พนักงานบริษัทหรือที่เรียกกันอย่างคุ้นปากว่า "มนุษย์เงินเดือน" นั้น แน่นอนว่าเป็นกลุ่มคนที่คุ้นเคยกับคำว่า "ประกันสังคม" เป็นอย่างดีอยู่แล้ว เพราะเป็นหนึ่งในรายจ่ายสมทบที่เราต้องถูกหักจากเงินเดือน 5% หรือไม่เกิน 750 บาทต่อเดือน ซึ่งเป็นการประกันตนโดยบังคับโดยเราจะได้รับสิทธิประโยชน์มากมาย ทั้งในด้านการลดหย่อนภาษี การรักษาพยาบาล รวมถึงค่าชดเชยต่างๆ แต่ความจริงก็คือว่า คนเราส่วนใหญ่มักจะละเลยสิทธิประโยชน์เหล่านี้ ซึ่งเป็นการละเลยที่เกิดจาก "ความไม่รู้" ว่าเราจะได้ประโยชน์อะไรจากสิ่งเหล่านี้บ้าง วันนี้ ผมจะมานำเสนอสิทธิประโยชน์จากประกันสังคมที่เราควรรู้เมื่อลาออกจากงาน
สิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากประกันสังคม เมื่อถูกเลิกจ้างหรือลาออกจากงาน
เงื่อนไขในการรับสิทธิ์
- ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนออกจากงาน
- ต้องไปขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานที่สำนักงานจัดหางานของรัฐภายใน 30 วันหลังลาออกจากงาน
- ต้องไม่ใช่ผู้มีสิทธิ์ได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพจากกองทุนประกันสังคม
สิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน
- กรณีถูกเลิกจ้าง ได้รับเงินทดแทนปีละไม่เกิน 180 วันในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้าง โดยจะคิดจากค่าจ้างตามจริงสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท
- กรณีลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง ได้รับเงินทดแทนปีละไม่เกิน 90 วันในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้าง โดยจะคิดจากค่าจ้างตามจริงสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท
โดยปกติแล้ว เมื่อเราสมัครเข้าประกันสังคม เราจะกลายเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 แต่เมื่อว่างงานลงและใช้สิทธิ์เงินทดแทน เราจะกลายเป็นผู้ประกันตนตามมาตร 38 (ได้รับการยกเว้น ไม่ต้องจ่ายเงินสมทบ) ในช่วงเวลาสูงสุด 6 เดือน (180 วัน) พร้อมได้รับสิทธิประโยชน์ความคุ้มครอง 4 กรณี ได้แก่ ประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วย เสียชีวิต ทุพพลภาพ และคลอดบุตรครับ
สิทธิประโยชน์ที่ได้รับเมื่อสมัครประกันสังคมต่อหลังจากออกจากงาน
หากเราลาออกจากงานแล้ว แต่ยังต้องการได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ จากประกันสังคมต่อไป เราก็สามารถสมัครเป็น ผู้ประกันตนโดยสมัครใจ ตามมาตรา 39 ภายใน 6 เดือนหลังสิ้นสุดสภาพการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และต้องไม่เป็นผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีทุพลลภาพจากกองทุนประกันสังคม โดยที่เราจะได้รับความคุ้มครอง 6 กรณี ได้แก่ ประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วย เสียชีวิต ทุพพลภาพ คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร และชราภาพ
สำหรับการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมแบบสมัครใจนี้ เราต้องจ่ายสมทบเข้าในอัตราร้อยละ 9ของค่าจ้าง โดยกำหนดฐานค่าจ้างคงที่อยู่ที่ 4,800 บาทต่อเดือนเท่ากันทุกคน เท่ากับว่าเราต้องส่งเงินสมทบ 4,800 × 9% = 432 บาท และรัฐจะจ่ายเงินสมทบให้อีก 2.5% โดยเงินที่จ่ายสมทบไปนี้ จะแบ่งจ่ายสมทบกรณีเจ็บป่วย/เสียชีวิต/ทุพพลภาพ/คลอดบุตร 3% และกรณีสงเคราะห์บุตร/ชราภาพ 6% ซึ่งเราจะได้รับสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพเมื่อเราอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์เท่านั้น
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น