Custom Search
วันศุกร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

การขอรับการส่งเสริมการลงทุน ประกอบด้วยขั้นตอน ดังนี้

ผู้ที่จะได้รับการส่งเสริม จะต้องเป็นบริษัท สหกรณ์ หรือมูลนิธิที่จดทะเบียนในประเทศไทยเท่านั้น แต่ในการยื่นคำขอรับการส่งเสริม จะยื่นในนามบุคคลก่อน แล้วจึงจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในภายหลังก่อนที่จะขอรับบัตรส่งเสริมก็ได้

การขอรับการส่งเสริมการลงทุน ประกอบด้วยขั้นตอน ดังนี้
1. การยื่นคำขอรับการส่งเสริม
2. การชี้แจงโครงการ
3. การตอบรับการส่งเสริม
4. การขอรับบัตรส่งเสริม

การยื่นคำขอรับส่งเสริม

คำขอรับส่งเสริมมี 3 ประเภท ดังนี้
1. คำขอรับส่งเสริมทั่วไป
2. คำขอรับส่งเสริมกิจการบริการ
3. คำขอรับส่งเสริมกิจการซอฟต์แวร์และ E-Commerce

คำขอรับการส่งเสริมทั้ง 3 ประเภท สามารถ Download จากเว็บไซต์ของ BOI (http://www.boi.go.th) หรือจะขอรับจากศูนย์บริการเพื่อการลงทุน หรือจากสำนักงาน BOI ในต่างจังหวัดหรือต่างประเทศก็ได้
คำขอรับการส่งเสริมทั้ง 3 ประเภทนี้ มีทั้งที่เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยในการกรอกข้อมูลในคำขอรับการส่งเสริม จะกรอกเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษก็ได้

ในการยื่นคำขอรับการส่งเสริม ผู้ขอจะต้องจัดเตรียมคำขอทั้งสิ้น 3 ชุด เพื่อยื่นกับ BOI จำนวน 2 ชุด และเพื่อเก็บเป็นหลักฐานสำเนาจำนวน 1 ชุด โดยจะต้องนำคำขอรับการส่งเสริมทั้ง 3 ชุด ไปยื่นต่อกองบริหารสิทธิประโยชน์ที่เป็นผู้ดูแลอุตสาหกรรมที่จะขอรับการส่งเสริมนั้น ๆ โดยตรง แต่ในกรณีที่ผู้ขอรับการส่งเสริมมีภูมิลำเนาในต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ จะยื่นคำขอรับการส่งเสริมผ่านสำนักงาน BOI ในต่างจังหวัดหรือในต่างประเทศ ซึ่งเป็นผู้ดูแลการส่งเสริมลงทุนในพื้นที่นั้น ๆ ก็ได้

อุตสาหกรรมที่รับผิดชอบ
กสป.1 กิจการเกษตร และผลิตผลจากการเกษตร
กสป.2 เหมืองแร่ เซรามิกส์ ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และยานพาหนะ
กสป.3 ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า
กสป.4 เคมีภัณฑ์ พลาสติก กระดาษ และอุตสาหกรรมเบา
กสป.5 กิจการบริการ และสาธารณูปโภค

กรณีที่ผู้ขอรับการส่งเสริม ต้องการปรึกษาวิธีการกรอกคำขอรับการส่งเสริม สามารถติดต่อขอปรึกษาได้ที่ศูนย์บริการเพื่อการลงทุน โทร 02-537-8111 ต่อ 1101-9 ได้ ทั้งนี้ การปรึกษาวิธีการกรอกคำขอ ตลอดจนการยื่นคำขอรับการส่งเสริมนี้ไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น นอกจากนี้ ผู้ที่ประสงค์จะยื่นคำขอรับการส่งเสริม ยังสามารถกรอกคำขอรับการส่งเสริม Online และยื่นคำขอรับการส่งเสริมผ่านทาง Internet ได้อีกด้วย

ข้อควรทราบในการกรอกคำขอ

ในการกรอกคำขอรับการส่งเสริม ผู้ขอควรทราบความหมายในการกรอกข้อมูลในส่วนที่สำคัญ ดังนี้

1. ชนิดผลิตภัณฑ์ / กำลังผลิต / เวลาทำงาน

ตัวอย่างที่ 1
ผลิตภัณฑ์ กำลังผลิต (ต่อปี) เวลาทำงาน
หม้อหุงข้าว 1,000,000 เครื่อง 8 ชม./วัน : 300 วัน/ปี
ชนิดผลิตภัณฑ์ : หมายถึง รายการสินค้าที่ผู้ได้รับส่งเสริมสามารถจำหน่ายได้โดยได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากร เช่น ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล และยกเว้นอากรขาเข้าวัตถุดิบ เป็นต้น
โครงการตามตัวอย่างที่ 1 จะได้รับอนุญาตให้จำหน่ายเฉพาะหม้อหุงข้าวเท่านั้น ไม่สามารถจำหน่ายหม้อไฟฟ้าชนิดอื่น และไม่สามารถจำหน่ายชิ้นส่วนของหม้อหุงข้าวได้
กำลังผลิต : หมายถึง กำลังผลิตสูงสุดของโครงการที่จะสามารถใช้สิทธิการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยกำลังผลิตนี้จะคำนวณจากกำลังผลิตสูงสุดของเครื่องจักร ไม่ใช่แผนการตลาดหรือปริมาณที่คาดว่าจะผลิต
โครงการตามตัวอย่างที่ 1 จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจากการจำหน่ายหม้อหุงข้าวปีละไม่เกิน 1,000,000 เครื่องเท่านั้น ส่วนที่เกินกว่านี้จะต้องชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล
เวลาทำงาน : หมายถึง เวลาทำงานของเครื่องจักรที่จะใช้เป็นฐานในการคำนวณกำลังผลิตสูงสุดของโครงการ

กรณีที่ผู้ขอรับการส่งเสริมต้องการผลิตหม้อไฟฟ้าต่าง ๆ และจะจำหน่ายชิ้นส่วนด้วย ควรกรอกคำขอรับการส่งเสริมตามตัวอย่างที่ 2 โดยระบุกำลังผลิตตามกำลังผลิตสูงสุดของเครื่องจักร ดังนี้

ตัวอย่างที่ 2
ผลิตภัณฑ์ กำลังผลิต (ต่อปี) เวลาทำงาน
หม้อไฟฟ้า 1,350,000 เครื่อง 8 ชม./วัน : 300 วัน/ปี
ชิ้นส่วนหม้อไฟฟ้า 4,000,000 ชิ้น

2. กรรมวิธีการผลิต

ตัวอย่างที่ 3 : กรรมวิธีการผลิตหม้อไฟฟ้า
- นำแผ่นเหล็กมาปั๊มขึ้นรูปเป็นหม้อชั้นในและชั้นนอก
- ประกอบชิ้นส่วนทางไฟฟ้า เช่น สวิตซ์ตัดต่อ และฟิวส์ เป็นต้น
- ประกอบชิ้นส่วนโลหะ ชิ้นส่วนพลาสติก และชิ้นส่วนไฟฟ้าเข้าด้วยกัน
- ตรวจสอบ ปรับแต่ง บรรจุหีบห่อ จำหน่าย

กรรมวิธีการผลิต : เป็นขั้นตอนในการผลิตสินค้าที่ผู้ได้รับส่งเสริมมีหน้าที่ต้องปฏิบัติให้ครบถ้วน ไม่สามารถผลิตสินค้าโดยมีขั้นตอนมากกว่าหรือน้อยกว่าที่ยื่นขอรับส่งเสริมนี้
นอกจากนี้ ในการอนุมัติบัญชีรายการเครื่องจักรและวัตถุดิบเพื่อยกเว้นอากรขาเข้า จะพิจารณาอนุมัติรายการเครื่องจักรและวัตถุดิบซึ่งสอดคล้องกับกรรมวิธีการผลิตนี้เท่านั้น
โครงการที่มีขั้นตอนการผลิตตามตัวอย่างที่ 3 จะต้องผลิตหม้อชั้นในและชั้นนอกขึ้นเองภายในโรงงาน ไม่สามารถซื้อหม้อชั้นในหรือชั้นนอกที่ปั๊มขึ้นรูปแล้วมาใช้ในการผลิตได้

กรณีที่ผู้ขอรับส่งเสริมประสงค์จะทำการว่าจ้างผลิต หรือต้องการผลิตชิ้นส่วนบางส่วนขึ้นเองและนำเข้าบางส่วน จะต้องระบุในกรรมวิธีการผลิตให้ชัดเจน ตามตัวอย่างที่ 4 ดังนี้

ตัวอย่างที่ 4 : กรรมวิธีการผลิตหม้อไฟฟ้า
- นำแผ่นเหล็กไปว่าจ้างผู้ประกอบการในประเทศให้ตัดตามขนาดที่ต้องการ
- ปั๊มขึ้นรูปเป็นหม้อชั้นในและชั้นนอก โดยอาจนำเข้าหม้อชั้นในบางส่วนจากต่างประเทศมาใช้ในการผลิต
- ประกอบชิ้นส่วนทางไฟฟ้า เช่น สวิตซ์ตัดต่อ และฟิวส์ เป็นต้น
- นำแม่พิมพ์ไปว่าจ้างผู้ประกอบการในประเทศให้ฉีดขึ้นรูปชิ้นส่วนพลาสติกบางรายการ
- ประกอบชิ้นส่วนโลหะ ชิ้นส่วนพลาสติก และชิ้นส่วนไฟฟ้าเข้าด้วยกัน
- ตรวจสอบ ปรับแต่ง บรรจุหีบห่อ จำหน่าย

การชี้แจงโครงการ
หลังจากยื่นคำขอรับการส่งเสริมแล้ว ผู้ขอรับการส่งเสริมจะต้องติดต่อเจ้าหน้าที่ของกองบริหารงานสิทธิและประโยชน์ (กสป.1-5) ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบคำขอนั้น ๆ เพื่อนัดหมายกำหนดวันชี้แจงโครงการ จากนั้น ผู้ขอรับการส่งเสริมจะต้องเดินทางไปพบเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ เพื่อชี้แจงรายละเอียดของโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน หรืออาจมอบหมายให้ผู้อื่นไปชี้แจงโครงการแทนก็ได้
ในการชี้แจงโครงการ ผู้ขอรับการส่งเสริมควรนำบุคคลที่มีความเข้าใจรายละเอียดของโครงการที่ขอรับการส่งเสริม ทั้งในด้านการผลิต การเงิน และการตลาด ร่วมเดินทางไปชี้แจงโครงการด้วย เนื่องจากจะทำให้การชี้แจงโครงการมีความถูกต้องชัดเจน และจะทำให้การพิจารณาคำขอรับการส่งเสริมเป็นไปโดยสะดวกรวดเร็วมากขึ้น

กรณีที่ข้อมูลในคำขอรับการส่งเสริมไม่ชัดเจนหรือไม่ถูกต้อง ผู้ขอรับการส่งเสริมสามารถแก้ไขข้อมูลดังกล่าว โดยการยื่นเอกสารขอแก้ไขข้อมูลเพิ่มเติมในภายหลัง หรืออาจใช้วิธีแก้ไขข้อมูลในคำขอรับการส่งเสริมโดยตรงพร้อมกับลงนามกำกับก็ได้ แต่ทั้งนี้ การแก้ไขคำขอโดยการลงนามกำกับ อาจทำให้ต้นฉบับที่ยื่นต่อ BOI และต้นฉบับที่บริษัทเก็บรักษาไว้เกิดความแตกต่างกัน และอาจทำให้เกิดข้อผิดพลาดหรือสร้างความเข้าใจผิดแก่ผู้อื่นที่จะต้องมาสานงานต่อในภายหลังก็ได้ ดังนั้น จึงควรใช้วิธีแก้ไขและลงนามกำกับ เฉพาะในกรณีที่ไม่เป็นสาระสำคัญของโครงการเท่านั้น

การตอบรับการส่งเสริม
เมื่อคณะกรรมการได้พิจารณาและมีมติอนุมัติ/ไม่อนุมัติให้การส่งเสริมโครงการนั้นแล้ว BOI จะแจ้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการให้ผู้ได้รับการส่งเสริมทราบทางไปรษณีย์ ภายใน 15 วันนับจากวันที่คณะกรรมการมีมติ ในกรณีที่คณะกรรมการมีมติไม่อนุมัติให้การส่งเสริม ผู้ขอรับส่งเสริมสามารถยื่นอุทธรณ์มติดังกล่าวได้ภายใน 60 วันนับจากวันที่ได้รับทราบมติ

ในกรณีที่คณะกรรมการมีมติอนุมัติให้การส่งเสริม ผู้ขอรับส่งเสริมจะต้องยื่นเอกสารตอบรับการส่งเสริม ภายใน 1 เดือน นับจากวันที่ได้รับทราบมติ หรืออาจขอขยายเวลาการตอบรับการส่งเสริมออกไปอีกก็ได้ ตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานกำหนด

กรณีที่ผู้ขอรับส่งเสริมไม่ยื่นตอบรับการส่งเสริม และไม่ยื่นขอขยายระยะเวลาการตอบรับการส่งเสริมภายในเวลาที่กำหนด จะถือว่าผู้ขอรับส่งเสริมไม่มีความประสงค์จะเป็นผู้ได้รับการส่งเสริม

การขอรับบัตรส่งเสริม
ภายหลังจากตอบรับการส่งเสริมแล้ว ผู้ขอรับส่งเสริมจะต้องจัดตั้งบริษัท (เฉพาะกรณีที่ยื่นคำขอรับการส่งเสริมในนามบุคคล) และเพิ่มทุนจดทะเบียนตามเงื่อนไขที่กำหนดในหนังสือแจ้งมติ จากนั้น จะต้องจัดเตรียมเอกสารประกอบการออกบัตรส่งเสริม และยื่นแบบคำร้องเพื่อขอรับบัตรส่งเสริมการลงทุน ภายในกำหนด 6 เดือน นับจากวันที่ตอบรับการส่งเสริม หรืออาจขอขยายเวลาการยื่นเอกสารเพื่อขอรับบัตรส่งเสริมออกไปอีกก็ได้ ตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานกำหนด

เอกสารประกอบการขอรับบัตรส่งเสริม ประกอบด้วย
1. หนังสือบริคนธ์สนธิ
2. หนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนบริษัท
3. หนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท
4. หลักฐานการนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักร
5. บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นและสัญชาติที่สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนรับรอง
6. สัญญาการร่วมทุน สัญญาการใช้สิทธิและบริการ สัญญาให้ความช่วยเหลือทางเทคนิค (ถ้ามี)
7. แบบประกอบการขอรับบัตรส่งเสริม (กกท. 05)
8. แบบกรอกรายการความต้องการใช้สาธารณูปโภค และความต้องการด้านแรงงาน

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น