Custom Search
วันศุกร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

กองทุนรวมตราสารหนี้...หลากหลายประเภทเลือกลงทุนตามเหมาะสม

นักลงทุนหลายท่านคงพอทราบประเภทต่าง ๆ ของตราสารหนี้กันมาแล้ว จากที่ได้เคยนำเสนอไปคราวก่อน ครั้งนี้เรามาดูการแบ่งประเภทกองทุนตราสารหนี้กันบ้าง เพื่อให้นักลงทุนสามารถเลือกลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ต่าง ๆ ได้ตามความเหมาะสม โดยประเภทของกองทุนตราสารหนี้ มีดังนี้

1.กองทุนรวมตราสารหนี้ (General Fixed Income Fund) เป็นกองทุนรวมที่มีนโยบายนำเงินไปลงทุนในตราสารหนี้และเงินฝาก เช่น พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ ตั๋วเงินคลัง บัตรเงินฝาก ตั๋วสัญญาใช้เงิน ตั๋วแลกเงิน หุ้นกู้เอกชน เป็นต้น โดยจะไม่ลงทุนในหุ้นหรือใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น รวมถึงตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน เช่น หุ้นกู้แปลงสภาพ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยกองทุนรวมประเภทนี้จะเหมาะกับนักลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงได้น้อย เพราะธรรมชาติของตราสารหนี้ที่กองทุนรวมลงทุนนั้นมักให้ผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ยที่มีความสม่ำเสมอ นอกจากนี้แม้ว่าราคาของตราสารหนี้เองอาจจะมีความผันผวนขึ้นลงได้ตามสภาวะตลาด แต่ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยที่กองทุนรวมได้รับจากการลงทุนในตราสารหนี้เหล่านี้ก็ยังผันผวนไม่มากเท่ากับตราสารทุน

2.กองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Fund) เป็นกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในเงินฝากและตราสารหนี้ที่มีคุณภาพ ซึ่งมีกำหนดชำระเงินต้นเมื่อทวงถาม หรือจะครบกำหนดชำระคืน หรือมีอายุคงเหลือไม่เกิน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ลงทุนในทรัพย์สินหรือเข้าทำสัญญาเหล่านั้น กองทุนรวมตลาดเงินมีลักษณะการลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้น มีความเสี่ยงต่ำ ความมั่นคงของเงินสูง และสภาพคล่องสูง เมื่อขายคืนสามารถรับเงินได้ภายใน 1 วัน เหมาะสำหรับเงินที่รอใช้จ่าย หรือรอลงทุนแทนการพักเงินในบัญชีออมทรัพย์หรือกระแสรายวัน ซึ่งถือว่าเป็นกองทุนที่มีความปลอดภัยสูง และยังให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก จึงเหมาะสำหรับการลงทุนระยะสั้นของผู้ลงทุนที่ไม่ต้องการความเสี่ยง

3.กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund-Fixed Income) เป็นกองทุนรวมที่นำเงินไปลงทุนในตราสารหนี้ทั่วไป และเงินฝาก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการออมระยะยาวและสม่ำเสมอ สำหรับผู้ที่เตรียมเงินไว้ใช้จ่ายในวัยเกษียณ และเป็นการสร้างหลักประกันอันมั่นคงให้แก่ตนเองและครอบครัว โดยผู้ลงทุนจะได้รับสิทธิพิเศษในการนำเงินลงทุนไปลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงสุดถึง 15% และเมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกบข. แล้วไม่เกิน 5 แสนบาทต่อปี และต้องลงทุนอย่างต่ำ 5,000 บาท หรือ 3% ของรายได้รวมทั้งปี ซึ่งผู้ลงทุนสามารถเลือกลงทุนตามความเหมาะสมของตนเองได้

4.กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ โดยมีนโยบายการลงทุนในตราสารหนี้ หรือกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ (Foreign Investment Fund-Fixed Income) วัตถุประสงค์ของกองทุนจะระดมเงินที่ได้จากการจำหน่ายหน่วยลงทุนในประเทศไปลงทุนในต่างประเทศ โดยลงทุนในตราสารหนี้ที่ผู้ออกเป็นผู้ที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ ซึ่งเป็นได้ทั้งตราสารหนี้ภาครัฐและตราสารหนี้ภาคเอกชน กองทุนประเภทนี้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับนักลงทุนในการกระจายการลงทุนไปยังต่างประเทศ เพื่อแสวงหาตราสารหนี้ใหม่ ๆ สำหรับลงทุนและเพื่อผลตอบแทนที่ดีกว่า อย่างไรก็ตามการลงทุนในต่างประเทศยังคงมีความเสี่ยงในเรื่องของความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งผู้จัดการกองทุนส่วนใหญ่จะป้องกันความเสี่ยงโดยการทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (forward) เพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าวไว้ ดังนั้นกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศจึงเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับกลุ่มผู้มีเงินออมเป็นอย่างมาก เช่น กองทุนพันธบัตรเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นกองทุนนำเงินไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลที่ออกโดยหน่วยงานภาครัฐของประเทศเกาหลีใต้ เป็นต้น

5.กองทุนรวมคุ้มครองเงินต้นที่มีนโยบายการลงทุนในตราสารหนี้ (Capital Protected Fund-Fixed Income) เป็นกองทุนรวมที่บริษัทจัดการมีการวางแผนการลงทุน เพื่อให้คุ้มครองเงินลงทุนของผู้ถือหน่วยลงทุน โดยจะนำเงินส่วนใหญ่ไปลงทุนในตราสารหนี้ทั่วไปและเงินฝากซึ่งมีความเสี่ยงต่ำ แต่จะมีการนำเงินส่วนน้อยอีกส่วนหนึ่งไปลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น เพื่อให้ผู้ลงทุนมีโอกาสได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนเมื่อเฉลี่ยกับเงินลงทุนส่วนใหญ่แล้วมากกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก ดังนั้นกองทุนรวมคุ้มครองเงินต้นจึงมักจะมีข้อกำหนดในเรื่องระยะเวลาในการถือครองหน่วยลงทุนกับผู้ลงทุน หากผู้ลงทุนประสงค์ที่จะได้รับการคุ้มครองเงินต้นตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในโครงการ ซึ่งบริษัทจัดการจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานก.ล.ต. กำหนดไว้ในการจัดการกองทุนรวมคุ้มครองเงินต้น และต้องได้รับอนุมัติจากสำนักงานก.ล.ต. ให้จัดตั้งและจัดการกองทุนรวมประเภทนี้

6.กองทุนรวมดัชนีตราสารหนี้ (Index Fund-Fixed Income) มีนโยบายการลงทุนเพื่อสร้างผลตอบตามการเคลื่อนไหวของดัชนีราคาตราสารหนี้ ตัวอย่างดัชนีตราสารหนี้ เช่น ThaiBMA Government Bond Index สำหรับประเทศไทยนั้นกองทุนรวมดัชนีตราสารหนี้มิได้มีให้เลือกลงทุน เนื่องจากการมีสภาพคล่องในการซื้อขายต่ำของตราสารหนี้ที่ใช้ในการคำนวณดัชนี ดังนั้นกองทุนรวมดัชนีที่มีให้นักลงทุนเลือกลงทุน จึงเป็นกองทุนรวมดัชนีตราสารทุนซึ่งมีการอ้างอิงการลงทุนตามดัชนี SET 50 หรือ SET 100 เป็นต้น

7.กองทุนรวมอีทีเอฟที่มีนโยบายการลงทุนในตราสารหนี้ (Exchange Traded Fund-Fixed Income) มีการลงทุนในตราสารหนี้ตามสัดส่วนมูลค่าของตราสารหนี้แต่ละประเภทที่มีอยู่ในตลาด เพื่อสร้างผลตอบตามการเคลื่อนไหวของดัชนีราคาตราสารหนี้ แต่กองทุนรวมประเภทนี้มีลักษณะเด่นที่ต่างจากกองทุนรวมประเภทอื่น คือ กองทุนรวมประเภทนี้ถูกนำไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ทำให้กองทุนรวมประเภทนี้มีสภาพคล่องในการซื้อขายหน่วยลงทุนมากกว่ากองทุนรวมอื่น

8.กองทุนรวมสำหรับผู้ลงทุนต่างประเทศที่มีนโยบายการลงทุนในตราสารหนี้ (Country Fund-Fixed Income) เป็นกองทุนรวมที่มีลักษณะพิเศษ คือ กองทุนจะเสนอขายหน่วยลงทุนทั้งหมดแก่บุคคลที่มีภูมิลำเนานอกประเทศ เพื่อระดมเงินมาลงทุนในตราสารหนี้ในประเทศไทย
เนื่องจากจำนวนรุ่นของตราสารหนี้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่ออกเสนอขายในตลาดมีเป็นจำนวนมาก ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องมีการกำหนดสัญลักษณ์ของตราสารหนี้ให้มีมาตรฐานเดียวกัน เพื่อสื่อความหมายให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้เข้าใจตรงกัน โดยท่านอาจสังเกตตัวอย่างได้จากตารางในหน้าที่ผ่านมา ซึ่งจะพบสัญลักษณ์ของตราสารหนี้ปรากฏอยู่ควบคู่กับราคา และอัตราผลตอบแทน

ThaiBMA ได้กำหนดมาตรฐานสัญลักษณ์ตราสารหนี้และประกาศใช้เมื่อปี 2543 ตั้งแต่ยังมีสถานะเป็นศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้ไทย (ThaiBDC) หลังจากเปลี่ยนสถานะเป็นสมาคม ThaiBMA ได้ปรับปรุงมาตรฐานการกำหนดสัญลักษณ์ตราสารหนี้ เพื่อให้รองรับตราสารหนี้ระยะสั้นที่สำนักงาน ก.ล.ต.กำหนดให้ต้องขึ้นทะเบียนกับ ThaiBMA โดยประกาศใช้ในปี 2549 และเพื่อรองรับปริมาณการออกตราสารหนี้ที่เพิ่มมากขึ้น ThaiBMA ได้ปรับปรุงสัญลักษณ์ตราสารหนี้อีกครั้ง ซึ่งจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 1มกราคม 2551 โดยสาระสำคัญที่เปลี่ยนแปลงไปจากมาตรฐานที่ประกาศใช้ในปี 2549 นั้นประกอบด้วย

- การขยายชื่อย่อของบริษัทหรือองค์กรที่ออกตราสารหนี้จากที่กำหนดให้มีได้ไม่เกิน 4 ตำแหน่งเป็นไม่เกิน 6 ตำแหน่ง และในกรณีที่ผู้ออกเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ฯ ก็ให้ใช้ชื่อย่อเดียวกันกับที่ใช้อ้างอิงในหุ้นสามัญ

- หลักเกณฑ์การกำหนดสัญลักษณ์ที่ปรับปรุงใหม่จะใช้เหมือนกันทั้งตราสารหนี้ภาครัฐและเอกชนได้แก่ หลักเกณฑ์สำหรับตราสารหนี้ระยะยาว ระยะสั้น และตราสารหนี้ประเภทไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัท (perpetual bond) การเปลี่ยนแปลงข้างต้น ส่งผลให้สัญลักษณ์ตราสารหนี้มีความยาวสูงสุดเพิ่มขึ้นเป็น12 ตัวอักษร จากเดิมที่ไม่เกิน 8 ตัวอักษร

ตัวอย่าง
• สัญลักษณ์ SCBT09N02A หมายถึง หุ้นกู้ระยะสั้นของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย)จำกัด (มหาชน) ครบกำหนดไถ่ถอนวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552
• สัญลักษณ์ LB231A หมายถึง พันธบัตรรัฐบาลที่ครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนมกราคม ปี ค.ศ. 2023 โดยเป็นพันธบัตรรัฐบาลที่ออกเป็นรุ่นที่แรกที่มีวันครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนและปี ดังกล่าวข้างต้น
• สัญลักษณ์ TB07606A หมายถึง ตั๋วเงินคลังที่ครบกำหนดไถ่ถอนในวันที่ 6 มิถุนายน ปี ค.ศ. 2007 โดยเป็นตั๋วเงินคลังที่ออกเป็นรุ่นแรกที่มีวันครบกำหนดไถ่ถอนในวัน เดือนและปี ดังกล่าวข้างต้น

ดัชนีตราสารหนี้ (Bond Index)

ดัชนีตราสารหนี้ (bond Index) เป็นเครื่องมือที่ผู้ลงทุนใช้ติดตามความเคลื่อนไหวของตลาดโดยรวม หรือของกลุ่มตราสารหนี้ที่สอดคล้องกับการลงทุน เช่น ดัชนีพันธบัตรรัฐบาล ดัชนีหุ้นกู้ที่อยู่ในระดับน่าลงทุน (investment grade) ดัชนีตราสารหนี้สามารถแบ่งได้เป็นหลายประเภทขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ที่ต้องการจะวัด เช่น ดัชนี clean price index เป็นการวัดความเคลื่อนไหวของราคาตราสารหนี้ที่ไม่รวมดอกเบี้ยค้างรับ เป็นต้น

• ประโยชน์ของดัชนีตราสารหนี้
ดัชนีตราสารหนี้เป็นเครื่องมือเพื่อให้ผู้บริหารกองทุนใช้เป็นมาตรฐานในการเปรียบเทียบ และวัดความสามารถในผลการดำเนินงานของตนเทียบกับผลตอบแทนของตลาดโดยรวม ในขณะเดียวกันนักลงทุนรายย่อยสามารถใช้เปรียบเทียบผลการดำเนินงานของแต่ละกองทุน เพื่อประโยชน์ในการเป็นข้อมูลในการตัดสินใจลงทุน และสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วไป ดัชนีเป็นเครื่องมือที่ช่วยติดตามความเคลื่อนไหวของตลาด และยังใช้ในการวางกลยุทธ์ในการบริหารการลงทุนที่เหมาะสมได้ด้วย

• ประเภทของดัชนีตราสารหนี้
ดัชนีตราสารหนี้มีหลายประเภทขึ้นอยู่กับลักษณะและวัตถุประสงค์ที่จะนำไปใช้ โดยดัชนีที่ ThaiBMA จัดทำขึ้นแบ่งได้เป็นประเภทหลัก ๆ ดังนี้
1. แบ่งตามประเภทตราสารหนี้
การแบ่งด้วยวิธีการนี้เป็นการแบ่งตามความต้องการใช้งานตามประเภทของตราสารหนี้ เช่น ดัชนีพันธบัตรรัฐบาล (government bond index) ดัชนีพันธบัตรรัฐวิสาหกิจ (SOE bond index) ดัชนีหุ้นกู้ระดับน่าลงทุน (investment grade corporate bond index) เป็นต้น
2. แบ่งตามวิธีคำนวณ ได้แก่
- Clean price bond index เป็นดัชนีที่คำนวณจากราคาตราสารหนี้ที่ไม่รวมดอกเบี้ยค้างรับ ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงของค่าดัชนีประเภทนี้จะมาจากการเปลี่ยนแปลงของราคาและอายุคงเหลือของตราสารหนี้เท่านั้น
- Gross price bond index เป็นดัชนีที่คำนวณจากราคาตราสารหนี้ที่รวมดอกเบี้ยค้างรับ ซึ่งจะสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงขององค์ประกอบ 3 ส่วน คือ ราคา อายุคงเหลือและดอกเบี้ยค้างรับ
- Total return bond index เป็นดัชนีที่นอกจากจะรวมเอสดอกเบี้ยค้างรับในการคำนวณแล้ว ยังได้รวมเอาดอกเบี้ยจากการลงทุน (coupon interest) มารวมเป็นส่วนหนึ่งในการคำนวณด้ว ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นถึงผลตอบแทนโดยรวมของการลงทุนในตราสารหนี้

• ดัชนีตราสารหนี้ที่จัดทำและเผยแพร่โดย ThaiBMA
ThaiBMA จัดทำ ดัชนีตราสารหนี้โดยแยกเป็น 2 ประเภทใหญ่ คือ ดัชนีพันธบัตรรัฐบาล และดัชนีหุ้นกู้เอกชน
- ดัชนีพันธบัตรรัฐบาล (ThaiBMA Government Bond indices)
เป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของพันธบัตรรัฐบาลประเภท Loan Bond (หรือที่ขึ้นต้นตามสัญลักษณ์ ThaiBMA ด้วยอักษร LB) โดยจะประกอบด้วยข้อมูลย่อย เช่น Average yield, Average duration และ Average convexity ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยของ yield, duration และ convexity ของกลุ่มพันธบัตรที่ใช้ในการคำนวณดัชนี ถ่วงน้ำหนักด้วยมูลค่าคงค้างของพันธบัตรรัฐบาลแต่ละรุ่น

นอกจากกลุ่มดัชนีพันธบัตรรัฐบาลรวมที่ประกอบด้วยพันธบัตรรัฐบาลทุกรุ่นแล้ว ThaiBMA ยังได้จัดทำดัชนีพันธบัตรรัฐบาลแยกเป็นกลุ่มย่อย ๆ อีก 5 กลุ่มโดยแบ่งตามอายุคงเหลือ ได้แก่ 1) กลุ่มอายุคงเหลือระหว่าง 1 ถึง 3 ปี 2) 3 ถึง 7 ปี 3) 7 ถึง 10 ปี 4) มากกว่า 10 ปี และ 5) น้อยกว่า 10 ปี

ทั้งนี้การลงทุนในตราสารหนี้ส่วนใหญ่ มักจะมีการแบ่งการลงทุนตามช่วงอายุต่าง ๆ ของตราสารหนี้ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราผลตอบแทน และผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงราคาของตราสารหนี้ที่มีอายุสั้นและยาวจะไม่เท่ากัน การจัดทำดัชนีตราสารหนี้แยกเป็นกลุ่มย่อย ๆ จะช่วยให้มีเครื่องมือวัดความเคลื่อนไหวที่ละเอียดขึ้นตลอดจนใช้เปรียบเทียบกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนที่แตกต่างกันได้

- ดัชนีหุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับน่าลงทุน (Investment Grade Corporate Bond index)
แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มย่อยด้วยกันคือ หุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือตั้งแต่ BBB ขึ้นไป และ ฺBBB+ ขึ้นไป โดยหุ้นกู้ดังกล่าวจะเป็นแบบจ่ายดอกเบี้ยแบบคงที่ การจัดทำดัชนีหุ้นกู้แยกต่างหากจากดัชนีพันธบัตรรัฐบาลก็เพื่อให้สามารถวัดความเคลื่อนไหวของการลงทุนในหุ้นกู้เอกชน ซึ่งเป็นเครื่องมือวัดผลการดำเนินงานของพอร์ทการลงทุนหรือของกองทุนต่าง ๆ ได้อย่างละเอียดยิ่งขึ้น เนื่องจากการเคลื่อนไหวของราคาของหุ้นกู้มีลักษณะเฉพาะและอาจแตกต่างจากความเคลื่อนไหวของพันธบัตรรัฐบาล ThaiBMAได้เริ่มจัดทำดัชนีหุ้นกู้ตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2544 เป็นต้นมา

• ดัชนี Zero Rate Return (ZRR index)
เป็นดัชนีวัดการลงทุนในตราสารหนี้อายุคงที่ที่ปราศจากความเสี่ยง เช่น ZRR 1 Year Index เป็นดัชนีวัดการลงทุนในตราสารหนี้ที่ไร้ความเสี่ยงที่มีอายุคงที่ที่ 1 ปี โดยวันฐานของดัชนีจะเริ่มต้นที่ 100 ในวันที่ 2 มกราคม 2545 ดัชนีนี้จะมีประโยชน์สำหรับใช้เป็นดัชนีเปรียบเทียบพอร์ตการลงทุนที่มีนโยบายการลงทุนในตราสารหนี้โดยกำหนดอายุเฉลี่ยของพอร์ตลงทุนที่คงที่

- ดัชนีตั๋วเงินคลัง (T-Bill Index)
เป็นดัชนีวัดการลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นที่ปราศจากความเสี่ยง คือ ตั๋วเงินคลัง โดยการเปรียบเทียบผลตอบแทนที่คำนวณจากค่าดัชนีตั๋วเงินคลังกับผลตอบแทนจากการลงทุนในพอร์ตของนักลงทุน หลักการสร้างดัชนีตั๋วเงินคลังของ ThaiBMA จะเปรียบเสมือนกับการลงทุนในตั๋วเงินคลังทุกรุ่นที่มีอยู่ในตลาด โดยสัดส่วนของการลงทุนในตั๋วเงินคลังแต่ละรุ่นจะคำนวณได้จากมูลค่าค้าง (outstanding value) ของตั๋วเงินคลัง

- ดัชนีพันธบัตรรัฐวิสาหกิจ (State Owned Enterprise Index)[/size][/color]
เป็นดัชนีวัดการลงทุนในตราสารหนี้ประเภทพันธบัตรรัฐวิสาหกิจ วันฐานของดัชนีพันธบัตรรัฐวิสาหกิจนี้เริ่มต้นที่ 100 ในวันที่ 1 สิงหาคม 2549 โดยพันธบัตรรัฐวิสาหกิจที่นำมาคำนวณหาดัชนี จะรวมพันธบัตรรัฐวิสาหกิจทั้งที่ค้ำประกันโดยกระทรวงการคลัง และไม่ค้ำประกัน ทั้งนี้ พันธบัตรรัฐวิสาหกิจที่นำมาคำนวณดัชนีนั้นจะมีเกณฑ์คัดเลือก และสูตรการคำนวณดัชนีเช่นเดียวกับดัชนีพันธบัตรรัฐบาล อาทิ ณ วันคำนวณหาดัชนี ตราสารที่นำมาคำนวณต้องมีอายุคงเหลือ (TTM) มากกว่า 14 วัน ต้องเป็นประเภทจ่ายดอกเบี้ยคงที่ (fixed coupon) เป็นต้น

- ดัชนีตราสารหนี้ไทย (Composite Index)
เป็นดัชนีวัดการลงทุนตราสารหนี้ทุกประเภทในตลาดตราสารหนี้ไทย การจัดทำดัชนีตราสารหนี้ประเภทนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวัดความเคลื่อนไหวของการลงทุนในตราสารหนี้ทั้งตลาด วันฐานของดัชนีตราสารหนี้ไทยนี้เริ่มต้นที่ 100 ในวันที่ 1 กันยายน 2549 โดยดัชนีตราสารหนี้ไทย จะคำนวณจาก ดัชนีพันธบัตรรัฐบาล ดัชนีพันธบัตรรัฐวิสาหกิจทั้งที่ค้ำประกันโดยกระทรวงการคลังและไม่ค้ำประกัน และดัชนีหุ้นกู้เอกชนที่มีอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับน่าลงทุน (Corporate Bond Index BBB up)
ผู้ที่จะได้รับการส่งเสริม จะต้องเป็นบริษัท สหกรณ์ หรือมูลนิธิที่จดทะเบียนในประเทศไทยเท่านั้น แต่ในการยื่นคำขอรับการส่งเสริม จะยื่นในนามบุคคลก่อน แล้วจึงจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทในภายหลังก่อนที่จะขอรับบัตรส่งเสริมก็ได้

การขอรับการส่งเสริมการลงทุน ประกอบด้วยขั้นตอน ดังนี้
1. การยื่นคำขอรับการส่งเสริม
2. การชี้แจงโครงการ
3. การตอบรับการส่งเสริม
4. การขอรับบัตรส่งเสริม

การยื่นคำขอรับส่งเสริม

คำขอรับส่งเสริมมี 3 ประเภท ดังนี้
1. คำขอรับส่งเสริมทั่วไป
2. คำขอรับส่งเสริมกิจการบริการ
3. คำขอรับส่งเสริมกิจการซอฟต์แวร์และ E-Commerce

คำขอรับการส่งเสริมทั้ง 3 ประเภท สามารถ Download จากเว็บไซต์ของ BOI (http://www.boi.go.th) หรือจะขอรับจากศูนย์บริการเพื่อการลงทุน หรือจากสำนักงาน BOI ในต่างจังหวัดหรือต่างประเทศก็ได้
คำขอรับการส่งเสริมทั้ง 3 ประเภทนี้ มีทั้งที่เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยในการกรอกข้อมูลในคำขอรับการส่งเสริม จะกรอกเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษก็ได้

ในการยื่นคำขอรับการส่งเสริม ผู้ขอจะต้องจัดเตรียมคำขอทั้งสิ้น 3 ชุด เพื่อยื่นกับ BOI จำนวน 2 ชุด และเพื่อเก็บเป็นหลักฐานสำเนาจำนวน 1 ชุด โดยจะต้องนำคำขอรับการส่งเสริมทั้ง 3 ชุด ไปยื่นต่อกองบริหารสิทธิประโยชน์ที่เป็นผู้ดูแลอุตสาหกรรมที่จะขอรับการส่งเสริมนั้น ๆ โดยตรง แต่ในกรณีที่ผู้ขอรับการส่งเสริมมีภูมิลำเนาในต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ จะยื่นคำขอรับการส่งเสริมผ่านสำนักงาน BOI ในต่างจังหวัดหรือในต่างประเทศ ซึ่งเป็นผู้ดูแลการส่งเสริมลงทุนในพื้นที่นั้น ๆ ก็ได้

อุตสาหกรรมที่รับผิดชอบ
กสป.1 กิจการเกษตร และผลิตผลจากการเกษตร
กสป.2 เหมืองแร่ เซรามิกส์ ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และยานพาหนะ
กสป.3 ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า
กสป.4 เคมีภัณฑ์ พลาสติก กระดาษ และอุตสาหกรรมเบา
กสป.5 กิจการบริการ และสาธารณูปโภค

กรณีที่ผู้ขอรับการส่งเสริม ต้องการปรึกษาวิธีการกรอกคำขอรับการส่งเสริม สามารถติดต่อขอปรึกษาได้ที่ศูนย์บริการเพื่อการลงทุน โทร 02-537-8111 ต่อ 1101-9 ได้ ทั้งนี้ การปรึกษาวิธีการกรอกคำขอ ตลอดจนการยื่นคำขอรับการส่งเสริมนี้ไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น นอกจากนี้ ผู้ที่ประสงค์จะยื่นคำขอรับการส่งเสริม ยังสามารถกรอกคำขอรับการส่งเสริม Online และยื่นคำขอรับการส่งเสริมผ่านทาง Internet ได้อีกด้วย

ข้อควรทราบในการกรอกคำขอ

ในการกรอกคำขอรับการส่งเสริม ผู้ขอควรทราบความหมายในการกรอกข้อมูลในส่วนที่สำคัญ ดังนี้

1. ชนิดผลิตภัณฑ์ / กำลังผลิต / เวลาทำงาน

ตัวอย่างที่ 1
ผลิตภัณฑ์ กำลังผลิต (ต่อปี) เวลาทำงาน
หม้อหุงข้าว 1,000,000 เครื่อง 8 ชม./วัน : 300 วัน/ปี
ชนิดผลิตภัณฑ์ : หมายถึง รายการสินค้าที่ผู้ได้รับส่งเสริมสามารถจำหน่ายได้โดยได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากร เช่น ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล และยกเว้นอากรขาเข้าวัตถุดิบ เป็นต้น
โครงการตามตัวอย่างที่ 1 จะได้รับอนุญาตให้จำหน่ายเฉพาะหม้อหุงข้าวเท่านั้น ไม่สามารถจำหน่ายหม้อไฟฟ้าชนิดอื่น และไม่สามารถจำหน่ายชิ้นส่วนของหม้อหุงข้าวได้
กำลังผลิต : หมายถึง กำลังผลิตสูงสุดของโครงการที่จะสามารถใช้สิทธิการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยกำลังผลิตนี้จะคำนวณจากกำลังผลิตสูงสุดของเครื่องจักร ไม่ใช่แผนการตลาดหรือปริมาณที่คาดว่าจะผลิต
โครงการตามตัวอย่างที่ 1 จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจากการจำหน่ายหม้อหุงข้าวปีละไม่เกิน 1,000,000 เครื่องเท่านั้น ส่วนที่เกินกว่านี้จะต้องชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล
เวลาทำงาน : หมายถึง เวลาทำงานของเครื่องจักรที่จะใช้เป็นฐานในการคำนวณกำลังผลิตสูงสุดของโครงการ

กรณีที่ผู้ขอรับการส่งเสริมต้องการผลิตหม้อไฟฟ้าต่าง ๆ และจะจำหน่ายชิ้นส่วนด้วย ควรกรอกคำขอรับการส่งเสริมตามตัวอย่างที่ 2 โดยระบุกำลังผลิตตามกำลังผลิตสูงสุดของเครื่องจักร ดังนี้

ตัวอย่างที่ 2
ผลิตภัณฑ์ กำลังผลิต (ต่อปี) เวลาทำงาน
หม้อไฟฟ้า 1,350,000 เครื่อง 8 ชม./วัน : 300 วัน/ปี
ชิ้นส่วนหม้อไฟฟ้า 4,000,000 ชิ้น

2. กรรมวิธีการผลิต

ตัวอย่างที่ 3 : กรรมวิธีการผลิตหม้อไฟฟ้า
- นำแผ่นเหล็กมาปั๊มขึ้นรูปเป็นหม้อชั้นในและชั้นนอก
- ประกอบชิ้นส่วนทางไฟฟ้า เช่น สวิตซ์ตัดต่อ และฟิวส์ เป็นต้น
- ประกอบชิ้นส่วนโลหะ ชิ้นส่วนพลาสติก และชิ้นส่วนไฟฟ้าเข้าด้วยกัน
- ตรวจสอบ ปรับแต่ง บรรจุหีบห่อ จำหน่าย

กรรมวิธีการผลิต : เป็นขั้นตอนในการผลิตสินค้าที่ผู้ได้รับส่งเสริมมีหน้าที่ต้องปฏิบัติให้ครบถ้วน ไม่สามารถผลิตสินค้าโดยมีขั้นตอนมากกว่าหรือน้อยกว่าที่ยื่นขอรับส่งเสริมนี้
นอกจากนี้ ในการอนุมัติบัญชีรายการเครื่องจักรและวัตถุดิบเพื่อยกเว้นอากรขาเข้า จะพิจารณาอนุมัติรายการเครื่องจักรและวัตถุดิบซึ่งสอดคล้องกับกรรมวิธีการผลิตนี้เท่านั้น
โครงการที่มีขั้นตอนการผลิตตามตัวอย่างที่ 3 จะต้องผลิตหม้อชั้นในและชั้นนอกขึ้นเองภายในโรงงาน ไม่สามารถซื้อหม้อชั้นในหรือชั้นนอกที่ปั๊มขึ้นรูปแล้วมาใช้ในการผลิตได้

กรณีที่ผู้ขอรับส่งเสริมประสงค์จะทำการว่าจ้างผลิต หรือต้องการผลิตชิ้นส่วนบางส่วนขึ้นเองและนำเข้าบางส่วน จะต้องระบุในกรรมวิธีการผลิตให้ชัดเจน ตามตัวอย่างที่ 4 ดังนี้

ตัวอย่างที่ 4 : กรรมวิธีการผลิตหม้อไฟฟ้า
- นำแผ่นเหล็กไปว่าจ้างผู้ประกอบการในประเทศให้ตัดตามขนาดที่ต้องการ
- ปั๊มขึ้นรูปเป็นหม้อชั้นในและชั้นนอก โดยอาจนำเข้าหม้อชั้นในบางส่วนจากต่างประเทศมาใช้ในการผลิต
- ประกอบชิ้นส่วนทางไฟฟ้า เช่น สวิตซ์ตัดต่อ และฟิวส์ เป็นต้น
- นำแม่พิมพ์ไปว่าจ้างผู้ประกอบการในประเทศให้ฉีดขึ้นรูปชิ้นส่วนพลาสติกบางรายการ
- ประกอบชิ้นส่วนโลหะ ชิ้นส่วนพลาสติก และชิ้นส่วนไฟฟ้าเข้าด้วยกัน
- ตรวจสอบ ปรับแต่ง บรรจุหีบห่อ จำหน่าย

การชี้แจงโครงการ
หลังจากยื่นคำขอรับการส่งเสริมแล้ว ผู้ขอรับการส่งเสริมจะต้องติดต่อเจ้าหน้าที่ของกองบริหารงานสิทธิและประโยชน์ (กสป.1-5) ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบคำขอนั้น ๆ เพื่อนัดหมายกำหนดวันชี้แจงโครงการ จากนั้น ผู้ขอรับการส่งเสริมจะต้องเดินทางไปพบเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ เพื่อชี้แจงรายละเอียดของโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน หรืออาจมอบหมายให้ผู้อื่นไปชี้แจงโครงการแทนก็ได้
ในการชี้แจงโครงการ ผู้ขอรับการส่งเสริมควรนำบุคคลที่มีความเข้าใจรายละเอียดของโครงการที่ขอรับการส่งเสริม ทั้งในด้านการผลิต การเงิน และการตลาด ร่วมเดินทางไปชี้แจงโครงการด้วย เนื่องจากจะทำให้การชี้แจงโครงการมีความถูกต้องชัดเจน และจะทำให้การพิจารณาคำขอรับการส่งเสริมเป็นไปโดยสะดวกรวดเร็วมากขึ้น

กรณีที่ข้อมูลในคำขอรับการส่งเสริมไม่ชัดเจนหรือไม่ถูกต้อง ผู้ขอรับการส่งเสริมสามารถแก้ไขข้อมูลดังกล่าว โดยการยื่นเอกสารขอแก้ไขข้อมูลเพิ่มเติมในภายหลัง หรืออาจใช้วิธีแก้ไขข้อมูลในคำขอรับการส่งเสริมโดยตรงพร้อมกับลงนามกำกับก็ได้ แต่ทั้งนี้ การแก้ไขคำขอโดยการลงนามกำกับ อาจทำให้ต้นฉบับที่ยื่นต่อ BOI และต้นฉบับที่บริษัทเก็บรักษาไว้เกิดความแตกต่างกัน และอาจทำให้เกิดข้อผิดพลาดหรือสร้างความเข้าใจผิดแก่ผู้อื่นที่จะต้องมาสานงานต่อในภายหลังก็ได้ ดังนั้น จึงควรใช้วิธีแก้ไขและลงนามกำกับ เฉพาะในกรณีที่ไม่เป็นสาระสำคัญของโครงการเท่านั้น

การตอบรับการส่งเสริม
เมื่อคณะกรรมการได้พิจารณาและมีมติอนุมัติ/ไม่อนุมัติให้การส่งเสริมโครงการนั้นแล้ว BOI จะแจ้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการให้ผู้ได้รับการส่งเสริมทราบทางไปรษณีย์ ภายใน 15 วันนับจากวันที่คณะกรรมการมีมติ ในกรณีที่คณะกรรมการมีมติไม่อนุมัติให้การส่งเสริม ผู้ขอรับส่งเสริมสามารถยื่นอุทธรณ์มติดังกล่าวได้ภายใน 60 วันนับจากวันที่ได้รับทราบมติ

ในกรณีที่คณะกรรมการมีมติอนุมัติให้การส่งเสริม ผู้ขอรับส่งเสริมจะต้องยื่นเอกสารตอบรับการส่งเสริม ภายใน 1 เดือน นับจากวันที่ได้รับทราบมติ หรืออาจขอขยายเวลาการตอบรับการส่งเสริมออกไปอีกก็ได้ ตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานกำหนด

กรณีที่ผู้ขอรับส่งเสริมไม่ยื่นตอบรับการส่งเสริม และไม่ยื่นขอขยายระยะเวลาการตอบรับการส่งเสริมภายในเวลาที่กำหนด จะถือว่าผู้ขอรับส่งเสริมไม่มีความประสงค์จะเป็นผู้ได้รับการส่งเสริม

การขอรับบัตรส่งเสริม
ภายหลังจากตอบรับการส่งเสริมแล้ว ผู้ขอรับส่งเสริมจะต้องจัดตั้งบริษัท (เฉพาะกรณีที่ยื่นคำขอรับการส่งเสริมในนามบุคคล) และเพิ่มทุนจดทะเบียนตามเงื่อนไขที่กำหนดในหนังสือแจ้งมติ จากนั้น จะต้องจัดเตรียมเอกสารประกอบการออกบัตรส่งเสริม และยื่นแบบคำร้องเพื่อขอรับบัตรส่งเสริมการลงทุน ภายในกำหนด 6 เดือน นับจากวันที่ตอบรับการส่งเสริม หรืออาจขอขยายเวลาการยื่นเอกสารเพื่อขอรับบัตรส่งเสริมออกไปอีกก็ได้ ตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานกำหนด

เอกสารประกอบการขอรับบัตรส่งเสริม ประกอบด้วย
1. หนังสือบริคนธ์สนธิ
2. หนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนบริษัท
3. หนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท
4. หลักฐานการนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักร
5. บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นและสัญชาติที่สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนรับรอง
6. สัญญาการร่วมทุน สัญญาการใช้สิทธิและบริการ สัญญาให้ความช่วยเหลือทางเทคนิค (ถ้ามี)
7. แบบประกอบการขอรับบัตรส่งเสริม (กกท. 05)
8. แบบกรอกรายการความต้องการใช้สาธารณูปโภค และความต้องการด้านแรงงาน

การส่งเสริมการลงทุน

โครงการลงทุนที่มีสาระสำคัญเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด สามารถยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุน เพื่อรับสิทธิประโยชน์จากการเป็นผู้ได้รับส่งเสริมการลงทุนได้ โครงการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุน นอกจากจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายส่งเสริมการลงทุนแล้ว ยังจะได้รับสิทธิประโยชน์ทั้งที่เกี่ยวกับภาษีอากรและที่ไม่เกี่ยวกับภาษีอากรอีกด้วย แต่ทั้งนี้ ผู้ได้รับส่งเสริมจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขในการเป็นผู้ได้รับส่งเสริม และจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับการใช้สิทธิประโยชน์ในแต่ละเรื่องโดยเคร่งครัด

แม้ว่าโครงการแต่ละโครงการอาจได้รับสิทธิและประโยชน์แตกต่างกันไปบ้าง ตามประเภทกิจการสถานที่ตั้งโรงงาน และนโยบายส่งเสริมการลงทุนในช่วงเวลานั้น ๆ แต่ผู้ได้รับส่งเสริมจะได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิประโยชน์นั้น ๆ ไปจนสิ้นสุดระยะเวลาที่กำหนดไว้ในบัตรส่งเสริม แม้ว่าในภายหลังอาจมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายในการให้สิทธิประโยชน์ไปเป็นอย่างอื่นก็ตาม

ภายหลังสิทธิและประโยชน์ทางด้านภาษีอากรสิ้นสุดลง ผู้ได้รับส่งเสริมยังคงมีสถานะเป็นผู้ได้รับส่งเสริมอยู่ โดยยังคงได้รับหลักประกันการคุ้มครองตามกฎหมาย และยังมีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขในบัตรส่งเสริมตลอดไป จนกว่าจะขอยกเลิกบัตรส่งเสริมนั้น

การรวมบัตรส่งเสริม

กรณีที่ผู้ได้รับส่งเสริมลงทุนในหลายกิจการ ทั้งที่ได้รับส่งเสริมหรือไม่ได้รับการส่งเสริมก็ตาม ผู้ได้รับส่งเสริมจะต้องควบคุมการใช้สิทธิประโยชน์ให้จำกัดอยู่ภายในโครงการที่ได้รับส่งเสริมเท่านั้น เช่น จะต้องแยกบัญชีรายรับ-รายจ่ายของแต่ละโครงการ เพื่อให้สามารถคำนวณกำไรสุทธิที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลของแต่ละโครงการได้อย่างถูกต้อง เป็นต้น

เมื่อสิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรของแต่ละโครงการสิ้นสุดลง ผู้ได้รับส่งเสริมอาจขอรวมโครงการที่ได้รับส่งเสริมเข้าด้วยกันก็ได้ เพื่อความสะดวกในการบริหารจัดการภายในบริษัท ในกรณีที่สิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรที่ได้รับยังไม่สิ้นสุดลง แต่ผู้ได้รับส่งเสริมประสงค์จะรวมโครงการ ก็อาจพิจารณาให้รวมโครงการได้ โดยอาจให้ตัดสิทธิประโยชน์ลงให้เท่ากับที่โครงการที่เหลือน้อยกว่า

การโอนและรับโอนกิจการ

เมื่อผู้ได้รับส่งเสริมโอนกิจการที่ได้รับส่งเสริมให้กับผู้อื่น บัตรส่งเสริมจะสิ้นสุดอายุไปในเวลา 3 เดือนนับจากวันที่โอนกิจการ กรณีที่ผู้รับโอนกิจการประสงค์จะเป็นผู้ได้รับส่งเสริมในกิจการที่รับโอนมานั้น ผู้รับโอนจะต้องยื่นคำขอรับส่งเสริมเพื่อรับโอนกิจการก่อนที่บัตรส่งเสริมนั้นจะสิ้นสุดอายุลง

การควบรวมกิจการ

เมื่อบริษัท A และบริษัท B ควบรวมกิจการเข้าด้วยกันเป็นบริษัทไม่ว่าจะใช้ชื่อเป็น A หรือ B หรือ C ก็ตาม ในทางกฎหมายถือเป็นคนละนิติบุคคลกับบริษัทเดิมที่ก่อนจะควบรวมกิจการ ดังนั้น บัตรส่งเสริมของบริษัท A และ B จึงจะสิ้นสุดอายุไปในเวลา 3 เดือนนับจากวันที่ควบรวมกิจการด้วยเช่นกัน

กรณีที่บริษัทที่เกิดขึ้นใหม่จากการควบรวมกิจการ ประสงค์จะเป็นผู้ได้รับส่งเสริมในกิจการเดิมของบริษัท A และ B จะต้องยื่นขอรับโอนกิจการจากบริษัท A และ B เช่นเดียวกับกรณีของการโอนและรับโอนกิจการข้างต้น

การยกเลิกบัตรส่งเสริม

ผู้ได้รับส่งเสริมสามารถขอยกเลิกบัตรส่งเสริมในเวลาใดก็ได้ โดยหลักประกัน การคุ้มครอง และสิทธิประโยชน์ทั้งหมดจะสิ้นสุดลงในวันที่ได้รับอนุมัติให้ยกเลิกบัตรส่งเสริม

กรณีที่ได้รับส่งเสริมนำเครื่องจักรและวัตถุดิบเข้ามาโดยการยกเว้นหรือลดหย่อนอากรขาเข้า แต่ต่อมาได้รับอนุมัติให้เลิกบัตรส่งเสริม เครื่องจักรและวัตถุดิบบางส่วนหรือทั้งหมดอาจมีภาระภาษีที่จะต้องชำระคืน พร้อมเงินเพิ่มและเบี้ยปรับ (ถ้ามี)

กรณีที่ผู้ได้รับส่งเสริมเป็นนิติบุคคลต่างด้าว และใช้สิทธิและประโยชน์ในการถือกรรมสิทธิที่ดิน ผู้ได้รับส่งเสริมจะต้องจำหน่ายที่ดินดังกล่าวภายใน 1 ปีนับจากวันที่ได้รับอนุมัติให้ยกเลิกบัตรส่งเสริม

การเพิกถอนบัตรส่งเสริม

กรณีที่ผู้ได้รับส่งเสริมไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขที่เป็นสาระสำคัญในการให้การส่งเสริมได้ เช่น มีขนาดการลงทุนไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนต่ำกว่า 1 ล้านบาท หรือมีกรรมวิธีการผลิตไม่เป็นไปตามที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริม และทำให้มูลค่าเพิ่มของโครงการต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ผู้ได้รับส่งเสริมจะถูกเพิกถอนบัตรส่งเสริม

ในกรณีที่ถูกเพิกถอนบัตรส่งเสริม ผู้ได้รับส่งเสริมอาจถูกเพิกถอนสิทธิและประโยชน์ทั้งหมดเสมือนว่าไม่เคยได้รับส่งเสริมมาตั้งแต่ต้น ซึ่งจะต้องทำให้เสียภาษีอากรเครื่องจักรและวัตถุดิบย้อนหลังตามสภาพ ณ วันนำเข้า พร้อมเงินเพิ่มและเบี้ยปรับ ซึ่งรวมถึงการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มย้อนหลังอีกด้วย