Custom Search
วันพุธที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

การลงทุน” (investment)


“การลงทุน” (investment) หมายถึง การซื้ออสังหาริมทรัพย์หรือหลักทรัพย์ของบุคคลหรือสถาบัน ซึ่งให้ผลตอบแทนเป็นสัดส่วนกับความเสี่ยงตลอดเวลาอันยาวนานประมาณ 10 ปี แต่อย่างต่ำไม่ต่ำกว่า 3 ปี การลงทุนแบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ 3 ประเภท คือ (เพชรี ขุมทรัพย์, 2544, หน้า 1-2)

1. การลงทุนเพื่อการบริโภค (consumer investment)
2. การลงทุนในธุรกิจ (business or economic investment)
3. การลงทุนในหลักทรัพย์ (financial or securities investment)

การลงทุนเพื่อการบริโภค (consumer investment) การลงทุนของผู้บริโภคจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการซื้อสินค้าประเภทคงทนถาวร (durable goods) เช่น รถยนต์ เครื่องดูดฝุ่น เครื่องซักผ้า ตู้เย็น โทรทัศน์ เป็นต้น การลงทุนในลักษณะนี้ไม่ได้หวังในกำไรในรูปของตัวเงิน แต่ผู้ลงทุนหวังความพอใจในการใช้สินทรัพย์เหล่านั้นมากกว่า

การซื้อบ้านเป็นที่อยู่อาศัยถือได้ว่าเป็นการลงทุนอย่างหนึ่งของผู้บริโภค หรือที่เรียกว่า ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (real estate investment) เงินที่จ่ายซื้อเป็นเงินที่ได้จากการออม การซื้อบ้านเป็นที่อยู่อาศัยนอกจากจะให้ความพอใจแก่เจ้าของแล้ว ในกรณีที่อุปสงค์ (demand) ในที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นมากกว่าอุปทาน (supply) มูลค่าของบ้านที่ซื้อไว้อาจสูงขึ้น หากขายจะได้กำไรซึ่งถือได้ว่าเป็นเพียงผลพลอยได้

การลงทุนในธุรกิจ (business or economic investment) การลงทุนในความหมายเชิงธุรกิจ หมายถึง การซื้อทรัพย์สินเพื่อประกอบธุรกิจหารายได้ โดยหวังว่าอย่างน้อยที่สุดรายได้ที่ได้นี้เพียงพอที่จะชดเชยกับความเสี่ยงในการลงทุน มีข้อสังเกตว่าเป้าหมายในการลงทุนของธุรกิจ คือกำไร กำไรจะเป็นตัวดึงดูดผู้ลงทุนนำเงินมาลงทุน การลงทุนตามความหมายนี้จะกล่าวโดยสรุปได้ว่า เป็นการนำเงินออม (saving) หรือเงินที่สะสมไว้(accumulated fund) และ/หรือเงินกู้ยืมจากธนาคาร (bank credit) มาลงทุนเพื่อจัดสร้างหรือจัดหาสินค้าประเภททุน ซึ่งประกอบด้วยเครื่องจักร อุปกรณ์ และสินทรัพย์ประเภทอสังหาริมทรัพย์ได้แก่ การลงทุนในที่ดิน โรงงาน และอาคารสิ่งปลูกสร้าง เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ผลิตสินค้า และบริการเพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภค ธุรกิจที่ลงทุนในสินทรัพย์เหล่านี้มุ่งหวังกำไรจากการลงทุนเป็นผลตอบแทน

การลงทุนในหลักทรัพย์ (financial or securities investment) การลงทุนตามความหมายทางการเงิน หรือการลงทุนในหลักทรัพย์ที่เป็นการซื้อสินทรัพย์ (asset) ในรูปของหลักทรัพย์ (securities) เช่น พันธบัตร (bond) หุ้นกู้หรือหุ้นทุน (stock) การลงทุนในลักษณะนี้เป็นการลงทุนทางอ้อม ซึ่งแตกต่างจากการลงทุนทางธุรกิจ ผู้มีเงินออมเมื่อไม่ต้องการที่จะเป็นผู้ประกอบธุรกิจเอง เนื่องจากมีความเสี่ยงหรือผู้ออมยังมีเงินไม่มากพอ ผู้ลงทุนอาจนำเงินที่ออมได้จะมากหรือน้อยก็ตามไปซื้อหลักทรัพย์ที่เขาพอใจที่จะลงทุนโดยให้ผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ย หรือเงินปันผลแล้วแต่ประเภทหลักทรัพย์ที่ทำการลงทุน นอกจากนี้ผู้ลงทุนอาจจะได้ผลตอบแทนอีกลักษณะหนึ่งก็คือ กำไรจากการขายหลักทรัพย์ (capital gain) หรือการขาดทุนจากการขายหลักทรัพย์ (capital loss) อัตราผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนได้จากการลงทุนที่เรียกว่า yield ซึ่งไม่ได้หมายถึงอัตราดอกเบี้ยหรือเงินปันผลที่ได้รับเพียงอย่างเดียว แต่ยังได้คำนึงถึงกำไรจากการขายหลักทรัพย์ หรือขาดทุนจากการขายหลักทรัพย์ที่เกิดขึ้น หรือที่คาดว่าจะเกิดขึ้น yield ที่ผู้ลงทุนได้รับจากการลงทุนไม่ว่าจะมาก หรือน้อยก็ย่อมขึ้นอยู่กับความเสี่ยง (risk) ของหลักทรัพย์ที่ลงทุนนั้น ๆ โดยปกติแล้ว ผู้ลงทุนพยายามเลือกลงทุนในหลักทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด ณ ระดับความเสี่ยงหนึ่ง

การลงทุนในหลักทรัพย์ หมายถึง การซื้อหลักทรัพย์ที่ได้มีการวิเคราะห์อย่างเหมาะสม และเป็นหลักทรัพย์ที่ผู้ลงทุนมีความพึงพอใจในอัตราผลตอบแทนที่คาดว่า จะได้ ทั้งนี้ได้คำนึงถึงความเสี่ยงที่คาดว่าจะเกิดขึ้นตลอดช่วงเวลาที่ลงทุน
1. ระบบการแลกเปลี่ยนการแลกระหว่างสิ่งของต่อสิ่งของหรือสินค้ากับสินค้า (barter system) ต้องมีเงื่อนไขในการแลก เช่น การแลกผลไม้ กับสินค้าทะเล ข้าวสารกับผัก หมูกับเนื้อหรือไก่ ยางพารากับปลาร้า เป็นต้น เรียกระบบเช่นนี้ว่า เป็นระบบการแลกเปลี่ยนแบบ "ยื่นหมู ยื่นแมว" หรือ "หมูไป ไก่มา"

ปัญหาและอุปสรรคในการแลกเปลี่ยนในระบบนี้ มีหลายประการ จึงทำให้ไม่เป็นที่นิยมกันแต่ในช่วงรัฐบาลของ พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ได้นำหลักการแลกเปลี่ยนสินค้าแบบนี้มาใช้เพื่อแลกเปลี่ยนผลผลิตที่มีมากเกินความต้องการโดยให้จังหวัดกับจังหวัดจับคู่กันเป็นคู่ค้าเพื่อถ่ายเทผลผลิตที่มีอยู่เป็นการแลกเปลี่ยนกัน ดังที่มีการโฆษณาในโทรทัศน์อยู่ช่วงเวลาหนึ่ง เพื่อให้เห็นการแลกเปลี่ยนระหว่างชุมชนกับชุมชน เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามมีปัญหาและอุปสรรค ในการแลกเปลี่ยนแบบนี้เกิดขึ้น เช่น
- ความต้องการไม่ตรงกัน
- ยุ่งยากในการกำหนดราคา
- ยุ่งยากในการเก็บรักษา สินค้าบางอย่างเสื่อมสภาพง่าย
- ยุ่งยากในการขนส่ง เพราะสินค้าต่างกันการขนส่งมีเทคนิคต่างกัน เช่น ในการขนส่งข้าวไปเพื่อแลกเอาปลาสดกลับมา เป็นต้น
- ไม่สามารถใช้กู้ยืมและชำระหนี้ เช่น ยืมไก่ 1 ตัว 5 วัน เมื่อถึงเวลาใช้คืน สภาพไก่ก็เปลี่ยนแปลงไป การเอาไก่ตัวใหม่มาคืนอาจไม่เหมือนเดิม
- สินค้าบางประเภทแยกเป็นส่วนย่อยไม่ได้ เช่น วัวที่มีชีวิต ต้องแลกทั้งตัว จะตัดแบ่งออกเป็นครึ่งตัวไม่ได้

2. ระบบแลกเปลี่ยนโดยใช้เงินตรา (monetary) เงินตรา คือ สิ่งสร้างสรรค์ที่มีรูปแบบพิเศษ เพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้า ณ เวลาที่มีการยอมรับระหว่างกัน (สุภัททา ปิณฑะแพทย์) เงินตรา มีรูปแบบ 2 ชนิด คือ ชนิดที่เป็นธนบัตรและชนิดที่เป็นเหรียญ

2.1 คุณสมบัติของเงินตรา เงินตรา มีชื่อเรียกสกุล เช่น บาท ดอลลาร์ เปโซ ริงกิต มีการกำหนดอัตราที่นำมาแลกเปลี่ยนกันได้
2.2 เงินตรามีหน้าที่ทางธุรกิจ ได้แก่
1) เป็นตัววัดมูลค่า (measure of value)
2) เป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยน (medium of exchange)
3) เป็นตัวชำระหนี้สิน (standard of deferred payment)
4) เป็นตัวรักษามูลค่า (store of value)
5) เป็นตัวโอนย้ายมูลค่า (transfer of value)
2.3 คุณสมบัติของเงินที่ดี ได้แก่
1) ยอมรับโดยทั่วไปให้ใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าได้
2) สามารถแลกเปลี่ยนระหว่างสกุลได้
3) มีมูลค่าคงตัว
4) มีความคงทน ไม่ยุ่ยหรือเสียหายได้ง่าย
5) พกพาหรือขนย้ายได้ง่าย

3. ระบบแลกเปลี่ยนโดยใช้เครดิต (credo) เครดิต หรือ หนี้ หรือสินเชื่อ (credit or debt) เป็นสิ่งเดียวกัน ผู้มีเครดิต คือผู้ได้รับการไว้วางใจให้เป็นหนี้ได้ เครดิตเพื่อการลงทุน investment เพื่อการพาณิชย์ (commercial) เพื่อการบริโภค (consumption)

เครดิตตามระยะเวลา ได้แก่ เครดิตระยะยาว (long term) ระยะปานกลาง (medium term) ระยะสั้น (short term) ซึ่งเรียกคืนได้ทันทีตามความต้องการ (demand) เครดิตสาธารณะ (public) และเครดิตเอกชน (private)

เครื่องมือที่ใช้เพื่อการได้รับเครคิต ได้แก่ สัญญาปากเปล่า (verbal agreement credit)

เครดิตในบัญชี (book credit) ซึ่งได้แก่ ใบส่งสินค้าหรือเอกสารขนส่งสินค้า เอกสารการเงินเครดิต (financial credit) ซึ่งได้แก่ เช็ค ตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน สัญญาแลกเปลี่ยน (contract agreement credit) ซึ่งได้แก่ สัญญาซื้อขาย สัญญาเช่า สัญญาเช่าซื้อ สัญญาขายฝาก
ความต้องการของมนุษย์เกิดจากปัญหาความขาดแคลนทรัพยากร ที่ทำให้ต้องมีการบริหารจัดการให้ความต้องการนั้นอยู่ในสภาพที่สมดุล โดยยึดหลักทางเศรษฐศาตร์มาเป็นตัวกำกับเพื่อจัดสรรทรัพยากรให้เกิดความลงตัว โดยการแสวงหาทางเลือกเปรียบเทียบประโยชน์และความคุ้มค่า ตัวอย่างเช่น การเลือกวิธีการเดินทาง จะเดินทางโดยวิธีใด ซึ่งอาจมีให้เลือกหลายทางก็จริง แต่ในที่สุดแล้วก็จะเหลือเพียงตัวเลือกแค่ 2 ตัวเลือกเท่านั้น เมื่อขับรถยนตร์ไปถึงทางด่วน ต้องตัดสินใจว่าจะขึ้นหรือไม่ขึ้นทางด่วน วิธีการตัดสินใจคือ การขึ้นทางด่วนจะคุ้มค่าหรือไม่ ด้วยการวิเคราะห์ "ได้" คือ ถึงที่หมายเร็วขึ้น ประหยัดน้ำมันขึ้น "เสีย" คือ เสียเงิน 40 บาท "เสีย" สละความสุขที่เงิน 40 บาทสามารถซื้อให้ได้ ผลของการตัดสินใจจะเกิดขึ้นเมื่อเปรียบเทียบระหว่าง "เสีย" และ "ได้" เป็นต้น (วรากรณ์ สามโกเศศ, 2549) การเลือกไม่ว่าจะเป็นการเลือกอย่างไร ย่อมต้องมีต้นทุนของการเลือกเสมอ ต้นทุนอาจเป็นการเสียโอกาสทั้งสิ้น ดังคำกล่าวที่ว่า ไม่มีของฟรีในโลกนี้

ในการเลือกซื้อหรือเลือกแสวงหาสิ่งที่ดีที่สุดได้ประโยชน์มากที่สุดจากตัวเลือกที่มีอยู่อาจเป็นการเลือกที่ยังเป็นไปในเชิงเศรษฐศาสตร์นัก เพราะยังไม่ได้คิดถึงสิ่งที่จำเป็นอย่างอื่น ๆ ที่จะเสาะแสวงหาได้จากจำนวนเงินที่มีอยู่เพื่อให้คุ้มค่ามากที่สุด เช่น ถ้ามีเงิน 3,000 บาท ควรจะนำไปทำอะไรให้ได้ผลตอบแทนหรือกำไรมากที่สุด ผลตอบแทนหรือกำไรนั้นอาจเป็นได้ทั้งรูปธรรม เช่น อาหาร เครื่องใช้ หรือ เป็นนามธรรม เช่น ความสุข ก็ได้

การคิดในเชิงเศรษฐศาสตร์นั้น มีปัจจัยรอบด้านที่เป็นองค์ประกอบในการคิด เช่น การซื้อบ้าน ควรจะซื้อด้วยเงินสด หรือเงินผ่อน ค่าของเงินในอนาคต อัตราดอกเบี้ยปัจจุบัน หรือการซื้อรถยนต์มือสอง เมื่อเทียบกับการซื้อรถยนต์มือหนึ่ง เป็นต้น การบริหารจัดการด้านการเงินจึงต้องใช้หลักคิดทางเศรษฐกิจ ซึ่งความล้มเหลวของการบริหารด้านการเงินนั้นจะเห็นได้จากบทเรียนที่ให้ข้อคิดจาก "สามล้อถูกหวย" เศรษฐศาสตร์ในชีวิตประจำวันเกี่ยวช้องกับการเลือกและการคิดตัดสินใจ ซึ่งเป็นทักษะของการคิดที่ประกอบด้วยค่านิยมรวมทั้งแรงกดดันทางสังคมด้วย
1. ความต้องการที่จำเป็น (needs) หมายถึง ความต้องการในสิ่งที่จำเป็นขึ้นพื้นฐานในการดำรงชีวิต ได้แก่ ปัจจัย 4 อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค และที่อยู่อาศัย needs เป็นสิ่งสำคัญสำหรับชีวิต ไม่มีไม่ได้ เช่นถ้าขาดอากาศหายใจในปริมาณหนึ่งและในชั่วระยะเวลาหนึ่งก็จะไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ หรือ ความหิว : ที่ทำให้เกิดอาการอยากได้อาหารซึ่งเป็นความต้องการอาหารของร่างกาย ไม่ระบุชนิด อาหารอาจเป็น ข้าวแกง ก๋วยเตี๋ยว หรืออะไรก็ได้ที่กินแล้วหายหิว
2. ความต้องการที่เป็นความอยากได้ (wants) มนุษย์ยังมีความต้องการที่ นอกเหนือ ไปจากการได้รับสิ่งที่จำเป็นสำหรับการมีชีวิตอยู่ สิ่งที่นอกเหนือเหล่านั้นเรียกว่า เป็นความอยากมี อยากเป็น แต่ถ้าไม่มีก็ได้เพราะสามารถนำสิ่งอื่น ๆ มาทดแทนกันก็ได้ เช่น เมื่อหิวเห็นข้าวผัดก็อาจไม่อยากกิน ถามตัวเองว่าอยากกินอะไรก็ระบุได้ว่าอยากกินข้าวขาหมู : การระบุชนิดอาหารทำให้ต้องไปแสวงหาข้าวขาหมูกินให้ได้จึงจะรู้สึกดี แต่ถ้าไม่มีอาหารที่ระบุว่าต้องการ การกินข้าวผัด หรืออาหารประเภทอื่น ๆ ก็สามารถทดแทนความต้องการที่จำเป็นได้ เป็นต้น
3. ความต้องการที่ร้องขอ (demand) ทางเศรษฐศาสตร์เรียกความต้องการประเภทนี้ว่า อุปสงค์ ดังนั้นในทางธุรกิจจึงใช้เรียกว่าเป็นความต้องการที่เกิดจากกำลังซื้อสินค้าผลิตภัณฑ์หรือบริการของผู้บริโภคในตลาดซึ่งมีสินค้า (product) 2 ประเภท คือ ประเภทที่เรียกว่า ผลิตภัณฑ์ (goods) เป็นสินค้าที่หมายถึงวัตถุสิ่งของที่สนองความต้องการหรือความจำเป็นได้ มีมวลที่จับต้องได้ มองเห็นได้ เช่น อาหาร หนังสือ โต๊ะ เก้าอี้ เป็นต้น ส่วนอีกประเภทหนึ่งนั้นเป็นสินค้าที่เรียกว่า สินค้าบริการ (services) หมายถึง สิ่งที่สนองความต้องการ หรือความจำเป็นที่ไม่ใช่วัตถุสิ่งของ แต่รู้สึกได้ในขณะใช้บริการหรือหลังการใช้บริการ เช่น การขนส่ง การซื้อขาย การแลกเปลี่ยน การท่องเที่ยว การโฆษณา การประชาสัมพันธ์ และการโทรศัพท์ เป็นต้น
4. ความต้องการเพื่อตอบสนองความต้องการ (supply) ในมุมมองของผู้ประกอบการธุรกิจ คือ การพิจารณาในหลักเศรษฐศาตร์เพื่อให้เกิดตัวเลือกที่ผู้บริโภคพิจารณาและมองเห็นความสำคัญของการเลือกที่จะตอบสนองความต้องการของตน ธุรกิจจึงเกิดขึ้นจากความต้องการแสวงหาผลกำไรจากการผลิตสินค้าหรือดำเนินกิจการ เพื่อให้เป็นที่ถูกใจและสร้างความพึงพอใจ ในปัจจุบันมีสินค้ามากมายที่เป็นทั้งสินค้าจำเป็นที่มีลำดับความจำเป็นที่มากน้อยลดหลั่นกันไปสินค้าเกินความจำเป็นและสินค้าฟุ่มเฟือย
ธุรกิจเกิดขึ้นจากปัจจัยที่เป็นความต้องการของมนุษย์ซึ่งจากเกิดจากความต้องการทั้งทางด้านร่างกาย เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ หรือเป็นสิ่งที่จรรโลงจิตใจทำให้เกิดกำลังใจในการที่จะดำเนินชีวิตต่อไปได้ การสร้างงานที่สอดคล้องกับความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ด้วยความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการจึงจะสร้างธุรกิจใหม่ขึ้นมาได้

ลักษณะความต้องการของมนุษย์

ความต้องการของมนุษย์มีความต้องการหลายสิ่งหลายอย่างด้วยกัน ดังที่กล่าวกันว่า มนุษย์มีความต้องการที่ไม่มีที่สิ้นสุด การทำความเข้าใจความต้องการของมนุษย์ตามหลักการและแนวคิดต่าง ๆ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการคิดที่จะนำไปสู่การสร้างงานเพื่อธุรกิจ แนวคิดตามความต้องการของมนุษย์

มนุษย์ทุกคนเกิดมามีความต้องการที่เป็นสัญชาตญาณเพื่อให้ตนมีชีวิตอยู่ ทันทีที่ทารกมีชีวิตอยู่ในโลกภายนอกโดยไม่มีอาหารและอากาศที่ได้รับจากแม่ ก็จะแสดงความต้องการพื้นฐานตามธรรมชาติด้วยการร้องเพื่อนำอากาศเข้าสู่ปอดเป็นการหายใจได้ และไขว่คว้าเพื่อแสวงหาอาหารด้วยการส่ายหัวไปมา ทารกจะมีสัญชาตญาณของการแสวงหาอาหารติดตัวมาแต่กำเนิด เมื่อมีวัตถุมากระทบบริเวณริมฝีปากก็จะอ้าปากและหันศีรษะเข้าหาวัตถุนั้น สิ่งเหล่านี้เป็นความต้องการทางด้านร่างกายซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญที่สุด

ความต้องการด้านจิตใจ เป็นความรู้สึกและอารมณ์ที่เป็นความต้องการของมนุษย์ นอกเหนือไปจากความต้องการทางด้านร่างกาย ได้แก่ ความต้องการความรักและการยอมรับ ความต้องการความเข้าใจ ความต้องการนี้ส่งผลให้จิตใจรู้สึกเป็นสุข จะเห็นได้ว่าเด็ก ๆ ต้องการมีพ่อแม่ที่คอยอุ้มชู และอยู่ใกล้ ๆ แต่ก็จะส่งผลให้เกิดความทุกข์ด้วยการแสดงอาการไม่พอใจ เซื่องซึมเพื่อถูกจับแยกออกจากคนที่เคยใกล้ชิด ความต้องการรักผู้อื่นและอยากให้ผู้อื่นรัก เป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์แสดงพฤติกรรมไปในทางที่จะให้ได้ผลลัพธ์นั้น ความต้องการอยากให้คนอื่นเข้าใจ เห็นใจ รับรู้ตัวตนและเห็นความสำคัญ เป็นความต้องการที่สร้างความสุขและความทุกข์ให้กับมนุษย์ได้ในขณะเดียวกัน

ความต้องการด้านจิตใจนี้นำมาซึ่งสาเหตุที่ทำให้มนุษย์ขวนขวายที่จะสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ก่อให้เกิดสังคมที่พึ่งพาอาศัยกัน และก่อให้เกิดการคล้อยตามและความร่วมมือ นอกจากนี้การที่มนุษย์มีผู้อื่นอยู่ด้วยทำให้ต้องสร้าง กฎกติกาเพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ กฎกติกานี้เองที่ทำให้เกิดความต้องการอำนาจเหนือผู้อื่น และความต้องการที่จะมีความก้าวหน้าไปกว่าคนอื่น ๆ พฤติกรรมการแข่งขัน การเอารัดเอาเปรียบจึงเกิดขึ้น นอกเหนือไปจากการสร้างความร่วมมือกัน

นักจิตวิทยาชื่อ อับราฮัม มาสโลว์ ได้ทำการศึกษาความต้องการของมนุษย์และได้ตั้งทฤษฎีความต้องการตามลำดับขึ้นเพื่ออธิบายพฤติกรรมของมนุษย์ที่สัมพันธ์กับลำดับขั้นของความต้องการที่แตกต่างกัน ไว้ดังนี้

ความต้องการขั้นที่ 1 เป็นความต้องการพื้นฐานทางร่างกายเพื่อการดำรงชีวิต ซึ่งความต้องการในขั้นนี้มีความต้องการที่อยู่ในลำดับขั้นย่อย ๆ ด้วย เช่น ความต้องการอากาศจะเป็นความต้องการเป็นอันดับแรก น้ำ อาหาร ยารักษาโรค และความต้องการทางเพศ เป็นต้น มีเรื่องเล่าว่านักเรียนตัวน้อยถูกขังไว้ในห้องน้ำ แล้วด้วยความไม่รอบคอบของโรงเรียนที่ใส่กุญแจห้องน้ำ เนื่องจากโรงเรียนปิดเทอมจึงไม่ต้องการให้ใครมาใช้ห้องน้ำของโรงเรียน ทำให้เด็กถูกขังไว้หลายวัน ในวันเปิดเทอมพบว่าเด็กคนนั้นตาย จากการตรวจพบว่า เด็กกินกระดาษที่อยู่ในห้องน้ำและสันนิษฐานว่าคงดื่มน้ำในโถส้วมก่อนตายด้วยความหิว

ความต้องการขั้นที่ 2 เป็นความต้องการด้านความปลอดภัย เครื่องนุ่งห่ม เสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย เพื่อให้ความปลอดภัยแก่ร่างกายจึงเป็นลำดับขั้นที่มนุษย์ใฝ่หา ดังจะเห็นได้ว่า เด็กขายพวงมาลัยบางคนจะวิ่งข้ามถนนตัดหน้ารถยนตร์โดยไม่กลัวอันตรายถ้ายังขายได้เงินไม่เพียงพอ หรือพวกเร่ร่อนจะนอนใต้สะพานลอยโดยไม่กลัวอันตราย

ความต้องการขั้นที่ 3 เป็นความต้องการที่เริ่มต้นในเรื่องของจิตใจ คือ ความต้องการการยอมรับความเข้าใจ ดังนั้นมนุษย์จึงแสดงออกในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การยอมให้สิ่งของ ยอมเสียเวลา หรือยอมอดทนในบางเรื่อง หรือต้องเสียสละเพื่อให้มีการยอมรับว่าเป็นเพื่อน บางคนถึงกับซื้อของมากำนัลกันเพื่อให้ได้รับการยอมรับว่าเป็นเพื่อน

ความต้องการขั้นที่ 4 เป็นความต้องการที่จะเป็นบุคคลที่มีเกียรติยศชื่อเสียง ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้า มีอำนาจสั่งการ มีลูกน้องคอยดูแลรับใช้ และมีบารมีที่คนทั่วไปให้การยกย่องและนับถือ ความต้องการขั้นนี้จึงมีการให้ที่มากกว่าปกติธรรมดาเพื่อแสดงว่าตนสามารถเป็นที่พึ่งผิง ให้ความคุ้มครองให้แก่กลุ่มเพื่อนได้ บางครั้งอาจมาในรูปแบบของการแสดงความเป็นนักเลง การแสดงความสามารถของบุคคลที่เหนือคนอื่นเพื่อให้ได้รับเกียรติยศจากกลุ่ม เป็นต้น

ความต้องการขั้นที่ 5 เป็นความต้องการเข้าใจตนเองที่แท้จริง ซึ่งเป็นความรู้สึกว่าตนบรรลุความสำเร็จที่เป็นความภาคภูมิใจโดยปราศจากเงื่อนไขหรือความคับข้องใจใด ๆ ในขั้นนี้พบว่าบุคคลจะพบความสุขในชีวิตด้วยการมองเห็นภาพตนเองที่เป็นจริงด้วย

มาสโลว์กล่าวว่า ความต้องการของมนุษย์ไม่มีวันสิ้นสุด ดังนั้น ความต้องการจึงหมุนเวียนเป็นวัฐจักร ดังนั้นการที่จะก้าวขั้นความต้องการของไปทั้ง ๆ ที่ยังรู้สึกไม่เต็มอิ่มกับความต้องการในขั้นนั้น ๆ ทำให้เกิดความกระวนกระวายใจและหาโอกาสที่จะเติมเต็มความต้องการนั้นอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นการก้าวไปตามขั้นตอนอย่างมีความรู้สึกที่เพียงพอจึงเป็นผลที่ทำให้บุคคลมีพฤติกรรมที่สมดุล แต่อย่างไรก็ตามบุคคลจะต้องรู้สึกว่าความต้องการในขั้นต้นนั้นว่ามีความเพียงพอเสียก่อนจึงจะก้าวไปสู่ความต้องการในขั้นต่อไปได้