัจจัยการผลิตที่สำคัญในการนำไปผลิตเป็นอลูมิเนียม ทำให้เกิดเป็นลักษณะของการผูกขาดขึ้นในการผลิตอลูมิเนียมในสหรัฐฯ
                 2) ความเป็นผู้ผูกขาดโดยการเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หรือสิทธิบัตรซึ่งจะเป็นเหตุให้คู่แข่งขันไม่สามารถผลิตสินค้าหรือบริการชนิดเดียวกันนี้ได้อีก ตัวอย่างเช่น การเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ของ บริษัท DuPont ในการผลิตกระดาษแก้ว หรือ บริษัท Xerox เป็นเจ้าลิขสิทธิ์เครื่องถ่ายเอกสารหรือ บริษัท Merck เป็นเจ้าของยาป้องกันโรคเอดส์
                 3) ในบางอุตสาหกรรมการผลิตที่ทำให้เกิดการประหยัดจากขนาด (Economy of Scale) จำเป็นต้องมีผู้ผลิตเพียงรายเดียวเพราะตลาดที่จะรองรับสินค้ามีขนาดจำกัด เพราะฉะนั้นการมีผู้ผลิตหลายรายจึงทำให้สินค้าล้นตลาด ผู้ผลิตรายใหญ่เพียงรายเดียวจึงมีต้นทุนที่ต่ำกว่าการมีผู้ผลิตรายย่อยหลายๆราย การผูกขาดลักษณะนี้จึงเป็นการผูกขาดโดยธรรมชาติ(Natural monopoly) ตัวอย่างเช่น การผลิตสินค้าประเภทสาธารณูปโภค ได้แก่ ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ เป็นต้น
                4) การผูกขาดที่เกิดจากอำนาจของรัฐบาล การผลิตสินค้าหรือบริการที่รัฐบาลเข้าควบคุมอย่างใกล้ชิดเพราะอาจจะเป็นสินค้าที่ส่งผลกระทบต่อคนส่วนใหญ่ของประเทศหรืออาจเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศ โดยรัฐบาลอาจเข้าดำเนินธุรกิจเองหรือให้สัมปทานกับธุรกิจเป็นการทำสัญญาระยะยาวอาจจะเป็น 10 - 20 ปี ตัวอย่างเช่น การผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สัญญาณโทรศัพท์มือถือ โรงงานยาสูบ ขนส่งมวลชน เป็นต้น ผู้ที่ได้รับสัมปทานจะได้รับความคุ้มครองจากรัฐให้ทำการผลิตสินค้าหรือบริการ

ลักษณะของตลาดผูกขาด

1, มีผู้ขายเพียงรายเดียว ดังนั้นเมื่อกล่าวถึงหน่วยผลิต (firm) จึงหมายถึงอุตสาหกรรม (industry) อุปสงค์ของผู้ผลิตผูกขาด (monopolist' s demand curve) จึงเป็นเส้นอุปสงค์ของตลาด (market demand curve)
2. สินค้าที่ผลิตขึ้นแตกต่างจากสินค้าของผู้ผลิตรายอื่น (product differentiation) และไม่สามารถใช้สินค้าชนิดอื่นทดแทนได้จึงทำให้ผู้ผูกขาดสามารถที่จะควบคุมราคาที่คิดจากลูกค้าได้ ผู้ผูกขาดจึงเป็นผู้กำหนดราคาสินค้า (price maker)
3. ผู้ผูกขาดไม่มีคู่แข่งขันโดยตรงอันอาจเนื่องจากได้รับลิขสิทธิ์หรือสัมปทานในการผลิต หรือเป็นผู้รู้เทคนิคการผลิตแต่เพียงผู้เดียว

Economic growth

ความสามารถในการผลิต (Productivity) หมายถึง ระดับเฉลี่ยของผลผลิตต่อคนงานต่อชั่วโมง เป็นการวัดประสิทธิภาพของการผลิตสำหรับระบบเศรษฐกิจแต่ละระบบ การเพิ่มขึ้นของความสามารถในการผลิตเป็นผลจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะทำให้แรงงานสามารถผลิตสินค้าและบริการได้จำนวนมากขึ้น

   การวัดผลผลิตทางเศรษฐกิจแห่งชาติของแต่ละประเทศ ทำได้โดยใช้
ผลิตภัณฑ์ประชาชาติเบื้องต้น (Gross National Product หรือ GNP) ซึ่งหมายถึง มูลค่ารวมของสินค้าและบริการทั้งหมดที่ผลิตโดยประชาชนประเทศนั้นในงวดเวลาที่กำหนด (ปกติภายในระยะเวลา 1 ปี) และการที่จะวัดรายได้ประชาชาติ (GNP) ของประเทศใดสมควรใช้ GNP ต่อคน (GNP per Capita) จึงจะทราบถึงความเจริญเติบโตที่แท้จริง

   นักเศรษฐศาสตร์อาจนิยมใช้ผลิตภัณฑ์ประชาชาติในประเทศเบื้องต้น (Gross Domestic Product หรือ GDP) ซึ่งหมายถึง มูลค่ารวมของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายที่ผลิตขึ้นได้ภายในประเทศในระยะ เวลา 1 ปี มาเป็นเครื่องวัดผลการดำเนินงานทางด้านเศรษฐกิจ คำนิยามของผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือ GDP นี้จะคล้ายกับ GNP มาก แต่มีข้อแตกต่างคือ GDP จะไม่รวมรายได้สุทธิจากต่างประเทศ

   
ชนิดของการแข่งขัน
ระบบตลาดเสรี (Free - Market System) แสดงให้เห็นการแข่งขันระหว่างผู้ขายสินค้าและทรัพยากร          นั
กเศรษฐศาสตร์แบ่งการแข่งขันในตลาดออกเป็น 4 ตลาด คือ
1. ตลาดแข่งขันสมบูรณ์ (Pure Competition) เป็นสถานการณ์ทางตลาดที่มีผู้ซื้อและผู้ขายสินค้าชนิดเดียวกันหลายราย แต่ไม่มีใครมีอิทธิพลมากพอที่จะควบคุมราคาสินค้านั้นได้ เพราะสินค้ามีลักษณะคล้ายคลึงกัน สามารถใช้ทดแทนกันได้อย่างสมบูรณ์ การเข้าสู่ตลาดหรือออกจากตลาดของผู้ผลิตเป็นไปโดยง่าย ตลอดจนผู้ซื้อและผู้ขายมีความรู้เกี่ยวกับตลาดเป็นอย่างดี ความจริงแล้วตลาดชนิดนี้ไม่มีอยู่จริงในโลก และถือเป็นเพียงตลาดในอุดมคติ (Ideal Market) เท่านั้น

2. ตลาดกึ่งแข่งขันกึ่งผูกขาด (Monopolistic Competition) เป็นตลาดที่มีสภาพใกล้เคียงกับความ เป็นจริงในปัจจุบันมากที่สุด คือ เป็นระบบตลาดที่มีผู้ขายจำนวนมาก โดยขายผลิตภัณฑ์แตกต่างกัน ทั้งนี้ในการเข้าสู่ตลาดหรือออกจากตลาดในระยะยาวจะค่อนข้างง่าย เช่น ระบบตลาดของไทย และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

3. ตลาดที่มีผู้ขายน้อยราย (Oligopoly) เป็นตลาดที่มีผู้ขายตั้งแต่ 2 รายขึ้นไป โดยทั่วไปเป็นผู้ขายรายใหญ่ ทั้งจำนวนเงินลงทุนและขนาดของกิจการ โดยอาจจะขายผลิตภัณฑ์ที่เหมือนกันหรือต่างกันก็ได้ เช่น ตลาดน้ำอัดลมของไทย เป็นต้น

4. ตลาดผูกขาด (Monopoly) คือ ตลาด (หรืออุตสาหกรรม) ที่มีผู้ขายเพียงรายเดียว โดยเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีผลิตภัณฑ์ใดทดแทนได้ เช่น การผลิตบุหรี่ของโรงงานยาสูบ การผลิตไฟฟ้า ประปา เป็นต้น