Custom Search
วันพุธที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

เศรษฐศาสตร์กับความต้องการของชีวิต

ธุรกิจเกิดขึ้นจากปัจจัยที่เป็นความต้องการของมนุษย์ซึ่งจากเกิดจากความต้องการทั้งทางด้านร่างกาย เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ หรือเป็นสิ่งที่จรรโลงจิตใจทำให้เกิดกำลังใจในการที่จะดำเนินชีวิตต่อไปได้ การสร้างงานที่สอดคล้องกับความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ด้วยความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการจึงจะสร้างธุรกิจใหม่ขึ้นมาได้

ลักษณะความต้องการของมนุษย์

ความต้องการของมนุษย์มีความต้องการหลายสิ่งหลายอย่างด้วยกัน ดังที่กล่าวกันว่า มนุษย์มีความต้องการที่ไม่มีที่สิ้นสุด การทำความเข้าใจความต้องการของมนุษย์ตามหลักการและแนวคิดต่าง ๆ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการคิดที่จะนำไปสู่การสร้างงานเพื่อธุรกิจ แนวคิดตามความต้องการของมนุษย์

มนุษย์ทุกคนเกิดมามีความต้องการที่เป็นสัญชาตญาณเพื่อให้ตนมีชีวิตอยู่ ทันทีที่ทารกมีชีวิตอยู่ในโลกภายนอกโดยไม่มีอาหารและอากาศที่ได้รับจากแม่ ก็จะแสดงความต้องการพื้นฐานตามธรรมชาติด้วยการร้องเพื่อนำอากาศเข้าสู่ปอดเป็นการหายใจได้ และไขว่คว้าเพื่อแสวงหาอาหารด้วยการส่ายหัวไปมา ทารกจะมีสัญชาตญาณของการแสวงหาอาหารติดตัวมาแต่กำเนิด เมื่อมีวัตถุมากระทบบริเวณริมฝีปากก็จะอ้าปากและหันศีรษะเข้าหาวัตถุนั้น สิ่งเหล่านี้เป็นความต้องการทางด้านร่างกายซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญที่สุด

ความต้องการด้านจิตใจ เป็นความรู้สึกและอารมณ์ที่เป็นความต้องการของมนุษย์ นอกเหนือไปจากความต้องการทางด้านร่างกาย ได้แก่ ความต้องการความรักและการยอมรับ ความต้องการความเข้าใจ ความต้องการนี้ส่งผลให้จิตใจรู้สึกเป็นสุข จะเห็นได้ว่าเด็ก ๆ ต้องการมีพ่อแม่ที่คอยอุ้มชู และอยู่ใกล้ ๆ แต่ก็จะส่งผลให้เกิดความทุกข์ด้วยการแสดงอาการไม่พอใจ เซื่องซึมเพื่อถูกจับแยกออกจากคนที่เคยใกล้ชิด ความต้องการรักผู้อื่นและอยากให้ผู้อื่นรัก เป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์แสดงพฤติกรรมไปในทางที่จะให้ได้ผลลัพธ์นั้น ความต้องการอยากให้คนอื่นเข้าใจ เห็นใจ รับรู้ตัวตนและเห็นความสำคัญ เป็นความต้องการที่สร้างความสุขและความทุกข์ให้กับมนุษย์ได้ในขณะเดียวกัน

ความต้องการด้านจิตใจนี้นำมาซึ่งสาเหตุที่ทำให้มนุษย์ขวนขวายที่จะสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ก่อให้เกิดสังคมที่พึ่งพาอาศัยกัน และก่อให้เกิดการคล้อยตามและความร่วมมือ นอกจากนี้การที่มนุษย์มีผู้อื่นอยู่ด้วยทำให้ต้องสร้าง กฎกติกาเพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ กฎกติกานี้เองที่ทำให้เกิดความต้องการอำนาจเหนือผู้อื่น และความต้องการที่จะมีความก้าวหน้าไปกว่าคนอื่น ๆ พฤติกรรมการแข่งขัน การเอารัดเอาเปรียบจึงเกิดขึ้น นอกเหนือไปจากการสร้างความร่วมมือกัน

นักจิตวิทยาชื่อ อับราฮัม มาสโลว์ ได้ทำการศึกษาความต้องการของมนุษย์และได้ตั้งทฤษฎีความต้องการตามลำดับขึ้นเพื่ออธิบายพฤติกรรมของมนุษย์ที่สัมพันธ์กับลำดับขั้นของความต้องการที่แตกต่างกัน ไว้ดังนี้

ความต้องการขั้นที่ 1 เป็นความต้องการพื้นฐานทางร่างกายเพื่อการดำรงชีวิต ซึ่งความต้องการในขั้นนี้มีความต้องการที่อยู่ในลำดับขั้นย่อย ๆ ด้วย เช่น ความต้องการอากาศจะเป็นความต้องการเป็นอันดับแรก น้ำ อาหาร ยารักษาโรค และความต้องการทางเพศ เป็นต้น มีเรื่องเล่าว่านักเรียนตัวน้อยถูกขังไว้ในห้องน้ำ แล้วด้วยความไม่รอบคอบของโรงเรียนที่ใส่กุญแจห้องน้ำ เนื่องจากโรงเรียนปิดเทอมจึงไม่ต้องการให้ใครมาใช้ห้องน้ำของโรงเรียน ทำให้เด็กถูกขังไว้หลายวัน ในวันเปิดเทอมพบว่าเด็กคนนั้นตาย จากการตรวจพบว่า เด็กกินกระดาษที่อยู่ในห้องน้ำและสันนิษฐานว่าคงดื่มน้ำในโถส้วมก่อนตายด้วยความหิว

ความต้องการขั้นที่ 2 เป็นความต้องการด้านความปลอดภัย เครื่องนุ่งห่ม เสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย เพื่อให้ความปลอดภัยแก่ร่างกายจึงเป็นลำดับขั้นที่มนุษย์ใฝ่หา ดังจะเห็นได้ว่า เด็กขายพวงมาลัยบางคนจะวิ่งข้ามถนนตัดหน้ารถยนตร์โดยไม่กลัวอันตรายถ้ายังขายได้เงินไม่เพียงพอ หรือพวกเร่ร่อนจะนอนใต้สะพานลอยโดยไม่กลัวอันตราย

ความต้องการขั้นที่ 3 เป็นความต้องการที่เริ่มต้นในเรื่องของจิตใจ คือ ความต้องการการยอมรับความเข้าใจ ดังนั้นมนุษย์จึงแสดงออกในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การยอมให้สิ่งของ ยอมเสียเวลา หรือยอมอดทนในบางเรื่อง หรือต้องเสียสละเพื่อให้มีการยอมรับว่าเป็นเพื่อน บางคนถึงกับซื้อของมากำนัลกันเพื่อให้ได้รับการยอมรับว่าเป็นเพื่อน

ความต้องการขั้นที่ 4 เป็นความต้องการที่จะเป็นบุคคลที่มีเกียรติยศชื่อเสียง ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้า มีอำนาจสั่งการ มีลูกน้องคอยดูแลรับใช้ และมีบารมีที่คนทั่วไปให้การยกย่องและนับถือ ความต้องการขั้นนี้จึงมีการให้ที่มากกว่าปกติธรรมดาเพื่อแสดงว่าตนสามารถเป็นที่พึ่งผิง ให้ความคุ้มครองให้แก่กลุ่มเพื่อนได้ บางครั้งอาจมาในรูปแบบของการแสดงความเป็นนักเลง การแสดงความสามารถของบุคคลที่เหนือคนอื่นเพื่อให้ได้รับเกียรติยศจากกลุ่ม เป็นต้น

ความต้องการขั้นที่ 5 เป็นความต้องการเข้าใจตนเองที่แท้จริง ซึ่งเป็นความรู้สึกว่าตนบรรลุความสำเร็จที่เป็นความภาคภูมิใจโดยปราศจากเงื่อนไขหรือความคับข้องใจใด ๆ ในขั้นนี้พบว่าบุคคลจะพบความสุขในชีวิตด้วยการมองเห็นภาพตนเองที่เป็นจริงด้วย

มาสโลว์กล่าวว่า ความต้องการของมนุษย์ไม่มีวันสิ้นสุด ดังนั้น ความต้องการจึงหมุนเวียนเป็นวัฐจักร ดังนั้นการที่จะก้าวขั้นความต้องการของไปทั้ง ๆ ที่ยังรู้สึกไม่เต็มอิ่มกับความต้องการในขั้นนั้น ๆ ทำให้เกิดความกระวนกระวายใจและหาโอกาสที่จะเติมเต็มความต้องการนั้นอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นการก้าวไปตามขั้นตอนอย่างมีความรู้สึกที่เพียงพอจึงเป็นผลที่ทำให้บุคคลมีพฤติกรรมที่สมดุล แต่อย่างไรก็ตามบุคคลจะต้องรู้สึกว่าความต้องการในขั้นต้นนั้นว่ามีความเพียงพอเสียก่อนจึงจะก้าวไปสู่ความต้องการในขั้นต่อไปได้

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น